เจ้านายที่กล้าเกาะหลังคนขับ เมื่อเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกยังไม่มีที่โดยสาร

การใช้งานเครื่องบินของมนุษยชาติถูกนับว่าเริ่มต้นจากสองพี่น้องตระกูล ไรท์ (Orville-Wilbur Wright) ซึ่งทำให้ “มนุษย์บินได้” (แม้บินได้ไม่นาน) ไม่กี่ปีต่อมาคนกรุงในไทยก็ได้สัมผัสกับเครื่องบินเป็นครั้งแรก จากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกว่า เครื่องบินที่เข้ามายังไม่มีที่สำหรับคนโดยสาร ผู้อยากโดยสารต้องเกาะข้างหลังคนขับ ซึ่งมีเจ้านายหลายพระองค์ไม่เกรงกลัวทั้งที่ช่วงนั้นมีข่าวอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

สองพี่น้องตระกูลไรท์ (Orville-Wilbur Wright) ชาวอเมริกันขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำเครื่องบินที่สร้างขึ้นเองออกทดลองใช้ให้ชาวโลกได้เห็นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2446 บันทึกว่าไว้ว่าบินได้นาน 12 วินาที บินสูง 20 ฟุต ไปไกล 120 ฟุต และถือกันว่ามนุษย์ “บินได้” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้นไม่นานก็มีเครื่องบินเข้ามาในไทยเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 โดยบันทึกของผู้ศึกษาประวัติการบินในประเทศไทยให้รายละเอียดแตกต่างกันบ้าง พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ให้รายละเอียดไว้ว่า เมื่อ 6 กันยายน พ.ศ. 2454 นายแวนเดน บอร์น (Vanden Born) นักบินชาวเบลเยี่ยมนำเครื่องบินปีก 2 ชั้น แบบอังรีฟาร์มังของฝรั่งเศสบินจากไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือ นครโฮจิมินห์) ผ่านน่านฟ้ากัมพูชา มาร่อนลงอย่างสง่างามที่สนามม้าสระปทุม โดยมีกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงให้การต้อนรับ พร้อมกับประชาชนที่มารอชมเครื่องบินลำแรกที่บินมาลงในสยาม

ขณะที่ เทพชู ทับทอง ผู้เขียนหนังสือ “กรุงเทพฯ ในอดีต” บรรยายว่า เครื่องบินเครื่องแรกที่เข้ามาแสดงการบินครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 (ต้นรัชกาลที่ 6) โดยชาวฝรั่งเศสนำมาแสดงให้ประชาชนชมและเก็บเงินค่าผ่านประตูที่สนามม้าสระปทุม

เทพชู บรรยายลักษณะเครื่องบินว่า รูปร่างต่างจากเครื่องบินสมัยนี้ คือมีปีก 2 ชั้น ลำตัวมีแต่โครงโปร่งๆ ไม่มีแพนหางเสื้อเลี้ยว มีเครื่องยนต์ติดตั้งอยู่ตรงกลางลำตัวใกล้ชายปีกชั้นล่าง เครื่องยนต์ขนาด 50 แรงม้า ซึ่งให้แรงดันขับตัวเครื่องบินพุ่งไปข้างหน้าในอัตราความเร็วชั่วโมงละ 50 กิโลเมตร มีฐานกางมีล้อคล้ายล้อรถจักรยานข้างละ 2 ล้อ ตอนหัวประกอบด้วยไม้ยาว 4 อันยื่นออกไปบรรจบกันกับแพนเล็กๆ อันหนึ่งซึ่งขยับขึ้นลงได้ และที่นั่งคนขับอยู่บนปีกชั้นล่างหน้าเครื่องยนต์ เทพชู บรรยายว่า

“หลังจากที่เครื่องบิน บินอยู่สักพักก็ลงสนาม นักบินชาวฝรั่งเศสได้เชิญให้ทหารไทยขึ้นโดยสารทดลองดูปรากฏว่าทหารไทยที่กล้าขึ้นเป็นคนแรกได้แก่ นายพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ 5 หรือพลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป)”

เหตุการณ์ “เครื่องบินเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งแรก” ยังปรากฏในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ในหนังสือชื่อ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. 2466 โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า ราม วชิราวุธ พระราชนิพนธ์ทรงบรรยายว่า “เครื่องบินเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เปนครั้งแรก” เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2453 ผู้ที่นำเครื่องบินเข้ามาแสดงเป็นบริษัทฝรั่งเศสชื่อ “บริษัทการบินแห่งปลายบุรพเทศ” (“Societe d’Aviation de L’ Extreme Orient”) ชื่อนักบินในพระราชนิพนธ์คือ “วันเด็นบอร์น” (Van den Born) ตรงกับข้อมูลข้างต้น

“เครื่องที่นำเข้ามาครั้งนั้นเปนเครื่องปีก 2 ชั้น ไม่มีที่คนโดยสารขึ้น, ฉนั้นถ้าใครอยากจะโดยสารก็ต้องยืนเกาะไปข้างหลังคนขับ, ออกจะน่าเสียวใส้อยู่บ้าง. ได้มีคนไทยลองขึ้นกันหลายคน, เจ้านายมีกรมอดิศร, กรมกำแพงเพ็ชร์ และกรมสรรควิสัยนรบดี, พวกเหล่านี้กล่าวว่าไม่น่ากลัวกว่าขึ้นรถยนตร์, แต่ในเวลานั้นออกจะมีคนเห็นด้วยน้อยทีเดียว.

ตามความจริงเครื่องบินในเวลานั้นก็ยังไม่ดีเท่าในเวลานี้จริงๆ ด้วย, และยังมีข่าวตกหล่นและเกิดอุปัทวเหตุบ่อยๆนัก. เมื่อฉันยังอยู่ที่ยุโรปนั้น ได้มีผู้คิดสร้างเครื่องบินขึ้นบ้างแล้ว, แต่ฉันยังหาได้เคยเห็นใครขึ้นเครื่องแล่นในอากาศไม่, ฉนั้นฉันเองก็ออกจะตื่นมากอยู่ ในการที่ได้มีเครื่องบินเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ครั้งนั้น.”

รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยว่า การบินที่เก็บเงินคนดูโดยปิดถนนสนามม้าปทุมวันใช้สนามม้าของราชกรีฑาสโมสรเป็นสนามบินมี 5 วัน คือวันที่ 1, 2 , 4, 5 และ 6 ส่วนที่กลาโหมมีประจำทุกวัน เพราะผู้บินรับฝึกหัดนายทหารไทยให้ใช้เครื่องบินด้วย

 


อ้างอิง :

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. หน้า 250-251

เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ ในอดีต.  อักษรบัณฑิต. 2518

นิพัทธ์ ทองเล็ก, พลเอก. “เครื่องบินลำแรกที่บินเข้ามาในสยามประเทศ”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2559. เข้าถึง 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562. <https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_774>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562