“ริวกิว” ชื่อปลาในไทย และชื่ออาณาจักรโบราณในญี่ปุ่น เกี่ยวข้องกันไหม? อย่างไร?

ปลา ริวกิว ปลาริวกิว
ภาพวาดลายเส้น ปลาริวกิว

เมื่อพูดถึง “ปลาริวกิว” (บ้างเรียกปลาเรียวเซียว) สำหรับคนไทยส่วนใหญ่คงคิดถึงอาหาร 2 รายการนี้ อย่างแรกคือปลาหวานที่ทำจากเนื้อปลา และอย่างที่สองคือแกงส้มที่ทำจากไข่ปลา แต่ในวิชาประวัติศาสตร์มีเมืองชื่อว่า “ริวกิว” เหมือนกัน แล้ว อาณาจักรริวกิว ที่ว่า มีปลาริวกิวหรือเปล่า หรือปลาริวกิวเรียกเช่นนี้ เพราะมีต้นกำเนิดมาจากเมืองริวกิว

ก่อนที่จะดูว่ามันสัมพันธ์กันเช่นไร มารู้จักริวกิวกันก่อน

ริวกิว คืออะไร?

เริ่มจาก “ริวกิว” ที่เป็นชื่อ “อาณาจักรโบราณ” แต่เดิมถือเป็นรัฐเอกราช ตั้งอยู่บน หมู่เกาะโอกินาว่า (ปัจจุบันคือ เมืองโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น) หนังสือความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี อ้างอิงตาม “เรคิไดโฮอัน” บันทึกโบราณที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างริวกิว จีน เกาหลี และเมืองต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบที่เมืองนาหะ เมืองท่าสำคัญของ อาณาจักรริวกิว ระบุว่า

ในระยะเวลา 145 ปี (พ.ศ. 1968-2113) ริวกิวส่งเรือสำเภามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 150 ลำ ในจำนวนนั้นเรือสำเภาส่วนใหญ่ที่มีถึง 58 ลำ เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา สินค้าที่นำมาขายสยาม ได้แก่ สินค้าที่ผลิตในจีน (ผ้าแพรขาวคุณภาพดี, เครื่องเคลือบ, เครื่องลายคราม ฯลฯ) สินค้าจากประเทศญี่ปุ่น  (ดาบ, พัด)

ส่วน “ริวกิว” ที่เป็น “ชื่อปลา” นั้น เว็บไซต์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 6 (สงขลา) กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง อธิบายว่า

ปลาริวกิว หรือปลาเรียวเซียว ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Netumathalassina เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลากดทะเล (Ariidae) มีรูปร่างคล้ายคลึงกับปลากดหรือปลาแขยงที่พบในน้ำจืด หรือปลากดทะเลชนิดอื่น ๆ แต่มีขนาดใหญ่มากกว่า มีลำตัวยาวและค่อนข้างกลม หางแบนข้างและหัวใหญ่ ด้านหลังตรงหัวเป็นกระดูกแข็ง หน้าแหลม จะงอยปากยาว ปากกว้าง ฟันมีขนาดเล็กและสั้น มีหนวดใต้คาง 2 คู่และริมฝีปากบน 1 คู่

ครีบหลังและครีบอกมีเงี่ยงเป็นหนามแหลมครีบละหนึ่งอัน ครีบไขมันเล็กอยู่ใต้โคนหาง ครีบหางเป็นแฉกลึก พื้นลำตัวสีน้ำตาลปนเทา ท้องสีขาวนวล ครีบต่าง ๆ สีเทาคล้ำ ครีบไขมันสีดำ กินปลาและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ตามบริเวณหน้าดินเป็นอาหาร จัดเป็นปลาอุก หรือปลากดทะเลที่มีขนาดใหญ่ มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 1.2 เมตร แต่ความยาวเฉลี่ย 30–40 เซนติเมตร

พบกระจายพันธุ์ตามพื้นทะเลที่เป็นโคลน หรือโคลนเหลว บางครั้งอาจพบได้ในบริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อยหรือน้ำจืด ในน่านน้ำไทยพบทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ปลาชนิดนี้มีเมือกห่อหุ้มผิวหนัง เมือกนี้จะมากและหนาหน่อย และจะมีเงี่ยงเหมือนปลากดนั่นแหละ

เนื้อจะเป็นสีชมพูแดง เป็นปลาที่ใช้เนื้อบริโภคกันจนเป็นที่รู้จักดี รวมถึงแปรรูปเป็นปลาเค็มหรือปลาหวาน  ไข่ของปลาริวกิวนิยมนำมาทำเป็นแกงส้มเหมือนปลากดทะเลชนิดอื่น ๆ แต่ไข่ปลาริวกิวนั้นมีความคาวมาก เมื่อจะนำมาปรุงอาหารต้องล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง ปลาจะมีไข่ได้ทุกฤดูกาล แต่ช่วงที่ีไข่สมบูรณ์มากที่สุด คือ ช่วงฤดูหนาวหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว ปลาชนิดนี้ส่วนหัวจะรับประทานได้และอร่อยมากด้วย”

ปลาริวกิว กับอาณาจักรริวกิว สัมพันธ์กันอย่างไร

หนังสือ “ญี่ปุ่นที่ยังไม่รู้จัก” ที่ ปิยดา ชลวร เป็นบรรณาธิการ ในบทที่ 13 “ทำไมโอกินาวาไม่มีปลาริวกิว”ธนพัชญ์ จันทร์ดิษวงษ์ มีคำเฉลยที่น่าสนใจไว้ให้ว่า ไม่มีปลาริวกิวในโอกินาวา (ริวกิวในอดีต)  และคนโอกินาวาไม่รู้จักปลาริวกิว แต่มีปลาริวกิวในเมืองไทย

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ อาจารย์ซูซูกิ โนริยูกิ (Suzuki Noriyuki) นักวิชาการญี่ปุ่นที่เคยทำงานวิชาการเกี่ยวกับไทยและโอกินาวา ให้ความคิดเห็นว่า จากความสัมพันธ์ในอดีตตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา-อาณาจักรริวกิวที่มีการติดต่อค้าขายกัน ปลาริวกิว น่าจะเป็นปลาที่ชาวริวกิวได้ระหว่างการเดินทาง และนำมาจำหน่ายในสยาม

รูปปั้นคนถือปลา ที่สันนิษฐานว่าเป็นชาวริวกิว และปลาริวกิว ที่ศาลาเลื่อนศักดิ์ เจียมอุดม (ภาพโดย ธนพัชญ์ จันทร์ดิษวงษ์)

เมื่อประกอบกับข้อมูลที่ธนพัชญ์ จันทร์ดิษวงษ์ สืบค้นจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่า “ปลาริวกิวมีถิ่นที่อยู่ตั้งแต่แอฟริกาตะวันออกถึงทะเลแดง, มหาสุมทรอินเดียโดยรอบ, ในอาเซียนได้แก่ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์, ส่วนทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ทะเลจีนใต้ ทางเหนือและทางใต้ของเกาะกีนี  ทางเหนือของออสเตรเลียจากอ่าว Exmouth จนถึงซิดนีย์ แต่ไมมีรายงานว่าปลาริวกิวมีถิ่นที่อยู่ในโอกินาว่า หรือหมู่เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น”

จึงสรุปได้ว่า บนเส้นทางที่ชาวริวกิวใช้เดินทางมาเมืองไทยมีปลาริวกิว

นอกจากนี้ ที่ศาลาเลื่อนศักดิ์ เจียมอุดม ศาลารายทางทิศใต้ของวัดพระเชตุพนฯ มีรูปปั้น 2 รูป (ตัวหนึ่งยืนเท้าสะเอว อีกหนึ่งเป็นถือปลา 1 ตัวอยู่ในมือ (คาดว่าเป็นปลาริวกิว))

อาจารย์ฮิงาชิอนนะ (Higashionna Kanjun) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โอกินาวา มาเห็นรูปปั้นที่เท้าสะเอวในห้องเก็บของของวัดโพธิ์ในจำนวนรูปปั้นที่มีมากมาย และคิดว่ารูปนี้น่าจะคล้ายชาวริวกิวมากที่สุด โดยท่านคิดว่าชุดของรูปปั้นที่เท้าสะเอวนี้ มีลักษณะคล้ายกับชุดของข้าราชการจีนที่ชาวริวกิวใส่ ตอนไปส่งเครื่องบรรณาการให้เอโดะ

ส่วนนักวิชาการไทย เมื่อผู้เขียน (ธนพัชญ์ จันทร์ดิษวงษ์) ได้ส่งรูปถ่ายของรูปปั้นทั้งสองรูป ที่อยู่ในศาลาเลื่อนศักดิ์ให้อาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม, อาจารย์นวลพรรณ ภัทรมูล ได้ให้ความเห็นว่า รูปที่ถือปลาน่าจะเป็นชาวริวกิว ดูจากการแต่งกายสีหมากสุก ที่สอดคล้องกับโคลงภาพคนต่างภาษา 32 ชนชาติของวัดโพธิ์ เพราะโคลงภาพคนต่างภาษา 32 ชนชาตินั้น ไม่มีบทใดกล่าวถึงปลา และมีเพียงชาวลิ่วขิ่ว (ริวกิว) ที่ใช้เป็นชื่อปลา

ระหว่างนี้ที่ยังไม่มีหลักฐานใดที่จะยืนยันได้ชัดเจนกว่านี้ ก็เชิญท่านเอร็ดอร่อยกับปลาริวกิวไปพลางก่อน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อิชิอิ โยเนะโอ, ชิกาวา โทชิอารุ. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  ฉบับพิพม์ครั้งที่ 2  พ.ศ. 2542

http://www.nicaonline.com สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2563

ธนพัชญ์ จันทร์ดิษวงษ์. “ทำไมโอกินาว่าไม่มีปลาริวกิว” ใน ญี่ปุ่นที่ยังไม่รู้จัก พ.ศ. 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2563