“ปลาทรงเครื่อง” ไม่ใช่อาหาร แต่เป็นปลาสวยงามสัญชาติไทย

ปลา ปลาทรงเครื่อง
ปลาทรงเครื่อง โดยหลวงมัศยจิตรการ (ภาพจาก อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงมัศยจิตรการฯ)

ถ้าพูดถึงอะไรที่ต่อท้ายด้วย “ทรงเครื่อง” ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่ของกิน ก็ต้องประดิดประดอยเป็นพิเศษจนสวยงาม เช่น พระทรงเครื่อง แต่ถ้าเป็นของที่กินได้ ก็ต้องมีเครื่องปรุงพิเศษกว่าปกติ เช่น กระท้อนทรงเครื่อง, ปลาร้าทรงเครื่อง ฯลฯ ส่วน “ปลาทรงเครื่อง” ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไม่ใช่อาหาร จึงไม่มีเครื่องปรุงพิเศษ และไม่ต้องประดิดประดอยเป็นพิเศษให้สวย เพราะเป็นประเภทสวยมาโดยกำเนิด

เรื่องราวของ ปลาทรงเครื่อง เป็นการทำงานของ 2 นักวิชาการประมงคนสำคัญ  หนึ่งคือ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันท์) หนึ่งคือ ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ (Hugh McCormick Smith หรือ H.M. Smith)

หลวงมัศยจิตรการ (พ.ศ. 2439-?) เป็นบุตรของหลวงวิจิตรเจียรไน และนางเปี๊ยก ภูมิลำเนาเป็นจังหวัดจันทบุรี หลวงมัศยจิตรศึกษาด้านจิตรกรรมโรงเรียน Washington School of Art, และโรงเรียน The Art Student League of New York ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลวงมัศยจิตรการมีความรู้และความสามารถในการวาดภาพปลาที่ดีเยี่ยม ทั้งในด้านวิชาการและศิลปะ มีความประณีตเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องจำนวนเกล็ด สัดส่วนลำตัว จำนวนก้านครีบ และสีสัน ตลอดจนความสวยงาม เป็นนักวาดภาพปลาและสัตว์น้ำ เพื่อการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในอดีต จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงมัศยจิตรการ”

ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ  (พ.ศ.2408-84) เป็นนักวิชาการประมงชาวอเมริกัน ระหว่างปี พ.ศ. 2450-53 ได้เดินทางพร้อมคณะนักสำรวจมาที่ฟิลิปปินส์ เพื่อสำรวจความหลากหลายของธรรมชาติ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียใต้ รวมทั้งประเทศไทยเพื่อต้องการศึกษาปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่มีความสามารถพิเศษ นั่นคือปลาเสือพ่นน้ำ (Toxotes spp.) และอยู่รับราชการในไทย และเป็นอธิบดีกรมประมงคนแรก

ในปี พ.ศ.2466 หลวงมัศยจิตรการเริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งช่างเขียน และเป็นผู้ช่วย ดร. สมิธ  ติดตามออกสำรวจปลาร่วมกับ ดร. สมิธ อยู่เสมอ โดยเป็นผู้วาดภาพเก็บสีสันของปลาในขณะที่ยังสดหรือมีชีวิตอยู่ ด้วยสีน้ำที่มีความสวยงามและมีความถูกต้องเหมือนจริงทั้งสัดส่วนและสีสัน เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีกล้องถ่ายภาพ

การทำงานร่วมกันของทั้งสองท่านทำให้มีข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับปลาชนิดต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “ปลาทรงเครื่อง”

ปลาทรงเครื่อง
ปลาทรงเครื่อง

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทาน หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันท์) มีข้อมูลที่ ดร.สมิธ (อธิบาย) และหลวงมัศยจิตรการ (เขียนภาพ) ถึง “ปลาทรงเครื่อง” บันทึกว่า

“ทรงเครื่อง, หางแดง Labeo bicolor (H.M.Smith)

รูปร่างเหมือน ปลากา มีสีดำตลอดตัว เว้นแต่ครีบอกและครีบหางเป็นสีส้มหรือบางทีก็เป็นสีแดง ที่บึงบอระเพ็ดเรียกชื่อว่า ปลาหางแดง แต่บางท้องที่แถบแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนเรียกว่า ปลาทรงเครื่อง

เป็นปลาขนาดเล็ก ยาวประมาณ 7-12 ซม. เหมาะสำหรับเลี้ยงไว้ดูเล่น แต่ค่อนข้างเก็บตัว ซุกซ่อนอยู่ในที่กำบัง อีกประการหนึ่ง หากได้รับแสงสว่างมาก สีปลาจะซีดไปจากเดิม

ปรากฏว่ามีในภาคกลางและมีชุกชุมในลำน้ำเจ้าพระยาแถบปากน้ำโพ กับที่บึงบอระเพ็ด”

เรื่องราวของปลาทรงเครื่องยังมีผู้ใช้นามปากกาว่า “นายปลากัด” เขียนไว้ในบทความชื่อ “ทรงเครื่อง ปลางามระดับโลก” กล่าวถึงปลาทรงเครื่องว่า

“ปลาทรงเครื่องอาจไม่มีความสำคัญอะไรเลยหากไม่ใช่ปลางามระดับโลกที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในไทย”

เสน่ห์ของปลาชนิดนี้อยู่ที่ “สีสันตลอดลำตัวทั่วไปจะเป็นสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มปนดำ แต่เฉพาะครีบหางที่มีขนาดใหญ่เว้าลึกเป็นแฉกจะมีสีแดงปนส้มเช่นเดียวกับครีบหู ส่วนบริเวณเหนือครีบหูมีจุดดำเข้มแต้มอยู่ข้างละจุด”

ต่างชาติรู้จักปลาทรงเครื่องในชื่อ Red-tailed black shark  ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Epalzeorhynchos bicolor เป็นปลาวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน ปลาทรงเครื่องลำตัวเพรียวยาว ว่ายน้ำไวมาก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ฉลามหางแดง หรือฉลามน้ำจืด” ชาวบ้านเรียกว่า “ปลากาสี”

ปลาทรงเครื่องเครือญาติเป็นปลา 2 ชนิด คือ “ปลากา” (Greater black shark) ชาวบ้านในอีสานเรียกว่า “ปลาเพี้ย” อีกหนึ่งคือ “ปลากาแดง” หรือ “ปลาสร้อยหลอด” ฝรั่งเรียก “ฉลามดำครีบแดง” (Red-finned black shark)

รู้จักปลาทรงเครื่องกันพอสมควร แล้วเนื้อปลาทรงเครื่องเป็นอย่างไร ชื่อว่า “ทรงเครื่อง” ก็น่าจะไปทางอร่อย อันนี้ก็ตอบไม่ได้จริงๆ แต่ปลากาที่เป็นเครือญาติกับปลาทรงเครื่องนั้น “เป็นปลาเนื้ออร่อย” ที่สำคัญปลาทรงเครื่องตามธรรมชาติแทบจะไม่มีแล้ว ให้พบเห็นปัจจุบันเป็นการเพาะเลี้ยงจากฟาร์มปลา ที่เหลือเป็นจิตนาการของแต่ละท่าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2563

หลวงมัศยจิตรการ. ภาพปลา อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) ณ เมรุวัดเพทศิรินนทราวาส 17 เมษายน 2508.

นายปลากัด.“ทรงเครื่อง ปลางามระดับโลก” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2563