เปิดที่มา ทำไม “ปลาสลิด” ที่อร่อย ถึงต้องเป็นปลาสลิด “บางบ่อ”? 

ปลาสลิด ตากแดด
ปลาสลิดตากแดด บนเฝือกไม้ไผ่ (ภาพจาก กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน)

“ปลาสลิด” เป็นปลาน้ำจืดของไทยพบได้ในหลายภูมิภาค แต่เมื่อกล่าวถึง “ปลาสลิด” หลายท่านมักนึกถึง “ปลาสลิด บางบ่อ” จากอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และมีคำขยายตามว่า “อร่อย” 

เมื่อมีการคิดคำขวัญประจำจังหวัดสมุทรปราการ ก็เลือกปลาสลิดรวมเข้าไปด้วยว่า ป้อมยุทธนาวี พระเจดีย์กลางน้ำ ฟาร์มจระเข้ใหญ่ งามวิไลเมืองโบราณ สงกรานต์พระประแดง ปลาสลิดแห้งรสดี ประเพณีรับบัว ครบถ้วนทั่วอุตสาหกรรม”

ความอร่อยของ “ปลาสลิด บางบ่อ” เป็นเหตุผลทางภูมิศาสตร์ เพราะทำเลที่ตั้งอำเภอบางบ่อเป็นพื้นที่ชายทะเล แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นน้ำกร่อย ทำให้ปลาสลิดไม่มีกลิ่นดินโคลนเหมือนปลาสลิดถิ่นอื่น และมีพันธุ์หญ้าท้องถิ่น เช่น หญ้าทรงกระเทียม, หญ้าแพรทะเล ฯลฯ ที่เป็นอาหารอย่างดีสำหรับปลา

ส่วนที่ว่า “ปลาสลิดบางบ่ออร่อย” นั้น ก็ออกจะเป็นไม่ธรรมกับพื้นที่ใกล้เคียง

เพราะการเพาะเลี้ยงปลาสลิดไม่ได้มีแต่ที่อำเภอบางบ่อเท่านั้น โดยเฉพาะบางตำบลในอำเภอบางเสาธงที่เป็นเขตติดต่อกับอำเภอบางบ่อ หรือบางพื้นที่ในอำเภอเมืองสมุทรปราการ ก็มีการเพาะเลี้ยงปลาสลิดเช่นกัน เมื่อดูเหตุผลทางภูมิศาสตร์ก็ไม่น่าจะต่างกันมากนัก

โดยก่อนปี 2500 ปลาสลิดเป็นปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ได้มีการเพาะเลี้ยงเป็นเป็นอาชีพ ปลาสลิดเค็มตากแห้ง ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ปลาสลิดหอม และปลาสลิดแดดเดียว (บ้างเรียกว่าปลาสด เพราะดูสดมากเมื่อเทียบกับปลาเค็มตากแห้งทั่วไป) เป็นการทำไว้กินภายในครอบครัว หรือขายในท้องถิ่น

แต่เมื่อเกิดวิกฤตราคาข้าวตกต่ำในปี 2500 และปัญหาน้ำกร่อยที่ทำให้ทำนาไม่ได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหาอาชีพใหม่ หรืออาชีพเสริม เช่นที่ นายผัน ตู้เจริญ เกษตรกรในอำเภอบางบ่อ ริเริ่มเลี้ยงปลาสลิดโดยปรับสภาพที่นาเป็นบ่อเลี้ยงปลาสลิด แล้วหาปลาสลิดจากแหล่งธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงในบ่อปลา เพื่อทำเป็นอาชีพแทนการทำนา

เมื่อมีการเลี้ยงปลาในปริมาณมาก จึงมีการแปรรูปเป็นปลาสลิดเค็มเพื่อจำหน่าย เพราะได้ราคาดีกว่าขายเป็นปลาสด ซึ่งเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ส่วนใหญ่มีเพียงปลาสลิดเค็มตากแห้งเท่านั้น เพราะเวลานั้นตู้เย็นยังไม่ใช่ของใช้จำเป็นประจำบ้านที่แพร่หลาย การปลาเค็มต้องแห้งจริงจึงจะเก็บได้นาน ปลาสลิดแดดเดียวเพิ่งมีการทำในระยะหลัง

การถนอมอาหารทั้ง 2 ชนิด เริ่มจากทำความสะอาดปลา ขอดเกล็ด ตัดหัว จากนั้นก็นำปลาไปทำเค็มด้วยการหมักเกลือ ซึ่งต้องใช้เกลือทะเลเท่านั้น เกลือสินเธาว์ เกลืออนามัย ใช้ไม่ได้ ส่วนระยะเวลาของการหมักเป็นสูตรของแต่ละคน ก่อนจะนำปลาไปตากก็ต้องล้างเกลือที่หมักออกก่อน ถ้าตากแดดประมาณ 2 วันก็ได้เป็น “ปลาสลิดเค็มตากแห้ง” ถ้าตากแดดพอหมาด ก็เป็น “ปลาสลิดแดดเดียว”

ส่วนจะได้เป็น “ปลาสลิดบางบ่ออร่อย” ที่มีบางคนต่อว่า “บางบ่อก็ไม่อร่อย” ก็เป็นความชอบของแต่ละบุคคล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วุฒิพงษ์ ทองก้อน, พรรศิริ แจ่มอรุณ, กชพร ขวัญทอง. “การศึกษาเชิงคติชนวิทยา :  การตั้งชื่อคลองและชื่อบ้านในอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ” ใน, ศิลปศาสตร์ปริทัศน์ 16 (1) มกราคม-มิถุนายน 2564

สมชาย  ชัยประดิษฐรักษ์.  ลุงผัน ต้นกําเนิด “ ปลาสลิดบางบ่อ.  เว็บไซต์ หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ http://www.anurak-sp.in.th/legend/legend_29.pdf

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรปราการ, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2566