“ปลากุเลาตากใบ” ราชาแห่งปลาเค็ม สู่เมนูขึ้นโต๊ะการประชุมเอเปค 2022

ปลากุลาเค็ม (ภาพจาก ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง: เทคโนโลยีชาวบ้าน, 2561)

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ให้ข้อมูลว่า “ปลากุเลาตากใบ” (Salted fish Kulao Tak Bai) ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรือ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 นี้

เมนูอาหารจาก “ปลากุเลา” เป็นส่วนหนึ่งการโปรโมตของดีจังหวัดชายแดนใต้ เป็นสินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาส เพราะ “ปลากุเลาเค็มตากใบ” เป็นอาหารจากปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดนราธิวาสที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสนตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งยังได้รับขนานนามว่า “ราชาแห่งปลาเค็ม” เนื่องจากมีรสสัมผัสกลมกล่อม ไม่เค็มจัด เนื้อฟู มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้ปลากุเลาเค็มตากใบมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300-1,500 บาท

พื้นที่ของอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสนั้น เหมาะแก่การประกอบอาชีพประมง ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมีรายได้จากการค้าขายอาหารทะเลทั้งปลา กุ้ง หอย ฯลฯ เป็นอาชีพหลัก อาหารที่นำมาขายคือส่วนที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือจากการขายหรือขายสดไม่ทันก็จะถูกแปรรูปหรือถนอมอาหารในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง ปลาเค็ม กะปิ บูดู ข้าวเกรียบ เป็นต้น

ในบรรดาปลาเค็มที่ทำกันมา ปลาที่ขึ้นชื่อและมีราคาแพงที่สุดคือ “ปลากุเลา” โดยพบมากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม และเดือนกันยายน-ตุลาคม แม้จะเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในน้ำเค็มบริเวณปากแม่น้ำตากใบและชายฝั่งทะเลของภาคใต้ แต่บริเวณปากแม่น้ำตากใบถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์กว่าจุดอื่น ๆ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอาหารของปลากุเลา ปลากุเลาจากตากใบจึงมีรสชาติโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม คนพื้นที่จะไม่นิยมนำปลากุเลามาบริโภคสด ชาวบ้านมักนำมาถนอมอาหารไว้ในรูปแบบของปลาเค็ม ซึ่งกรรมวิธีไม่ได้ซับซ้อนนัก ปลากุเลาเค็มที่จะได้จะมีรสชาติอร่อยถูกปากและมักเป็นอาหารขึ้นโต๊ะสำหรับรับรองแขกที่สำคัญของชาวนราธิวาส

กรรมวิธีทำปลากุเลาเค็มจะต้องเลือกปลาที่เป็นปลาสดจริง ๆ ไม่นำปลาแช่แข็งมาทำเด็ดขาด เริ่มต้นจากนำปลากุเลาสดมาขอดเกล็ดเอาเหงือกและเครื่องในออกพร้อมล้างให้สะอาด นำเกลือยัดใส่ท้องและกลบทั่วตัวปลา จากนั้นนำมาหมักเกลือในภาชนะปิดฝามิดชิด ทิ้งไว้ 1-2 คืน ขึ้นอยู่กับขนาดของปลา เมื่อได้ที่แล้ว นำปลามาล้างทำความสะอาดก่อนผึ่งแดดให้แห้งโดยการห้อยหัวลงเพื่อให้น้ำไหลออกจากตัวปลา นำกระดาษมาพันหัวไว้ เพื่อป้องกันแมลงวันมากัดกินหรือวางไข่

แต่ละวันระหว่างการผึ่งแดด จะมีการรีดน้ำออกจากตัวปลาโดยการใช้ไม้คลึงตามตัวปลาเบา ๆ ทำทุกวันจนปลาแห้งได้ที่จึงนำไปบริโภค ด้วยราคาต่อกิโลกรัมที่สูงมาก ๆ ของปลากุเลาเค็มตากใบ ทำให้มีคำพูดติดปากว่า “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” เพราะส่วนใหญ่มักซื้อเป็นของฝากมากกว่าซื้อมารับประทานเอง (หากรับประทานเอง เลือกที่จะไม่ซื้อ เพราะราคาสูงมาก)

ปลากุเลาเค็มตากใบในฐานะสินค้าเลื่องชื่อของ อ. ตากใบ จ. นราธิวาส จึงได้รับการส่งเสริมและโปรโมตในโอกาสสำคัญระดับนานาชาติของการประชุมเอเปค 2022 นางสาวรัชดายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า

“การจัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำ เอเปค 2022 ใช้คอนเซ็ปต์ Sustainable Thai Gastronomy เพื่อแสดงถึงศักยภาพของอาหารไทย และประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสำคัญของโลก โดยวัตถุดิบที่ใช้ในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์ คัดสรรจากวัตถุดิบของไทยทั้งหมด จากทั่วประเทศ เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น…”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2545). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนราธิวาส. กรมศิลปากร : กรุงเทพฯ

มติชนออนไลน์ (13 พฤศจิกายน 2565) : Soft Power ‘ปลากุเลาจากตากใบ’ เสิร์ฟในเวทีเอเปค 2022

Thai PBS (13 พฤศจิกายน 2565) : ปลากุเลาตากใบ “ราชาแห่งปลาเค็ม”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2565