ตามติด “นักเรียนไทย” ของพระนารายณ์ในฝรั่งเศส ที่มิอาจหวนคืนอยุธยา

ราชทูตสยาม เข้าเฝ้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พา นักเรียนไทยสมเด็จพระนารายณ์ ไป เรียน ด้วย
คณะทูตสยามคราวเดินทางไปราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) จากซ้ายไปขวา ราชทูตออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน), ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต

ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสสมัยอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่ง “นักเรียนไทย” ไปพร้อมกับคณะราชทูต เพื่อศึกษาวิชาการต่าง ๆ ของชาติตะวันตก แบ่งออกเป็นสามผลัด จำนวน 21 คน ทว่า นักเรียนไทยสมเด็จพระนารายณ์เหล่านี้ ไม่อาจหวนคืนสู่อยุธยาอีกเลย

นักเรียนไทยสมเด็จพระนารายณ์ รุ่นแรก

คณะราชทูตชุดที่สอง มี ออกขุนพิชัยวาทิต และ ออกขุนพิชิตไมตรี เป็นราชทูตพิเศษ และ บาทหลวงวาเซนต์เป็นล่าม และที่ปรึกษาคณะราชทูต โดยมีนักเรียนไทยจำนวน 4 คน ถูกส่งไปเรียนวิชาการที่ฝรั่งเศสด้วย

Advertisement

สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระราชดำริเจาะจงให้เรียนวิชาทำน้ำพุ วิชาก่อสร้าง วิชาช่างเงินช่างทอง รวมถึงธรรมเนียมฝรั่งเศสต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม นักเรียนไทยทั้ง 4 คน ไม่มีคุณสมบัติและความเหมาะสมเพียงพอในการไปศึกษาวิชาการที่ฝรั่งเศส ดังที่บาทหลวงวาเซนต์บันทึกว่า

“…การที่พระเจ้ากรุงสยามมีพระราชดำริให้ส่งชายหนุ่มของเมืองนี้ไปเรียนที่ฝรั่งเศสนั้น ไม่มีใครช่วยเหลือเอาใจใส่ในพระราชดำรินี้เพียงพอเลย ชายหนุ่มที่ส่งไปคราวนี้เป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาไม่สมประกอบ ไม่แต่เท่านั้น นิสัยใจคอก็ไม่สมประกอบด้วย 

ในโลกนี้ไม่มีเมืองใดที่จะเลือกหาทางดีได้ง่ายเท่ากับเมืองไทย ตามวัดวาอารามเต็มไปด้วยเด็กหนุ่ม ๆ รูปร่างสวยมาก ถ้าจะมองหาเด็กที่มีนิสัยดีก็จะหาได้ง่าย และถ้าหากว่าได้ให้ชายหนุ่มเหล่านี้ไปอยู่ที่โรงเรียนสามเณรฝรั่งเศสเสียก่อนจึงให้ไปยังประเทศฝรั่งเศสได้ก็ยิ่งดี…”

นักเรียนไทยผลัดนี้อาจไม่ได้รับการคัดเลือกให้ดีเท่าที่ควร เพราะเป็นรุ่น “หนูทดลอง” จึงมีข้อบกพร่องบางประการอยู่บ้าง ภายหลังราชสำนักจึงได้คัดเลือกนักเรียนให้ดีขึ้น เป็นบุตรขุนนางหรือบุตรผู้มีตระกูลสูง

สำหรับนักเรียนไทยผลัดแรกก็ได้ศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศส เมื่อราชทูตชุดต่อมาเดินทางมาถึงฝรั่งเศส จึงได้เร่งรัดให้นักเรียนไทยผลัดนี้ศึกษาให้จบโดยเร็ว เพื่อจะได้นำตัวกลับอยุธยา

นักเรียนไทยรุ่นโกษาปาน

คณะราชทูตชุดที่สาม มี ออกพระวิสุทธสุนทร หรือ โกษาปาน เป็นราชทูต ครั้งนี้ได้คัดเลือกนักเรียนไทยสมเด็จพระนารายณ์ไปพร้อมกับคณะราชทูตถึง 12 คน

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีพระราชดำริหรือมีคำสั่งให้นักเรียนไทยผลัดนี้ไปศึกษาวิชาการด้านใดเป็นพิเศษ

นักเรียนไทยผลัดสองได้ศึกษาวิชาการที่ฝรั่งเศส ดังบันทึกของมองซิเออร์ลันเยน์ ความว่า “…คนไทยทั้ง 10 คนนี้ได้ไปรับความเล่าเรียนที่คณะต่างประเทศ ยังมีคนไทยอีกคนหนึ่งซึ่งไปเรียนวิชาทดน้ำ…” และได้เข้ารีต เปลี่ยนชื่อไทยเป็นชื่อทางคริสต์ศาสนา ดังนี้

พี เปลี่ยนชื่อเป็น ปีแย เอมานูเอล

เพ็ชร์ เปลี่ยนชื่อเป็น ยัง บัพติซต์

อ่วม เปลี่ยนชื่อเป็น ปอล อาตูส

ชื่น เปลี่ยนชื่อเป็น หลุยส์

ไก่ เปลี่ยนชื่อเป็น ฟรังซัว ซาเวีย

มี เปลี่ยนชื่อเป็น ฮังรี โอลีเวีย

ด่วน เปลี่ยนชื่อเป็น ฟิลลิป

สัก เปลี่ยนชื่อเป็น ฟรังซัว

เทียน เปลี่ยนชื่อเป็น ธอมาซ์

วุ้ม เปลี่ยนชื่อเป็น นิโกลา

ออกพระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) ราชทูต และ คณะ นำเครื่องราชบรรณา การจากสยามออกมาวาง เรียงรายต่อเบื้องพระพักตร์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อได้เข้าเฝ้าออกใหญ่ ณ พระ ราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. 2229 (ภาพจากหนังสือมองประวัติศาสตร์ไทยผ่านศัสตราวุธ)

มีบันทึกว่า คนที่ 12 ป่วยอยู่จึงมารับน้ำมนต์ไม่ได้ และแม้ชื่อคนที่ 11 จะหายไป แต่ก็ปรากฏแน่ชัดว่า นักเรียนไทยผลัดนี้มีทั้งหมด 12 คนแน่นอน

นักเรียนไทยผลัดสองอาจจะเข้าเรียนที่โรงเรียนสามเณรแห่งใดแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส ได้เข้ารีตหลังจากแยกกับโกษาปานประมาณ 1 ปี ซึ่งทุกคนล้วนเต็มใจเข้ารีต ดังมีบันทึกว่า…ท่านคงจะไม่นึกเลยว่าตั้งแต่รับพวกนี้เข้าเป็นคริสเตียนแล้ว พวกนี้จะมีความพอใจเพียงไร และเวลาสวดมนต์ก็มาสวดพร้อมกันหมด…”

นักเรียนไทยรุ่นสุดท้าย

สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชดำริให้นักเรียนไทยผลัดสาม“…ให้เข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์หลุยส์เลอกรัง โดยให้เล่าเรียนการทั่งปวงเหมือนกับผู้ดีชาวฝรั่งเศสทั่วไป ในเรื่องเด็กนักเรียนนี้ทรงพระราชดำริไว้ว่าจะส่งออกไปเล่าเรียนให้คงมีจำนวนนักเรียนอยู่ในประเทศฝรั่งเศส 12 คนเสมอไป…”

สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์ให้ส่งนักเรียนไทยผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปคราวหนึ่ง ๆ จำนวน 12 คน เมื่อมีโอกาสก็ให้กลับอยุธยา แล้วจะได้ส่งนักเรียนไทยอีกผลัดหนึ่งไป

สะท้อนให้เห็นว่า ทรงมีความมุ่งมั่นที่จะให้มีนักเรียนไทยในฝรั่งเศสนำความรู้วิชาการต่าง ๆ ของชาติตะวันตก มาสู่ราชสำนักอยุธยา

นักเรียนไทยผลัดสามเป็นบุตรขุนนางหรือบุตรผู้มีตระกูลสูง แต่คัดเลือกไม่ทันการณ์ จึงส่งไปพร้อมคณะราชทูตเพียง 5 คนเท่านั้น กระทั่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ผลัดแผ่นดิน ชะตากรรมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสก็ตกที่นั่งลำบาก เพราะเงินค่าใช้จ่ายของพวกเขามาจากราชสำนักอยุธยา

ในจดหมายของโกษาปาน มีถึงมองซิเออร์เดอบรีซาเซีย ระบุว่า ราชสำนักอยุธยาจะไม่จ่ายเงินค่าใช้จ่ายของนักเรียนไทย จนกว่าฝรั่งเศสจะใช้หนี้ของนายพลเดส์ฟาร์จเสียก่อน ซึ่งเขาได้ยืมเรือและเงิน 300 ชั่ง ในการเดินทางออกจากอยุธยา หลังการสงบศึกระหว่างฝรั่งเศสกับอยุธยา ความว่า

“…ส่วนที่เกี่ยวด้วยไทยหนุ่ม ซึ่งได้ส่งไปไว้ยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อไปเล่าเรียนวิชาต่าง ๆ นั้น ข้าพเจ้าได้ฝากฝังไว้กับท่าน และได้บอกกับท่านไว้ว่า เมื่อท่านได้ใช้จ่ายไปสำหรับไทยหนุ่มเหล่านี้เท่าใด ข้าพเจ้าจะได้ชำระเงินให้แก่มองซิเออร์เดอ เมเตโลโบลิส ท่านได้บอกมาว่าท่านได้จ่ายเงินไป 106 ชั่ง 3 ตำลึง 1 บาท 1 สลึง เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอบอกให้ท่านทราบว่า เมื่อคิดบัญชีการใช้จ่ายส่วนนักเรียนไทยเมื่อใด ข้าพเจ้าจึงจะชำระเงินรายนี้ให้เสร็จไป ข้างฝ่ายพวกไทยก็หวังใจว่าพวกฝรั่งเศสจะใช้หนี้ให้เสร็จไปเหมือนกัน…”

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสด็จออกรับคณะทูตสยามเมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 ณ พระราชวังแวร์ซายส์

นายพลเดส์ฟาร์จออกเรือไปพร้อมกับตัวประกันซึ่งเป็นข้าราชการไทย การสัญญาต่าง ๆ จึงล้มเหลว ต่อมา บาทหลวงฝรั่งเศสบันทึกถึงชะตากรรมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสว่า 

“…ยังได้ใช้จ่ายค่าโสหุ้ยต่าง ๆ สำหรับข้าราชการไทย และไทยหนุ่ม ซึ่งอยู่ที่โรงเรียนหลุยส์เดอกรังด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อได้รวมทั้งหมดแล้ว ใช้จ่ายคงตกอยู่ราว 60,000 ปอนด์…”

ราชสำนักอยุธยาพยายามจะนำตัวนักเรียนไทยกลับมา มี ออกญาพิพัฒน์ ได้พยายามเจรจากับฝรั่งเศส ท่านได้กล่าวกับบาทหลวงตาชาร์ดว่า “…ขอให้พาคนไทยหนุ่มซึ่งได้ส่งให้ไปเล่าเรียนวิชาต่าง ๆ ยังประเทศฝรั่งเศสกลับมาด้วย ถ้าบาทหลวงตาชาร์ดได้ปฏิบัติตามที่ต้องการนี้แล้ว คนทั้งหลายก็คงจะชมเชยสรรเสริญว่าบาทหลวงตาชาร์ดได้ทำการดีมาก และได้ใช้สติปัญญาทำการมิให้ประเทศทั้งสองบาดหมางกันได้…”

บาทหลวงตาชาร์ดเดินทางกลับมาอยุธยาในสมัยพระเพทราชา แต่ไม่ได้พานักเรียนไทยกลับมาด้วย และความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอยุธยาก็ไม่อาจฟื้นคืนดีกันดั่งรัชสมัยก่อนหน้า

ไม่ปรากฏว่า นักเรียนไทยสมเด็จพระนารายณ์ทั้งสามผลัด จำนวน 21 คน เดินทางกลับคืนสู่อยุธยา เข้าใจว่าได้เข้ารีตเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนา อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสต่อไป และคงกลายเป็นชาวฝรั่งเศสไปทั้งหมด

เรื่องราวของนักเรียนไทยกลุ่มนี้ อาจปรากฏในเอกสารฝรั่งเศส ซึ่งต้องค้นคว้าศึกษากันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ปรามินทร์ เครือทอง. (มิถุนายน, 2544). เปิดปูม นักเรียนนอกรุ่นพระเจ้าเหา. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 22 ฉบับที่ 8.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2563