ในมุมจิตวิทยา อะไรทำให้สมเด็จพระนารายณ์โปรดเมืองลพบุรี?

สมเด็จพระนารายณ์ ทรงช้าง
สมเด็จพระนารายณ์ ทรงช้าง

ใครก็รู้ก็เคยเรียนประวัติศาสตร์ว่า อยุธยาในสมัย สมเด็จพระนารายณ์ “ลพบุรี” เป็นเมืองสำคัญ เสมือนราชธานีแห่งที่ 2 ด้วยพระองค์โปรดเสด็จมาประทับที่ลพบุรีอยู่เสมอ ข้าราชการบางครั้งก็ต้องไปถวายรายงาน, เข้าเฝ้า ฯลฯ ที่เมืองลพบุรีกันอยู่เสมอ ว่าแต่ทำไมต้องเป็น ลพบุรี 

แม้ไม่โปรดประทับที่กรุงศรีอยุธยา เมืองอื่นๆ ที่รายรอบไม่ว่าจะเป็นวิเศษไชยชาญ, เมืองสิงห์บุรี, เมืองสุพรรณบุรี ฯลฯ ทำไมไม่โปรด

ที่มาของคำตอบเรื่องนี้ อาจมีเหตุปัจจัยหลายด้าน หากหนึ่งในนั้นคือเหตุผลทางจิตวิทยา ซึ่ง กิติกร มีทรัพย์ อดีตนักจิตวิทยา ระดับผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพ เขียนไว้ใน “ลพบุรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ มุมมองทางจิตวิทยาประวัติศาสตร์” (ศิลปวัฒนธรรม, ก.พ. 2561)

เริ่มจาก สมเด็จพระนารายณ์ในมุมมองของจิตวิทยา ที่กิตติกรอธิบายว่า

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์เล็ก ตามโบราณราชประเพณียังไม่ถึงวาระที่จะได้ราชสมบัติ แต่ได้มีฝ่ายสนับสนุนทำการชักแนะ (Suggestion) ต่างๆ ทำให้พระองค์ทรงหลงใหลในบุญญาบารมีของพระองค์ (Narcissistic trend) ว่ามีแต่เมื่อแรกประสูติ ด้วยพระประยูรญาติเห็นว่าพระองค์ทรงมี 4 กร พระราชบิดาจึงพระราชทานนามว่า นารายณ์กุมาร พร้อมใส่โทษผู้อื่น (Projection) ว่าไม่สมควรจะมาเป็นคู่แข่งกับพระองค์ ด้วยทรงเห็นผู้อื่นต่ำต้อยกว่ามีสิทธิธรรมที่จะได้ราชสมบัติน้อยกว่า

ที่นี้ก็ดูว่าแล้ว “ลพบุรี” ตอบปมในใจพระองค์อย่างไร ซึ่งกิติกรขยายความไว้ว่า

ลพบุรีเป็นเมืองเก่าโบราณครั้งทวารวดี มีโบราณสถาน 3-4 แห่ง ซึ่งสร้างขึ้นตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ หรือแบบสมมุติเทพที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงซึมซับรับรู้ นับถือมาแต่ทรงพระเยาว์

ครั้งหนึ่งพระราชบิดาเคยพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชกุมาร ทันทีที่ประสูติซึ่งโปรดมากกว่าพระนาม พระสุรินทรกุมาร นอกจากนั้นนามเดิมของเมืองลพบุรี คือ ลวปุระ หมายถึงเมืองของพระลพ คือ ลพปุระหรือลพบุรี พระลพเป็นโอรสของพระราม ลพบุรีจึงหมายถึงเมืองของพระรามหรือพระนารายณ์โดยตรง

นอกจากนั้นลพบุรียังมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า โดยธรรมเนียมประเพณี ถือว่าเป็นวัดที่เป็นขวัญของเมือง (palladium) ขวัญของเมืองคือขวัญของพระองค์ นั่นเอง…

ลพบุรีมีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย คือเรือใหญ่กินน้ำลึกขึ้นไปไม่ถึง ด้วยในปีนั้น 2207 อยุธยามีปัญหากับฮอลันดาเรื่องการค้า และเวลานั้นฮอลันดามีอำนาจทางทะเลมาก ลพบุรีจึงมีสภาพปลอดการรุกรานจากฮอลันดา โดยสรุปก็คือ ลพบุรีปลอดภัยจากการบุกรุกจากภายนอกและแม้แต่กลุ่มกบฏจากภายใน รวมทั้งให้ความรู้สึกลึกๆ ว่าอบอุ่นเป็นสุขและปลอดภัย…

ใน พ.ศ. 2205 โปรดให้คณะมิชชันนารีฝรั่งเศสคณะหนึ่งเข้าเฝ้า ประกอบด้วยสังฆราชปัลลู สังฆราช เดอ ลาม็อต และนายกมิสซัง เดอ เบริธ และพระราชทานที่ดินให้ บริเวณที่เรียกว่าบ้านปลาเห็ด

เพื่อสร้างวัด โรงเรียน และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของพระ และจากมิชชั่นคณะนี้ โดยเฉพาะท่าน เดอ ลาม็อต ได้ถวายความรู้แด่สมเด็จพระนารายณ์เรื่องราชสำนักฝรั่งเศสและราชสำนักอื่นๆ ในยุโรป

ต่อมาฟอลคอนได้ทำหน้าที่นี้ซึ่งโปรดมาก แต่ก็เป็นที่น่าประหลาด ฟอลคอนไม่เคยรู้เรื่องราชสำนักฝรั่งเศสมาก่อนเลย แต่ก็สามารถกราบทูลให้ทรงทราบจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย การสร้างสัมพันธ์อันดีกับคณะมิชชันนารี คือการใช้กลไกทางจิตแบบทดแทน (Substitution) นั่นคือ มุ่งใช้พลังดั้งเดิมไปเพื่อให้เกิดกิจกรรมดีๆ…

ใน พ.ศ. 2208 ทรงซ่อมสร้างเมืองลพบุรีเมืองโบราณให้สมบูรณ์นั้น มีบาทหลวงชื่อ โทมัสโซ วัลกูอา เนรา ซึ่งเป็นชาวซิซิลี เดินทางมาจากมาเก๊า กับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสอีกท่านหนึ่ง ซึ่งช่วยกันออกแบบเรื่องสร้างป้อมค่ายและพระที่นั่ง โดยโปรดร่วมปรึกษาการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดีมีนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นชี้ว่ายังมีสถาปนิกชาวเปอร์เซียและอินเดียช่วยด้วย

โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมการวางอาคารพระที่นั่งให้มีที่ว่างระหว่างตัวอาคารเพื่อการทำสวนหย่อมและแปลงดอกไม้แบบเปอร์เซีย

มีหลักฐานฝีมือช่างชาวเปอร์เซียและอินเดียที่ซุ้มประตูโค้งแบบเปอร์เซียที่เรียกว่า ออกี อาร์ค (ogee arch) หรือทรงกลีบบัวหลวง ซึ่งแต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นโค้งแหลมแบบกอธิค ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สวนสวย พระที่นั่งงามช่วยบำบัดพระราชหฤทัยเครียดได้ส่วนหนึ่ง!…

สำหรับเขตพระราชฐานส่วนในนั้น ประกอบด้วย พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตำหนักพระราชธิดาและเรือนพระสนม กล่าวเฉพาะพระที่นั่งองค์นี้สมบูรณ์ด้วยความแข็งแรง กำแพงล้อมรอบมั่นคง โดยมีประตูใหญ่เป็นทางหนีทีไล่ถึง 4 ประตู

คือ ด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้าง ที่เบื้องหน้าพระที่นั่งเป็นสวนพันธุ์ไม้แปลกๆ และทางเดินมีเตาเผากำยาน (จัดวางไว้เป็นระยะๆ) จรุงกลิ่นหอมหวนอยู่ตลอดเวลา มีสระน้ำใสแบบเปอร์เซียริมพระที่นั่งสมพระเกียรติยศอย่างแท้จริง บนกำแพงกั้นโดยรอบทั้ง ๓ ด้าน มีช่องชวาลา (niche) เป็นร้อยช่อง ใช้ตามไฟยามค่ำให้สว่างไสว!

อนึ่งป้อมปืนภายในกำแพงวังนั้น มีป้อมปืนถึง 5 แห่ง เป็นป้อมปืนที่ไม่มีหลังคาแต่มีช่องวางปืนใหญ่สำหรับยิงในแนวราบด้วย แสดงให้เห็นถึงการป้องกันศัตรูที่แข็งแรงอย่างมาก จงใจออกแบบเพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะ กับมีทางลับเป็นพิเศษสำหรับพระองค์ด้วย

พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นผลของการใช้พลังความสามารถเพื่อนิรมิตสิ่งใหม่ที่งดงามสมพระเกียรติอย่างยิ่ง เป็นกลไกทางจิตแบบสร้างสรรค์-ครีเอทีฟ ทางจิตวิทยาว่าเป็นเรื่องการทดใช้แบบซับลิเมชั่น (sublimation) เต็มที่

พ.ศ. 2216 สังฆราชปัลลูเดินทางกลับจากกรุงโรมมาอยุธยาและลพบุรี ได้นำศุภสาส์นของสันตะปาปาและพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ด้วย ซึ่งพอพระราชหฤทัยมาก น่าจะแปลว่าความเครียดในพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์อันเนื่องมาแต่การใช้ความรุนแรงโหดร้ายปราบกบฏแต่หนหลังได้คลี่คลายลงไปมากแล้ว…

พ.ศ. 2227 ฟอลคอนได้นำเพื่อนชาวอังกฤษ 2 คนมาช่วยงาน คือ ริชาร์ด เบอร์นาบี และ ซามูเอล ไวท์ ทำให้เพิ่มพูนพระราชทรัพย์ได้มาก ฝ่ายแรกได้บรรดาศักดิ์เป็นพระตะนาวศรี ส่วนฝ่ายหลังได้เป็นออกพระมะริด คำถามที่ต้องการคำตอบคือ ทำไมสมเด็จพระนารายณ์ทรงเชื่อถือฟอลคอนมาก ใครแตะต้องมิได้ มีขุนนางที่ต้องราชทัณฑ์หลายคนเมื่อมีปัญหากับฟอลคอน

คำตอบก็คือ ฟอลคอนมีความสามารถในการเงินการคลังและการค้าขายต่างประเทศได้ดีเยี่ยม ทำให้มีพระราชทรัพย์ใช้จ่ายมากมาย อีกคำตอบหนึ่งก็คือ ภาพภายนอกของฟอลคอน ที่ใครๆ รังเกียจนั้นแตกต่างจากภาพฟอลคอนภายในพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์อย่างมาก ภาพในพระราชหฤทัยนั้นเป็นภาพของขุนนางในอุดมคติที่ทรงใฝ่ฝัน ทางจิตวิทยาเรียกว่ามีพระราชหฤทัยบิดเบือนเห็นต่างไปจากความจริง (distortion) อย่างที่ทั่วไปรับรู้อย่างมาก

พ.ศ. 2228 ฝรั่งเศสได้จัดคณะทูตชุดใหญ่มาถวายพระราชสาส์น โดยมี เดอ โชมองต์ เป็นราชทูต เดอ ชัวซีย์ เป็นผู้ช่วยทูต ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เกลี้ยกล่อมสมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสเตียน…

นอกจากนี้ในคณะทูตยังมีวิศวกรสร้างป้อม คือ เดอ ลามาร์ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นทหารใหญ่คือ เดอ ฟอร์บัง ได้คุมการฝึกทหารและคุมกองทัพเรือ ทั้งคู่ได้ถูกขอยืมตัวไว้ใช้ในราชการ เดอ ลามาร์ ได้ช่วยงานก่อสร้างป้อมอย่างแข็งแรงจนสิ้นรัชกาล ส่วนฟอร์บังได้กลับฝรั่งเศสก่อนกำหนด เพราะมีข้อขัดแย้งกับฟอลคอนอย่างมาก

แท้จริงแล้ว เดอ ลามาร์ ให้ความรู้สึกดีๆ กับสมเด็จพระนารายณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยจากงานก่อสร้างและออกแบบป้อมรูปดาว มั่นคงแข็งแรงครอบคลุมเมือง (แต่ยังไม่ทันได้สร้าง) มีบางป้อมได้สร้างเสร็จแล้ว เช่น ป้อมชัยชนะสงคราม ป้อมท่าโพธิ์ และป้อมใหญ่ริมแม่น้ำลพบุรี หน้าพระราชวัง ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรท่าหิน เป็นต้น

นอกจากนี้ในคณะทูตยังมีนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์มาถวายความรู้แด่สมเด็จพระนารายณ์ ด้วยในเวลานั้นเกิดจันทรุปราคาซึ่งเห็นได้ในประเทศไทยพอดี คือ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2228 บาทหลวงผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์เหล่านั้นได้จัดที่ให้ทอดพระเนตรด้วยกล้องดูดาว ณ พระที่นั่งเย็น บางทีนักบวชนำเรื่องดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องทันสมัยมากในสมัยนั้นมาเผยแพร่ น่าจะเป็นการจูงใจสมเด็จพระนารายณ์ให้เข้ารีตอีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกันเวลานั้นเป็นยุคสมัยของวิทยาศาสตร์ (science time) ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ให้ความสนพระราชหฤทัยอย่างเป็นพิเศษ ด้วยโปรดการแสวงหาค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ในมุมมองทางจิตวิเคราะห์ถือว่าเป็นความสามารถในการนิรมิตสิ่งใหม่ คิดใหม่เพื่อราชสำนัก ซึ่งไม่ค่อยมีปรากฏบ่อยนัก

ทั้งหมดนี้ทำให้ สมเด็จพระนารายณ์ ทรงรู้สึกปลอดภัย และโปรดเมืองลพบุรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2564