ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี |
เผยแพร่ |
การสร้าง ป้อมปราการเมืองลพบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เอกสารของ เดอ ลา มาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส บันทึกและเขียนแผนผังไว้ดังนี้
“ละโว้เป็นเมืองตั้งอยู่ริมสาขาหนึ่งของแม่น้ำ และแม่น้ำสายนี้ก็เรียกว่าแม่น้ำละโว้ ส่วนอีกลำน้ำอีกสายเรียกว่าแม่น้ำเฉยๆ แต่มีน้ำบริบูรณ์ แต่แม่น้ำละโว้แทบจะไม่มีน้ำเลยในฤดูร้อน ข้าพเจ้าได้เสนอไปว่าควรขุดร่องน้ำในแม่น้ำ ในบริเวณที่แม่น้ำแยกกัน เพื่อนำน้ำเข้ามาในแม่น้ำละโว้ จะมากหรือน้อยก็ได้ตามที่เราต้องการ และข้อเสนอนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่
เมืองละโว้มีกำแพงเมือง 2 ชั้น ชั้นแรกคือกำแพงล้อมพระราชวัง เรียกกันว่าเมืองบน และเมืองล่าง พระเจ้ากรุงสยามมีรับสั่งกับข้าพเจ้าเมื่อปีที่แล้วว่าให้ก่อสร้างป้อมปราการขึ้นบริเวณแนวกำแพงเมืองทั้ง 2 และรับสั่งให้ทำป้อมปืนเล็กๆ ไว้ด้วย ข้าพเจ้าได้เขียนแบบให้มุมป้อมสูง 12 ต๊วส และอีก 12 ต๊วสที่บริเวณพื้นที่ด้านหลังป้อม ที่เหลือข้าพเจ้าเผื่อสำหรับมุมป้อม และพื้นที่ระหว่างมุมหนึ่งกับอีกมุมหนึ่ง และข้าพเจ้าก็ได้รับคำสั่งให้จัดการกับป้อมปราการเก่าที่พังทลายลงกับดินและไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว
ป้อมที่ด้านหลังพระราชวังนั้นมีขนาดใหญ่กว่าแห่งอื่น เพราะพระเจ้ากรุงสยามมีพระราชประสงค์ดังนั้น การสร้างป้อมนั้นเริ่มมากว่า 8 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีงานเล็กๆ น้อยๆ อีกสองสามแห่งที่คงค้างอยู่ที่ข้าพเจ้าจะต้องจัดการให้เรียบร้อย บางอันมีขนาดเล็กไป บางอันตั้งอยู่ผิดที่
แนวกำแพงเมืองทั้ง 2 แห่งจำเป็นจะต้องก่อกำแพงอิฐขึ้นไปใหม่ ฉาบปูนขาวผสมทราย และให้มีความหนาประมาณ 15 ปิเย่ด์ และข้าพเจ้าก็ทำส่วนด้านหลังของแนวกำแพง โดยขุดคูน้ำ กว้าง 2 ปิเย่ด์ครึ่ง ส่วนที่เหลือหนาอีก 12 ปิเย่ด์ครึ่ง รวมกำแพงสูง 30 ปิเย่ด์นับจากก้นคูน้ำ เพื่อที่ว่าจะได้ระยะ 6 ปิเย่ด์ สำหรับพื้นที่ที่ก่อยื่นออกไปตรงข้ามกำแพงของแนวกำแพง ที่จะเว้นไว้ในระยะ 12 ปิเย่ด์ครึ่ง และอีก 6 ปิเย่ด์ครึ่งสำหรับความหนาของกำแพง ข้าพเจ้าให้ขุดคูน้ำลึก 12 ปิเย่ด์
ข้าพเจ้าให้ทำแนวค้ำยันที่ด้านในกำแพงในระยะห่าง 12 ปิเย่ด์ เสาค้ำยันเหล่านี้มีความหนา 8 ปิเย่ด์ และหนา 5 ปิเย่ด์ ตั้งแต่ฐานจนระดับเส้นที่คาดอยู่บนแนวป้อม
ข้าพเจ้าสร้างป้อมแบบเปิดโล่ง และไม่ได้ทำมุมย่อเข้ามา และไม่มีทั้งห้องเก็บสรรพาวุธที่ชั้นล่างหรือชั้นกลางบริเวณด้านข้างของป้อม เพราะเราเชื่อว่าก็คงจะมีเฉพาะชาวกัมพูชา พะโค และลาวเท่านั้นที่มาทำสงครามด้วย และเพื่อว่าสถานที่แห่งนี้มีความสามารถเพียงพอที่จะตั้งรับได้ ข้าพเจ้าจึงให้ขุดคูน้ำขึ้นรอบเมืองทั้งสอง ดังเช่นที่เราเห็นในแผนผัง ข้าพเจ้าทำใบป้อมให้หนาเพียง 1 ต๊วสเท่านั้น เพื่อว่าจะได้มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และข้าพเจ้าก็ได้ให้มีพื้นที่ที่ก่อยื่นออกไปตรงข้ามกำแพงที่ด้านในป้อมมากกว่าทางสูง เพื่อว่าจะได้ขึ้นไปสะดวก
พื้นดินที่เมืองละโว้นั้นค่อนข้างแห้งแล้ง ดินแข็งมากและมีรูพรุนไปหมด แม้ว่าจะง่ายที่จะไถพลิกดิน แต่ก็ไม่มีค่าอันใดเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อทำแนวกำแพง
เราพบว่ามีหลุมลึกถึง 24 ปิเย่ด์ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ต้องใช้เสาในการก่อสร้าง” (Paris, AN, 3 JJ 368 Carton 97, no. 7 หรือใน Michel JACQ-HERGOUALC’H, L’Europe et le Siam du XVIe au XVIIIe siècle : Apports culturels)
ในรายงานของเดอ ลา มาร์ ทำให้เห็นความชัดเจนขึ้นของ ป้อมปราการเมืองลพบุรี แม้เราจะไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่า เดอ ลา มาร์ กำลังอธิบายป้อมแห่งใดในเมือง ป้อมที่เหลือในปัจจุบัน 2 ป้อม คือป้อมท่าโพธิ์และป้อมชัยชนะสงคราม มีลักษณะคล้ายคลึงกับคำพรรณนาของ เดอ ลา มาร์ ตามแผนผังเมืองขนาดใหญ่ที่พบแผนที่และแผนผังเก็บในหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส แสดงความยิ่งใหญ่ของเมืองลพบุรีดังนี้ (ดูแผนผังประกอบ)
แผนผังนี้ทำให้เราสังเกตได้ว่า เดอ ลา มาร์ วาดแผนที่ป้อมให้ทับซ้อนลงไปกับแนวกำแพงป้อมปราการเมือง ลักษณะเป็นป้อมแบบยุโรป คือ มี 12 มุมแหลม ที่มักเรียกว่าป้อมแบบโวบอง (Vauban) ตามชื่อวิศวกรที่ก่อสร้างป้อมในยุโรปและในฝรั่งเศส
แต่หากแผนผังการสร้างแนวป้อมของเดอ ลา มาร์ ได้รับการสร้างขึ้นจริงนั้น ก็จะเห็นว่ามีขนาดใหญ่มาก เพราะด้านหนึ่งของป้อมทับอยู่บริเวณพระราชวังเมืองละโว้ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือทางตะวันออกนั้น ครอบคลุมพื้นที่เหนือคลองเรือกออกไป
อนึ่ง หากพิจารณาลักษณะของป้อมในยุโรปร่วมสมัยกับเดอ ลา มาร์ แล้วก็จะพบว่า มีความนิยมก่อสร้างป้อมที่มีลักษณะย่อมุมมาก เป็นดวงดาว และมีพื้นที่การใช้สอยที่ชัดเจน ดังตัวอย่างเช่น ป้อมในเมือง Bourtrange ในประเทศเนเธอร์แลนด์ สร้าง ค.ศ. 1593
ปัจจุบันนี้ ป้อมท่าโพธิ์ในลพบุรีมีความสมบูรณ์ และแสดงให้เห็นว่า วิศวกรฝรั่งเศสต้องการสร้างให้ป้อมนี้อยู่บนพื้นที่สูง เพื่อสามารถสังเกตข้าศึกได้ง่าย และใช้แนวสระเสวย ท้องพรหมาส เป็นแนวคูน้ำด้านนอก โดยไม่ต้องขุดคูน้ำเพิ่มเติมอีก ส่วนด้านในนั้นเนื่องจากในปัจจุบันถูกรบกวนจากการสร้างบ้านเรือนของประชาชน จึงไม่สามารถสังเกตได้ว่า มีร่องรอยของฐานหรือแนวป้อมอะไรเหลือบ้าง
อ่านเพิ่มเติม :
- ในมุมจิตวิทยา อะไรทำให้สมเด็จพระนารายณ์โปรดเมืองลพบุรี?
- “ป้อมท่าโพธิ์” ป้อมปราการเมืองลพบุรี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เมกะโปรเจ็คต์ (Mega Projects) ของวิศวกรฝรั่งเศสที่ลพบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” เขียนโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2561