ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 2 มุมมองแพทย์ ทรงแพ้พระโอสถหรือทรงถูกวางยา?

รัชกาลที่ 2
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประดิษฐานภายในโรงเรียนราชินี กรุงเทพฯ (ภาพจากจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 1, จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2536)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ทรงร่วมนิพนธ์วรรณคดีหลายเรื่อง เช่น อุณรุท รามเกียรติ์ อิเหนา และดาหลัง โปรดทรงดนตรีคือซอสามสาย ชื่อซอสายฟ้าฟาด [1] พระองค์ได้มีพระราชโองการกำหนดวันพิธีวิสาขบูชา ซึ่งหายไปเมื่อคราวสิ้นอยุธยา กลับมาเป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง [2]

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เมื่อ พ.ศ.2352 และทรงอยู่ในราชสมบัติ 16 ปี และเสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367

Advertisement

สาเหตุการสวรรคตของพระองค์นั้นยังเป็นที่น่ากังขาอยู่ อาจทำให้คนทั่วไปคาดเดาหรือสันนิษฐานสาเหตุการสวรรคตของพระองค์ไปต่างๆ นานา ทำให้ผมเขียนบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” นี้ขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อนแต่เนื่องด้วยในช่วงนั้นเอง ผมมีภารกิจต่างๆ ในการทำงานราชการประจำค่อนข้างมากจึงทำให้ไม่สามารถจบบทความดังกล่าวได้

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ได้มีโอกาสอ่านบทความเรื่อง “ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 2 จริงหรือลือ?” [3] ซึ่งเขียนโดย คุณปรามินทร์ เครือทอง ที่เขียนลงใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 แล้วทำให้ผมต้องรีบจบบทความของผมเรื่องที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ที่ค้างอยู่นั้น ทั้งนี้เพื่อที่จะโต้แย้งกับบทความของคุณปรามินทร์ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น [3] เนื่องจากผมมีความเห็นส่วนตัวหลังจากอ่านบทความดังกล่าวนี้แล้วว่า บทความนี้มีความไม่ถูกต้อง ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สมเด็จพระราชชนนีของพระองค์ คือ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมเรียม ในรัชกาลที่ 2) แต่ผมขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้มีอคติใดๆ ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผมในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้สนใจในวิชาประวัติศาสตร์ ขออาสาเป็นนักสืบประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง จึงขอเสนอข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์วิเคราะห์สาเหตุการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และวิจารณ์ข้อมูลเชิงสังคมต่างๆ โดยเฉพาะจากข้อมูลที่คุณปรามินทร์ ได้นำเสนอเพื่อค้นหาความจริงสู่ประวัติศาสตร์ไทยต่อไป

ผมได้ค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอยู่หลายเล่ม ซึ่งจะขอคัดลอกนำบางส่วนของเอกสารเพื่อใช้ประกอบการเขียนบทความนี้ คือ

1. เอกสารฉบับแรกเป็นพรกเป็นพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) เล่ม 3 กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่โดยสำนักพิมพ์มติชน [4] เมื่อพ.ศ. 2550 ได้กล่าวถึงอาการพระประชวรของ รัชกาลที่ 2 ดังนี้

“ครั้น ณ วัน 4 แรม 4 ค่ำ เดือน 8 ค่ำ ปีวอก ฉศก ศักราช 1186 เป็นปีที่ 16 ในรัชกาลทรงพระประชวร มีพระอาการมึนพระองค์ซึมเซื่อมไป มิใคร่จะมีพระราชดำรัส ถึง ณ วัน 4 แรม 11 ค่ำ เดือน 8 ค่ำ พระองค์ก็เสด็จสวรรคต สถิตย์ในอิศริยยศราชสมบัติ 16 พรรษา พระชนมายุพรรษกาล 58 พรรษา นับโดยอายุโหราได้ 56 พรรษา 7 เดือน 19 วัน”

2. หนังสือวันสวรรคต 66 กษัตริย์ไทย [1] ซึ่งเขียนโดยคุณพิมาน แจ่มจรัส ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2508 ได้บรรยายกรณีสวรรคต โดยบอกว่าเป็นข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร แต่ไม่ได้แจ้งว่าเป็นฉบับใด

“มีพระอาการให้มึนและเมื่อยพระองค์ จึงเรียกพระโอสถข้างที่ชื่อจรไนเพชร ซึ่งเคยเสวยมาแต่ก่อนนั้นมาเสวย ครั้นเสวยแล้วก็เกิดพระอาการให้ร้อนเป็นกำลัง จึงรับสั่งเรียกพระโอสถชื่อว่าทิพโอสถมาเสวยอีกขนานหนึ่ง พระอาการก็ไม่คลายกลับเซื่อมซึมไป มิได้ตรัสสิ่งใด แพทย์หลวงประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ ประชวรได้ 8 วันก็เสด็จสู่สวรรคต”

หนังสือวันสวรรคตของ 66 กษัตริย์ [5] ซึ่งเขียนโดย คุณพิมาน แจ่มจรัส ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2543 ได้เขียนถึงกรณีสวรรคต [1] ของพระองค์โดยข้อมูลเพิ่มเติมจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 21 ดังที่ผมจะได้นำเสนอต่อไปคือ

3.1 นำมาจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ความดังต่อไปนี้

“ศุภมัสดุ ศักราชพันแปดร้อยหกสิบ (พ.ศ. 2367) พานรสังวัจฉระ อาสาธมาสกาฬปักษ์ สัตตมีดิถี โสรวาระ ณ วันเสาร์ เดือน 8 แรม 7 ค่ำ เวลาบ่ายสามโมง หกบาทปีวอกฉศก พระบาทบรมนาถบรมบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ทรงพระประชวรพระโรค เพื่อไข้พิษ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเจ้าจอมข้างในให้ออกมาเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าพระองค์ใหญ่กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ เข้าไปเฝ้าในพระที่นั่ง จึงตรัสประทานพระราชอาการว่า การประชวรครั้งนี้หนักพระทัยยิ่งกว่าทุกครั้ง เร่งคิดอ่านปฤกษาแพทย์ทั้งปวงประกอบพระโอสถแก้ประชวรพระเจ้าและพระโอสถแก้พระพิษที่เชื่อมมัว

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้ากับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงทราบพระอาการ จึงเสด็จออกมาสถิตที่ศาลายามค่ำ พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ให้ประชุมแพทย์หมอโรงพระโอสถ พระพงศนรินทร์ จางวางหลวงสิทธิสาร หลวงทิพจักษุ เจ้ากรมขุนหมื่น หมอมีชื่อเจ้าพนักงานเครื่องต้น พระโอสถหลวงราชรักษา หลวงราโช หลวงประสิทธิหัตถา ขุนภักดีองคสัมพาหะแพทย์ หมออยู่งาน และผู้กำกับพระโอสถนั้น เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาอุทัยธรรม พระราชโกษาปฤกษาพร้อมกันประกอบพระโอสถเสวย พระโอสถทรงชะโลม พระโอสถทรงกวาดทรงหา ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นหลายขนาน พระอาการพระโรคสงบเป็นคราวๆ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้ากับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษารณเรศร์ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นสุนทรธิบดีพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเดชอดิศร พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์และพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในทรงประคับประคองสนองพระเดชพระคุณอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนโดยลำดับ แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศรานุรักษ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์นั้นทรงจัดแจงให้พระยาราชสงคราม จางวางหลวงวิสูตรโยธามาตย์ หลวงราชโยธาเทพ เจ้ากรมกับขุนหมื่นมีชื่อช่วงทหารในทำพระแท่นที่บรรทมสำหรับทรงพระประชวร มีพระวิสูตรและเพดานดาดด้วย เศวตพัสตร์ องค์ 1 พระแท่นที่สรง องค์ 1 แล้วข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนมหาดเล็ก ชาวที่รักษาพระองค์ ชาวป้อมล้อมพระราชวังประจำพร้อมกันตามตำแหน่งที่ทุกกรม

ครั้ง ณ วัน 3 เดือน 8 แรม 10 ค่ำ พระอาการพระโรคซึ่งทรงพระประชวรนั้นหนักจวนพรชนมาวสานต์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าจึงสั่งให้สังฆการีอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระวันรัด พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรสและพระสงฆ์ราชาคณะฝ่ายคามวาสีอรัญวาสี ผลัดเปลี่ยนเข้าไปจำเริญพระปริตรในพระเฉลียงพระที่นั่งฝ่ายบูรพาทิศที่สูงครั้งละ 10 รูป ทั้งกลางคืนกลางวัน ให้กรมพระราชวังเบิกพระราชทรัพย์ในพระคลังมหาสมบัติ จัดซื้อสุกร ไก่ ปลา ปล่อยวันละชั่งให้เป็นพระราชกุศลทุกวัน”

และ คุณพิมาน แจ่มจรัส ยังได้นำข้อความบางส่วนมาจาก

3.2 หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (คุณพิมาน แจ่มจรัส ไม่ได้ให้รายละเอียดที่มาของหนังสือเล่มนี้- ผู้เขียน) ที่กล่าวว่า

“ทรงพระประชวรไข้พิษอันแรงกล้า มิได้รู้สึกพระองค์ ได้แต่เรียกพระโอสถชื่อว่า จาระไนเพ็ชร์ข้างพระที่ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย ครั้นเสวยแล้วก็ให้ร้อนเป็นกำลัง เรียกทิพยโอสถมาเสวยอีก พระอาการก็ไม่ถอยให้เซื่องซึมไป แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ มิได้ตรัสสิ่งใด

จนครั้นวัน 4 เดือน 8 แรม 1 ค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้ว 5 บาท พุธ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระบาทบรมนาถบรมบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรพระโรคกำเริบกล้าเหลือกำลังที่แพทย์จะประกอบพระโอสถฉลองพระเดชพระคุณสืบไปก็เสด็จสู่สวรรคต ท่ามกลางพระประยูรวงศาพร้อมทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าเป็นประธานกำหนด แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จได้มหาปราบดาภิเษกเป็นเอกราชาธิปไตยในศิริราชสมบัติได้ 16 ปี พระชนมายุได้ 58 พรรษา เสด็จสวรรคาลัยในพระที่นั่งมหามณเฑียรองค์บุรพทิศ…”

4. หนังสือ “เจ้าชีวิต : พงศาวดาร 9 รัชกาล แห่งราชวงศ์จักรี” ซึ่งทรงพระนิพนธ์โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ [6] พ.ศ. 2554 ความดังต่อไปนี้

“ภายในไม่กี่วัน ภายหลังที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวช พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงประชวรหนัก มีพระอาการมึนและเมื่อยพระองค์ ไม่โปรดเรียกแพทย์และในชั้นต้นรักษาพระองค์เอง ทรงเรียกยาไทยแบบโบราณซึ่งเคยแก้ได้ แต่ก็มิได้ผลกลับทำให้ทรงหนาวสะท้าน จึงทรงเรียกยาที่จะทำให้ร้อน เมื่อยานี้ทำให้ทรงร้อนเกินไปก็ทรงเรียกยาเย็นการรักษาพระองค์เองไม่เป็นการแก้ไขพระโรคได้ กลับทรงเซื่องซึมไป ตรัสอะไรไม่ได้ แพทย์หลวงประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ ประชวรอยู่ได้ 8 วัน ครั้นถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 (ค.ศ.1824) ก็เสด็จสวรรคตพระชนมายุ 56 ปี กับ 5 เดือน (หนังสือภาษาไทยมักจะว่าสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษา 58)”

แม้ว่าเป็นที่น่าแปลกใจว่า เหตุใดเอกสารทั้ง 4 ชิ้นนี้จึงมีความแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียดบางประการเอกสารที่ 1 ไม่ได้กล่าวถึงยาใดๆ เลย ส่วนเอกสารที่ 3.1 มีการกล่าวถึงยาหลายชนิด แต่ไม่มีชื่อยาจรไนเพชรและทิพโอสถ ในขณะที่เอกสารฉบับที่ 2 และ 3.2 กล่าวถึงยาดังกล่าวทั้ง 2 ชนิด ส่วนเอกสารฉบับที่ 4 กล่าวถึงยาถึง 3 ชนิดโดยไม่ได้ระบุชื่อยา แต่มีสิ่งที่ตรงกันในเอกสารส่วนใหญ่ก็คือทรงพระประชวรก่อน แล้วจึงเสวยพระโอสถ

แต่พระอาการประชวรของ รัชกาลที่ 2 ไม่ดีขึ้น และเสด็จสวรรคตภายใน 8 วัน นับแต่มีพระอาการประชวร แต่รายละเอียดในเรื่องยาของเอกสารแต่ละฉบับจะแตกต่างกันไป ซึ่งผมสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความใกล้ชิดของแหล่งข้อมูลและระยะเวลาที่จดบันทึกของเอกสาร

โดยผมได้พิจารณาดูแล้ว คิดว่าพระองค์น่าจะเสวยพระโอสถจริงและต้องมีพระโอสถอย่างน้อย 2 ขนาน และคงจะเสวยยาจรไนเพชรก่อนทิพโอสถอย่างแน่นอน แต่ผมไม่สามารถหาชื่อตลอดจนยืนยันการมีอยู่จริงของพระโอสถอีกขนานได้ (ถ้ามีอยู่จริง) เนื่องจากมีเพียงเอกสารฉบับที่ 4 [6] เพียงชิ้นเดียวที่กล่าวถึงการมีอยู่ของพระโอสถขนานนี้โดยไม่ได้ให้รายละเอียดหรือหลักฐานที่ยืนยันใดๆ เลย

ดังนั้นจากเอกสารทั้ง 4 ชิ้น ผมขอสรุปลำดับเวลาของเหตุการณ์กรณีสวรรคตโดยจะใช้ข้อมูลจากเอกสารฉบับที่ 4 เป็นหลักเกี่ยวกับเรื่องพระโอสถที่เสวย ดังนี้

ลำดับเวลากรณีสวรรคต ข้อมูลจาก หนังสือ “เจ้าชีวิต : พงศาวดาร 9 รัชกาล แห่ง
ราชวงศ์จักรี”

คราวนี้ เราลองมาดูกันว่า พระโรคอะไรที่เป็นเหตุให้เสด็จสวรรคต จากที่ได้ประมวลพระอาการ ผมคิดว่าพระโรคน่าจะมีสาเหตุในระบบประสาท เพราะว่าพระโรคนี้ทำให้มึนพระองค์ (น่าจะปวดพระเศียร และอาจปวดเมื่อยตามพระองค์ร่วมด้วย- ผู้เขียน) และทรงได้รับพระโอสถแก้ประชวรพระเจ้า (ซึ่งก็น่าจะประชวรเกี่ยวกับพระเศียร- ผู้เขียน)

นอกจากนี้พระองค์ยังซึมเชื่อม (ซึ่งแปลว่าพระโรคได้ทำให้พระสติสัมปชัญญะเสื่อมลง แสดงว่าน่าจะมีผลต่อระบบสมองและประสาท) นอกจากนี้พระองค์น่าจะมีพระไข้ด้วยซึ่งพระอาการไข้นี้เป็นปัจจัยที่บอกแก่เราทางอ้อมว่า พระองค์น่าจะมีโรคติดเชื้อร่วมด้วยจากเอกสารฉบับที่ 3.2 ที่บอกว่า

“ทรงพระประชวรไข้พิษอันแรงกล้า มิได้รู้สึกพระองค์ ได้แต่เรียกพระโอสถชื่อว่าจาระไนเพ็ชร์ข้างพระที่ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย…” (น่าจะบอกให้เราทราบว่า พระองค์ทรงพระประชวรหนักถึงขนาดเพ้อถึงชื่อยาจาระไนเพ็ชร์ โดยที่จริงๆ แล้วพระองค์อาจจะไม่ได้มีพระราชประสงค์ยาตัวนี้จริงๆ ก็ได้)

โดยสรุป ผมมีความเห็นว่าพระโรคที่ทำให้สวรรคตน่าจะเป็นพระโรคบางพระโรคที่มีพยาธิสภาพอยู่ที่ระบบสมอง ที่ทำให้พระองค์ทรงปวดพระเศียรปวดเมื่อยพระองค์ซึมลง ไม่ค่อยมีพระราชดำรัสพระโรคติดเชื้อที่น่าจะเป็นสาเหตุการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คือ

1. โรคสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส (Viralencephalitis)
2. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) นอกจากในกลุ่มโรคติดเชื้อของสมองเหล่านี้แล้ว โรคอื่นๆ ที่อาจจะเป็นสาเหตุได้ เช่น
3. โรคเลือดออกในสมอง (Subarachnoid hemorrhage)
4. โรคเนื้องอกของสมอง (Brain tumor)

พระบรมรูป รัชกาลที่ 2
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ประดิษฐานภายในศาลาทรงยุโรป
หลังองค์พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

พระโรคติดเชื้อที่น่าจะเป็นสาเหตุการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

1. โรคสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส [7-9] ผู้ป่วยมักมีอาการไข้เฉียบพลัน มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ไอ เจ็บคอ คล้ายๆ กับการติดเชื้อไวรัสทั่วๆ ไป เช่น ไข้หวัด เป็นต้น แต่ต่อมาก็มีอาการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวและพฤติกรรม เช่น ซึมลง สับสน เห็นภาพหลอน กระสับกระส่าย พูดไม่ออก (aphasia) และอาจโคม่าได้ในที่สุด ในผู้ป่วยโรคสมองอักเสบบางโรค เช่น โรคพิษสุนัขบ้า อาจมีเกร็งของกล้ามเนื้อกล่องเสียง (laryngospasm) กลัวน้ำ (hydrophobia) ความรู้สึกตัวลดลง (depressed consciousness) ซึ่งถ้าพิจารณาพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะพบว่ามีพระอาการที่เหมือนกันค่อนข้างมาก ตั้งแต่ปวดพระเศียร ปวดเมื่อย มึนพระองค์ มีพระไข้ ซึมลง ตรัสไม่ได้ และเสวยพระโอสถไม่ได้

2. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่วนใหญ่พบว่ามีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ ไข้ ปวดศีรษะ และคอแข็ง ผู้ป่วยอาจมีระดับความรู้สึกตัวลดลงได้ถึงร้อยละ 75 [6] แต่อย่างไรก็ตามอาการอาจเป็นเพียงเล็กน้อย เช่น ง่วง เนือย ไม่กระตือรือร้น เกียจคร้าน เซื่องซึม (lethargy) หรืออาจรุนแรงถึงหมดสติหรือสลบได้ (coma) โรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 70-100 [10] โดยในระยะแรกๆ ผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยตามตัว อาเจียน ชัก อาจกลัวแสง ซึมลง และระดับความรู้สึกตัวลดลงในเวลาต่อมาได้ [10] ซึ่งพระอาการประชวรของพระองค์ก็มีความคล้ายกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอีกเช่นเดียวกัน แต่พระอาการพระศอแข็งไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากไม่มีบันทึกโดยแพทย์หลวงคนใด หรือปรากฏในเอกสารชิ้นใดเลย

3. โรคเลือดออกในสมอง โรคเลือดออกในสมอง ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากเส้นเลือดพองผิดปกติ (aneurysm) ที่แตกออกและเกิดแรงกดต่อเนื้อสมองหรือเส้นประสาทสมอง ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะและสูญเสียความรู้สึกตัวอย่างทันทีทันใดชั่วคราวประมาณร้อยละ 50 [11] โดยอาจมีอาการปวดศีรษะนำมาก่อนแต่ส่วนมากมักจะบ่นเรื่องปวดศีรษะหลังจากที่รู้สึกตัวดีแล้ว และผู้ป่วยอาจมีอาการของระบบประสาทเนื่องจากก้อนเลือดกดบริเวณสมองได้ เช่น อัมพฤกษ์ พูดไม่ออก เป็นต้น

เนื่องจากโรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อจึงมักไม่มีไข้ พระอาการประชวรของ รัชกาลที่ 2 ไม่เหมือนกับโรคเลือดออกในสมอง เนื่องจากพระอาการหลักไม่ใช่พระอาการปวดพระเศียร และพระอาการเซื่องซึมเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีหลักฐานว่าพระองค์ทรงปวดพระเศียรมาก่อนหน้านี้

4. โรคเนื้องอกของสมอง โรคนี้ทำให้เกิดอาการได้ 2 ประเภท คือ อาการทั่วไปและอาการเฉพาะที่ อาการทั่วไป ได้แก่ ปวดศีรษะ บุคลิกภาพเปลี่ยน ท่วงท่าการเดินเปลี่ยนไป การเรียนรู้ลำบาก (cognitive difficulties) อาการทั่วไปนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเนื้องอกใหญ่ขึ้นและทำให้เกิดอาการบวมรอบๆ ก้อนและเพิ่มความดันในสมอง จนอาจทำให้เกิดศีรษะบาตรได้ (hydrocephalus)

ลักษณะเฉพาะของอาการปวดศีรษะที่เกิดจากเนื้องอกของสมอง คือปวดศีรษะตอนเช้าและปวดน้อยลงในระหว่างวัน แต่อย่างไรก็ตามลักษณะเฉพาะเช่นนี้พบได้น้อย [12] อาจมีอาเจียนได้เนื่องจากความดันในสมองสูงขึ้น ส่วนอาการเฉพาะที่ เช่น อัมพฤกษ์ พูดไม่ออก (aphasia) เห็นภาพผิดปกติ ซึ่งอาการเฉพาะที่นี้มักเกิดช้าและค่อยเป็นค่อยไปซึ่งพระอาการของพระองค์ไม่เหมือนกับโรคเนื้องอกของสมอง เนื่องจากพระองค์ไม่ได้ทรงปวดพระเศียรเป็นพระอาการหลัก แม้ว่าพระองค์อาจมีเซื่องซึมไปบ้าง และไม่มีหลักฐานว่าพระองค์ทรงมีอาการเฉพาะที่ใดๆ มาก่อนเช่นเดียวกัน

อนึ่ง จากการที่มีเอกสารบางชิ้น เช่น เอกสารฉบับที่ 2 กล่าวในทำนองว่า จากเดิมที่มีพระอาการเพียงมึนและเมื่อยพระองค์ แต่หลังจากที่ได้เสวยยาจรไนเพชรและทิพโอสถแล้วทำให้พระอาการประชวรหนักขึ้นจนเสด็จสวรรคตในที่สุด ทำให้คิดได้อีก 2 กรณี คือ ก. พระองค์ทรงแพ้พระโอสถ (แพ้ยา) ข. พระองค์ทรงถูกวางยาพิษ

ก. รัชกาลที่ 2 ทรงแพ้พระโอสถ (แพ้ยา)

ผมได้ลองค้นหาดูว่า ยาจรไนเพชร, จาระไนเพ็ชร์, และทิพโอสถ, ทิพยโอสถ คือยาอะไรกันแน่ มานาน ในที่สุด จากหนังสือแพทยศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 2 ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2504 [13] แม้ว่าจะไม่พบชื่อยา “จรไนเพชร; จาระไนเพ็ชร์” แต่พบชื่อยา “เจียระไนเพชร” ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะมีรากศัพท์คล้ายกับ “จรไนเพชร, จาระไนเพ็ชร์” เนื่องจากภาษามีการเจริญเติบโต ดังนั้นชื่อยาในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็น่าจะมีความผิดเพี้ยนเมื่อถึงรัชกาลที่ 9 ผมจึงขอสรุปว่า ยา “เจียระไนเพชร” เป็นยาตัวเดียวกับจรไนเพชร, จาระไนเพ็ชร์ ผมขอคัดลอกรายละเอียดส่วนประกอบของยาเจียระไนเพชร ดังนี้

“…ยาชื่อเจียระไนเพชร แก้โลหิตพิการ แก้ลมจับ หัวใจ ท่านให้เอาผลช้าพลู 1 ผลจันทน์ 1 ดีปลี 1 ยาทั้งนี้ เอาสิ่งละ 1 บาท เทียนดำ 2 บาท เมล็ดโหรพาต้น 2 บาท สชค้าน 2 บาท ผักแผ้วแดง 4 บาท สหัศคุณเทศเท่ายาทั้งหลายหนัก 19 บาท ทำเป็นผงรำหัดการบูร ละลายน้ำร้อนก็ได้ ให้กินแก้สรรพลมทั้งปวงก็ได้ แก้โลหิตเน่าร้ายถ้าคลอดบุตรก็ดี อยู่ไฟไม่ได้ก็ดี จะกลายเป็นริดสีดวงแห้งเป็นฝีภายในมดลูก ถ้าผู้ใดได้กินยานี้หายแล”

ส่วนยาทิพโอสถ มีรายละเอียดส่วนประกอบในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ [14] ดังนี้

“ดอกพิกุล บุนนาค สาระภี มะลิ บัวหลวง กระดังงา จำปา จงกล แห้วไทย กระจับ ฝาง จันทน์แดง จันทน์ขาวจันทน์เทศ เนื้อไม้ ชะลูด สมุลแว้ง อบเชย ส้มเทศ ว่านน้ำ กระชาย เปราะ ดอกคำ ชะเอม ข่าต้น ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ยาทั้งนี้หนักสิ่งละ 1 บาท โกฏิทั้ง 9 หนักสิ่งละหนึ่งสลึง เทียนทั้ง 9 การะบูนหนักอย่างละหนึ่งสลึง ชะมดเชียงหนัก 2 สลึง ตำเป็นผงบดรับประทาน แก้เชื่อมมัวเพื่อพิษเสมหะ ใช้น้ำดอกไม้จันทน์แดงฝนแทรกดีงูเหลือมแก้อ่อนเพลียใช้น้ำดอกไม้ หญ้าฝรั่น พิมเสน ชะมดเชียง อำพัน หรือจะใช้น้ำถั่วพลูกับน้ำดอกไม้ก็ได้”

นอกจากนี้ ยาทิพโอสถมีรายละเอียดส่วนประกอบในหนังสือเรื่องตำรายาหมอไทย ฉบับแผนโบราณ ที่เรียบเรียงโดย คุณนิรัติ หมานหมัด [15] ดังนี้

“เทียนตาตั๊กกะแตน เทียนเยาวภาณี เทียนขาว โกฏิเชียง โกฏิหัวบัว โกฏิจุลาลำภา กำยานไทย ขอนดอก กะลำพัก ชะลูด จันทน์เทศ จันทน์ชะมด อบเชยเทศ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ดอกสาระภี พิกุล บุนนาค สมุลแว้ง ลูกผักชีลา กระวาน กานพลู หัวเปราะหอม ลูกเร่ว เทพทาโรรวมยา 25 สิ่ง ทำเสมอภาค ปรุงชะมด 1 บาท พิมเสน 2 สลึง หญ้าฝรั่ง 1 สลึง อำพันทอง 2 ไพ น้ำดอกไม้สดเป็นกระสาย บดทำแท่ง แก้ลมสวิงสวาย วิงเวียน หน้ามืด ตามัว ให้ตัวสั่นหัวใจเต้น แก้ร้อนในอกในคอ แก้ลงราก หิวอ่วม เทพจรพัก แก้คลั่งเพ้อ”

ต่อไปผมขอวิเคราะห์ส่วนประกอบของยาเจียระไนเพชรก่อน โดยผมจะเน้นถึงส่วนผสมต่างๆ เพื่อดูว่ายาตัวใดที่อาจจะมีพิษบ้าง ทั้งนี้ผมจะขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดของยาแต่ละตัวที่เป็นส่วนประกอบ โดยขอกล่าวแต่เพียงสรรพคุณของยาแต่ละตัว เพราะไม่อยากให้บทความนี้เป็นตำรายาแผนโบราณไป ผมขอรวบรวมยาประเภทต่างๆ เป็นกลุ่มเพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์

1. กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้แก่ กระวาน สรรพคุณ : ในทางยาใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ เป็นส่วนผสมในยาถ่ายเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง

ยาถ่าย (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี) โหรพา (โหระพา) สรรพคุณ : ขับลม ทำให้เจริญอาหาร บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น ท้องเสีย (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_03_8.htm)

ช้าพลู ชะพลู สรรพคุณ : ขับเสมหะให้ออกมาทางระบบขับถ่าย ช่วยขับลมในลำไส้ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

ผลจันทน์ สรรพคุณ : แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงประสาท บำรุงเนื้อหนังให้สดชื่น แก้ไข้ แก้ปอด ตับพิการ (http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_10_3.htm)

ดีปลี สรรพคุณ :แก้จุกเสียดแน่นท้อง ขับลมในลำไส้ให้ผายและเรอ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_03_8.htm)

ผักแผ้วแดง ไม่มีผักชื่อนี้ มีแต่ผักแผ่วแดงและผักแพวแดง ผักแพรวแดง ผมคิดว่าน่าจะเป็นผักชนิดเดียวกันแต่เรียกผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป สรรพคุณ : แก้เลือดลมต่างๆ แก้ธาตุพิการ บำรุงประสาท รักษา หอบหืด ไอ ปวดเมื่อยตามข้อ ปวดกระดูก แก้ปวดท้อง ริดสีดวง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (thaiherb-tip108.blogspot.com/2011/03/blog-post_5115.html)

สหัสคุณเทศ มีอีกชื่อหนึ่งว่า สมัดใหญ่ สรรพคุณ : สามารถใช้เป็นยาได้แทบจะทั้งต้น ในตำรายาไทย แก้ลมแก้โลหิตในลำไส้ ขับลม แก้ขัดยอก เสียดแทง แก้ไข้ แก้หืด แก้เสมหะให้ตก (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

สชค้าน ไม่มียาชื่อนี้ มีแต่สะค้าน ตะค้านเหล็ก

ตะค้านหยวก สรรพคุณ : ขับลม แก้ท้องแน่น จุกเสียดแก้ลมอัดแน่นในทรวง บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย แก้ธาตุพิการ (สมุนไพรในร้านยาโบราณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

เทียนดำ เป็นยาที่ได้จากพืชเทียนดำในตำรับยาไทยหลายตำรับ แต่เทียนดำเป็นสมุนไพรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากมีแหล่งกำเนิดแถบตะวันออกกลาง (ประเทศซีเรียและเลบานอน) เครื่องยาพิกัดเทียน เทียนดำจัดอยู่ใน “พิกัดเทียน” ที่ประกอบด้วย “พิกัดเทียนทั้ง 5” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน “พิกัดเทียนทั้ง 7” (มีเทียนเยาวพาณีและเทียนสัตตบุษย์ เพิ่มเข้ามา) “พิกัดเทียนทั้ง 9” (มีเทียนตากบและเทียนเกล็ดหอย เพิ่มเข้ามา)

สรรพคุณ : สรรพคุณโดยรวมของยาที่ใช้ในพิกัดเทียน คือ ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม เมล็ด รสเผ็ดขม ขับเสมหะให้ลงสู่คูทวาร ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อย แก้ท้องอืด เฟ้อ แก้อาเจียน บำรุงโลหิต ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ ขับระดูบีบมดลูก แก้โรคลม ขับพยาธิ การศึกษาทางพิษวิทยา: ส่วนใหญ่ได้มาจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง ไม่มีรายงานในคน แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ถึงแม้จะพบว่าการบริโภคเมล็ดเทียนดำปลอดภัยในรายงานหลายฉบับ (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

รำหัดการะบูร รำหัด หมายความถึงโรย เช่น (ใช้สําหรับเอาพิมเสนแทรกยา); ใส่, แทรก. ว. อ่อน ดังนั้น รำหัดการะบูร หมายถึงใช้สําหรับเอาการะบูร (การบูร) แทรกยา การะบูร (การบูร) เป็นผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูร ที่เกิดอยู่ทั่วไปทั้งต้น มีรสร้อนปร่าเมา (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

โดยสรุป เท่าที่มีข้อมูลในขณะนี้ ยาเจียระไนเพชร มีเพียงเทียนดำเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่รายงานจากการศึกษาในสัตว์ทดลองว่าอาจมีพิษต่อสัตว์เหล่านั้นได้ แต่ไม่มีรายงานในคน ดังนั้นผมจึงขอสรุปว่า ยาเจียระไนเพชรนี้ โดยตัวของยานี้ไม่มีพิษ แต่ผมไม่สามารถสรุปในขณะนี้ได้ว่ามีใครใส่ยาพิษลงไปในยาเจียระไนเพชรนี้หรือไม่ ส่วนตำรับยา “ทิพโอสถ” นั้น ผมได้ข้อมูลจากทั้งหนังสือแพทยศาสตร์สงเคราะห์เล่ม 214 และหนังสือเรื่องตำรายาหมอไทย ฉบับแผนโบราณ [15] ที่มี คุณนิรัติ หมานหมัด เป็นบรรณาธิการ โดยขอวิเคราะห์ถึงส่วนประกอบของยาดังนี้

1. กลุ่มเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” เครื่องยา “พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณโดยรวมของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก ในยา “ทิพโอสถ” นี้มีเครื่องยา “พิกัดโกฐ” อยู่ 3 ตัว คือ โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา

ก. โกฏิเชียง มีชื่ออื่นว่า โกฐเชียง ตังกุย ไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
ข. โกฏิหัวบัว ไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
ค. โกฏิจุลาลัมภา มีชื่ออื่นว่า โกฐจุฬาลัมพา ไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

2. ยากลุ่ม พิกัดตรีพิษจักร พิกัดตรีคันธวาต

ก. กานพลู เป็นหนึ่งใน “พิกัดตรีพิษจักร” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร มี 3 อย่าง คือ ผลจันทน์เทศ ผลผักชีล้อม และกานพลู สรรพคุณ แก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต ส่วน “พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม 3 อย่าง มี ผลจันทน์เทศ ผลเร่วใหญ่ และกานพลู สรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด

กานพลูเป็นยากลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ

การศึกษาทางพิษวิทยา : การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดดอกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกิน ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ แต่เมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 6.184 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_03_8.htm)

ข. จันทน์เทศ เป็นหนึ่งใน “พิกัดตรีพิษจักร” และ “พิกัดตรีคันธวาต” เป็นกลุ่มยาแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลังบำรุงธาตุ (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_10_2.htm)

ค. ลูกเร่ว ยานี้เป็นยาในกลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อด้วย (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

3. ดอกจันทน์ มีอีกชื่อหนึ่งว่าดอกจันทน์เทศ ดอกจันทน์ปาน เป็นดอกของต้นจันทน์เทศ องค์ประกอบทางเคมี : ดอกจันทน์มีองค์ประกอบเป็นน้ำมันระเหยง่ายราวร้อยละ 7-14 น้ำมันนี้มีองค์ประกอบหลักเป็นสารไมริสติซิน (myristicin), elemicin, safrole การศึกษาทางเภสัชวิทยา : ฤทธิ์ต่อจิตและประสาททำให้เกิดอาการประสาทหลอน ต้านอาการท้องเสียจากเชื้อ Escherichia coli ต้านอาการปวดและอักเสบ ยับยั้งการสร้างสาร prostaglandin ต้านมะเร็ง ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย

การศึกษาทางพิษวิทยา : การบริโภค myristicin ในอัตรา 4-4 กรัม ทำให้คนแสดงอาการผิดปกติด้านระบบประสาท เกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน การบริโภคสูงถึง 8 กรัมทำให้เสียชีวิตได้ การกินลูกจันทน์ในขนาดที่มากกว่า 5 กรัมทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หัวใจเต้นผิดปกติ ปากแห้ง ชัก อาจถึงตายได้ (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

4. จันทน์ชะมด แก่นจันทน์ชะมดมีรสขม หอม ใช้เป็นยาแก้ไอ กระหายน้ำ อ่อนระโหย (www.likemax.com/archive/herb/?cmn=จันทน์ชะมด) (www.likemax.com/archive/herb/?cmn=จันทน์ชะมด)

5. ยาใน “พิกัดเทียนทั้ง 5”

ก. เทียนขาว มีอีกชื่อหนึ่งว่า ยี่หร่า เป็นหนึ่งใน “พิกัดเทียนทั้ง 5” ดังที่ได้กล่าวไปแล้วตอนเทียนดำในยาเจียระไนเพชร

การศึกษาทางพิษวิทยา : การทดสอบพิษของผลเทียนขาว จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าการให้หนูถีบจักรกิน หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็น 5,000 เท่าเมื่อเทียบกับขนาดการรักษาในคน ไม่พบอาการเป็นพิษ การให้เทียนขาว 2% ในอาหาร ไม่ก่อเกิดพิษในหนู แต่ในปริมาณ 10% จะทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ และมีผลต่อตับและไต (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

ข. เทียนตาตั๊กแตน มีอีกชื่อหนึ่งว่า ผักชีลาว เป็นหนึ่งใน “พิกัดเทียนทั้ง 5” ดังที่ได้กล่าวไปแล้วตอนเทียนดำ

การศึกษาทางพิษวิทยา : การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกิน และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

ค. เทียนเยาวพาณี มีอีกชื่อหนึ่งว่า ผักชีฝรั่ง ผักชีกะเหรี่ยง เป็นหนึ่งใน “พิกัดเทียนทั้ง 5” ดังที่ได้กล่าวไปแล้วตอนเทียนดำ (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

6. ลูกผักชีลา ไม่พบยาชื่อนี้ในสารบบ มีแต่ลูกผักชีจึงคิดว่าอาจจะเป็นสมุนไพรชนิดเดียวกัน ลูกผักชี เป็นเมล็ดของผักชีชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า (Cilantro) เป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหย

สรรพคุณ : ลูกผักชี แก้พิษตานซาง แก้กระหายน้ำ แก้ลมวิงเวียน แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด แก้ริดสีดวงทวาร แก้ปวดฟัน ช่วยย่อยอาหาร ขับลม บำรุงธาตุ ต้มน้ำอาบเมื่อเป็นหัด แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ใช้ผลเตรียมน้ำมันผักชีซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหย หากถูกผิวนานๆ อาจระคายเคืองได้ (www.foodnetworksolution.com/vocab/wordcap/ลูกผักชี)

7. กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

พิกุล บุนนาค ดอกสาระภี บัวหลวง กระดังงา สรรพคุณ : บำรุงหัวใจ ปวดหัว เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต ขับลม (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_03_8.htm)

8. กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ

ก. อบเชยเทศ สรรพคุณ : บำรุงดวงจิต แก้อ่อนเพลีย ทำให้มีกำลัง ใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน และจุกเสียด (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06_11.htm)

ข. สมุลแว้ง (อบเชย) แก้ลมแก้วิงเวียน ใจสั่น แก้จุกแน่น ลงท้อง ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุพิการ (sitgomaraphat3.blogspot.com/2010/11/blog-post_7647.html) อบเชยมีการนำมาใช้ในพิกัดยาไทย คือ “พิกัดตรีธาตุ” ประกอบด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ไข้(ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

ค. เทพทาโร การใช้ประโยชน์ของเทพทาโรในทางยาว่า เป็นยาจําเริญพระธาตุ ตามชนบทต่างๆ ใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้ลม จุกเสียดแน่น แน่นเฟ้อ แก้อาการปวดท้อง ขับผายลมได้ดี ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร ให้เรอ เป็นยาบำรุงธาตุ (www.dnp.go.th/Pattani_botany/พันธุ์ไม้/…/เทพธาโร.htm)

ลูกเร่วและกานพลู ก็เป็นยาในกลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อ 2 ก. และ ค.

9. ขอนดอก ขอนดอกคือเนื้อไม้จากต้นพิกุลหรือต้นตะแบกที่มีราลงสรรพคุณ : ใช้บำรุงตับ บำรุงปอด บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้ลมกองละเอียด แก้ลมวิงเวียน บำรุงทารกในครรภ์ ทำให้หัวใจชุ่มชื่น แก้เสมหะ แก้เหงื่อ แก้ไข้ร้อนเพื่อตรีโทษ (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

10. ชะลูด สรรพคุณ : ขับผายลม แก้ปวดในท้องบำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ใช้อบผ้ามีสารหอมกลุ่มคูมาริน แก้ปวดมวนท้อง บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์รักษา แก้ดีพิการ แก้ไข้ แก้ปวดบวมการศึกษาทางพิษวิทยา : การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเปลือกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกิน และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

11. เปราะหอม เป็นสมุนไพรที่หมอยาไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเข้าตำรับยาแก้โรคลม และปรุงเป็นยาหอมแทบทุกชนิด เป็นพืชที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งยาสมุนไพรเครื่องหอม ว่านศักดิ์สิทธิ์ อาหาร

การศึกษาทางพิษวิทยา : จากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดเปราะหอมได้รับการยืนยันแล้วว่ามีความปลอดภัยสูง (www.rum.psu.ac.th/index.php/seafood/85-prohom)

12. กะลำพัก มีอีกชื่อหนึ่งว่า สลัดได ในทางการแพทย์แผนไทยจัดสลัดไดอยู่ในกลุ่มพืชพิษและมีฤทธิ์แรง เป็นยาอันตราย กะลำพัก มีรสขม แก้ลม แก้พิษเสมหะ บำรุงตับและปอด เป็นตัวยาที่สำคัญยิ่งสำหรับเข้ายาแก้ไข้ และยาบำรุงหัวใจ ยางสลัดไดมีพิษ หากสัมผัสกับผิวหนังอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นผื่นคัน หรือกัดผิว มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย กินมากถ่ายมาก ทำให้หมดกำลังอ่อนเพลียอาจตายได้สรรพคุณ ถ่ายพยาธิน้ำเหลืองเสีย ถ่ายอุจจาระธาตุถ่ายพิษตานซาง สมัยก่อนจะใช้ยางสดใช้เป็นยากัดหูด (ไทยโพสต์ 12 มิถุนายน 2554)

13. พิมเสนต้น สรรพคุณ : ปรุงเป็นยาเย็น ถอนพิษร้อน แก้ไข้ทุกชนิด ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง โดยมากมักปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษไข้ และยาหอมก็เข้าใบพิมเสน ต้นนี้ (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06_11.htm)

14. ชะมด นิยมนำไปใช้ปรุงยา ได้แก่ยาหอมตำรับต่างๆ และปรุงแต่งกลิ่นเครื่องหอมไทยทำน้ำอบน้ำปรุงแป้งร่ำหรือบุหงาดอกไม้สด ชะมดเชียงมีรสขมเล็กน้อยมีสรรพคุณ แก้โรคลม โรคเกี่ยวกับโลหิต เส้นประสาท โรคตา ไอ หอบหืด ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เป็นยาเร่งในโรคไข้รากสาดน้อย (ไทยโพสต์ 28 ตุลาคม 2555)

15. อำพันทอง คือน้ำกามของปลาวาฬ สรรพคุณ : บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย แก้ลมวิงเวียน (วิทยาลัยแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก. สัตว์วัตถุ. สุภัทรา กลางประพันธ์)

16. หญ้าฝรั่ง ไม่พบยาชื่อนี้ในสารบบ มีแต่ “หญ้าฝรั่น” ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นหญ้าฝรั่นมากกว่า แต่เนื่องจากมีการเพี้ยนไปของเสียงตามกาลเวลา ส่วนตำราการแพทย์แผนโบราณของไทยนั้น หญ้าฝรั่นถือได้ว่าเป็นของที่สูงค่ามีราคาแพงมาก จัดเป็นตัวยาที่ช่วยในการแก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ เป็นตัวยาหลักที่ใช้ในตำรับยาหอมต่างๆ (วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี)

17. กำยานไทย มีอีกชื่อหนึ่งว่า กำยานญวน มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Siam benzoin ได้มาจากการสกัด Solvent Extract จากเรซิ่นหรือยางกำยาน สรรพคุณ : การออกฤทธิ์ ระงับเชื้อ ฝาดสมาน ลดการอักเสบ ขับลม บำรุงหัวใจ ดับกลิ่น ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ทำให้สงบ รักษาบาดแผล ห้ามเลือด ต่อต้านอนุมูลอิสระ แก้หืด หลอดลมอักเสบไอ หนาวสั่น กล่องเสียงอักเสบ (www.siambouquet.com/show.group_page.php?&…Siam%20Ben…)

18. น้ำดอกไม้สด น. นํ้าที่ลอยดอกมะลิ มีกลิ่นหอม (www.online-english-thai-dictionary.com/definition.aspx?)

19. ดอกคำ อยู่ในกลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด มีชื่ออื่นว่า คำ คำฝอย ดอกคำ (เหนือ)คำยอง (ลำปาง) สรรพคุณ : รสหวาน บำรุงโลหิตระดู แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แสบร้อนตามผิวหนัง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู แก้ดีพิการ โรคผิวหนัง ฟอกโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_01_1.htm)

20. จำปา สรรพคุณ :แก้วิงเวียนอ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย บำรุงหัวใจ กระจายโลหิต (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

21. กระจับ สรรพคุณ : ใช้กัดเสมหะและแก้ไอ ขับเมือกล้างลำไส้ ส่วนเนื้อในของฝัก ใช้บำรุงกำลัง บำรุงทารกในครรภ์มารดา แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลังหลังฟื้นไข้ (www.biogang.net/biodiversity_view.php?menu…uid…id…)

22. ฝาง เป็นสมุนไพรให้สีแต่งสีอาหาร สรรพคุณ : รสขื่นขมหวาน ฝาด รับประทานเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี ขับประจำเดือน แก้ปอดพิการ ขับหนอง ทำโลหิตให้เย็น รับประทานแก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ร้อน แก้โลหิตออกทางทวารหนักและเบา (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_30_3.htm)

23. ว่านน้ำ สรรพคุณ : ขับเสมหะอย่างดี แก้เส้นกระตุก แก้หืด แก้ปวดศีรษะลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06_9.htm)

24. กระชาย อยู่ในกลุ่มยาแก้บิด ท้องเดิน ท้องร่วงโรคกระเพาะ สรรพคุณ : แก้ปวดท้อง มวนในท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงกำลัง แก้โรคในปาก คอ แก้โลหิตเป็นพิษ ถอนพิษต่างๆ(www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_07_1.htm)

25. ข่าต้น อยู่ในกลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคันกลากเกลื้อน ข่าต้นเป็นชื่อท้องถิ่นของข่า สรรพคุณ : แก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้อาหารเป็นพิษ แก้ลมพิษ (www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_07_1.htm)

26. มะลิ สรรพคุณ : “ดอกมะลิ” จัดเป็นยาในพิกัดเกสรทั้ง 5, ทั้ง 7 และทั้ง 9 แต่ใช้ทั้งดอก เมื่อพิจารณาจากรสของยา ดอกมะลิถูกจัดเป็น “ยารสหอมเย็น” จึงมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลังแก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้บำรุงหัวใจ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ทำจิตใจให้ชุ่มชื่น บำรุงครรภ์รักษา

การศึกษาทางพิษวิทยา : สารสกัดดอกมะลิลาด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ (1 : 1) ในขนาดเทียบเท่าผงยา 10 กรัม/กิโลกรัม ไม่เป็นพิษต่อหนูถีบจักร ไม่ว่าจะให้โดยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง สารสกัดส่วนเหนือดินด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ (1 : 1) เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 1 กรัม/กิโลกรัม (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

27. จันทน์แดง สรรพคุณ : มีการใช้จันทน์แดงใน“พิกัดเบญจโลธิกะ” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีคุณทำให้ชื่นใจ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด ต้นเนระพูสี ต้นมหาสะดำ แก่นจันทน์ขาว และแก่นจันทน์แดง สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดี แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมวิงเวียน กล่อมพิษทั้งปวง และมีการใช้ใน “พิกัดจันทน์ทั้ง ๕” คือการจำกัดจำนวนแก่นไม้จันทน์ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์ทนา แก่นจันทน์ขาว และแก่นจันทน์แดง

สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงตับ ปอดหัวใจ แก้พยาธิบาดแผล

การศึกษาทางพิษวิทยา : การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเนื้อไม้ด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,111 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

28. เครื่องยา จันทน์ขาว สรรพคุณ : ตามที่กล่าวไว้ในจันทน์แดง การศึกษาทางพิษวิทยา : ไม่มีข้อมูล (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

29. แห้วไทย สรรพคุณ : มีฤทธิ์เย็น รสหวาน มีสรรพคุณขับร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้คออักเสบ ละลายเสมหะ บำรุงปอด บำรุงธาตุและกระเพาะ ขับของเสีย ขับปัสสาวะ ขับน้ำนม แก้เบาหวาน ลดความดันโลหิต (www.legendnews.net/index.php?lay=show&ac=article)

สำหรับส่วนประกอบของยาทิพโอสถที่เหลือนั้น ผมไม่สามารถหาข้อมูลได้ในขณะนี้ คือ ส้มเทศ เนื้อไม้ และ จงกล

โดยสรุป เท่าที่มีข้อมูลในขณะนี้ ตำรับยา “ทิพโอสถ” นั้น มียา “ดอกจันทน์” และยา “กะลำพัก” เท่านั้นที่มีโอกาสที่มีรายงานว่า “ดอกจันทน์” อาจทำให้คนแสดงอาการผิดปกติด้านระบบประสาทได้ การบริโภค myristicin (สารที่เป็นส่วนประกอบในน้ำมันของดอกจันทน์) ในปริมาณสูง โดยจะทำให้คนแสดงอาการผิดปกติด้านระบบประสาทน้อยถึงมากตั้งแต่เกิดอารมณ์เคลิ้มฝันถ้าบริโภค myristicin 4-5 กรัม จนถึงเสียชีวิตได้ถ้าบริโภคสูงถึง 8 กรัม การกินลูกจันทน์ในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หัวใจเต้นผิดปกติ ปากแห้ง ชัก อาจถึงตายได้

ส่วน “กะลำพัก” แม้ว่าจะถือว่าเป็นยาอันตรายแต่ก็มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในตำรับยาไทยมาช้านาน และโดยทั่วไปยาไทยส่วนใหญ่จะใช้ในปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นผมคิดว่า ยา “ดอกจันทน์” และ “กะลำพัก” ที่เป็นส่วนประกอบในยาเจียระไนเพชร ซึ่งไม่ปรากฏขนาดในตำรับยาที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็น่าจะใช้ในปริมาณที่น้อยมากเช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อพระองค์ ประกอบกับยาเจียระไนเพชร น่าจะเป็นยาสามัญที่พระองค์เสวยเป็นประจำอยู่แล้ว

แต่ รัชกาลที่ 2 ทรงพระประชวรมาหลายวันตั้งแต่ก่อนที่จะเสวยยาทั้ง 2 ขนานนี้ดังที่ผมได้สรุปไว้ในแผนภูมิในตอนต้นของบทความนี้ และส่วนใหญ่ผู้ที่แพ้ยามักจะมีอาการผื่นคัน อาจมีคลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสียได้ ซึ่งอาการดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์เลย แต่อย่างไรก็ตาม ผมคงจะสรุปด้วยข้อมูลที่มีอยู่เพียงเท่านี้ว่าพระองค์ทรงแพ้พระโอสถไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ค่อยเหมือนมากนักก็ตามที

รัชกาลที่ 2
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประดิษฐานภายในโรงเรียนราชินี กรุงเทพฯ (ภาพจากจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 1, จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2536)

ข. รัชกาลที่ 2 ทรงถูกวางยาพิษ

ข้อสันนิษฐานนี้ ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ ในกรณีที่เราเชื่อว่าเอกสารฉบับที่ 2 ถูกต้อง ซึ่งการลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ในอดีตด้วยวิธีต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะสมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระอาการเล็กน้อยเพียงมึนและเมื่อยพระองค์

แต่หลังจากที่เสวยพระโอสถข้างที่ชื่อจรไนเพชรแล้วพระอาการรุนแรงขึ้น ทำให้ยา “จรไนเพชร” ถูกตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าทำให้พระองค์ทรงพระประชวรอย่างฉับพลันทันทีทันใด ทั้งๆ ที่เป็นพระโอสถที่ทรงเคยเสวยมาก่อนหน้านี้แล้ว แล้วเหตุใดพระโอสถข้างที่จึงทำให้ทรงพระประชวรหนัก ก็ต้องคิดถึงว่ามีผู้ลอบปลงพระชนม์โดยการใส่ยาพิษลงไปในยา “จรไนเพชร” นี้ ก็จะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างค่อนข้างเป็นเหตุเป็นผล แต่ต้องขึ้นกับว่าหลักฐานที่ ถูกต้อง ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

แต่จากการสอบถามผู้รู้ซึ่งไม่ประสงค์จะออกนามท่านหนึ่งได้บอกแก่ผู้เขียนว่าในปัจจุบันนี้พระกระยาหารยกเว้นพระโอสถก่อนที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เสวยนั้นจะต้องมีการทดลองชิมก่อน ซึ่งผมไม่ทราบว่าประเพณีนี้เริ่มมานานตั้งแต่สมัยใด แต่ถ้าเริ่มมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ก็พออนุมานได้ว่า ไม่น่าจะมีการวางยาพิษแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ อย่างไรก็ตาม หากมีผู้รู้ท่านใดที่สามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จะเป็นพระคุณอย่างสูงเลยครับ

นอกจากนี้ หากเราพิจารณาในเอกสารฉบับที่ 3.2 ซึ่งกล่าวว่า “…ทรงพระประชวรไข้พิษอันแรงกล้า มิได้รู้สึกพระองค์ ได้แต่เรียกพระโอสถชื่อจาระไนเพ็ชร์…” ก็พอสรุปได้ว่า พระอาการประชวรของพระองค์เป็นมากมาก่อนที่จะได้เสวยยาจาระไนเพ็ชร์

ดังนั้นผมคิดว่าน่าจะตัดกรณีที่พระองค์ทรงแพ้พระโอสถและทรงถูกวางยาพิษได้ ต่อจากนี้ไปผมขออภิปรายเกี่ยวกับเรื่องสมมติฐานที่ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงถูกลอบวางยาพิษ ที่นำมาสู่ข้อเขียนของ คุณปรามินทร์ เครือทอง เรื่อง “ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่๒ จริงหรือลือ?” ผมมีความเห็นต่างจากคุณปรามินทร์ โดยขอยกประเด็นที่คุณปรามินทร์ตั้งสมมติฐานขึ้นมาแก้ต่าง คือ

1. มีแผนกำจัด “เจ้าฟ้ามงกุฎ” โดยให้พระองค์ทรงออกผนวช
2. ลอบปลงพระชนม์ โดยเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
3. เพื่อเร่งรัดการขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

คุณปรามินทร์ใช้หลักฐานที่เป็นเพียงหนังสือเรื่อง REX SIAMEN SIUM หรือพระเจ้ากรุงสยาม ที่เขียนโดย คุณ ส.ธรรมยศ [16] ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันอะไรเลยเป็นหลักกล่าวหาเจ้าจอมมารดาเรียม ดังที่คุณปรามินทร์ ได้เขียนไว้ดังนี้

“ข้าพเจ้าไม่อยู่ในฐานะที่จะเขียนว่า เจ้าจอมมารดาเรียมคือผู้ที่กระทำให้พระบรมราชสวามีเสด็จสวรรคตเร็วผิดปรกติ แต่อาจจะเขียนได้ว่า เจ้าจอมมารดาเรียมคือผู้วางแผน…ตลอดจนจัดการให้เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงอุปสมบทโดยทันทีทันใด แม้พระราชกำหนดมณเฑียรบาลและข้าราชการครั้งนั้นจะแจ้งแก่ใจเป็นอย่างดีว่า สิทธิแห่งพระราชบัลลังก์สยามจะต้องเป็นของเจ้าฟ้ามงกุฎฯ มิใช่ของพระองค์เจ้าทับก็ตาม”

ผมคิดว่า ส.ธรรมยศ น่าจะได้ข้อมูลจากเอกสารของจอห์น ครอว์ฟอร์ด [17] ซึ่งคุณปรามินทร์ได้เขียนไว้ว่า “เมื่อได้สอบถามเรื่องทางกรุงสยามได้ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศนั้นได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีสิทธิที่จะได้รับการยกหนี้ที่ติดค้างให้ กับได้รับการยืนยันว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระราชโอรสตามกฎหมาย ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มของพระองค์ให้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งเป็นการขัดกันกับสิทธิของเจ้าฟ้า ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงสยามที่ประสูติกับพระมเหสี และเป็นผู้ที่พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงฝึกปรนหวังจะให้เป็นผู้สืบราชสมบัติ”

ซึ่งเรื่องนี้ ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ได้เคยเขียนถึงบันทึกของ จอห์น ครอว์ฟอร์ด ในหนังสือ “มหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์” [18] ซึ่งจัดพิมพ์ในวโรกาสครบรอบ 200 ปี แห่งวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

“โดยสรุปได้ว่า จอห์น ครอว์ฟอร์ด อาจจะไม่รู้ความจริงที่ว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่สมเด็จพระบรมราชินี ย่อมเป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์แต่ความจริงคือ ตลอดเวลาแห่งพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มิได้มีประกาศแต่งตั้งเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระราชมารดาในสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎให้ดำรงตำแหน่งมเหสีใด (ทั้งเอกหรือรอง) หากแต่ทรงถือเป็นพระชายานารีพระองค์หนึ่งเท่านั้น การออกขานพระนามาภิไธยท่านว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีนั้นเป็นภายหลังเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ทรงสถาปนาพระราชมารดาขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และเมื่อถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้เฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

ในกฎมณเฑียรบาลที่ใช้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้กล่าวถึงราชกุมารศักดิ์ ไว้ว่า

‘พระราชกุมาร เกิดด้วยพระมเหสี คือ สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านหมายถึง พระบรมราชโอรส ผู้เป็นรัชทายาท’

อันเกิดด้วยแม่ยั่วเมือง (มเหสีรอง) เป็นมหาอุปราชเกิดด้วยลูกหลวง (พระธิดาพระเจ้าแผ่นดิน) กินเมืองเอกเกิดด้วยหลานหลวง (พระราชนัดดา พระเจ้าแผ่นดิน) กินเมืองโท เกิดด้วยพระสนม เป็นพระเยาวราช

ดังนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงเป็นราชโอรส ซึ่งมีกุมารศักดิ์เป็นลูกหลวงกินเมืองโท ด้วยพระราชชนนีคือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด เป็นเจ้าฟ้าหลานหลวง ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับเจ้าขรัวเงิน ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็นพระลูกพี่ลูกน้องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถือว่าเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังทรงมีพระชายาที่ดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าอีกพระองค์หนึ่งคือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุลฑลทิพยวดี ซึ่งเป็นพระธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดังนั้นพระราชโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุลฑลทิพยวดี ทั้ง 3 พระองค์คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้าชายกลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว ทรงเป็นโอรสชั้นลูกหลวง ซึ่งมีราชกุมารศักดิ์เหนือกว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ”

ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์ สันนิษฐานว่า หากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งมีพระปรีชาสามารถสูงส่ง จากการที่นายจอห์น ครอว์ฟอร์ด ได้เคยเข้าเฝ้าเจรจาความเมืองกับพระองค์มาก่อนได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เขาจะไม่สามารถเอาเปรียบประเทศสยามได้ จึงให้ข่าวใส่ร้ายพระองค์ท่านโดยอาจหวังให้เกิดความแตกแยก ซึ่งอาจรุนแรงจนเกิดสงครามกลางเมืองกัน ซึ่งก็อาจทำให้บ้านเมืองเพลี่ยงพล้ำตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษได้

อย่างไรก็ตาม เราต้องอย่าลืมว่าความคิดเห็นของนายจอห์น ครอว์ฟอร์ด อาจจะได้รับฟังมาจากแหล่งข่าวในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่อาจมีความเห็นดังที่ได้กล่าวมาแล้วของนายจอห์น ครอว์ฟอร์ด อาจเรียกได้ว่า ยืมปากนายจอห์นครอว์ฟอร์ด เขียนบันทึกออกมา แต่ถ้าเป็นความคิดของ นายจอห์น ครอว์ฟอร์ด เองแล้วละก็ ต้องนับว่าแผนการของเขาเกือบจะสำเร็จอยู่แล้ว ดังแสดงไว้ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ร.ศ. 112 ตอนหนึ่งที่ว่า

“ได้ฟังจากคำรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงพระสติปัญญามาก และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก ถึงโดยว่า ถ้ามีพระสติที่จะสั่งได้ ท่านก็ไม่แน่พระทัยว่าจะทรงมอบราชสมบัติ พระราชทานหรือพระราชทานพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในเวลานั้นบ้านเมืองยังต้องรบพุ่งติดพันกันอยู่กับพม่า จำเป็นต้องหาพระเจ้าแผ่นดินที่รอบรู้ในราชการทั้งปวง และเป็นที่นิยมยินดีทั่วหน้า จะได้ป้องกันดัสกรภายนอกได้ เพราะเหตุนี้พระองค์ท่านจึงมิได้มีความโทมนัสเสียพระทัย และก่อการลุกลามอันใดขึ้นในบ้านเมืองตามคำแนะนำของบางคน ซึ่งคิดแก่งแย่งต่างๆ ด้วยมีความรักแผ่นดินและราชตระกูล อันภายในเกิดแตกร้าวขึ้นแล้ว ย่อมเป็นช่องทางแก่ศัตรูภายนอก จึงได้สงบเรียบร้อยกันมา” [18]

คุณเทพ สุนทรศารทูล [19] ผู้ซึ่งได้เขียนพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในห้วงเวลาหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตลงดังนี้

“…รับสั่งให้มหาดเล็กเชิญพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ตามเสด็จออกไปที่ชุมนุมข้าราชการทางฝ่ายหน้า และรับสั่งแก่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเฝ้าอยู่ในที่นั้นว่า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว น้องยังเล็กนัก ปกครองบ้านเมืองไม่ได้ เจ้าจงรับราชการปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เป็นสุขเถิด…”

จากข้อมูลนี้ทำให้เราได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงเห็นแก่ประโยชน์สุขของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งมากกว่าที่จะเห็นแก่ราชบัลลังก์ที่พระราชโอรส (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ของพระองค์เป็นพระองค์หนึ่งที่ทรงมีสิทธิ์ที่จะเสวยราชสมบัติ เนื่องจากสมเด็จพระบรมชนกนาถไม่ได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสพระองค์ใดเลย ประกอบกับในขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎเพิ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ซึ่งในหนังสือของ ส.ธรรมยศ [16] ได้เขียนผิดพลาดว่าขณะนั้นพระองค์ยังไม่ทรงผนวชดังข้อความที่กล่าวว่า

“เจ้าจอมมารดาเรียม คือผู้วางแผนการ…ครั้งกระนั้น ตลอดจนจัดการให้เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงอุปสมบทโดยทันทีทันใด” โดยคุณปรามินทร์ได้พบข้อผิดพลาดนี้ด้วยตนเองอยู่แล้ว แต่แทนที่คุณปรามินทร์จะลดความน่าเชื่อถือของหนังสือเล่มนี้ กลับไม่ใส่ใจว่าความผิดพลาดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยกล่าวว่า “…ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่อยู่ที่ทรงตัดสินใจ ‘ไม่สึก’ ต่างหาก”

โดยเหตุนี้เองทำให้ผมรู้สึกว่าคุณปรามินทร์ ไม่ค่อยจะให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าจอมมารดาเรียมเท่าที่ควร ซึ่งผมคิดโดยใช้ข้อมูลของ คุณเทพ สุนทรสารทูล [19] แล้วผมกลับคิดว่าผู้ที่น่าจะมีโอกาสถวายคำแนะนำให้พระองค์ไม่สึกน่าจะเป็นพระราชมารดาของพระองค์มากกว่า ทั้งนี้พระองค์ที่ทรงเห็นแก่ประโยชน์สุขของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และหากเจ้าฟ้ามงกุฎทรงปรารถนาในราชบัลลังก์แล้วก็มีพระโอกาสที่จะมีชัยต่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ยากยิ่ง

ทั้งนี้เพราะกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีพระราชอำนาจมากมายอยู่แล้ว โดยทรงกำกับราชการหลายกรมสำคัญเช่น กรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา โดยไม่มีพระราชโอรสพระองค์ใดที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงวางพระราชหฤทัยมอบหมายราชการสำคัญมากของแผ่นดินให้ทรงปฏิบัติมากถึงเพียงนั้น

นอกจากนี้ผมกลับมองต่างมุมกับคุณปรามินทร์ โดยคิดว่า เมื่อเราเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีข้อความที่ผิดพลาดอยู่ข้อความหนึ่ง เราควรจะตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือเล่มนี้ต่อไปว่า มีข้อความอื่นๆ ผิดพลาดหรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่น่าเชื่อถือได้ทั้งเล่มก็เป็นได้

ผมไม่เชื่อว่า เจ้าจอมมารดาเรียมจะมีอิทธิพลในพระราชสำนักมากมายถึงขนาดสั่งให้เจ้าฟ้ามงกุฎทรงออกผนวช ทั้งๆ ที่โดยพระราชประเพณีของไทยที่ออกผนวชเมื่อครบเกณฑ์บวช เช่นเดียวกับที่ชายชาวสยามพึงกระทำในยุคสมัยนั้น

เมื่อ รัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ปีนี้ (พ.ศ. 2352) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพิ่งมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุ 22 พรรษา และที่สำคัญอีกประการก็คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตลง โดยที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอิศรสุนทร ผู้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ (รัชกาลที่ 2 – ผู้เขียน) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปราบกบฏซึ่งก่อการโดยสมเด็จเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ กรมขุนกระษัตรานุชิต พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ประสูติแต่สมเด็จเจ้าฟ้าฉิมใหญ่ (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้สำเร็จ

มิฉะนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อาจจะไม่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรีก็ได้ นอกจากนี้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ยังช่วยพระองค์บริหารราชการแผ่นดินจนมีความเข้มแข็งทั้งในทางทหารและเศรษฐกิจ จึงไม่น่าจะมีข้อกังขาใดๆ เลยว่า พระองค์จะทรงโปรดปรานกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มากกว่าพระราชโอรสพระองค์ใด

ผมจึงอยากตั้งสมมติฐานใหม่ว่า อาจจะเป็นไปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชประสงค์ที่จะให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อจากพระองค์ พระองค์จึงไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระชายาพระองค์ใดเลยเป็นพระมเหสี

เนื่องจากทรงเกรงว่า ตามกฎมณเฑียรบาลหากพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสีในขณะที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์จะมีพระราชฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า ซึ่งเท่ากับเป็นรัชทายาทนั่นเอง เท่ากับมีพระราชกุมารศักดิ์ที่สูงกว่ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ การที่จะสถาปนากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นเจ้าชายรัชทายาทเป็นเรื่องที่ยากมากพอสมควร เพราะติดขัดด้วยที่พระราชมารดาของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ทรงเป็นเพียงเจ้าจอมมารดาเท่านั้น

ในขณะที่พระราชมารดาของเจ้าฟ้ามงกุฎนอกจากจะมีพระฐานันดรศักดิ์สูงกว่าแล้ว ยังเป็นพระมเหสีที่เป็นพระประยูรญาติที่ใกล้ชิดกันมาก นอกจากนี้ในขณะนั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินรองลงมาจากพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังมีพระชนมายุไม่มากนัก ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว

ผมจึงเชื่อว่าพระองค์จึงยังทรงเบาพระทัย จึงยังมิได้ทรงรีบร้อนดำเนินการใดๆ เพื่อที่จะให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในอนาคตในขณะนั้น แต่แล้วพระองค์ก็ทรงพระประชวรโดยฉับพลันยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ไม่สามารถตรัสได้ จึงทำให้ไม่มีผู้ใดทราบได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชโอรสพระองค์ใดขึ้นครองราชย์กันแน่ ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ร.ศ. 112 [18] ที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น

นอกจากเอกสารอ้างอิงของคุณปรามินทร์ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อเขียนของคุณหมอสมิธ [20] ที่เป็นหมอหลวงประจำราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ที่กล่าวหาพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ว่าเป็นหญิงที่มีเล่ห์เหลี่ยม ทำให้พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดราชสมบัติ ซึ่งผมสันนิษฐานว่า คุณ ส.ธรรมยศ คงจะเอาข้อมูลจากหนังสือของคุณหมอสมิธ [19] ด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งคุณหมอสมิธไม่ได้อ้างอิงหลักฐานใดๆ คงจะได้ยินใครผู้ไม่ประสงค์ดีต่อทั้ง 2 พระองค์นินทาให้ฟังโดยไม่มีหลักฐานใดๆ อีกเช่นเคย หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าคุณหมอสมิธได้ข้อมูลจากบัตรสนเท่ห์ในยุคนั้นก็ว่าได้

อนึ่ง หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัยเสด็จสวรรคต โดยมิได้ตรัสมอบให้พระราชวงศ์พระองค์ใดเป็นผู้รับราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา โดย “อเนกมหาชนนิกร สโมสรสมมุติ” ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า

“บรรดาพระราชวงศานุวงศ์ต่างกรม ผู้ใหญ่ เสนาบดี และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ใหญ่ผู้น้อย นอนประจำอยู่ในพระราชวัง จึงอาราธนาพระสังฆราชราชา คณะผู้ใหญ่มาแล้ว พร้อมด้วยพระบรมราชวงศานุวงศ์ต่างกรม และท่านเสนาบดีและข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดิน (ประชุมกัน) เห็นว่า พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาช้านาน ทั้งข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็มีความจงรักสวามิภักดิ์ในพระองค์ท่านก็มาก สมควรจะครอบครองสิริราชสมบัติรักษาแผ่นดินสืบพระบรมราชตระกูลต่อไป จึงพากันเข้าเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่ เชิญเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามพิภพต่อไป” [18]

จากบทความของคุณปรามินทร์ที่เขียนถึง “คำให้การ” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ผมไม่เห็นว่าจะมีประโยคใดที่บอกว่าพระองค์ทรงถูก “คุกคาม” ในช่วงก่อนเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเลย ผมคิดว่า ปุถุชนธรรมดาที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ย่อมมีกิเลส โลภ โกรธ หลง เป็นธรรมดา

ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงปรารถนาในราชสมบัติของสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระชายาองค์ใดเป็นพระมเหสี ทำให้พระราชโอรสทุกพระองค์ควรมีโอกาสที่จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และในฐานะที่พระองค์ทรงรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 2 มาเป็นเวลาถึง 16 ปี ย่อมทำให้พระองค์ทรงคาดว่า พระองค์น่าจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อไปจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นที่แน่นอนว่าพระบารมีของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ย่อมแผ่ไพศาลไปทั่วกรุงรัตนโกสินทร์ (ซึ่งก็ต้องครอบคลุมเหนือพระโอรสองค์อื่นๆ ของสมเด็จพระบรมชนกนาถด้วย) จากการที่พระองค์ทรงมีตำแหน่งทางราชการที่สำคัญๆ ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว

ในท้ายสุดนี้ ผมใคร่ขอให้ คุณปรามินทร์ เครือทอง ช่วยกรุณาอ่านบทความนี้ของผมโดยละเอียดและได้โปรดพิจารณาข้อเขียนของท่านใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยทั่วไปในทางศาลยุติธรรม มีคติที่กล่าวว่า ปล่อยคนผิด 10 คน ดีกว่าลงโทษคนถูกเพียง 1 คน หรือหากมีข้อสงสัย ก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย แต่ในบทความของ คุณปรามินทร์ เครือทอง ได้กล่าวหาเจ้าจอมมารดาเรียมโดยปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปนานกว่าร้อยปีแล้ว

ผมไม่เชื่อว่าเจ้าจอมมารดาเรียมลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันเลย นอกจากประวัติศาสตร์ที่เป็นลักษณะบัตรสนเท่ห์ หาสาระอะไรไม่ได้เลย และสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎมีพระกุมารศักดิ์ที่เหนือกว่ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เพียงชั้นเดียว เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระชายาพระองค์ใดๆ เป็นพระมเหสีตลอดรัชกาลของพระองค์ทำให้ไม่มีพระราชกุมารที่เกิดด้วยพระมเหสี

โดยสรุป ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยน่าจะทรงพระประชวรและสวรรคตด้วยพระโรคติดเชื้อของสมอง ซึ่งอาจเป็นโรคสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

[1] พิมาน แจ่มจรัส. วันสวรรคต 66 กษัตริย์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ผ่านฟ้าพิทยา, 2508.

[2] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). กาลานุกรม : พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก. พิมพ์ครั้งที่ 3/1. กรุงเทพฯ : ผลิธัมม์, 2552.

[3] ปรามินทร์ เครือทอง. “ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 2 จริงหรือลือ?,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2555).

[4] กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ. พระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ร.ศ. 120 เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.

[5] พิมาน แจ่มจรัส. วันสวรรคตของ 66 กษัตริย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2543.

[6] จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เจ้าชีวิต : พงศาวดาร 9 รัชกาล แห่งราชวงศ์จักรี. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์, 2554.

[7] Roos KL, Tyler KL. Meningitis, encephalitis, brain abscess, and empyema. In : Longo DL, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Jameson JL, Loscalzo JL, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 18th ed. New York : Mc Graw Hill Medical, 2012, pp. 3410-3434.

[8] Allen CMC, Lueck CJ. In fections of the nervous system. In : Haslett C, Chilvers ER, Boon NA, Colledge NR, Hunter JAA, editors. Davidson’s principles and practice of medicine. 19th ed. Edinburg : Churchill Livingstone, 2002, pp.1192-1209.

[9] Swartz MN, Nath A. Meningitis : bacterial, viral and other. In : Goldman L, Schafer AI, editions. Goldman’s Cecil Medicine. 24th ed. Philadelphia : Elsevier Saunders, 2012, pp. 2355-2371.

[10] Warrell DA, Farrar JJ, Crook DWM. Bacterial meningitis. In : Warrell DA, Cox TM, Firth JD, Benz EJ Jr, editors. Oxford textbook of medicine.Vol. 3. 14th ed. New York : Oxford University Press, 2003, pp. 1115-1129.

[11] Hemphill IC III, Smith WS, Gress DR. Neurologic critical care, including hypoxic-ischemic encephalopathy, and subarachnoid hemosshage. In : Longo DL, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Jameson JL, Loscalzo JL, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 18th ed. New York : Mc Graw Hill Medical, 2012, pp. 2254-2265.

[12] De Angelis LM, Wen PY. Primary and metastatic tumors of the nervous system. In : Longo DL, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Jameson JL, Loscalzo JL, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 18th ed. New York : Mc Graw Hill Medical, 2012, pp. 3382-3394.

[13] หนังสือแพทยศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 2 ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2504, น.70.

[14] เรื่องเดียวกัน, น.22.

[15] นิรัติ หมานหมัด. ตำรายาหมอไทย ฉบับแผนโบราณ. กรุงเทพฯ : บุคคอนเนอร์, 2548.

[16] ส.ธรรมยศ. REX SIAMEN SIUM หรือพระเจ้ากรุงสยาม. พระนคร : โรงพิมพ์ ส. สง่า, 2495.

[17] ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ (แปล). เอกสารของครอว์ฟอร์ด. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2515.

[18] แสงสูรย์ ลดาวัลย์, ม.ร.ว. “พระราชประวัติ ก่อนเสด็จขึ้นทรงราชย์,” ใน มหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์. ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์, 2530.

[19] เทพ สุนทรศารทูล. “สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์.” ใน วชิราวุธานุสาร. (มกราคม 2552).

[20] มัลคอล์ม สมิธ. ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ. กรุงเทพฯ :กรมศิลปากร, 2537, น.11.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2561