กรณีสวรรคต ของรัชกาลที่ 2 ที่เล่าลือกันว่า “ฆาตกรรม”

รัชกาลที่ 2 ฉากหลัง คือ จิตรกรรม พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

รัชกาลที่ 2 สวรรคต เป็นเหตุการณ์ที่มีเสียงเล่าลือหลายอย่างถึง “เงื่อนงำ” บางประการ เรื่องนี้นั้น ปรามินทร์ เครือทอง เคยค้นคว้าและเรียบเรียงเป็นบทความชื่อ “ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 2 จริงหรือลือ?” (ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับพฤศจิกายน 2555) ซึ่งขอนำเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอดังนี้


 

ย้อนกลับไปดูคดีนี้ในพระราชพงศาวดาร ก็จะพบว่ามี “เงื่อนงำ” เรื่อง รัชกาลที่ 2 สวรรคต จริง ซึ่งดูเหมือนว่าเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผู้แต่งพระราชพงศาวดารนี้ ก็จงใจจะเขียนให้ “กรณีสวรรคต” ครั้งนั้น “ผิดปรกติ”

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรงราชสมบัติมาตั้งแต่ปีมะเส็งเอกศก มาถึง ณ วันพุธ เดือนแปด แรมสี่ค่ำ ปีวอก ฉศก ทรงพระประชวรให้มึนเมื่อยพระองค์ เรียกพระโอสถชื่อจารในเพชรข้างที่ ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย ครั้นเสวยแล้วให้ร้อนเป็นกำลัง เรียกทิพยโอสถมาเสวยอีก พระอาการก็ไม่ถอยให้เชื่อมซึมไป แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ มิได้ตรัสสิ่งไร มาจนถึง ณ วันพุธ เดือนแปด แรมสิบเอ็ดค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้วห้าบาท (21 กรกฎาคม 2367) เสด็จสู่สวรรคต[1]

ประเด็นที่กลายมาเป็น “เงื่อนงำ” คือพระอาการประชวรที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน และนำไปสู่การเสด็จสวรรคตอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อแรกเกิดพระอาการประชวรมึนเมื่อยพระองค์ เมื่อเสวยพระโอสถแล้วกลับกลายเป็นว่าพระอาการหนักกว่าเดิม และเมื่อเสวยพระโอสถขนานใหม่พระอาการก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก จนเสด็จสวรรคตในเวลาอันสั้น ทั้งๆ ที่มีพระชนมพรรษาเพียง 56 พรรษาเท่านั้น

สำหรับพระโอสถ “จารในเพชร” ซึ่งเป็นพระโอสถที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “ยาสามัญประจำวัง” เพราะพระราชพงศาวดารระบุว่าอยู่ข้างพระที่และเป็นพระโอสถ “ที่เคยเสวย” มาก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบตำหรับยานี้กับหนังสือ ตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ 2 ก็ไม่พบยาชื่อนี้ในบัญชียา จึงไม่ทราบแน่ว่าพระโอสถ “จารในเพชร” นั้น ใช้รักษาโรคอะไร

ที่สำคัญคือเหตุใดเมื่อเสวยแล้วจึงเกิดพระอาการ “ร้อนเป็นกำลัง” ทั้งที่เป็นน่าจะเป็น “ยาสามัญประจำวัง”

ตรงนี้เองที่เป็นช่องว่างให้เกิด “เงื่อนงำ” เพราะถ้าหากกรณีนี้เป็น “คดีฆาตกรรม” จริง และถ้ามีการวางยาพิษจริง ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการวางยาพิษ “ก่อน” พระอาการประชวร จึงทำให้ “ยาสามัญประจำวัง” ไม่สามารถถอนพิษได้ หรือเป็นไปได้แม้กระทั่งว่ามีการสับเปลี่ยนพระโอสถ “จารในเพชร” ด้วย “ยาพิษ” ตัวอื่น เมื่อเสวยเข้าไปจึงมีพระอาการ “ร้อนเป็นกำลัง” จนกระทั่งทรุดหนักในเวลาต่อมา

………..

ฝืนบวชในลางร้าย

หากไล่เรียงตามพระราชพงศาวดาร ก็จะพบว่าการผนวชของเจ้าฟ้ามงกุฎฯ เป็นไปตามพระฤกษ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ “กรณีสวรรคต” ที่เกิดขึ้นอย่างมี “เงื่อนงำ” หลังจากทรงผนวชได้ไม่กี่วันนั้นต่างหากที่ทำให้การผนวชครั้งนี้เกิดเป็นจุดสนใจขึ้นมาได้ และทำไปทำมาเรื่องนี้อาจจะกลายเป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในคดีนี้ก็เป็นได้

เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวช ในวันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก จุลศักราช 1183 (7 กรกฎาคม 2367) สิ่งที่น่าสนใจในงานพระราชพิธีทรงผนวชนี้ก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหลานภาลัย ยังทรงมีพระพลานามัยปรกติ เสด็จออกถวายเครื่องบริขารและไตรจีวรแด่ “วชิรญาณภิกขุ”

แต่อีกเพียง 7 วันต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหลานภาลัย ก็เริ่มมีพระอาการประชวรตั้งแต่วันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 8 (14 กรกฎาคม 2367)

และอีก 7 วันให้หลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหลานภาลัย ก็เสด็จสวรรคต ในวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 8 (21 กรกฎาคม 2367)

นี่คือลำดับเวลาและเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ทุกอย่างเป็นปรกติ โดยเฉพาะการที่เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวช “ก่อน” การสวรรคตนั้น ไม่มีเหตุพิเศษพิสดารอะไร เพราะพระอาการประชวรนั้นเกิดขึ้นภายหลังถึง 7 วัน และพระเจ้าอยู่หัวก็ยังเสด็จออกในพระราชพิธีทรงผนวชเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ด้วยพระองค์เอง

เจ้าฟ้ามงกุฎฯ มีพระชนมายุหย่อน 20 พรรษา อยู่ประมาณ 3 เดือน ขณะที่ทรงผนวช แต่โดยธรรมเนียมให้อนุโลมนับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาได้อีก 6 เดือน จึงไม่มีปัญหาว่าเวลาที่ทรงผนวชนั้น ทรงมีพระชนมายุ “ครบบวช” พอดี ไม่ใช่การบังคับบวชทั้งที่พระชนมายุไม่ถึง

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการทรงผนวชครั้งนี้จะปรกติราบรื่นไปเสียหมด ตรงกันข้ามก่อนการผนวชนั้น เกิดเหตุการณ์อันเป็นลางร้าย ที่สมควรอย่างยิ่งที่จะยกเลิกการผนวชครั้งนี้ไปเสียด้วยซ้ำ

………..

แต่ปรากฏว่าในจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี ยังมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2367 ยังเสด็จออก ทรงประดับตกแต่งเขามอ ซึ่งน่าจะเป็นภายในบริเวณ “สวนขวา” ที่สำคัญคือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระราชพงศาวดารบอกว่า “ทรงพระประชวรให้มึนเมื่อยพระองค์ เรียกพระโอสถชื่อจาระในเพชรข้างที่ ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย ครั้นเสวยแล้วให้ร้อนเป็นกำลัง”

ในที่นี้อาจตีความได้ว่า เมื่อเริ่มประชวรนั้น ยังไม่เพียบหนัก เพียงแต่มีพระอาการมึนเมื่อยพระองค์เท่านั้น และที่สำคัญน่าจะทรงรับสั่งราชการต่างๆ ได้เป็นปรกติอยู่ ไม่ใช่เริ่มประชวรแล้วไม่พูดอะไรเลยตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2367 เพราะการเสด็จออกทรงประดับตกแต่งเขามอหลังจากนั้น 2 วัน แสดงว่าพระอาการยังอยู่ในขั้น “ปรกติ” นอกจากนี้จดหมายความทรงจำฯ ยังบอกว่าทรงเริ่มพระอาการประชวรในวันที่ 16 กรกฎาคม 2367 ช้ากว่าพระราชพงศาวดาร 2 วัน

ณ วันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 8 ยังเสด็จออกทรงประดับภูเขาเพ็ชร, มรกฏ, ทับทิม, นิล, เพ็ชรฑูรย์ แล้วเสด็จขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระโกษฐแผ่นดินกลาง ประชวรแต่วันนั้น ๚ [2]

จดหมายความทรงจำฯ ของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวว่าทรงเริ่มพระประชวรตั้งแต่วันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 8 (16 กรกฎาคม 2367) เกิดขึ้นใกล้เคียงกับจดหมายเหตุโหร ซึ่งได้รับการยอมรับว่าแม่นยำเรื่องวันเวลาเหนือกว่าพระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุโหรระบุว่าทรงพระประชวรในวันเสาร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 8 (17 กรกฎาคม 2367) ซึ่งเท่ากับว่าเวลาของการประชวรกับวันสวรรคต สั้นเข้ามาน้อยกว่า 7 วัน ตามบันทึกของพระราชพงศาวดาร

อย่างไรก็ดีจดหมายความทรงจำฯ ของกรมหลวงนรินทรเทวี ยังระบุพระราชกรณียกิจเพิ่มเติมขึ้นอีกในวันที่ 17 กรกฎาคม 2367 ซึ่งเป็นวันที่จดหมายเหตุโหรระบุว่าทรงเริ่มมีพระอาการประชวร ในวันนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังเสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล และในวันนี้ยังเกิดเหตุอาเพศร้ายแรงขึ้นในวังอีกด้วย

ณ วันเสาร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 8 เสด็จออกถวายทรงประเคน เสด็จขึ้น วันนั้นพระยาปราบไตรจักรกอดเสาเบญภาษร้องก้องสนั่นไม่จับหญ้า ยกงวงฟาดงาน้ำตาไหล ทั้งพระยาสินธพชาติกับโคอุศุภราชสโมสรสังวาศกัน ที่ศาลาสารบาญชี คนดูอื้ออึงเสียงแซ่ กับพระยาปราบร้องเพลาเดียวกัน แต่พระยาปราบร้องอยู่จนวัน แรม 10 ค่ำ เดือน 8 เพลาค่ำเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 14 ปีกับ 10 เดือน ๚ [3]

ถ้าไม่นับเหตุการณ์ประหลาดที่พระยาช้างร้องคร่ำครวญก่อนการสวรรคต กับพระยาม้าและพระยาโคสังวาสกันให้คนดู เราก็จะพบว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จออกครั้งสุดท้าย (เป็นอย่างน้อย) ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2367 หรือก่อนสวรรคตในวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 เพียง 4 วัน

การที่มีพระอาการประชวรก่อนเสด็จสวรรคตเพียง 3-4 วันนี้ สอดคล้องกับพระนิพนธ์ของพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรว่า ทรงมีพระอาการประชวรอยู่เพียง 3 วัน ก็เสด็จสวรรคต

ครั้นศักราช 1186 ปีวอกฉศก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระประชวรเป็นปัจฉิมกาลใกล้จะเสด็จสวรรค์คตนั้น ทรงพระประชวรอยู่ 3 เวลา ก็เสด็จสวรรค์คต [4]

อาศัยหลักฐานต่างๆ นี้ ก็พอจะยืนยันได้ว่าก่อนที่จะมีพระอาการประชวรนั้น ยังเสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่ได้เป็นปรกติ จากนั้นจึงเริ่มมีพระอาการประชวรอยู่เพียง 3-4 วันเท่านั้น ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต

หลักฐานนี้ยิ่งทำให้ “กรณีสวรรคต” มี “เงื่อนงำ” มากยิ่งขึ้น และดูคล้ายจะสนับสนุนทฤษฎี “ยาพิษ” มากยิ่งขึ้นด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ควรทิ้ง สมมุติฐานเรื่องพระอาการประชวรอย่าง “ปรกติ” ไป เพราะอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้  แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะมีพระชนพรรษาเพียง 56 พรรษาก็ตาม

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าหากเป็นการประชวรอย่าง “ปรกติ” จะทรงพระประชวรด้วยพระโรคอะไร จึงเกิดเหตุสวรรคตได้อย่างปัจจุบัน

…………

เจ้าจอมมารดาเรียม “ผู้ถูกกล่าวหา” กรณี รัชกาลที่ 2 สวรรคต 

เจ้าจอมมารดาเรียม หรือภายหลังคือกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระราชชนนีของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทั้งเจ้าจอมมารดาเรียมและพระราชโอรส ต้องตกเป็น “จำเลย” ใน “กรณีสวรรคต” นี้ไป เนื่องจากเป็นการสวรรคตแบบมี “เงื่อนงำ” และเป็นผู้ที่รับประโยชน์โดยตรงจากกรณีนี้

เจ้าจอมมารดาเรียม ก็เช่นเดียวกับ “ผู้หญิง” อื่นในสยามประเทศ คือนอกจากประวัติต้นสกุลแล้ว ก็แทบไม่มีบทบาทปรากฏในพระราชพงศาวดาร จึงไม่มีเรื่อง “ข้างใน” มากนัก มีเพียงครั้งหนึ่งที่ได้ร่วมฉลอง “สวนขวา” ในพระราชวังหลวง และทรงเป็นผู้บังคับบัญชา “ห้องเครื่อง” ในรัชกาลที่ 2 [5]

แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อน “ทัศนะ” ของ “ฝ่ายใน” เกี่ยวกับ “กรณีสวรรคต” ได้พอสมควร เห็นจะเป็นเรื่อง “เม้าท์” ที่ไปเข้าหูหมอสมิธ ทำให้ได้เบาะแสเพิ่มขึ้นว่า “เจ้านาย” พูดกันถึงเรื่องนี้ไว้ประมาณไหน

หลังจากที่ทรงผนวชได้เพียง 2 สัปดาห์ พระราชบิดาของพระองค์ก็เสด็จสวรรคตลงอย่างปัจจุบันทันด่วน พระนั่งเกล้าฯ พระเชษฐาซึ่งมีตำแหน่งสำคัญในราชอาณาจักรและยังทรงได้รับการสนับสนุนจากพระมารดาซึ่งแม้จะมีฐานะเป็นเพียงเจ้าจอมแต่ก็เป็นหญิงที่มีเล่ห์เหลี่ยม ทำให้พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดราชสมบัติ [6]

เราไม่รู้ว่าเรื่อง “ยาพิษ” จะจริงเท็จแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ “ข่าวลือ” เรื่องนี้น่าจะมีอยู่จริง เนื่องจากพระอาการประชวรที่ไม่ทันไรก็เสด็จสวรรคต และก็เกิดการ “ช่วงชิง” ราชบัลลังก์ขึ้น ทั้งเจ้าจอมมารดาและพระราชโอรสจึงไม่สามารถจะพ้นไปจากข้อสงสัยของชาวรั้วชาววังไปได้ ซึ่ง “องค์ประกอบ” ในการที่จะ “กระทำ” มีอยู่อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นมูลเหตุจูงใจเรื่องราชบัลลังก์ การเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการสวรรคตครั้งนั้น แต่เรื่องทั้งหมดนี้ก็ไม่อาจจะ “กล่าวหา” ได้อย่างสมบูรณ์เพราะยังขาดพยานและหลักฐาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ไม่อาจข้ามไปได้

สุดท้ายจึงต้องฟัง “พยาน” ซึ่งเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าจะทรง “ให้การ” ถึงเรื่องนี้ว่าอย่างไร?

“คำให้การ” ของพระจอมเกล้าฯ

เป็นที่รู้กันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาที่ทรงมีพระราชดำรัส พระราชวิจารณ์ หรือพระราชนิพนธ์ มักจะมีลักษณะ “ตรงไปตรงมา” ไม่อ้อมค้อม เมื่อต้องทรงพระราชนิพนธ์ถึง “กรณีสวรรคต” นี้ ก็ยังเป็นแบบ “ตรงไปตรงมา” เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องที่ทรง “ถูกแย่ง” ราชบัลลังก์ไป

สิ่งที่น่าสนใจก็คือพระราชนิพนธ์ภาษาบาลี [7] นี้จะได้ทิ้ง “เบาะแส” ไว้อย่างสำคัญ โดยเฉพาะสาเหตุที่ต้องทรงผนวช “ก่อน” เหตุการณ์สวรรคต ทั้งที่มีลางร้ายเรื่องพระยาช้างเผือกล้ม ทรงพยายามที่จะบอกเป็นนัยว่าทรงถูก “คุกคาม” ในช่วงก่อนเกิดเหตุ “กรณีสวรรคต” อันเนื่องมาจาก “พี่ชายพระองค์ใหญ่” หรือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีพระประสงค์ในราชสมบัตินั่นเอง

ในกาลก่อนแต่กาลนี้ พระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์ใหญ่ของพระราชเทวี เมื่อทรงพิจารณาถึงกาลอันหนึ่งเทียว ทรงเห็นซึ่งพระราชบุตรผู้พี่ชายพระองค์ใหญ่กว่าพระราชบุตรทั้งปวง อันชนหมู่ใหญ่นับถือ แล้วปรารถนาอยู่แม้ซึ่งราชสมบัติของพระราชบิดา ครอบงำเสียซึ่งพระราชบุตรต่างพระมารดากัน กระทำอยู่แม้โดยพระกำลัง

แล้วทรงกำหนดซึ่งกาลใช่โอกาสของพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่เทียว พระองค์มีพระชนม์พรรษาได้ยี่สิบปี แต่พระชาติทรงเห็นซึ่งบรรพชาเป็นที่พ้นไปได้ จึงกราบทูลลาพระราชบิดา เข้าไปถึงแล้วซึ่งบรรพชา มีพระนามปรากฏโดยพระนามของภิกษุว่าพระผู้เป็นเจ้า วชิรญาณ ดังนี้

ก็ครั้นเมื่อพระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์ใหญ่นั้น เป็นภิกษุแล้ว พระราชบิดาก็เสด็จสวรรคต. [8]

นอกจากนี้ยังทรง “ให้การ” ถึงสาเหตุแห่งการสวรรคตของพระราชบิดาไว้ดังนี้

พระราชาที่สอง พระองค์นั้น ตั้งอยู่แล้วในราชสมบัติ สิ้นปีทั้งหลายสิบยิ่งด้วยปีหก อันพระชราโรคเกิดแต่ธาตุ ประหนึ่งอสรพิษทั้งสี่ถูกต้องแล้ว ไม่ทันได้มอบแม้ซึ่งพระราชสมบัติของพระองค์ พระราชทานแก่ผู้ใด ก็เสด็จสวรรคตโดยพลันเทียว. [9]

คงต้องขอยืมคำของ ส. ธรรมยศ มาใช้ในตอนนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่อยู่ในฐานะที่จะเขียนว่า” พระราชนิพนธ์ตอนนี้ดูแล้วก็เป็นเรื่องของธรรมะ ซึ่งชี้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรด้วยพระโรคชรา อันถึงกาลเสื่อมแห่งธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ปฐวีธาตุ (ดิน) อาโปธาตุ (น้ำ) วาโยธาตุ (ลม) เตโชธาตุ (ไฟ) ที่เมื่อถึงกาลเสื่อมแล้วก็ประดุจ “อสรพิษ” ที่หันมาฉกกัดทำร้ายด้วยเจ้าของธาตุนั้น

หากตีความเช่นนี้ เรื่องนี้ก็ จบ.

ไม่มีแผนสมรู้ร่วมคิด ไม่มียาพิษ ไม่มีการลอบปลงพระชนม์!

แต่หากพิจารณาอีกด้านหนึ่งก็ดูเหมือนจะมี “กลอักษร” ซ่อน “เงื่อนงำ” อยู่หรือไม่ เมื่อทรงกล่าวถึงต้อง “หนีบวช” ก่อนพระราชบิดาจะสวรรคตนั้นเรื่องหนึ่ง การเห็นว่าพระราชบิดาที่มีพระชนมพรรษา 56 พรรษา ทรงพระชราด้วยธาตุก็อีกเรื่องหนึ่ง

และสุดท้ายทรงยกอุปไมย “อสรพิษ” เป็นเหตุให้พระราชบิดาทรงพระประชวรกะทันหัน จนไม่สามารถตรัสมอบราชสมบัติให้กับผู้ใดได้

ถ้าตีเป็นเช่นนี้ เห็นทีเรื่องนี้ยังจบไม่ได้!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2, กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2504, น. 205.

[2] กรมหลวงนรินทรเทวี, จดหมายความทรงจำฯ, กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2546, น. 806.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 807.

[4] พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร, “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ใน เทศนาพระราชประวัติและพงศาวดารกรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2462, น. 95.

[5] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ : ในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพ ครบ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2530, น. 16.

[6] มัลคอล์ม สมิธ, ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2537, น. 11.

[7] ต่อมาจึงมีการแปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปีพุทธศักราช 2451 โดยหลวงญาณวิจิตร

[8] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชนิพนธ์ภาษาบาลี ว่าด้วยพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ หม่อมเจ้าสุภาภรณ์ ไชยันต์, 2501, น. 14.

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 13.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2565