ขัติยราชปฏิพัทธ หนังสือรักเร้นของรัชกาลที่ 2 “พงศาวดารกระซิบ” เล่าราวกับตาเห็น

รัชกาลที่ 2 ฉากหลัง คือ จิตรกรรม พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

ขัติยราชปฏิพัทธ รักเร้นของรัชกาลที่ 2 “พงศาวดารกระซิบ” ที่ให้รายละเอียด “ราวกับตาเห็น”

หนังสือเรื่อง “ขัติยราชปฏิพัทธ” เป็นหนังสือประเภท “พงศาวดารกระซิบ” เกี่ยวกับรักแรกพบของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เมื่อยังเป็นเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด

ต้นฉบับ“ขัติยราชปฏิพัทธ” เรื่องนี้ คัดมาจากต้นฉบับสมุดฝรั่งเขียนเส้นหมึกของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งทรงมีบันทึกไว้บนหน้าปกว่า

“หนังสือนี้ เรื่องที่ 1 ใครแต่งไม่ทราบ เปนหนังสือซึ่งรู้จักกันทั่วๆ ไป ในพวกเล่นหนังสือ ดูเหมือนไม่เคยพิมพ์ ได้คัดไว้จากต้นฉบับของใครก็จำไม่ได้ เพราะคัดไว้หลายสิบปีแล้ว”

บันทึกบนปกของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เช่นนี้ เป็นอันปิดทางให้การสืบหาที่มาที่ไปของต้นฉบับยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่สุดคือผู้แต่ง นอกจากฉบับของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์แล้ว ยังพบว่ามีหนังสือเรื่องนี้อีกฉบับหนึ่ง เป็นสมบัติของ หม่อมเจ้าประภากร ในกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เจ้ากรมอาลักษณ์ คุมหอหลวง “คลัง” หนังสือสำคัญของพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้นฉบับเล่มนี้ก็ไม่ได้บอกไว้อีกเช่นกันว่าผู้ใดเป็นคนแต่ง

เมื่อพิจารณาจากเรื่องที่แต่งนี้ อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้แต่ง “ไม่ประสงค์ออกนาม” เป็นแน่ เพราะเป็นเรื่อง “ส่วนพระองค์” ของเจ้านายชั้นสูง โดยสำนวนภาษานั้นมีเค้าลางบอกได้ว่าเป็นสำนวนค่อนข้างใหม่ ถึงขั้นรัชกาลที่ 5 และไม่เก่าว่ารัชกาลที่ 4 เพราะเรียกพระนามเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ซึ่งเฉลิมพระนามาภิไธยนี้ในรัชกาลที่ 4 และเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 6

เรื่อง “ขัติยราชปฏิพัทธ” เป็นเรื่องที่บันทึกเป็นหลักฐานเกินกว่าเรื่อง “ซุบซิบ” ทั่วไป คือให้รายละเอียดของเรื่องไว้ได้มาก “ราวกับตาเห็น” ดังนั้นผู้เขียนย่อมต้องรู้เรื่อง “ข้างใน” มากพอสมควร

ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ นอกจาก เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ยังมี กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี พระพี่นางพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ชาววังเรียกว่า “เจ้าคุณพระตำหนักใหญ่” กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางองค์เล็ก ชาววังเรียกกันว่า “เจ้าคุณพระตำหนักแดง” กรมหลวงเทพหริรักษ์ และ กรมหลวงพิทักษมนตรี (พ่อจุ้ย) เป็นพระธิดาและพระโอรสในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ฝ่าย กรมหลวงศรีสุนทรเทพ (แม่แจ่ม) และ กรมหลวงเทพยวดี (แม่เอี้ยง) เป็น “น้อง” ของ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พ่อฉิม)

วันเวลาที่เกิด “รักเร้น” ของเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรกับเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดนั้น หากคำนวณจากวันสิ้นพระชนม์ของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์เป็นเกณฑ์ ก็จะพบว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราวปี 2342 ซึ่งทั้งสองพระองค์ถือเป็นพระญาติสนิทใกล้ชิดกันพอสมควร คือเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็น “ลูกของป้า” ด้วยทรงเป็นพระธิดาของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางในรัชกาลที่ 1

แม้จะเป็น “รักแรกพบ” และเรื่องราวค่อนข้างจะเป็น “โรแมนติกคอเมดี้” แบบหนุ่มสาว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นนั้น ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุมากถึง 32 พรรษาแล้ว ในขณะที่เจ้าฟ้าอิศรสุนทรก็ทรงมีพระโอรส พระธิดามาแล้วเกือบ 30 พระองค์

เวลานั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ส่วนพระราชมารดา คือกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระมเหสีของรัชกาลที่ 1 ก็ยังคงอยู่ “บ้านเดิม” ใต้วัดระฆัง ฝั่งธนบุรีเช่นกัน

เหตุที่ต้องอยู่คนละฝั่งกับวังหลวงก็มีเรื่อง “กระซิบ” เช่นเดียวกันว่า ทรงเคือง “เจ้าคุณ” คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในเรื่องเจ้าจอมแว่น หรือที่คนทั้งวังเรียกกันว่า “คุณเสือ” เนื่องจากคดีที่กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงเป็น “มเหสีขี้หึง” เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่ครั้งยังเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพหลวงไปตีเวียงจัน และได้ “คุณเสือ” มาในคราวนั้น ก็เป็นที่โปรดเกินใครๆ เป็นเหตุให้ “คุณหญิง” หรือ กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ หึงหวงถึงขั้นดักตีศีรษะด้วยดุ้นแสม

ครั้งนั้น “เจ้าคุณ” โกรธมากถึงกับจะฟัน “คุณหญิง” ถึงหน้าประตูห้อง ด้วยความช่วยเหลือของ “คุณฉิม” หรือเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรให้หนีออกทางหน้าต่าง หนีไปพักอยู่ที่พระราชวังเดิมในพระตำหนักของเจ้าจอมฉิมใหญ่ ลูกสาวคนโต จนกระทั่ง “เจ้าคุณ” เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ “คุณหญิง” ก็ยังคงประทับอยู่ที่ “บ้านเดิม” จนสิ้นพระชนม์

มนต์รักข้ามฝั่งที่ต้องซ่อนเร้นนี้กินเวลานานเกือบ 2 ปี เชื่อกันว่าสะท้อนอยู่ในบทพระราชนิพนธ์กาพย์ห่อโคลงชมเครื่องคาวหวานที่ว่า

ทองหยอดทอดสนิท   ทองม้วนมิดคิดความหลัง

สองปีสองปิดบัง   แต่ลำพังสองต่อสอง

เมื่อความรักชักพาให้ “ดูถูกรั้ววัง” คือเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงพระครรภ์ โดยที่ยังไม่มีผู้ใหญ่รับรู้อย่างถูกต้องตามประเพณี ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ กริ้วในเรื่องนี้อย่างมาก ร้อนถึง “คุณเสือ” ต้องเป็นตัวกลางเข้าไกล่เกลี่ย ศึกรักฝ่าประเพณีนี้จึงสงบลงได้

หลังจากครบทศมาสแล้ว เจ้าฟ้าหญิงก็ประสูติ “เจ้าฟ้า” แต่สิ้นพระชนม์เสียแต่วันประสูติในปี 2344 หลังจากนั้นอีก 3 ปี คือในปี 2347 เจ้าฟ้าหญิงก็ประสูติ “เจ้าฟ้า” อีกพระองค์หนึ่ง คือเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ส่วนเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดนั้นก็ได้เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 ถึงกระนั้นก็มีเหตุให้ “ทรงเคือง” พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในเรื่องที่ทรงโปรด “เจ้าหญิงแห่งเวียงจัน” เป็นพิเศษ คือ เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี เป็นเหตุให้ไม่เสด็จขึ้นเฝ้า และไม่ยอมให้เข้าพระตำหนัก จนเกิดเป็นเรื่องราวในกาพย์ห่อโคลงดังที่ได้อ่านกัน

“ขัติยราชบริพัทย์” เคยตีพิมพ์เต็มเรื่องในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 กุมภาพันธ์ 2508 ดังมีหมายเหตุของบรรณาธิการ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) ว่า

“ทางเราค้นได้เอกสารเนื่องด้วยเรื่องดังกล่าว จึงขออนุยาตจากท่านผู้ใหญ่นำมาลงพิมพ์ เดิมท่านเห็นยังไม่สมควรให้เปิดเผย เพราะมีเรื่องภายในพระราชสำนักปรากฏอยู่ จะเป็นเหตุให้คนเขลาคิดตำหนิล่วงเกินถึงพระอดีตมหาราชได้

แต่เมื่ออธิบายให้เจ้าของต้นฉบับท่านเข้าใจว่าเรื่องอย่างนี้มีประโยชน์ทางพงศาวดาร (อย่างที่คนสมัยใหม่เรียกว่าประวัติศาสตร์) และเป็นเรื่องที่ทราบกันอยู่บ้างแล้วอย่างกระท่อนกระแท่น ดังจะเห็นได้จากหนังสือปาริชาต เล่มที่ 4 ปีที่ 2 พ.ศ. 2493 ควรที่จะให้นักศึกษาได้รู้ต้นตออย่างถ่องแท้จะดีกว่า ท่านจึงยอมให้ตีพิมพ์ได้

เรื่องนี้ได้ต้นฉบับมาจากฝ่ายพระราชวังบวร เข้าใจว่าเขียนขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ได้คัดข้อความไปลงไว้ในเรื่องทฤษฎีแห่งความรัก ของ ส.ศิวรักษ์ (สำนักพิมพ์ก้าวหน้า) ด้วยบ้าง”

แต่ “ขัติยราชบริพัทย์” ฉบับสังคมศาสตร์ปริทัศน์นั้นความบางส่วนขาดหายไป และบางส่วนไม่ตรงกับฉบับของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ครั้งนี้จึงใช้ต้นฉบับของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ซึ่งครบถ้วนสมบูรณ์กว่าในการพิมพ์


ขัติยราชปฏิพัทธ

จะพรรณนาถึงเรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่พระองค์ท่านดำรงอยู่ในที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทรอยู่นั้น แรกปฏิพัทธผูกพันกันกับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์

เดิมปีมะแมเอกศก ๑๑๖๑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ทรงพระประชวรพระโรคชรา ครั้นพระอาการมากลง กรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมหลวงพิทักษมนตรี กรมขุนอิศรานุรักษ์ เสด็จเข้าไปประจำอยู่ที่ตำหนักนั้น กำกับหมอถวายพระโอสถรักษาพระโรค แต่เจ้านายผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปเยี่ยมเยียนฟังพระอาการอยู่ทุกวัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เสด็จลงเยี่ยมประชวรอยู่แทบทุกวัน

ภาพสีน้ำมัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ภาพสีน้ำมัน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ)

วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเข้าไปในตำหนักนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เชิญพระอาการมาเล่าถวาย ก็มีพระทัยปฏิพัทธรักใคร่แต่นั้นมา แต่ยังเปนเวลาเศร้าโศกอยู่ก็ต้องนิ่งไว้แต่ในพระทัย ทั้งเปนการยำเกรงกรมหลวงเทพหริรักษ์อยู่ด้วย แต่หมั่นเสด็จเข้าไปฟังพระอาการเกินปกติ พระราชประสงค์จะใคร่ทอดพระเนตรเห็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เว้นวันหนึ่งสองวันเสด็จเข้าไปครั้งหนึ่ง

เสด็จเข้าไปครั้งใดประทับอยู่นานๆ บางวันก็ได้ทอดพระเนตรเห็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บ้าง บางวันก็ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น ด้วยตำหนักนั้นเปนข้างหน้าข้างใน เจ้านายผู้ชายเข้าไปพักอยู่แต่เพียงข้างหน้า จึงไม่ใคร่จะได้เห็นกัน ต่อเชิญพระอาการมาเล่าเวลาใดจึงจะได้เห็นกันเวลานั้น แต่ถ้อยทีมีพระทัยรักใคร่กันแต่นั้นมา

ครั้นกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทิวงคต เชิญพระศพไปไว้ที่พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก็เสด็จไปบำเพ็ญกุศลมีเทศนาและสดัปกรณ์ เปนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทราบว่ากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์เสด็จออกไปทำบุญวันใด ก็เสด็จขึ้นไปบนปราสาทวันนั้น ช่วยจัดพระและสิ่งของให้เรียบร้อย ภายหลังจนได้เข้าใกล้ ช่วยรับของส่งของถวายพระ ได้คุ้นเคยกันทีละน้อย จนได้ตรัสแก่กันเปนธรรมดา แต่ยังไม่ได้ตรัสเปนแยบคาย เปนการเวลาเศร้าโศกอยู่ฉนั้น

ถ้าสำเภาของท่านเข้ามา ก็จัดสิ่งของเปนเครื่องทำบุญบ้าง เปนเครื่องเลี้ยงพระเลี้ยงคนบ้าง รับสั่งให้สาวใช้เข้าไปถวายพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ ให้นำไปถวายกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์

ท่านทั้งสองพระองค์ก็ทรงทราบพระหัทธยาศรัย ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระทัยรักกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์มาตั้งแต่กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทรงพระประชวร ท่านก็มีพระทัยทรงยินดี ด้วยเห็นสมควรกัน จึงนำสิ่งของไปถวายกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์เปนหลายครั้ง แล้วค่อยตรัสเลียบเคียง ดูพระหัทธยาศรัยทีละน้อยๆ จนเห็นชัดว่ากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์มีพระทัยผูกพันธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ยังเปนเวลาเศร้าโศก และต้องวุ่นวายในการที่จะจัดของทำบุญให้ทานอยู่นั้น ก็ต้องสงบไว้ก่อน

ภายหลังครั้นถวายพระเพลิงกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จเข้าไปเฝ้า กลับออกมาแล้วก็เสด็จแวะเข้าไปที่ตำหนักพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ ตรัสแก่กรมหลวงเทพวดีให้รับสั่งใช้ข้าหลวงไปเชิญเสด็จกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์มาทรงสะบ้าบ้าง ต่อแต้มบ้าง สะกาบ้าง แต่พระองค์ของท่านแอบบังอยู่ก่อน ครั้นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ เสด็จทรงเล่นสะบ้า หรือต่อแต้ม หรือสะกาเพลินแล้ว ท่านจึงเสด็จออกมาจากที่แอบพระองค์อยู่ เสด็จเข้าเล่นด้วย

วันแรกๆ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ เห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เข้าทรงเล่นด้วย ท่านก็กระดากเลิกเสียไม่เล่นบ้าง กลับไปเสียตำหนักบ้าง ครั้นวันหลังๆ ค่อยคุ้นเคยกันเข้า (เหตุเพราะสมเด็จพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์เปนผู้ชักสื่อให้ค่อยสนิทกันเข้า) จนทรงเล่นด้วยกันได้ บางวันกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ เสด็จไปเล่นอยู่ก่อน ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จออกจากที่เฝ้า ก็เสด็จเข้าไปพบ ทรงเล่นสะกาอยู่บ้าง ต่อแต้มบ้าง ท่านก็เข้าช่วยกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ค่อยเข้าใกล้เคียงกันได้ทีละน้อย จนคุ้นเคยสนิทกัน

อนึ่งกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสงสัยพระทัย ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแต่ก่อนๆ มา เสด็จออกจากเฝ้าข้ามกลับไปวังแต่วันๆ บัดนี้หลายวันมาแล้วเหตุใดจึงเสด็จข้ามกลับไปวังจนเกือบพลบค่ำ ทรงแหนงพระทัยอยู่ฉนี้ จึงเสด็จข้ามมาจากพระราชวังเดิม เข้าไปตำหนักพระธิดาทั้งสองพระองค์

ตำหนักแดง วัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี
“ตำหนักแดง” ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เคยเสด็จไปลอบพบปะทรงสกา และไพ่ต่อแต้มเสมอ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี

พอเสด็จย่างขึ้นบนอัฒจันท์ตำหนัก ข้าหลวงซึ่งอยู่นอกตำหนัก ก็วิ่งเข้าไปทูลกรมหลวงศรีสุนทรเทพ กรมหลวงเทพยวดี ว่ากรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์เสด็จเข้ามา กรมหลวงเทพยวดีจึงเสด็จวิ่งออกมารับแล้วร้องขึ้นว่าคุณหญิงเข้ามา ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงต่อแต้มอยู่ด้วยกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ และกรมหลวงศรีสุนทรเทพ ได้ยินพระสุรเสียงกรมหลวงเทพยวดีร้องขึ้นดังนั้นก็วิ่งหนีเข้าไปในห้องบรรทม

กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์แลเห็นคนวิ่งวับเข้าไปในห้อง จึงตรัสถามกรมหลวงศรีสุนทรเทพว่าใครวิ่งเข้าไปในห้อง กรมหลวงศรีสุนทรเทพทูลว่า คนเข้าไปปัดที่นอน กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์รับสั่งว่าข้าเห็นเหมือนผู้ชายวิ่งเข้าไป แลเห็นแต่หลังไวๆ ไม่เห็นหน้า

กรมหลวงศรีสุนทรเทพและกรมหลวงเทพยวดีช่วยกันเถียงว่า คุณแม่เอาอะไรมาพูด ผู้ชายรายเรือที่ไหนจะเข้ามาอยู่ในที่นี้ได้ คนอยู่เปนกองสองกอง พูดเอาแต่ร้ายมาใส่ แล้วแส้งทำเปนทรงขัดเคือง กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จึงรับสั่งว่า หรือตาข้าจะเห็นไปเอง ขอโทษเสียเถิด แล้วก็รับสั่งทักทายกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ว่าดีแล้ว พี่น้องรู้จักรักกัน หมั่นไปหมั่นมาเล่นหัวด้วยกันเถิด และตรัสไต่ถามหลายองค์

เสร็จแล้วจึงตรัสถามพระธิดาทั้งสองพระองค์ ว่าข้าประหลาดใจหลายวันมาแล้ว พ่อฉิมออกจากเฝ้ากลับไปบ้านจนพลบค่ำทุกวัน จะเปนเรื่องราวอะไรก็ไม่รู้ พระธิดาทั้งสองพระองค์ทูลว่าเห็นจะเปนข่าวทัพข่าวศึก ต้องประชุมปรึกษาราชการดอกกระมัง ไม่ควรคุณหญิงจะวิตกวิจารณ์ กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จึงรับสั่งว่า แต่ก่อนๆ มาการศึกก็มีหลายครั้ง ไม่เห็นอยู่จนพลบหลายวันเช่นนี้ เปนแต่เพียงสองวันสามวันจึงอยู่จนพลบค่ำ ซ้ำเกรงว่าจะไปเที่ยวติดผู้หญิงริงเรืออยู่ที่ไหนดอกกระมัง

ซึ่งท่านตรัสดังนี้ด้วยพระทัยสงสัยว่าที่วิ่งวับเข้าไปในห้องเมื่อตะกี้ เกรงจะเปนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ด้วยเห็นไม่มีผ้าห่ม ถ้าผู้หญิงวิ่งเข้าไปคงจะมีผ้าห่ม และทอดพระเนตรเห็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ เสด็จอยู่ที่นั่นด้วย ก็ยิ่งแหนงพระทัย แต่ไม่รู้ที่จะตรัสประการใด เลยตรัสเรื่องอื่นๆ ไป จนได้เวลาก็เสด็จข้ามไปวัง แต่นั้นมาก็ทรงระแวงพระทัย กลัวจะได้ความผิดดังเช่นครั้งเจ้าคุณที่ต้องรับพระราชอาญา จึงไม่วางพระทัย หมั่นรับสั่งถามข้าหลวงคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง เขาก็ช่วยกันปกปิดจึงไม่ได้ความเปนประการใด ก็เปนการนิ่งอยู่

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์เสด็จกลับไปแล้ว ก็เสด็จออกมาจากห้อง ท่านทั้งสามพระองค์ก็ชวนกันทรงพระสรวล แล้วรับสั่งกันว่าถ้าคุณหญิงเข้ามานอนอยู่ที่นี่ท่านจะทำเปนประการใด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงรับสั่งว่า ท่านมาประธมค้างอยู่ที่นี่ฉันออกมาไม่ได้ ฉันก็นอนอยู่ในห้องสบายไปเสียอีก ท่านทั้งสามพระองค์ก็ทรงพระสรวล

กรมหลวงเทพยวดีจึงทูลว่า ถ้ารุ่งขึ้นท่านยังไม่ได้กลับไปวัง ต่อเวลาเย็นจึงกลับไป ท่านมิต้องอดเข้ายังค่ำหรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ รับสั่งว่าของกินอะไรมีอยู่ที่ในห้อง ฉันก็ค้นออกมากินไม่ได้หรือ แล้วตรัสเล่นอยู่จนได้เวลาก็เสด็จกลับไปตำหนัก

ครั้นรุ่งขึ้นเสวยเข้าแล้ว กรมหลวงศรีสุนทรเทพและกรมหลวงเทพยวดีก็ไปเล่นที่ตำหนักกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ด้วยเกรงกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จะเสด็จเข้าไปพบพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ดังเช่นเมื่อวานนี้ เมื่อจะเสด็จไปก็รับสั่งไว้แก่ข้าหลวงที่อยู่ตำหนัก ว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จเข้ามาที่ตำหนัก จงทูลว่ากูไปเล่นอยู่ที่ตำหนักแดง ให้เสด็จตามไปเถิด เพราะมีพระประสงค์ที่จะให้ได้พบกันสองต่อสอง ครั้นรับสั่งไว้แล้วก็เสด็จไปเล่นอยู่ที่ตำหนักกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ จนรักใคร่เปนอันหนึ่งอันเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ครั้นเสด็จกลับออกจากเฝ้า ก็เสด็จเข้าไปที่ตำหนักสมเด็จพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ก็ไม่พบ รับสั่งถามข้าหลวงว่าไปข้างไหน ข้าหลวงจึงกราบทูลว่าเสด็จไปตำหนักแดง รับสั่งไว้ว่าถ้าฝ่าพระบาทเสด็จเข้ามาให้เชิญเสด็จตามไปที่ตำหนักแดง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อได้ทรงฟังดังนั้นก็มีพระทัยยินดียิ่งนัก จึงทรงพระดำริห์ว่าชรอยสมเด็จพระกนิษฐภคินีจะอุบายให้ได้ใกล้ชิด จะได้พบกันในที่ลับ อนึ่งเกรงกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จะเสด็จเข้ามาเช่นวันก่อน ท่านก็จะวุ่นวายว่ากล่าวเซงแซ่ไปโดยฐานที่เปนผู้ใหญ่เกรงความผิด ทรงพระดำริห์ดังนั้นแล้วจึงรับสั่งชวนข้าหลวงที่อยู่ตำหนักตามเสด็จไปคนหนึ่ง ด้วยตำหนักอยู่เคียงกัน ไม่มีผู้ใดนอกจากสองตำหนักนั้นได้เห็น ครั้นเสด็จไปถึงตำหนักแล้วก็เข้าไปทรงเล่นด้วยกันดังเช่นกล่าวมาแล้วแต่หลัง การคุ้นเคยก็สนิทยิ่งขึ้น

แต่เสด็จไปทรงเล่นอยู่ตำหนักนั้นได้สองสามเพลา ฝ่ายเจ้าครอกเสียพระจริต ซึ่งภายหลังมีนามว่ากรมขุนอนัคนารี เสด็จไปแอบทอดพระเนตรเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จเข้าไปนั่งชิดกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ช่วยกันเดินสะกาเล่นอยู่กับกรมหลวงศรีสุนทรเทพ เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงเสด็จกลับออกมาตรัสแก่ข้าหลวงด้วยสุรเสียงอันดังว่า “ท้าวพรหมทัต ล่วงลัดตัดแดน มานั่งท้าวแขน ทอดสะกาพนัน สูสูสีสี อีแม่ทองจันท์ อีกสองสามวัน จะเปนตัวจิ้งจก”

ความที่รับสั่งร้องดังนี้ จะเปนโดยความขัดเคืองพระทัยหรืออย่างไรก็ไม่ได้ความชัด แต่รับสั่งอยู่อย่างนี้หลายวัน ถ้าเสด็จเยี่ยมพระแกลแลเห็นผู้ใดเดินไปมาก็ร้อง “สูสูสีสี อีแม่ทองจันท์ อีกสองสามวัน จะเปนตัวจิ้งจก” ร้องได้วันละหลายๆ ครั้ง

กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ได้ทรงฟังดังนั้นก็สดุ้งพระทัย จึงรับสั่งแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ และกรมหลวงศรีสุนทรเทพ กรมหลวงเทพยวดี ว่าน่ากลัวกิตติศัพท์จะเซงแซ่ไป กรมหลวงศรีสุนทรเทพจึงรับสั่งว่าวันพรุ่งนี้เชิญเสด็จกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ไปเล่นที่ตำหนักของท่าน ถ้าเกรงว่ากรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จะเสด็จมาพบจะหนีไม่ทัน ก็จะรับสั่งให้ข้าหลวงนั่งดักหนทางอยู่ที่อัฒจันท์หน้าตำหนัก เมื่อเห็นกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์เสด็จเข้ามา พอเห็นเลี้ยวพระปรัศว์ก็จะให้ข้าหลวงวิ่งมาทูลเสียก่อน จะได้ซ่อนเร้นพระองค์เสียไม่ให้พบ

พระราชวังเดิม กองทัพเรือ
พระราชวังเดิม ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ปัจจุบันคือที่ทำการกองทัพเรือ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงรับสั่งว่า ทีนี้ให้ท่านหญิงตำหนักแดงเข้าไปแอบซ่อนอยู่ในห้องเถิด ฉันจะอยู่รับหน้ากับแม่แจ่มแม่เอี้ยง เห็นท่านจะไม่สงสัย ถ้าครั้งนี้มาพบท่านหญิงตำหนักแดงเข้าอีกเกรงจะแหนงพระทัย ว่าเสด็จมาครั้งใดก็พบครั้งนั้น โดยฉันจะหลบหลีกเข้าไปแอบอยู่ในห้อง ถ้าท่านพบเธอจะระแวงพระทัย เสด็จกรากเข้าไปในห้องก็เห็นฉัน คงจะเกิดความเปนแท้ ที่ไหนท่านจะนิ่ง คงจะโวยวายไปด้วยกลัวความผิด รับสั่งปรึกษาตกลงเห็นพร้อมกัน พอได้เวลาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็เสด็จข้ามไปวัง แต่นั้นมากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ก็เสด็จไปเล่นที่ตำหนักกรมหลวงศรีสุนทรเทพและกรมหลวงเทพยวดี

วันหนึ่งกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงระลึกถึงพระธิดาทั้งสองพระองค์ จึงเสด็จเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง พอทรงพระดำเนินเลี้ยวมุมพระปรัศว์ ข้าหลวงที่นั่งคอยดูอยู่หน้าตำหนัก ก็วิ่งเข้าไปกราบทูลด้วยเสด็จพร้อมกันอยู่ทั้งสี่พระองค์ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ก็เสด็จวิ่งหนีเข้าไปซ่อนอยู่ในห้องพระบรรทม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็เสด็จวิ่งหนีตามเข้าไป พอกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์เสด็จย่างเข้าไปในตำหนัก ก็ทอดพระเนตรเห็นพระธิดาทั้งสองพระองค์ ก็ไม่ระแวงพระทัย เสด็จประทับอยู่ตั้งแต่เช้าจนเย็น ได้เวลาก็เสด็จกลับข้ามไปวัง

เมื่อกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์เสด็จกลับไปแล้ว ก็เสด็จออกมาจากห้องพระบรรทมทั้งสองพระองค์ แต่กรมหลวงศรีสุนทรเทพและกรมหลวงเทพยวดีท่านตามมาส่งเสด็จกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ถึงประตูฉนวน แล้วจึงเสด็จกลับไปตำหนัก เหตุเพราะเกรงกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์จะลอายพระทัย เมื่อเสด็จมาถึงตำหนักทอดพระเนตรเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ และกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ทรงสะกาอยู่ ท่านก็มาช่วยเดินทั้งสองพระองค์ไม่ให้กระดากพระทัย พอเย็นได้เวลาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็เสด็จกลับข้ามไปวัง

แต่นั้นมาต่างพระองค์ก็ผลัดเปลี่ยนกันไปเล่นตำหนักโน้นบ้าง ตำหนักนี้บ้าง จนข่าวทราบไปถึงกรมหลวงพิทักษมนตรี เวลาเข้าไปเฝ้าพบพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็มีพระกิริยามึนตึงโดยขัดเคือง ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกิริยากรมหลวงพิทักษมนตรีไม่เหมือนแต่เดิม เห็นสีพระพักตร์นั้นเจื่อน ดูเปนจำใจจำตรัสด้วย ก็เข้าพระทัยว่าชรอยกรมหลวงพิทักษมนตรีจะทราบความเปนแน่จึงได้มึนตึงไปฉนี้

วันหนึ่งยังไม่มีเจ้านายอื่นเข้าไปเฝ้า มีอยู่แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ กับกรมหลวงพิทักษมนตรี สองพระองค์เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงรับสั่งแก่กรมหลวงพิทักษมนตรี ว่าบ้านเมืองเราทุกวันนี้เหมือนวงศอสัญแดหวา ไปภายหน้าจะรุ่งเรืองถาวรยิ่งนัก เมื่อกรมหลวงพิทักษมนตรีได้ทรงฟังดังนั้นก็เฉลียวพระทัย อยากจะใคร่ทรงฟังเรื่องราวต่อไป จึงทูลถามขึ้นว่าเมืองกุเรปันอยู่ที่ไหน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงตรัสตอบว่า พ่อจุ้ยมานั่งอยู่ที่นี่เมืองของใครเล่า กรมหลวงพิทักษมนตรีก็เข้าพระทัย จึงแส้งทูลถามต่อไปว่า อย่างนั้นล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาบน มิต้องเกณฑ์ให้เปนดาหาหรือ และกาหลัง สิงหัดส่าหรียังแลไม่เห็น

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระสรวล แล้วรับสั่งว่าพ่อจุ้ยพูดยังไม่ถูก ล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาบนมีแต่สะกาหนึ่งหรัด ควรจะเปนแต่กาหลัง กรมหลวงพิทักษมนตรีจึงทูลว่ากระนั้นดาหาอยู่ที่ไหนเล่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงรับสั่งว่าดาหาก็อยู่ริมที่นี่เอง กรมหลวงพิทักษมนตรีได้ทรงฟังดังนั้นพระพักตร์ก็ตึงมากขึ้น ไม่ทูลโต้ตอบประการใด

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้ทรงเห็นพระกิริยากรมหลวงพิทักษมนตรีดังนั้น จึงทรงพระดำริห์ว่า จำจะต้องแต่งอุบายล่อลวงให้กรมหลวงพิทักษมนตรีมีความยินดีอิ่มพระทัย จึงรับสั่งว่าใจของพี่ ถ้าพี่น้องได้กันเองอย่างเช่นเรื่องอิเหนา ไม่ถือต่ำถือสูง ว่าลูกพี่ลูกน้อง พี่จะมีความยินดีเปนที่ยิ่ง โดยสมบัติพัสถานก็จะไม่กระจัดกระจาย แล้วรับสั่งว่าบัดนี้ที่มีกังวลอยู่อย่างหนึ่งด้วยแม่แจ่ม ครั้งเล่นป้านชาถ้วยชากวนให้หาร่ำไป หรือพ่อจุ้ยมีป้านชาถ้วยชายี่ห้อต่างๆ จัดเข้าไปให้เขาบ้างเปนไร เผื่อยี่ห้อจะแปลกกันกับเขาที่มีอยู่

กรมหลวงพิทักษมนตรีได้ทรงฟังดังนั้นก็มีพระพักตร์ชื่นแช่มขึ้นทันที เปนคาดพระทัยเห็นชัดว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จะเต็มพระทัยให้พระองค์ได้กันกับกรมหลวงศรีสุนทรเทพ จึงทูลตอบว่าป้านชาถ้วยชายี่ห้อต่างๆ เรือของหม่อมฉันมีเข้ามาหลายอย่าง แล้วจะจัดให้คนเข้าไปถวาย พอถึงเวลาเจ้านายเตรียมคอยเฝ้า ที่ตรัสในเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับสั่งต่อไป

ครั้นเวลากลับออกจากเฝ้าก็เสด็จเข้าไปที่ตำหนักพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ จึงทรงกระซิบเล่าความให้กรมหลวงเทพยวดีทราบทุกประการ ตั้งแต่ต้นจนปลาย ซึ่งกรมหลวงพิทักษมนตรีทราบระแคะระคายทำกิริยามึนตึง ต้องยกเรื่องนี้ขึ้นเปนอุบายล่อลวงจนถึงแก่หายขัดเคือง ว่าจะจัดป้านชาถ้วยชายี่ห้อต่างๆ มาให้แม่แจ่ม แต่อย่าบอกให้เจ้าตัวรู้ตัวเขาจะโกรธ ถ้ามีผู้ใดเอาของเข้ามาให้เจ้าออกรับเสียเอง ขอยืมแต่ชื่อตอบไปก็แล้วกัน ตรัสอยู่จนเย็นก็เสด็จกลับข้ามไปวัง

ฝ่ายกรมหลวงพิทักษมนตรีครั้นเสด็จกลับไปวังก็จัดแจงป้านชาถ้วยชายี่ห้อต่างๆ รับสั่งให้สาวใช้นำเข้าไปถวายกรมหลวงศรีสุนทรเทพ ครั้นสาวใช้เข้าไปถึงตำหนักกรมหลวงเทพยวดีจึงเสด็จรีบออกมารับแทนกรมหลวงศรีสุนทรเทพ รับสั่งให้ข้าหลวงถ่ายของไว้แล้วรับสั่งแก่สาวใช้ให้ไปทูล ว่าท่านพระองค์ใหญ่ถวายบังคมไปขอบพระทัยเปนที่สุด แล้วก็รับสั่งปราสัยไต่ถามหลายองค์ จนสาวใช้ทูลลากลับไปวัง ก็ทูลความซึ่งกรมหลวงเทพยวดีรับสั่ง

ตั้งแต่นั้นมากรมหลวงพิทักษมนตรีเมื่อสำเภาเข้ามาก็จัดสิ่งของต่างๆ เข้าไปถวายกรมหลวงศรีสุนทรเทพอยู่เนืองๆ ฝ่ายข้างกรมหลวงศรีสุนทรเทพและกรมหลวงเทพยวดี เมื่อถึงหน้าผลไม้ต่างๆ เปนต้นว่ามะม่วง มะปราง เงาะ ลางสาด ก็ปอกเข้าไปถวายกับเครื่องคาวหวานบางสิ่ง ให้ข้าหลวงไปถวายกรมหลวงพิทักษมนตรีอยู่เนืองๆ โดยทางตอบแทนเปนธรรมดาของชาววัง แต่กรมหลวงพิทักษมนตรีมั่นพระทัยไปทางหนึ่ง การที่มึนตึงต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็เสื่อมหายไปสิ้น มีพระหัทธยาศรัยสนิทกันดังเดิม

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เว้นสองวันบ้างสามวันบ้าง เมื่อเสด็จกลับออกจากเฝ้าก็แวะเข้าไปที่พระตำหนักพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ ลางวันก็ลอบไปตำหนักกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ อยู่เนืองๆ

ภายหลังจนกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ทรงพระครรภ์ได้สี่เดือนเห็นจะปิดความไม่มิด จึงเสด็จไปที่เรือนคุณเสือ ทรงกระซิบเล่าความให้ฟัง แล้วทรงวิงวอนให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ช่วยแก้ไขอย่าให้ทรงพระพิโรธมากมายนัก คุณเสือก็รับคำว่าจะช่วยผ่อนผันให้หนักเปนเบา แล้วกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ก็ลาคุณเสือกลับมาตำหนัก

วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จประทับอยู่ที่ซอง เปนวันสบายพระราชหฤทัย รับสั่งเล่าถึงเรื่องความเก่าๆ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พะม่าข้าศึกให้ท้าวนางฟัง ถึงที่สนุกสนานก็ทรงพระสรวลมีพระสุรเสียงอันดัง ตรัสอยู่ประมาณสักครึ่งชั่วทุ่ม ขณะนั้นเห็นได้ช่องคุณเสือจึงคลานเข้าไปใกล้พระองค์แล้วจึงทูลกระซิบว่า

“ขุนหลวงเจ้าขา ดิฉันจะทูลความสักเรื่องหนึ่ง แต่ขุนหลวงอย่ากริ้วหนา ถ้าขุนหลวงกริ้วดิฉันก็จะไม่ทูล”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อได้ทรงสดับคำคุณเสือดังนั้น ก็เฉลียวพระทัยว่าน่าจะเปนความชอบกลอยู่ จึงรับสั่งว่า เออ พูดไปเถอะ กูไม่โกรธดอก

คุณเสือจึงกราบทูลว่า ดิฉันไม่เชื่อขุนหลวงที่รับสั่งว่าไม่กริ้ว ครั้นดิฉันทูลขึ้นแล้วขุนหลวงก็จะกริ้ววุ่นวายไป ถ้าอย่างนั้นขุนหลวงสบถให้ดิฉันเสียก่อน ดิฉันจึงจะทูล

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงรับสั่งด่าว่าอีอับปรี บ้านเมืองลาวของมึงเคยให้เจ้าชีวิตรจิตรสันดานสบถหรือ กูไม่สบถ พูดไปเถิดกูไม่โกรธดอก

คุณเสือก็ทูลว่าดิฉันไม่เชื่อ แล้วก็ทำเปนคลานถอยออกมาเสียให้ห่างพระองค์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงรับสั่งว่าอย่าเพ่อไป จะไปข้างไหน มาพูดไปเถอะ เองจะให้ข้าสบถว่ากระไร คุณเสือจึงทูลว่าดิฉันจะให้ขุนหลวงสบถว่าถ้าดิฉันทูลขึ้นแล้วขุนหลวงกริ้วให้ขุนหลวงตกนรกเท่านั้นแหละ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรับสั่งว่า เองจะมาให้ข้าสบถว่าไม่ให้โกรธนั้น ถ้ามีผู้ใดคิดร้ายต่อข้าเองมาบอกขึ้นก็จะห้ามไม่ให้โกรธ คนที่ใจเปนดังนี้บ้านเมืองของมึงมีอยู่หรือ

คุณเสือจึงทูลตอบว่าถ้าเปนเรื่องใครเขาคิดร้ายต่อพระองค์ดิฉันก็ไม่ทูลขอห้ามไม่ให้ขุนหลวงกริ้ว นี่ไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น เปนแต่การเล็กน้อย ครั้นขุนหลวงทราบก็จะกริ้วกราดเปนมากเปนมายถึงแก่เฆี่ยนแก่ตี นิดก็เฆี่ยนหน่อยก็เฆี่ยน (ท่านทูลดังนี้คือท่านกลัวเหมือนเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ หลงเจ้าคุณที่ต้องรับพระราชอาญา ๓๐ ที)

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็อยากจะใคร่ทรงทราบว่าเปนเรื่องอะไร จึงรับสั่งว่าพูดไปเถิดกูไม่เฆี่ยนดอก คุณเสือจึงทูลว่าถ้าขุนหลวงเฆี่ยนให้ขุนหลวงตกนรกหนา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอึดอัดพระทัย ครั้นจะทรงนิ่งเสียคุณเสือก็จะไม่ทูลความ เรื่องราวจะตื้นลึกเปนประการใดก็จะใคร่ทรงทราบ จึงรับสั่งว่า เออ กูไม่เฆี่ยนดอก คุณเสือจึงเขยิบเข้าไปใกล้พระองค์แล้วค่อยกระซิบทูล ว่าแม่รอดเดี๋ยวนี้ท้องขึ้นมาได้ ๔ เดือน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก จึงรับสั่งถามว่าท้องกับใคร คุณเสือจึงทูลว่าจะมีใครเล่า พ่อโฉมเอกของขุนหลวงนั่นซิ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็สงสัยพระทัยว่าจะเปนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ หรือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ยังไม่ทรงทราบถนัด ด้วยทรงเห็นว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์มีพระรูปพระโฉมงาม จึงระแวงพระทัยอยู่ แล้วรับสั่งถามว่าคนใหญ่หรือคนเล็ก คุณเสือจึงทูลว่าพ่อฉิมนั่นแหละเจ้าค่ะ และทูลต่อไปว่าน่ารักน่าชมสมกันจริงๆ มีลูกมีเต้าออกมาจะอุ้มจะชูก็ไม่น่ารังเกียจ ขุนหลวงอย่ากริ้วหนา

จึงรับสั่งว่ามึงเห็นดีไปคนเดียวเถิดซิ พี่น้องเขาอยู่ออกเปนก่ายเปนกอง เขาไม่รู้เขาก็จะว่ากูสมรู้ร่วมคิดเปนใจให้ลูกมาข่มเหงเขา อนึ่งทำดูถูกเทวดารักษารั้ววังไม่มีความเกรงกลัว ถ้าจะรักใคร่กันก็บอกกล่าวผู้ใหญ่ให้เปนที่เคารพนบนอบแต่โดยดี นี่ทำบังอาจเอาแต่ใจ ไม่คิดแก่หน้าผู้ใด

รับสั่งบ่นมากมาย โดยเกรงกรมหลวงเทพหริรักษ์จะน้อยพระทัย และเกรงกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข จะติเตียนว่าทำการดูถูกพระราชวัง จึงรับสั่งให้ท้าวนางไปขับไล่กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ให้เสด็จออกไปเสียจากพระบรมมหาราชวังในคืนวันนั้น และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้นเคยจัดสินค้าต่างๆ มาฝากลงสำเภาล่องไปขายเมืองจีน และซื้อของเมืองจีนล่องมาขายเมืองไทย ก็รับสั่งห้ามไม่ให้เจ้าพนักงานรับลงเรือดังแต่ก่อน และรับสั่งห้ามไม่ให้เสด็จเข้าไปเฝ้า

ฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ก็รับสั่งใช้ให้ข้าหลวงกับโขลนจ่าที่ในวังออกไปทูลแก่กรมหลวงเทพหริรักษ์ตามเหตุที่มีมานั้น ขอให้กรมหลวงเทพหริรักษ์จัดเรือมารับเสด็จในค่ำวันนี้ กรมหลวงเทพหริรักษ์เมื่อได้ทรงฟังเหตุซึ่งมีขึ้นดังนั้น ก็ทรงขัดเคืองพระทัย แต่จำเปนต้องอดกลั้น ด้วยท่านเปนผู้ใหญ่ จึงรับสั่งให้เจ้ากรมจัดเรือที่นั่งสำปั้นเก๋งมารับเสด็จกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ไปในค่ำวันนั้น

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เมื่อได้ทรงทราบว่ากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ไปอยู่วังกรมหลวงเทพหริรักษ์ ท่านก็เสด็จตามไปในค่ำวันนั้น เข้าเฝ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทูลรับผิดชอบและทูลวิงวอนจะขอรับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ไปไว้พระราชวังเดิม

กรมหลวงเทพหริรักษ์จึงรับสั่งว่า พ่อฉิมทำการดั่งนี้ห้าวหาญนัก เมื่อจะรักใคร่กันข้าก็เปนผู้ใหญ่อยู่ทั้งคน จะมาปรึกษาหารือ ว่าจะรักใคร่เลี้ยงดูกันตามประสาฉันญาติ ก็จะได้คิดผ่อนผันไปตามการโดยสมควร หรือจะกราบทูลให้ในหลวงจัดแจงตบแต่งให้เปนเกียรติยศ ชื่อเสียงก็จะได้ปรากฏไปภายหน้า บัดนี้มาทำแต่จุใจตัวไม่ง้องอนใคร จะมาพูดกันทำไมเล่า ในระหว่างนี้ในหลวงก็กริ้วกราดมากมายอยู่ ซึ่งข้าจะมอบตัวแม่รอดให้ไปนั้นไม่ได้ ถ้าความทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทเข้า ข้าจะพลอยเสียไปด้วย ดูเปนเต็มใจให้แก่คนผิด น้องของข้าๆ เลี้ยงได้ดอก ไม่ต้องให้คนอื่นเลี้ยง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็ทรงพระกรรแสงทูลสารภาพรับผิดอยู่นาน ท่านก็ไม่ยอมให้กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ เสด็จไป ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทูลวิงวอนจนอ่อนพระทัยท่านก็ไม่ยอม จึงทูลลาเสด็จกลับข้ามไปวัง แต่นั้นมาก็รับสั่งใช้ให้สาวใช้มาเฝ้าเยี่ยมเยียนกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ อยู่ไม่ขาดวัน

ภายหลังกาลล่วงมาได้สัก ๓ เดือน เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะเหือดหายที่ทรงพระพิโรธ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ให้พาพระองค์ท่านเข้าเฝ้าในหลวง กราบทูลไกล่เกลี่ยขอรับพระราชทานโทษ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทก็พาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เข้าไปเฝ้า ทูลชี้แจงว่าลูกกับหลานรักกัน ขุนหลวงกริ้วกราดเอาเปนมากเปนมาย เห็นเปนไม่สมควรกันหรือ ขอรับพระราชทานโทษทั้งสองคนนี้ให้พ้นโทษเสียเถิด

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงรับสั่งว่าผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังมีอยู่ เมื่อจะรักใคร่กันก็บอกกล่าวกันก่อน ถ้าไม่มีใครเปนธุระก็ควรจะคิดการแต่ลำพังใจตัว นี่เขาไม่คิดนับถือผู้ใหญ่ คิดเอาเองแต่อำเภอน้ำใจ ไม่คิดกลัวเกรง องอาจดูถูกรั้ววังดังนี้เจ้าก็ยังเห็นดีอยู่หรือ

(ที่รับสั่งดังนี้เปนที่กันกรมพระราชวังบวรฯ จะติเตียนและมิให้กรมหลวงเทพหริรักษ์เสียพระทัย)

กรมพระราชวังบวรจึงกราบทูลว่า ซึ่งการที่ไม่ได้บอกกล่าวให้ผู้ใหญ่รู้ก่อนดังนั้นเปนข้อเลมิด มีความผิด ถึงโดยจะบอกกล่าวผู้ใหญ่ หรือทูลขุนหลวง ก็จะต้องเต็มใจให้ดีด้วยกันทั้งนั้น ด้วยอายุเราท่านทั้งหลายนี้จะอยู่ไปได้สักกี่ร้อยปี ภายภาคหน้าจะได้ใครสืบตระกูลต่อไปเล่า แล้วก็ทูลกลบเกลื่อนวิงวอนอยู่นาน จนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเหือดหายที่ทรงพระพิโรธ

แต่นั้นมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็เสด็จเข้าเฝ้าดังเช่นแต่หลังมา แลจัดสินค้ามาลงสำเภาหลวงเช่นเคยมาแต่ก่อน จึงเสด็จข้ามมาเฝ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทูลขอรับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ไปไว้พระราชวังเดิม ด้วยพระครรภ์ก็เจริญจวนจะประสูติพระโอรสอยู่แล้ว

กรมหลวงเทพหริรักษ์จึงรับสั่งว่า ลูกเมียของพ่อฉิมก็มีอยู่มาก เกรงว่านานไปจะเกิดอริวิวาทกัน ก็จะต้องร้องไห้ข้ามกลับมาหาพี่ จะได้ความอับประยศแก่คนทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงทูลปฏิญานทานบลว่าจะมิให้บุตรและภริยาทั้งปวงเปนใหญ่กว่าหรือเสมอกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เพราะฉะนั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชย์บรมราชาภิเศกขึ้นแล้ว ได้เจ้าฟ้ากุณฑลเปนพระชายา ก็ทรงชุบเลี้ยงเขาอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เปิดเผยผิดจากปกติขึ้นเท่าไร ประสูติพระโอรสสามพระองค์พระธิดาพระองค์หนึ่ง แต่พระธิดานั้นสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ยังเหลือแต่พระโอรสทั้งสามพระองค์ ในสมัยนั้นก็ไม่ได้ยินใครเรียกเจ้าฟ้าหรือทูลกระหม่อมฟ้า เรียกกันอยู่ว่าองค์ใหญ่ องค์กลาง องค์ปิ๋ว ในหลวงท่านทรงได้ยินก็ไม่เห็นกริ้วกราดทักท้วงประการใด เรียกอยู่แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ เปนคำทูลในหลวงก็ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฉนั้น เรียกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทูลกระหม่อมพระองค์น้อย ถ้าเปนคำทูลในหลวงก็ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอสุนีบาศฉนั้น

ภายหลังมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระองค์ใหญ่เจ้าฟ้ากุณฑลฯ เปนเจ้าฟ้า พระราชทานพระนามว่า “อาภรณ์” แต่นั้นมาคนทั้งหลายรู้เรียกกันว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์ แต่พระองค์กลาง องค์ปิ๋วนั้น ได้ยินเรียกกันแต่ว่าองค์กลาง องค์ปิ๋ว ดังเช่นเรียกกันมาแต่เดิม

ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระนามองค์กลางว่า “มหามาลา” แต่นั้นมาคนทั้งหลายรู้เรียกกันว่าเจ้าฟ้ามหามาลา องค์ปิ๋วนั้นสิ้นพระชนม์เสียแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ได้ยินคนรุ่นใหม่ๆ เรียกกันว่าเจ้าฟ้าปิ๋วบ้าง ก็ได้ยินรายๆ ไม่สู้หนาหูนัก หรือจะเปนด้วยเขาเกรงพระทัยกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์อย่างไรก็ไม่ทราบ แต่คนชั้นเก่าๆ ไม่ได้ยินใครเรียกเจ้าฟ้าปิ๋วเลย จะเปนเหตุด้วยกลัวกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์หรือประการใดก็ไม่ทราบถนัด)

เพราะฉะนั้นกรมหลวงเทพหริรักษ์จึงทรงอนุญาต ยอมให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ รับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ไปไว้พระราชวังเดิม และทรงเห็นว่าพระครรภ์ก็เจริญมากอยู่แล้ว ภายหลังเมื่อจะประสูติพระโอรสนั้น ก็ประชวรพระครรภ์อยู่ถึงสองคืนสองวัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงรับสั่งสาวใช้ให้เข้าไปหาคุณเสือที่ในพระบรมมหาราชวัง ขอรับพระราชทานน้ำชำระพระบาทพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

คุณเสือจึงขึ้นไปกราบทูลขอรับพระราชทานน้ำชำระพระบาทและนำขันทองตักน้ำขึ้นไปด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงรับสั่งว่า ทำดูถูกเทวดารักษาวังจึงออกลูกยาก แล้วจึงยกพระบาทเอาพระอังคุดลงจุ้มน้ำในขันทอง แล้วคุณเสือก็นำมาส่งให้สาวใช้รีบข้ามกลับไปถวาย

ภาพเก่า ทิวทัศน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดโพธิ์
เจดีย์ประจำ 3 รัชกาลที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างขึ้น ในภาพกำลังก่อสร้างเจดีย์องค์ที่ 4 ซึ่งเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 จากหนังสือภาพมุมกว้าง)

ครั้งนั้นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ได้เสวยน้ำชำระพระบาทอยู่ครู่หนึ่ง ก็ประสูติพระโอรสเปนพระกุมาร ในวันเดือนยี่ ปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ สิ้นพระชนม์ในวันประสูตินั้น

ภายหลังมาปีชวดฉอศก จุลศักราช ๑๑๖๖ จึงประสูติพระโอรสอีกพระองค์หนึ่ง คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบมาปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ จึงประสูติพระโอรสอีกพระองค์หนึ่ง คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทั้งสองพระองค์นี้ประสูติเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้เถลิงอุปราชาภิเศกเปนกรมพระราชวังบวร รับพระบัณฑูรแล้ว คงมีพระยศเปนเจ้าฟ้าในพระราชวังบวร เมื่อสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็พระราชทานทองแท่งจีนหนัก ๖ ตำลึง สมโภชทั้งสองพระองค์ ข้อนี้ก็เปนบุพพนิมิตรอย่างหนึ่ง

อนึ่งพระราชวังเดิมนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประสูติที่นั้น เมื่อพระชันสาถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็โปรดเกล้าฯ ให้เข้ามาโสกันต์ในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยนั้นก็ยังไม่มีโสกันต์พิธีตรุส ต้องตั้งพระราชพิธีเปนการพิเศษขึ้นต่างหาก ก็ได้โสกันต์อยู่แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ในหลวงทรงพระจรดพระกันบิดพระกันไกร ด้วยเปนพระโอรสผู้ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพื่อจะทรงให้เปนพระเกียรติยศไว้ ได้พระราชทานเงินสมโภช ๕ ชั่ง เท่ากับพระเจ้าลูกเธอ ข้อนี้ก็เปนบุพพนิมิตรอย่างหนึ่ง

ต่อนั้นมามีกรมขุนกัลยาสุนทรเปนต้นและเจ้านายอื่นๆ ถัดลงมาก็ไม่ได้เข้ามาโสกันต์ในพระบรมมหาราชวัง โสกันต์ที่พระราชวังเดิมทั้งสิ้น

อนึ่งปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเปนพระภิกษุ ก็ได้รับของไทยทานต่อพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้นลาพระผนวชออกมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จนำเข้าไปเฝ้าถวายพระราชกุศล ได้พระราชทานผ้าลายอย่าง (ตกดี) สองผืน แพรขาวสองเพลาะ รับสั่งว่ารูปร่างสูงใหญ่หน้าตาฉลาด ข้อนี้ก็เปนบุพพนิมิตรอย่างหนึ่ง

พอรุ่งขึ้นปีมะเสงเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เสด็จสู่สวรรคต แต่นั้นมามีกรมหมื่นสุนทรธิบดีเปนต้น และเจ้านายอื่นๆ ถัดลงมา ก็ไม่ได้รับของไทยทานต่อพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและถวายพระราชกุศลทั้งสิ้นด้วยเสด็จสู่สวรรคตแล้ว

ภายหลังครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นแล้ว ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ จึงทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่เรียงกันสามองค์ ทรงพระราชอุททิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์หนึ่ง ทรงพระราชอุททิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยองค์หนึ่ง เปนส่วนพระราชกุศลในพระองค์องค์หนึ่ง

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นแล้ว ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่เพิ่มขึ้นในวัดพระเชตุพนฯ อีกองค์หนึ่ง เปนส่วนพระราชกุศลในพระองค์ ด้วยท่านได้ทรงเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังทรงจำได้ จึงได้ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นประชุมไว้ให้พร้อมกันทั้งสี่พระองค์ในที่นั้น และรับสั่งว่าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อไปภายหน้า ไม่ควรจะทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่เปนส่วนพระราชกุศลในพระองค์ลงในที่นี้ ด้วยไม่ได้รู้จักและไม่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งกล่าวมานี้ทั้งสี่พระองค์ท่านได้เห็นรู้กัน จึงควรสร้างประชุมกันไว้ในที่นี้

แล้วรับสั่งเล่าว่าวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จออกทอดพระเนตรการที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับอยู่บนพระเก้าอี้หน้าพระอุโบสถ แต่พระเก้าอี้นั้นไม่เหมือนพระเก้าอี้ที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ เปนเก้าอี้ทำด้วยหนังหรือผ้าที่อย่างหนาพับได้ ที่พิงนั้น ถ้านั่งสูงตลอดศีร์ษะแล้วเย็บเปนนวมหุ้มด้วยโหมดผูกไว้ที่บนกระดานพิง สำหรับรับพระเจ้าเมื่อเอนพระองค์ลงพิง ใช้กันมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีที่เสด็จพระราชดำเนินแห่งใดก็เชิญพระเก้าอี้ที่กล่าวมานี้เข้าในกระบวรไปทุกครั้ง บางทีเปนการฉุกเฉิน ไม่ได้ตั้งพระแท่นทอดที่ประทับ เมื่อต้องเสด็จยืนอยู่นานเจ้าพนักงานก็เชิญพระเก้าอี้เข้าไปทอดถวายแทนพระแท่นที่ประทับ

วันนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระชันสาได้ห้าพรรษา เชิญพระร่วมตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เข้าไปเฝ้าในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้ทอดพระเนตรเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงจำพระรูปพระโฉมไม่ถนัด ทรงจำได้อยู่แต่พระเกษาหงอกขาวทั่วทั้งพระเจ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงรับสั่งเรียกเข้าไปใกล้พระองค์ แล้วลูบพระเศียรจนถึงพระปฤษฎางค์ รับสั่งให้หม่อมไกรสร (กรมหลวงรักษรรณเรศ) อุ้มไปเที่ยวดูภาพเขียนทั่วพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หม่อมไกรสรก็เชิญเสด็จกลับมา แต่จะเปนอย่างไรต่อไปรับสั่งว่าทรงจำไม่ได้ ข้อนี้ก็เปนบุพพนิมิตรอย่างหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประสูติที่พระราชวังเดิมทั้งสองพระองค์ อนึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับของไทยทานต่อพระหัตถ์ เปนการสัมผัสถูกต้องต่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนปฐมกระษัตริย์ เปนที่สุดในรัชกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงสัมผัสถูกต้องต่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนปฐมกระษัตริย์เช่นกัน ซึ่งเปนที่สุดในรัชกาลนั้น ถ้าใคร่ครวญดูก็เปนการอัศจรรย์ผิดเจ้านายทั้งหลาย สืบมาพระองค์ก็ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติทั้งสองพระองค์

กล่าวความในเรื่อง “ขัติยราชปฏิพัทธ” ยุติแต่เท่านี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ขัติยราชบริพัทย์ รักเร้นของรัชกาลที่ 2” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2560