ความขี้หึงของ “คุณหญิงนาค” ต่อ “เจ้าพระยาจักรี” จากคำบอกเล่าของ คึกฤทธิ์

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 อดีต คือ เจ้าพระยาจักรี เชิง สะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพ พระพี่เลี้ยง เจ้าจอมแว่น
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร

“เจ้าพระยาจักรี” และความขี้หึงของ “คุณหญิงนาค” จากคำบอกเล่าของ “หม่อมคึกฤทธิ์”

เจ้าพระยาจักรี (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) มีภริยาคือ คุณหญิงนาค (ต่อมาคือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าเกร็ดขำๆ เกี่บวกับความขี้หึงของคุณหญิงนาคไว้ดังต่อไปนี้ (ดู-โครงกระดูกในตู้ หน้า 16-17)

เหตุเกิดเมื่อครั้งกรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช )กลับจากราชการสงคราม คุณหญิงนาค ก็นั่งคอยรับเจ้าคุณอยู่บนเฉลียงใต้พาไลเรือนหลังใหญ่ หันหน้าไปทางบันไดขึ้นเรือน

คุณนวลน้องสาวคุณหญิงซึ่งกำลังเป็นสาวเต็มตัวอุ้มคุณฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ) ซึ่งยังทรงพระเยาว์ เป็นเด็กเล็ก ไปนั่งคอยรับกลางนอกชาน ให้หลานชายนั่งบนตักหันหน้าออกทางบันไดเรือนและหันหลังให้คุณหญิงพี่สาว

เจ้าพระยาจักรีขึ้นจากเรือแล้วก็เดินตรงขึ้นบันไดบ้าน เดินผ่านนอกชานมา พอถึงที่คุณนวลนั่งอยู่ก็ก้มตัวลงจับอะไรก็ไม่รู้

คุณหญิงท่านว่า เจ้าคุณจับนมน้องสาวฉัน

เจ้าคุณบอกว่า เปล่า ฉันจับแก้มลูกฉันต่างหาก

แก้มคุณฉิมกับนมคุณนวลนั้นอยู่ในระดับเดียวกัน และคุณนวลนั่งหันหลังให้คุณหญิงนาค เจ้าคุณท่านก็แก้ตัวหลุด

แต่อีกสองวันต่อมา คุณหญิงท่านก็ปรารภขึ้นว่า หม่อมบุนนาคทนายคนสนิทของเจ้าคุณนั้นเป็นพ่อหม้ายอยู่ น่าจะปลูกฝั่งเสียให้เป็นฝั่งเป็นฝา เขาก็เป็นคนมีตระกูล สืบเชื้อสายมาแต่ขุนนางกรุงเก่า ถ้ายกแม่นวลน้องสาวฉันให้เสียก็จะสมน้ำสมเนื้อกันจะได้พึ่งพาอาศัยกันต่อไป เจ้าคุณจะว่าอย่างไรคะ? ท่านเจ้าคุณท่านก็ไม่ว่า

โดยสรุปก็คือ หม่อมบุนนาค หรือ “ลูกแขก” ซึ่งเป็นสหายกันมาตั้งแต่กรุงเก่าก็ได้แต่งงานกับคุณนวล ซึ่งเป็น “ลูกมอญ”

หม่อมคึกฤทธิ์ จบท้ายว่า “เพลงแขกมอญบางช้างก็มีกำเนิดมาจากนี้เพราะฝ่ายหนึ่งเป็นแขก อีกฝ่ายหนึ่งเป็นมอญ” (โครงกระดูกในตู้ หน้า 17)…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “เกร็ดพระราชประวัติ ล้นเกล้า รัชกาลที่ 1” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2524


ปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 24 เมษายน 2562