พระบรมราชินีพระองค์แรกของจักรีวงศ์ทรง “ขี้หึงเหมือนเสือ” รับไม่ได้กับจารีต “พหุภรรยา”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

สมเด็จพระอมริทราบรมราชินีมีพระนามเดิมว่า “คุณนาค” เป็นธิดาในตระกูลคหบดีแห่งบ้านอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ทรงอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา

ท่านผู้หญิงนาคถูกร่ำลือว่าขี้หึงเป็นที่สุดจนมีคำเปรียบเทียบติดปากว่า “มเหสีขี้หึงเหมือนเสือ” หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกเล่าขานคือกรณีที่ท่านเกรงว่าน้องสาวของท่านเองจะเป็นที่ต้องตาของเจ้าคุณสามี (รัชกาลที่ 1) จึงสนับสนุนให้น้องสาวของท่านออกเรือนกับนายบุนนาค ต้นสกุลบุนนาค ทำให้สกุลบุนนาคเกี่ยวพันกับราชวงศ์จักรีสืบมา

อีกเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้ชีวิตครอบครัวของท่านต้องพลิกผันคือเมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ตำแหน่งของรัชกาลที่ 1 ในขณะนั้น) ได้พา “คุณแว่น” สาวชาวเวียงจันท์กลับมาด้วยหลังจากการไปทำศึก เล่ากันว่าท่านผู้หญิงนาคทำใจรับการมีสตรีอื่นมาร่วมสามีด้วยไม่ได้ ลุแก่โทสะถึงขึ้นใช้ดุ้นแสมฟาดหัวสตรีที่เป็นส่วนเกิน

เหตุครั้งนั้นร้ายแรงถึงขั้นทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองท่านสะบั้นลงและมิได้กลับมาคืนดีกันอีกเลย แม้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจะได้ปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและโปรดพระราชทานเกียรติยศสูงสุดแก่ท่านผู้หญิงนาคด้วยการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีอัครมเหสี ขณะที่รัชกาลที่ 1 ก็ทรงปฏิบัติพระองค์ตามพระราชประเพณีดั้งเดิมด้วยการมีพระสนมนางในเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลจากหนังสือ ลูกแก้วเมียขวัญ “สตรีคู่พระทัย” ในราชสำนักสยาม โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย