“ไอน์สไตน์” ถาม “ฟรอยด์” ทําไมมนุษย์จึงทําสงครามเข่นฆ่า ก้าวร้าว ทําลายกัน

(ซ้าย) อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ขวา) ซิกมันด์ ฟรอยด์

ในหนังสือ “ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิตการงานและฟรอยด์บำบัด” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2552) โดย กิติกร มีทรัพย์ นักเขียนและนักจิตวิทยา ตอนหนึ่งของหนังสือดังกล่าว กิติกร กล่าวถึง ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่มีต่อกัน

ครั้งหนึ่งไอน์สไตน์ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ เขียนจดหมายถึงฟรอยด์ผู้คิดค้นทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ถามว่า “Why War?” หรือทำไมถึงทำสงคราม? ซึ่งขอสรุปเนื้อหามานำเสนอพอสังเขปดังนี้

ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักบุกเบิกอัจฉริยะด้านศาสตร์ทางจิต อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักบุกเบิกอัจฉริยะด้านศาสตร์ทางฟิสิกส์ ทั้งคู่เป็นบุคคลสำคัญร่วมสมัยกัน เป็นเพื่อนต่างวัยที่คบหากันอย่างถูกคอ

ฟรอยด์เกิดที่เมืองฟรายเบอร์ก แคว้นโมวาเรีย ออสเตรีย เมื่อปี ค.ศ. 1856 (แต่มักยืนยันว่าเกิดที่เมืองไรน์แลนด์ แคว้นโคโลญจ์ เยอรมนี) ส่วนไอน์สไตน์เกิดที่เมืองอูล์ม เยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1879 อ่อนกว่าฟรอยด์ 23 ปี

ฟรอยด์เรียนจบแพทย์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ไอน์สไตน์เรียนจบฟิสิกส์จากซูริค โพลีเทคนิค สวิตเซอร์แลนด์

ทั้งสองต่างเป็นคนดังแห่งยุคในฐานะอัจฉริยะด้านวิทยาศาสตร์ มีเชื้อสายยิวเหมือนกัน อันนำไปสู่ “คนหัวอกเดียวกัน” เพราะต่างถูกฮิตเลอร์ผู้นำเยอรมนีไล่ล่าอย่างจริงจัง

ฟรอยด์ชื่นชมไอน์สไตน์เป็นพิเศษ และเล่าให้แซนเดอร์ เฟอเรนซี (Sandor Ferenczi) เพื่อนสนิทไว้ในจดหมายที่เขียนถึงว่า

“ใช่เลย ฉันใช้เวลาทั้ง 2 ชั่วโมงคุยกับไอน์สไตน์ เขาเป็นคนร่าเริง อารมณ์ดี น่าไว้วางใจ และน่าคบหาสมาคม กับมีความเข้าใจวิชาจิตวิทยาเท่าๆ กับที่ฉันเข้าใจวิชาฟิสิกส์ ดังนั้น เราจึงคุยกันได้ดีมาก”

ไอน์สไตน์ก็ชื่นชมฟรอยด์ไม่แพ้กัน เขาชื่นชมทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ว่า ยิ่งใหญ่แห่งยุค แต่อาจเข้าใจยาก แต่เขาเข้าใจได้

ทั้งสองมีจดหมายถึงกันหลายครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน จดหมายแสดงความคิดเห็นของ 2 อัจฉริยะของโลก ฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า “Why War?”

ไอน์สไตน์ตั้งคำถามกับฟรอยด์ว่า ทำไมมนุษย์จึงทำสงครามเข่นฆ่า ก้าวร้าว ทำลายกัน จะมีทางให้มนุษย์เป็นอิสระจากสงครามเหี้ยมโหดได้หรือไม่ เข้าใจกันว่า ไอน์สไตน์ได้แรงจูงใจตั้งคำถามเช่นนี้มาจากการปกครองของนาซี ที่ต้องกำจัดล้างเผ่าพันธุ์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิวในประเทศทั้งหมดอย่างโหดเหี้ยม

ฟรอยด์ให้คำตอบไอน์สไตน์ เรื่องการหยุดความก้าวร้าวของสงครามก็คือ ต้องมีความร่วมมือกันของทุกชาติเป็นสันนิบาตชาติ (The League of Nations) เป็นศาลฎีกาให้คำพิพากษาทุกคดีความขัดแย้งอันจะก่อสงคราม ถ้าองค์กรสันนิบาตชาติเข้มแข็งก็จะสามารถลดสงครามลงได้

ส่วนในเรื่องของความก้าวร้าว ฟรอยด์ตอบว่า ความก้าวร้าว (ความชัง) เป็นขั้วหนึ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกับความรัก (เป็นอารมณ์เดียวกันแต่อยู่คนละขั้ว) คนเราต้องมีอารมณ์ (รักและชัง-love and hate) เพราะจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ แต่ฟรอยด์ก็มิได้บอกว่าความก้าวร้าวเป็นอารมณ์แปรปรวนหรืออารมณ์โรคจิต (psychotie emotion) อย่างที่ไอน์สไตน์เรียกขานแต่ประการใด

นั่นคือ จดหมายของมิตรที่โต้ตอบกันระหว่างนักฟิสิกส์ชื่อดังของโลก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เรื่องจริงของซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาจิตวิเคราะห์ที่ไม่ค่อยมีความสุข สู่ซีรีส์ Freud

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เมื่อ “ซิกมันด์ ฟรอยด์” บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์นอกใจภรรยา

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เอฟบีไอ ล่า ไอน์สไตน์ : เรื่องของนักวิทยาศาสตร์เอียงซ้ายกับรัฐบาลอเมริกัน


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2564