เผยแพร่ |
---|
ชื่อ “ซิกมันด์ ฟรอยด์” เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลกและกระจายไปแทบทุกวงการ ไม่ใช่แค่แวดวงการแพทย์และจิตวิทยา แต่กว่าฟรอยด์จะประสบความสำเร็จได้ ชีวิตเขาต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ทั้งต้องทนทุกข์กับความโดดเดี่ยว และการไร้ซึ่งมิตรภาพที่แลกมาด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงาน
ในแวดวงวิชาการเขาคือเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่พยายามเข้าถึงพฤติกรรมของมนุษย์ เส้นทางความเป็นมาของฟรอยด์ ถูกตีแผ่ในวงกว้างไม่แพ้ผลงานทฤษฎีของเขา แม้แต่วงการบันเทิงยังปรากฏซีรีส์ Freud ที่หยิบยกชีวิตวัยหนุ่มของเขาไปตีความบวกเข้ากับจินตนาการเชิงแฟนตาซีลี้ลับ ในกลิ่นอายแบบสืบสวนสอบสวนการฆาตกรรม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟรอยด์ ปรากฏในหน้าสื่อสายบันเทิงในสไตล์สืบสวนสอบสวนการฆาตกรรม ก่อนหน้านี้ เคยมีซีรีส์ Freud: The Secret Casebook เผยแพร่เมื่อปี 2014 แต่ชีวิตจริงของบิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ที่ต้องรับมือกับเรื่องลำบากมากมายนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง
วัยเด็ก
ฟรอยด์ ที่เรารู้จักกันมีชื่อเต็มว่า “ซิกมันด์ ซาโลมอล ฟรอยด์” เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายยิวเมื่อ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1856 ที่เมือง Freiberg ในจักรวรรดิออสเตรีย (ภายหลังคือเมืองพริบอร์ สาธารณรัฐเช็ก) เขาเกิดมาในยุคที่จักรวรรดิออสเตรียกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาสายโทรศัพท์ติดต่อสื่อสาร และพัฒนาทางรถไฟไปถึงเมืองไฟร์เบอร์ก เป็นผลให้ครอบครัวของฟรอยด์ (บิดา) ซึ่งทำการค้าเสื้อผ้าขนสัตว์เกิดชะงักงันลงเพราะอิทธิพลของเครื่องจักร อุตสาหกรรมสิ่งทอทำลายหัตถกรรมและแรงงานคนไป ยิ่งเมื่อมีทางรถไฟตัดเส้นทางการค้าในย่านก็ยิ่งส่งผลหนัก
ฟรอยด์มีเชื้อสายเป็นชาวยิว บิดาของเขาคือจาคอบ คาลลามอน ฟรอยด์ซึ่งมีภรรยาสามคน ภรรยาคนแรกและคนที่สองเสียชีวิตลง จนกระทั่งมีภรรยาคนที่สามคือ อมาลี นาธานสัน ซึ่งเธอเป็นมารดาของฟรอยด์
ขณะที่เธอให้กำเนิดฟรอยด์ เธอมีอายุเพียง 21 ปี แต่จาคอบ มีอายุถึง 40 ปีแล้ว พ่อและแม่ของฟรอยด์มีอายุห่างกันมาก นี่คงทำให้ฟรอยด์มีพัฒนาการที่แตกตางจากคนอื่นๆ
ฟรอยด์ มีพี่น้อง 7 คน เขาเป็นลูกคนแรก ต่อจากเขาเป็นน้องชายซึ่งเสียชีวิตขณะอายุได้ 8 เดือน และน้องชายคนสุดท้องมีอายุห่างจากเขาถึง 10 ปี ส่วนน้องๆ อีก 5 คนเป็นผู้หญิงถูกนาซีฆ่าตายหมดเพราะเป็นชาวยิว นอกจากนี้ฟรอยด์ยังมีพี่ต่างมารดาเป็นผู้ชายอีก 2 คน
เมื่อฟรอยด์อายุได้ 4 ขวบ จาคอบ พาครอบครัวย้ายไปอยู่เวียนนาด้วยเหตุที่การค้าของครอบครัวซบเซาลง เวียนนาจึงกลายเป็นที่อยู่อาศัยของฟรอยด์เกือบทั้งชีวิต เขาเริ่มต้นเรียนหนังสือที่นี่ ทำงานที่นี่ และเมื่อครั้งให้กำเนิดแนวคิดจิตวิเคราะห์ก็อยู่ที่นี่เช่นกัน
ครอบครัวของฟรอยด์โดยเฉพาะบิดาของเขาเคร่งศาสนาอย่างมาก เขานับถือศาสนาคริตส์แต่ตัวเขาเองไม่เคร่งครัดในพิธีกรรมทางศาสนา และไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม แม้เขาไม่เคร่งในศาสนาแต่เขาก็ไม่เคยทิ้งสายเลือดความเป็นชาวยิวเลย
ฟรอยด์ เป็นเด็กที่รักการอ่าน เขามีบิดาและมารดาเป็นครูคนแรกก่อนที่จะส่งเขาไปเรียนหนังสือ เมื่ออายุ 9 ขวบ เขาถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนเลโอโปลด์ สตัดท์-คอมมูลนัล-เรียลยิมเนเซียม เขาเรียนอยู่ที่นี่สองปี จากนั้นย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเลโอโปลด์ สตัดท์ เรียลอุนด์ อูเบอร์ ยิมเนเซียม
เขามีผลการเรียนดีที่สุดของชั้นเรียน เมื่ออายุ 17 ปี ก็สอบผ่านชั้นสูงสุดด้วยคะแนนดีที่สุดโดยเฉพาะวิชาเรียงความ ซึ่งฟรอยด์ ใช้ภาษาได้ดีมาก มีสำนวนที่สวยงามแต่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกกลัวและกังวลกับความสำเร็จของตน การเขียนทำให้ครูของเขาเห็นพรสวรรค์ของฟรอยด์ที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ เรื่องนี้เขาเคยเล่าไว้ว่า
“…ครูบอกผมว่า ผมเป็นเจ้าของความคิดทึ่มๆ ที่ผู้ใหญ่อย่างเฮอริเคอร์เรียกเสียเพราะพริ้งว่าลีลาโอดิโอติก-idiotic style (เจ้าความคิด) เป็นลีลาที่ถูกต้องและมีลักษณะเฉพาะของมันเอง…”
ไม่เพียงแค่เขาจะมีพรสวรรค์ในฝีมือการเขียนแล้ว ฟรอยด์ ยังมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีมาก เขาสนใจวรรณคดีทั่วไป และอ่านวรรณคดีจนเข้าใจตัวละครนั้น นี่คงเป็นการพัฒนาการด้านการเขียนของเขาให้ดีขึ้นรวมทั้งพัฒนาด้านความคิดด้วย
เรียนแพทย์
ต่อมาในปี 1873 ฟรอยด์เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเวียนนาในวิชาแพทย์ ซึ่งเขาสนใจในทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน เพราะให้ความหวังอย่างพิเศษในการเข้าใจโลก ประกอบกับฟรอยด์ได้ฟัง “คาร์ล บรูเอล” (Car Bruhl) อ่านเรียงความของ “เกอเต้” เกี่ยวกับธรรมชาติซึ่งเขาซาบซึ้งมาก จึงทำให้ตัดสินใจเรียนแพทย์
แม้การเรียนแพทย์ของฟรอยด์จะมีผลการเรียนที่ดีมากแต่เขากลับไม่ยอมเรียนให้จบในเวลาที่กำหนด เขาต่อเวลาไปอีก 3 ปีในฐานะนักเรียนแพทย์ ทั้งนี้เพราะฟรอยด์ ใช้เวลาไปกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยา และการศึกษาเรื่องความแตกต่างทางเพศของปลาไหลไม่ใช่กรรมพันธุ์ มีเรื่องกล่าวขานกันว่า ฟรอยด์ ต้องผ่าปลาไหลนับร้อยตัวเพื่อหาอวัยวะที่ใช้สำหรับสืบพันธุ์
เขาเฝ้าศึกษาวิจัยจนสำเร็จ ทั้งนี้ผลงานดังกล่าวที่เกี่ยวกับปลาไหลในเรื่อง Male River Eels ได้รับรางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่นั่นก็ยังไม่ได้เป็นที่พึงพอใจของเขามากนัก ฟรอยด์จึงหันเหความสนใจไปศึกษาเรื่องสรีระศาสตร์แทน
ภายใต้สถาบันสรีระศาสตร์มีอิทธิพลต่อความคิดของฟรอยด์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเหล่าอาจารย์ในสถาบันแห่งนี้ จนนำเขาไปสู้ความสนใจเรื่องจิตในที่สุด สถาบันแห่งนี้มีการนำความรู้ใหม่เข้ามาอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นสถาบันชั้นนำด้านสรีระวิทยาในยุคสมัยนั้น ในสถาบันแห่งนี้ฟรอยด์ใช้เวลาอยู่หลายปีในการศึกษาเกี่ยวกับประสาทวิทยา กระทั่งเกิดสงคราม ฟรอยด์ จึงออกไปเป็นทหารของกองทัพออสเตรีย-ฮังการี เป็นเวลา 1 ปีและกลับมาสอบรับปริญญาแพทย์ในปี 1881
หน้าที่การงานและครอบครัว
เมื่อเรียนจบ ฟรอยด์จึงพยายามสร้างครอบครัว เขาปรารถนาจะแต่งงานกับหญิงสาวชื่อ มาร์ธา เบอร์เนย์ส ซึ่งพบรักกันมานานและหมั้นกันในปี 1882 เขาเริ่มเปิดคลินิกส่วนตัวและทำงานในโรงพยาบาลทั่วไปในกรุงเวียนนาควบคู่ไปด้วย เขาทำงานในโรงพยาบาลนานสามปี และอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทอย่าง ธีโอดอร์ เมย์เนิร์ต (Theodor Meynert)
แม้จะทำงานในโรงพยาบาลควบคู่ไปด้วย แต่ฟรอยด์ ไม่ละทิ้งสิ่งที่เขาถนัด เขายังคงทำงานวิจัยด้านสมองร่วมกับงานคลินิกผู้ป่วยทางประสาทซึ่งในยุคนี้เป็นยุคที่พบการเจ็บป่วยจากโคเคนเป็นจำนวนมาก
ปี 1884 ฟรอยด์ทำการศึกษาเกี่ยวกับโคเคนอย่างจริงจัง โคเคนเป็นสารสกัดจากใบโคคา คนนิยมนำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายอดทนเข็มแข็ง เขาพบว่าโคเคนกระตุ้นอารมณ์ให้สดใสร่าเริงได้ง่ายโดยการทดลองด้วยตัวเอง ภายในปีเดียว งานค้นคว้าชิ้นนี้ก็สำเร็จ จากนั้นจึงไปเยี่ยมคนรักที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่เมืองวันเบ็คในเยอรมนี
เมื่อกลับคืนสู่เวียนนา คาร์ล โคลเลอร์ เพื่อนร่วมงานเขาได้ค้นพบว่าฤทธิ์และพิษโคเคนไปกระทบกระเทือนดวงตาให้หมดความรู้สึก ซึ่งเป็นประโยชน์กับการผ่าตัดทางการแพทย์ในเวลาต่อมา การค้นพบนี้ทำให้โคลเลอร์มีชื่อเสียงขึ้นมา เมื่อฟรอยด์ เห็นเช่นนั้นก็ปรารถนาจะมีชื่อเสียงเช่นกัน เพราะจะได้เพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจให้ครอบครัว รวมทั้งการแต่งงานกับคนรักจะได้เกิดขึ้นเร็วขึ้น
การวิจัยเรื่องโคเคนทำให้ฟรอยด์ผิดหวังอย่างมาก เพื่อนสนิทของเขาชื่อ เอิร์นสต์ วอน ไฟรช์ล-มาโซว์ ติดมอร์ฟีน ฟรอยด์ พยายามทำให้เพื่อนติดโคเคนแทนเพื่อการบำบัดให้หายง่ายกว่า สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น อีกสองปีต่อมาฟรอยด์กล่าวโทษสังคมที่ปล่อยให้คนติดโคเคน ฟรอยด์ถือว่ามันเป็น “หายนะที่สาม” ร่วมกับมอร์ฟีน และแอลกอฮอล์
ปี 1885 ฟรอยด์ยื่นความจำนงเป็นผู้บรรยายในสาขาประสาทวิทยา ณ มหาวิทยาลัยเวียนนา ตำแหน่งการบรรยายนี้เป็นเป้าหมายสูงสุดของเขา และด้วยผลงานการวิจัยตลอดจนครูเก่าของเขาได้ผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จนี้ ในอีกหกเดือนต่อมาฟรอยด์ได้ตำแหน่งเป็นผู้บรรยายดังกล่าว อีกไม่นานนักเขาได้ยื่นขอรับรางวัลผลงานวิชการดีเด่นจากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยเวียนนา เป็นไปตามคาดผลงานเขาได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในสามที่ได้รับรางวัล
ปี 1885 ฟรอยด์ได้รับทุนจากโรงเรียนแพทย์ไปดูงานที่กรุงปารีส ที่โรงพยาบาลซาลเปตริแอร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงอยู่มาก ภายใต้การนำของชอง มาร์แตง ชาร์โกต์ ผู้เป็นแพทย์ทางด้านประสาทที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น ที่นี่ทำให้ฟรอยด์พบมุมมองใหม่ๆ ทางจิตวิทยา โดยเฉพาะพยาธิสภาพทางระบบประสาท ซึ่งเขาสนใจมากและกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตการงานจากประสาทวิทยาไปสู่จิตเวชศาสตร์และจิตวิทยา
การสะกดจิตและรักษาผู้ป่วยจิตประสาท
หลังจากที่ฟรอยด์ สิ้นสุดการดูงานที่ปารีส เขาหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อกลับไปเวียนนาจะมีงานรักษาผู้ป่วยทางด้านจิตประสาท เพราะเขาได้เรียนรู้การบำบัดโรคฮิสทีเรียด้วยการสะกดจิตผู้ป่วยจากชาร์โกต์ แต่ก็เป็นที่ผิดหวังเมื่อเขานำวิธีการรักษาโรคประสาทนี้มากลับไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้คน และเขาถูกปฏิเสธในเรื่องนี้ ฟรอยด์จึงกลับไปทำคลินิกส่วนตัว แต่งงานและใช้ชีวิตอยู่กับมาร์ เบอร์เนย์ส ณ กรุงเวียนนา
ในช่วงเวลานี้ฟรอยด์ลดความสนใจงานทางด้านวิชาการลง หันไปทำคลินิกส่วนตัวเพื่อทำให้ฐานครอบครัวดีขึ้น และหันไปรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีแบบใหม่โดยการบำบัดรักษาโดยจิตบำบัด ให้คำแนะนำผู้ป่วยให้รู้จักผ่อนคลาย ให้การรักษาแบบใหม่ด้วยการรักษาด้วยไฟฟ้า การนวดและอาบน้ำคล้ายกับสปาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย แต่วิธีการนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของสมาคมแพทย์เวียนนาสมัยนั้น และการรักษาก็ไม่ค่อยได้ผลนัก ฟรอยด์ จึงเริ่มไปศึกษาที่โรงเรียนแนนซี โรงเรียนหรือสำนักวิชาการที่เน้นศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างโรคประสาทฮิสทีเรียกับการสะกดจิต
เพื่อนสนิทฟรอยด์ชื่อ โจเซฟ บรูออร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมในเวียนนา เขาเป็นคนช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน และวิชาการ ทั้งนี้ทั้งสองคนช่วยกันรักษาแอนนา-โอ สาวสวยชาวเวียนนา การศึกษาดีผู้ซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและสวัสดิการสังคมในเวลาต่อมา เธอเป็นโรคฮิสทีเรีย เมื่อรับการรักษาเธอก็อาการดีขึ้น การรักษาแอนนา-โอ ฟรอยด์ (เข้ามาช่วยภายหลัง) ใช้การสะกดจิต เธอจะย้อนทวนความทรงจำในรายละเอียดของสถานการณ์ที่เป็นต้นเหตุของโรคและทำให้อาการกำเริบจึงแสดงให้เห็นอารมณ์ที่เก็บกดไว้ เมื่อระบายอาการเก็บกดออกไป อาการฮิสทีเรียจะหายไป
ฟรอยด์กับบรูเออร์ตีพิมพ์สิ่งที่ค้นพบในผลงานชื่อว่า “การศึกษาอิสทีเรีย” (Studies on Hysteria) และนี่ก็ถูกเปรียบว่าเป็นขอบเขตเบื้องต้นของวิชาจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) การตีพิมพ์การศึกษานี้ออกเป็นฉบับสมบูรณ์เมื่อปี 1893 ถูกมองว่าเป็นรายงานเบื้องต้นของจิตวิเคราะห์ ภายหลังฟรอยด์ สร้างผลงานของเขาเองคนเดียวชื่อ “สาเหตุของฮิสทีเรีย” (The Aetiology of Hysteria) เมื่อปี 1896 ซึ่งเป็นผลงานแรกที่ปรากฏคำว่า “จิตวิเคราะห์” (Psycho-Analysis)
ปี 1899 ฟรอยด์ได้ค้นพบทฤษฎีและวิธีการแปลความฝันในเชิงจิตวิทยา งานชิ้นนี้เองที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเขาอันตามมาด้วยผลงานอื่นๆ อีกเป็นระลอก ตำรา The Interpretation of Dream ที่เขาจัดพิมพ์เมื่อปี 1900 ถือเป็นองค์ความรู้อันสัมพันธ์กับจิตสำนึกและทฤษฎีจิตวิเคราะห์
หลังจากนั้น ในปี 1901 – 1905 ฟรอยด์ก็มีผลงานตีพิมพ์ออกมาอีกสามเรื่องซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงเซ็กซ์ในเด็กเล็ก 1-3 ขวบ อันเป็นที่มาของพัฒนาไซโคเซ็กช่วล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของจิตวิเคราะห์ การพูดถึงเซ็กซ์ของเด็กทำให้ฟรอยด์ถูกโจมตีจากนักวิชาการ แต่ก็ยังมีเรื่องดีๆ เมื่อปี 1902 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์อย่างเต็มตัว
หลายต่อหลายครั้งที่ฟรอยด์ แตกหักกับเหล่าเพื่อนๆ เพราะเรื่องงาน เนื่องจากฟรอยด์เป็นคนที่ทะเยอทะยานสูงจึงไม่มีไม้อ่อน มีแต่ไม้แข็งอันเป็นเหตุให้ต้องแตกหักกับเพื่อนและผู้ร่วมงานหลายคน บางครั้งเขาจึงรู้สึกโดดเดี่ยว
มีหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งบอกสภาพความรู้สึกของเขาว่า บ่อยครั้งที่เขาเองก็ไม่มีความสุข ดังข้อความที่ปรากฏระหว่างการศึกษาที่ต้องทุ่มเทกำลังอย่างมากว่า “ผู้ป่วยคนสำคัญที่ผมหมกมุ่นอยู่ด้วยคือตัวผมเอง” ฟรอยด์ ยังเชื่อว่า ตัวเขาเองมีแนวโน้มเสียชีวิตในช่วงวัย 61 หรือ 62 (แต่ความจริงแล้วเขาอายุยาวกว่าที่ตัวเองคิด ไปเสียชีวิตในวัย 83 ปี)
ความเปลี่ยนแปลงในสงครามโลก
เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นอีกห้วงเวลาที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ฟรอยด์ อย่างมาก กลุ่มเพื่อนที่ช่วยกันพัฒนาจิตวิเคราะห์ให้ก้าวหน้าได้ถูกออกแบ่งเป็นส่วนๆ ติดต่อกันได้ยาก นอกจากชีวิตการทำงานไม่ค่อยจะสู้ดีแล้ว ด้านชีวิตครอบครัวก็ไม่ต่างกัน เมื่อลูกชายทั้งสามคนของฟรอยด์ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร สองคนถูกส่งไปอยู่แนวหน้าอย่างถาวร ส่วนลูกชายคนโตก็มีรายงานว่าสาบสูญ ต่อมาจึงทราบว่าถูกจับไปเป็นเชลยอยู่ที่โรม อิตาลี ส่วนคลินิกผู้ป่วยก็ล้มตายและจากไปกันหมด ทรัพย์สินเงินทองเริ่มร่อยหรอลง
อย่างไรก็ตาม สงครามไม่อาจหยุดงานวิจัยของฟรอยด์ได้ ปี 1915 เขาตีพิมพ์งานวิชาการที่เกี่ยวกับจิตวิเคราะห์ เสนอสาระทั้งหมดในรูปบทคัดย่อแต่ซับซ้อนและยุ่งยากพอสมควร ในขณะเดียวกันช่วงสงครามนี้ร่างกายและจิตใจเขาแย่ลง แต่เขายังคงทำงานอย่างหนัก ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงเล็กน้อย ลูกชายทั้งสามถูกปลดปล่อย ดูเหมือนว่าครอบครัวจะมีความสุขแต่ก็ไม่เลย คนใกล้ตัวของฟรอยด์เสียชีวิตหลายต่อหลายคน หนึ่งในนั้นคือลูกสาวของเขาซึ่งเสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ ฟรอยด์ ตกอยู่ในอาการโศกเศร้าอยู่นาน
ปี 1923 ฟรอยด์เขียนงานที่ประสบความสำเร็จอีกหนึ่งชิ้นคือ The Ego and the ld ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างจิตใจของบุคคลอันประกอบไปด้วย อีโก้ ซูเปอร์อีโก้ และอิด ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ในวงการแพทย์สมัยนั้น นับจากนี้ไปฟรอยด์ก็ใช้ชีวิตกับครอบครัวและการทำงานซึ่งก็ไม่ได้ราบรื่นดีนักกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ชีวิตฟรอยด์ก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง
ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1934 พรรคนาซีในเยอรมนีกำลังมีอำนาจ และสมาคมจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ก็กำลังถูกเพ่งเล็ง อีกสองปีต่อมา เอกสารเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์ถูกทำลาย บางส่วนถูกเผาทิ้ง ครอบครัวฟรอยด์ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นอันตรายเพราะเขามีเชื้อสายยิว เพื่อนๆ เขาร้องขอให้ออกจากเวียนนาแต่เขาไม่ยอม เมื่อกองทัพนาซี ยึดครองออสเตรียและเข้ายึดเวียนนาโดยสมบูรณ์ เขาให้ลูกสาวและคนเล็กและภรรยาหนีออกไปก่อน ส่วนฟรอยด์และลูกชายตามไปทีหลังโดยไปพบกันที่ลอนดอน หลังจากนั้นครอบครัวฟรอยด์ก็ย้ายไปอยู่ที่ลอนดอนประเทศอังกฤษทั้งหมด
ที่อังกฤษ ฟรอยด์ ค่อนข้างได้รับการต้อนรับที่ดี ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกราชสมาคมแพทย์แห่งลอนดอน ซัลวาดอร์ ดาลี จิตรกรเอกยังมาวาดภาพเหมือนของฟรอยด์ เป็นที่ระลึก แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีปัญหาสุขภาพ มะเร็งร้ายที่กรามส่งผลต่อสุขภาพอย่างมาก
วันที่ 23 กันยายน 1939 ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย ฟรอยด์จากไปอย่างสงบ ณ บ้านพักในกรุงลอนดอน สามวันต่อมาศพจึงถูกเผาตามที่เขาสั่งเสียไว้ ณ สุสานโกลเดอร์ กรีน คเรมะทอเรียม ภายหลังเขาเสียชีวิตลง แนวคิดจิตวิเคราะห์แพร่หลายในวงกว้าง ทั้งในแง่เปิดทางให้นักวิชาการศึกษาวิจัยต่อ และก็เป็นเป้าถูกวิจารณ์จากนักวิชาการอีกเช่นกัน
อ้างอิง
กิติกร มีทรัพย์. ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิตการงานและฟรอยด์บำบัด. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.
“PSYCHOTHERAPY – Sigmund Freud”. The School of Life / YouTube. Published 28 NOV 2014. <https://www.youtube.com/watch?v=mQaqXK7z9LM>
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ.2563