“วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา” ในกรุงเทพฯ ที่ยืนยงจนเป็นวัดชื่อดังทุกวันนี้ มีวัดอะไรบ้าง?

พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล วัดโพธิ์ วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา

กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัดจำนวนมาก ในจำนวนนั้นเป็น “วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา” ที่สามารถก้าวข้ามวันเวลามาได้ แม้บางแห่งอาจเคยเป็นวัดร้าง, ชำรุดเสียหาย ฯลฯ แต่หยัดยืนมาได้อย่างสง่างาม หลายแห่งเป็นวัดมีชื่อเสียงในปัจจุบัน 

ในที่นี้รวบรวม “วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา” มาพอสังเขปให้เห็นความรุ่งเรืองของบ้านเมืองในอดีต ดังนี้

วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาในกรุงเทพฯ

วัดมะกอก สมัยธนบุรีเรียก “วัดแจ้ง” ตั้งอยู่เขตพระราชวังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต จึงไม่มีพระสงฆ์มาจำพรรษา สมัยรัชกาลที่ 1 ย้ายพระนคร จึงโปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำอีกครั้ง สันนิษฐานว่าชื่อวัดตั้งตามชื่อสถานที่ตั้ง ต่อมามีการบูรณะวัดขึ้นใหม่ในพื้นที่ ชื่อ “วัดมะกอกใน” ด้วยอยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ วัดมะกอกจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดมะกอกนอก” เพื่อกันความสับสน ภายหลังวัดยังเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งว่า วัดแจ้ง, วัดอรุณราชธาราม และ “วัดอรุณราชวราราม” ซึ่งเป็นชื่อปัจจุบัน

วัดมะกอกใน เรียกชื่อเช่นนี้เนื่องจากตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในแนวเดิม (ปัจจุบัน คือ คลองบางกอกใหญ่) สมัยกรุงธนบุรีวัดมะกอกในอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม ถึงสมัยรัชกาลที่ 2-3 ท่านผู้หญิงนวล ภริยาเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ขณะเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ร่วมกันปฏิสังขรณ์ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า “วัดนวลนรดิศ” ซึ่งเป็นชื่อปัจจุบัน

วัดโพธาราม ราวปี 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี วัดโพธารามตั้งอยู่ในเขตกำแพงพระนคร จึงได้รับการบูรณะและยกฐานะเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองมาตลอดรัชกาล ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้ปฏิสังขรณ์และอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ มาประดิษฐาน แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”

พระอุโบสถวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจาก ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, 2544)

วัดบางหว้าใหญ่ ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงอาราธนาพระเถระมาประชุมและชำระพระไตรปิฎก ซึ่งอัญเชิญจากนครศรีธรรมราชมายังวัดนี้ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดให้ขุดสระ และบูรณะปรับปรุงวัด ทำให้ขุดพบ “ระฆังโบราณ” มีเสียงดังกังวาน โปรดให้นำไปไว้ที่หอระฆังที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วโปรดให้สร้างระฆังขึ้นใหม่ 4 ลูก พร้อมกับสร้างหอระฆัง และพระราชทานนามวัดว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” ซึ่งเป็นชื่อปัจจุบัน

วัดสมอราย วัดโบราณที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ต่อมารัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชเคยเสด็จมาประทับที่วัดสมอราย ภายหลังเมื่อทรงครองราชย์โปรดให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้ง พร้อมพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชาธิวาส” ที่แปลว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา

วัดเจ้าสัวหง ตั้งชื่อตามเศรษฐีจีนสมัยอยุธยาผู้สร้างวัด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้ปฏิสังขรณ์และขยายอาณาเขตวัดให้กว้างขึ้น ทั้งพระราชทานนามว่า “วัดหงส์อาวาสวิหาร” สมัยรัชกาลที่ 1 ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดหงส์อาวาสบวรวิหาร” สมัยรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า “วัดหงส์รัตนาราม” ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน

วัดหนัง เขตจอมทอง จารึกที่ระฆังโบราณของวัดกล่าวว่า สร้างในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ เคยเป็นวัดร้างอยู่ 200 กว่าปี ต่อมาสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาวัดขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ปัจจุบันยังคงชื่อวัดหนัง เพียงเติมสถานะพระอารามหลวงชั้นตรี ต่อท้ายว่า “วัดหนังราชวรวิหาร”

วัดสระแก รัชกาลที่ 1 พระราชทานนามให้ว่า “วัดสระเกศ” แปลว่าชำระหรือทำความสะอาดพระเกศา ด้วยเคยประทับทำพิธีพระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชาเพื่อปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2325

ภูเขาทอง วัดสระเกศ (ภาพจาก หนังสือ ประชุมภาพประวัติศาสตร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

วัดท้ายตลาด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวมวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดเข้าไว้ในเขตพระราชวัง จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดรัชกาล สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานี และโปรดให้สร้างเสนาสนะขึ้นที่วัดทั้งสองแห่ง จึงมีพระสงฆ์อยู่ประจำอีกครั้ง ส่วนชื่อวัดมีการเปลี่ยนหลายครั้ง ได้แก่ วัดพุทไธศวรรย์, วัดโมลีโลกย์สุธาราม และ “วัดโมลีโลกยาราม” ซึ่งเป็นชื่อปัจจุบัน

นอกจากยังมี “วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา” ใน กทม. อีกหลายแห่ง ได้แก่ วัดทองบน (วัดทองนพคุณ), วัดทองล่าง (วัดทองธรรรมชาติ), วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม), วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม), วัดทอง (วัดสุวรรณาราม), วัดเสาประโคน (วัดดุสิดาราม), วัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการข่าวสด. เดินสายไหว้พระพุทธทั่วไทย, สำนักพิมพ์มติชน 2552.

https://katin.dra.go.th


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2567