“วัดอรุณ” แลนด์มาร์กดังเมืองไทย มีสัญลักษณ์อะไรซ่อนอยู่บ้าง?

วัดอรุณ พระปรางค์วัดอรุณ คติไตรภูมิ คติจักรพรรดิราช
พระปรางค์วัดอรุณ (ภาพ : AXP Photography on Unsplash)

“วัดอรุณ” หรือชื่อเต็มว่า วัดอรุณราชวราราม เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะเป็นที่ตั้งของ “พระปรางค์วัดอรุณ” อันเลื่องชื่อ ทั้งยังมีศิลปะและสถาปัตยกรรมสวยๆ ให้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน ความงดงามต่างๆ ในวัดอรุณไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่ผ่านการคิดและสร้างสรรค์มาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ “คติไตรภูมิ” และ “คติจักรพรรดิราช” สมัยต้นรัตนโกสินทร์

ปวีณา หมู่อุบล เล่าถึงวัดอรุณและคติต่างๆ ไว้ในผลงานเล่มล่าสุด “อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์” (สำนักพิมพ์มติชน, 2567) ว่า

วัดอรุณ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดมะกอก” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแจ้ง” สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้เสียใหม่ และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม

มีการศึกษาวิเคราะห์วัดอรุณอย่างละเอียดว่า เป็นวัดที่ได้รับการออกแบบโดยยึดตาม “คติไตรภูมิ” สมัยต้นรัตนโกสินทร์อย่างสมบูรณ์ เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานพระมหาธาตุหลวงประจำกรุงรัตนโกสินทร์ จะเห็นได้ว่า ในวัดอรุณเต็มไปด้วยงานศิลปะและสถาปัตย์ที่งดงามและยิ่งใหญ่ โดยการวางผังและองค์ประกอบทางศิลปกรรมและสถาปัตย์ต่างๆ ตั้งใจให้เป็นภาพจำลองของโลกและจักรวาลตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาในสังคมไทยยุคนั้น

ปวีณา ชี้ให้เห็นว่า บริเวณผังพุทธาวาสส่วน พระปรางค์วัดอรุณ ที่ชาวไทยและนักท่องเที่ยวทั่วโลกคุ้นตา คือสัญลักษณ์ของจักรวาลตามคติไตรภูมิ ที่แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เขาสัตบริภัณฑ์ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ชานเขาพระสุเมรุ ทวีปทั้งสี่ มหาสมุทรกำแพงจักรวาล และนรกภูมิ

ส่วนผังพุทธาวาสบริเวณ พระอุโบสถ ที่อยู่ใกล้กับพระปรางค์วัดอรุณ คือสัญลักษณ์ของ “ชมพูทวีป” ประกอบด้วย มัชฌิมประเทศในป่าหิมพานต์ ส่วนทางพุทธาวาสบริเวณพระมณฑปพระพุทธบาทจำลองและพระเจดีย์คือสัญลักษณ์ของ “ลังกาทวีป”

“การออกแบบผังวัดอรุณฯ ในลักษณะเช่นนี้ก็เพื่อสถาปนาให้กรุงรัตนโกสินทร์กลายเป็นเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับแบบแผนเชิงโครงสร้างทางจักรวาลวิทยาแบบจารีต อันเป็นอุดมคติสูงสุดทางสังคมของผู้คนในยุคต้นรัตนโกสินทร์” ปวีณา บอกไว้ในหนังสือ

วัดอรุณยังมีสถาปัตย์ที่เกี่ยวกับ “คติจักรพรรดิราช” คติราชาเหนือราชาทั้งปวง เป็นแนวคิดที่ปรากฏในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ที่นำมาเชื่อมโยงกับความคิดทางการเมือง เพื่อสร้างสิทธิโดยชอบในการปกครอง โดยคติจักรพรรดิราชพบได้ในรัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วัดอรุณ คติไตรภูมิ คติจักรพรรดิราช
พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่จระนำของปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ กรุงเพทฯ สร้างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ภาพจาก เว็บไซต์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร)

ปวีณา แนะว่า หากสังเกตจะพบสถาปัตย์ที่เกี่ยวข้องกับคติจักรพรรดิราชอยู่บริเวณ เรือนธาตุ (ซุ้มจระนำ) ทั้ง 4 ทิศของพระปรางค์บริวาร ประดับประติมากรรมรูปเทวดาทรงช้าง มีการตีความว่า สัญลักษณ์นี้หมายถึงพระเจ้าจักรพรรดิราชทรงช้าง มีไว้เพื่อแสดงความเป็นมหาราชแห่งจักรวาล สอดคล้องกับการออกแบบผังวัดอรุณโดยจำลองมาจากโครงสร้างและแผนผังจักรวาลตามคติไตรภูมิ เพราะพระอินทร์คือผู้ทรงช้างเอราวัณนั่นเอง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว “คติพระอินทร์” ยังคงได้รับความสำคัญและมีการเน้นย้ำอย่างมาก เห็นได้จากรัชกาลที่ 3 พระราชทานนามแก่พระที่นั่งใหม่ทั้ง 3 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ซึ่งล้วนแต่เป็นพระนามที่เกี่ยวข้องกับพระอินทร์ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ถ้าลองมองขึ้นไปยังยอดพระปรางค์วัดอรุณ จะเห็น “มงกฎ” ประดิษฐานอยู่เหนือยอดพระปรางค์ เป็นการย้ำคติพระอินทร์ให้ชัดขึ้น

มงกุฎดังกล่าวไม่ใช่ในความหมายแบบตะวันตก แต่หมายถึงยอดวิมานไพชยนต์ อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ เรื่องนี้ยังมีการตีความกันด้วยว่า รัชกาลที่ 3 ทรงใช้สัญลักษณ์นี้เพื่อให้คนทั้งหลายรับรู้ว่า ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ก็คือ “เจ้าฟ้ามงกุฎ”

ไปเที่ยว “วัดอรุณ” ครั้งหน้า ลองมองหาสัญลักษณ์เบื้องหลังศิลปกรรมสวยๆ กันดูได้เลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปวีณา หมู่อุบล. อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2567