วัดเฉลิมพระเกียรติฯ วัดสุดท้ายในพระราชศรัทธารัชกาลที่ 3

วัดเฉลิมพระเกียรติฯ นนทบุรี
ภาพวาดแสดงอาณาบริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติฯ (ภาพจาก "สมเด็จพระมหาเจษฎาธิบดินทร์")

วัดเฉลิมพระเกียรติฯ วัดสุดท้ายในพระราชศรัทธา รัชกาลที่ 3

สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช) ได้ทรงสอบสวนอย่างถี่ถ้วน กระทั่งทรงพระนิพนธ์เป็นหนังสือเรื่อง ราชินิกูลรัชชกาลที่ 3 โดยเป็นพระนิพนธ์เล่มเดียวที่กล่าวถึงบรรพชนของกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลยไว้ดังนี้

…ราชินิกูลในรัชชกาลที่ 3 ชั้นที่ 1

บุรพชนทางพระชนก [ของสมเด็จพระศรีสุลาไลย] ชนกและชนนีขององค์พระชนกซึ่งเปนราชินิกุลชั้น 1 นั้น ว่าเปนใคร และนามใด มีบุตร์ (ทราบได้แต่) องค์พระชนกองค์เดียว นามว่า จัน มีบรรดาศักดิ์เปนพระยานนทบุรี เปนราชินิกุลชั้น 2 เมื่อ พระชนกจันได้เปนผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีแล้วไปตั้งเคหะสถานอยู่ณะจังหวัดนั้น สืบสกูลต่อมาฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สกูลเมืองนนท์ ภายหลังในตำบลนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระอารามถวายสมเด็จพระศรีสุราไลย

พระบรมราชชนนี อันมีนามปรากฏว่า “วัดเฉลิมพระเกียรติ์” ซึ่ง เปนเครื่องหมายสำคัญอยู่ในทุกวันนี้

บุรพชนทางพระชนนีฝ่ายชนก (คือบิดาของมารดาของ สมเด็จพระศรีสุลาไลย) ซึ่งเปนเชื้อสายแขกสุนีนั้น กล่าวกันว่ามา แต่สกูลเจ้าพระยาจักรี ครั้งกรุงธนบุรี (ทราบว่าชื่อ หมุด) ซึ่งเดิมเปนหลวงศักดิ์นายเวรครั้งกรุงศรีอยุธยา คือผู้ที่ปรากฏชื่อในพงศาวดารว่า เจ้าพระยาจักรีแขก นั้น เจ้าพระยาจักรี (แขก) มีบุตร์ ที่ควรกล่าว 2 คน คน 1 ทราบว่าชื่อ หมัด เดิมได้เปน พระยาราชบังสัน แล้วเลื่อนที่เปนพระยายมราช สมญาปรากฏว่า เจ้าพระยายมราชแขก อีกคน 1 ชื่อใดไม่ปรากฏเข้าใจว่าชื่อ หวัง เดิมเปนพระชลบุรีอยู่ก่อน ครั้นถึงรัชชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ แรกเถลิงถวัลยราชสมบัติ โปรดเกล้าฯ ให้เปนพระยา ราชวังสัน เข้ามารับราชการอยู่ในกรุง…

ผู้น้องคงเปน พระยาราชวังสัน ถ้าจะให้เข้าใจชัดเจน ก็คือแปลว่า พระยาราช (สกูลมาแต่) หวังหะสัน พระยาราชวังสันผู้นี้ ตั้งเคหะสถานอยู่ที่ริมวัดหงส์รัตนาราม ในคลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรีใต้ และเคหะสถานนี้จะตั้งใหม่ หรือจะเปนสถานที่เดิมของสกูลแต่ครั้งเจ้าพระยาจักรี (แขก) ผู้บิดาก็เปนได้ เมื่อนามเดิมของพระยาราชวังสันผู้นี้ไม่ทราบแน่ จึงเปนแต่เรียกว่า พระราชวังสัน บ้านริมวัดหงส์ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จักเรียกว่า พระราชวังสัน (หวัง) ท่านผู้นี้นับว่าเปน ราชินิกูลชั้น 1 เพราปนชนกของชนนีในสมเด็จพระศรีสุราไลย…

ฝ่ายของพระชนนี [คือมารดาของมารดาของสมเด็จพระศรีสุลาไลย] ซึ่งเปนไทยสกูลชาวสวนวัดหนัง ผู้เปนภรรยาของพระราราชวังสัน (หวัง) ตามี่กล่าวมาแล้วนั้น มีนามว่า ชู นับว่าเปนราชินิกูลชั้น 1 เหมือนกัน เดิมก็ย่อมอยู่ณะเคหะสถานแห่งบุรพชนในสกูลชาวสวนวัดหนัง ถึงแม้ว่าภายหลังจักต้องย้ายสถานที่ใหม่มาอยู่กับสามีก็ดี สถานที่เดิมของบุรพชนยังมีสำคัญอยู่ คือต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดหนังในคลองบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี “โผล่จากบึง” เปนเครื่องหมายสำหรับสกูลชาวสวนวัดหนัง อันเปนบุรพชนของพระชนนีฝ่ายชนนี ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้”

วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร หรือ วัดเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดนนทบุรี จึงเป็นหลักหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความเกี่ยวเนื่องในพระประวัติ กรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย สมเด็จพระราชชนนี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นชาวนนทบุรี ตลอดจนพระราชศรัทธาในการพระพุทธศาสนาในการสถาปนา วัดเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายในพระราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ทุกวันนี้

มูลเหตุแห่งการสร้างวัดเริ่มเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2367 นั้น พระองค์ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชชนนีแห่งพระองค์ท่าน ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลยด้วย ต่อมาทรงพระราชดำริว่า

บริเวณป้อมเก่าริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ตลาดขวัญ เมืองนนทบุรี เป็นนิวาสสถานเดิมแห่งพระอัยกา พระอัยกี ของพระองค์ และเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีพันปีหลวงสมควรที่จะสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงสักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนีแห่งพระองค์

ภาพวาดแสดงอาณาบริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติฯ (ภาพจากหนังสือ “สมเด็จพระมหาเจษฎาธิบดินทร์”)

ด้วยเหตุนี้ โปรดให้พระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ตำแหน่งที่สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กองสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น และโปรดให้สร้างป้อมปราการ ก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเป็นทำนองเดียวกับกำแพงพระบรมมหาราชวังรอบวัดไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า วัดเฉลิมพระเกียรติ เมื่อ พ.ศ. 2390

วัดเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นเป็นวันสุดท้ายในรัชกาลก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2394 การสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติฯ น่าจะยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์ เพราะเมื่อพระองค์ใกล้จะเสด็จสวรรคต พระองค์ก็ยังตรัสถึงวัดต่างๆ ที่ยังสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ค้างไว้ว่า

“…ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็ดี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดิน มีอยู่ 40,000 ชั่ง ขอสัก 10,000 ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเปนเจ้าแผ่นดินแล้ว ให้ช่วยบอกแก่เขาขอเงินรายนี้ให้ช่วยทนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย…”

เมื่อเป็นเช่นนี้ วัดเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ยังสร้างค้างอยู่ น่าจะเป็นวัดหนึ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยด้วย ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ทรงรับเป็นพระราชภาระในการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติฯ และวัดอื่นๆ จนเสร็จเรียบร้อย โดยโปรดให้พระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เป็นแม่กองการบูรณะจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2401

สำหรับเงิน 10,000 ชั่ง ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอไว้สําหรับการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างวัดนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงปฏิบัติตามทุกประการเพื่อเป็นการสนองพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังความตอนหนึ่งในพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเงินสำหรับซ่อมแซมวัดซึ่งเป็นส่วนพระองค์ว่า

“…พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ท่านทรงไว้ในพระราชหัตถเลขาในเวลาปลายมือว่าเงินมีอยู่ 40,000 ชั่ง ทองคำ 100 ชั่ง เงิน 40,000 ชั่ง นั้น ท่านทรงขอเป็นของท่าน 10,000 ชั่ง เพื่อจะได้จ่ายทําพระอารามที่ค้างอยู่ให้แล้ว อีก 30,000 ชั่ง ให้ยกถวายเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ตามแต่จะใช้สอยทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไป…ก็เงินราย 10,000 ชั่ง ที่ขอให้เป็นส่วนบำเพ็ญพระราชกุศลในการค้างนั้น ก็ได้จ่ายไปทําการที่ค้างในวัดมหาธาตุ วัดชนะสงคราม วัดบวรมงคล และซ่อมแซมวัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสวราราม วัดเฉลิมพระเกียรติจ่ายไปแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจากหนังสือ “สมเด็จพระมหาเจษฎาธิบดินทร์” (องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี, มีนาคม 2551) จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2564