สื่อนอกอ้าง รัชกาลที่ 3 อยากให้พระราชโอรสครองราชย์ แต่ขุนนางใหญ่ไม่เห็นชอบ

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

ข่าวเรื่องสื่อต่างประเทศอ้างถึง รัชกาลที่ 3 ว่าทรงมีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ แต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นชอบ ที่คัดมานี้ พิมพ์อยู่ในหนังสือข่าวในตอนต้นรัชกาลที่ 4 ตามหนังสือข่าวในเมืองสิงคโปร์ พ.ศ. 2394 พิมพ์ในงานทำบุญหน้าพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ครบ 50 วัน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2474 ขนาด 8 หน้ายก 22 หน้า จัดพิมพ์โดยราชบัณฑิตยสภา

ในเล่มได้รวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ในประเทศสิงคโปร์ไว้ 2 ข่าว เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อจาก รัชกาลที่ 3 ตีพิมพ์ 2 ภาษา คือภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ถอดความจากภาษาอังกฤษโดยหม่อมเจ้าหญิงพิมลพรรณ รัชนี

Advertisement

ข่าวแรกระบุว่ามาจากหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ ฟรี เปรส ไม่ระบุวันที่ตีพิมพ์ เป็นรายงานข่าวโดยยอน เทเลอ โยนส์ (John Taylor Jones) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ที่มาอยู่ในสยามนาน 18 ปี

สาระสำคัญของข่าวแรกคือการรายงานเหตุการณ์ขณะเปลี่ยนแผ่นดิน ซึ่งจะเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 3 เมษายน 2394 รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของสยามที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะนโยบายการต่างประเทศของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ซึ่งชาวต่างชาติทราบกันดีว่าทรงเป็นมิตรกับชาวต่างชาติมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดิม ส่วนหนึ่งของข่าวที่ยอน เทเลอ โยนส์ รายงานไปยังสิงคโปร์ ฟรี เปรส มีดังนี้

“วันที่ 24 มีนาคม ท.ญ.เจ้าฟ้ามงกุฎโปรดให้ข้าพเจ้าไปเฝ้า, ข้าพเจ้าก็ทำตาม ในระหว่างสนทนาได้ทรงแสดงพระวิตกว่าทรงเห็นควรให้ชาวต่างประเทศทราบความเป็นไปในเวลานี้ให้ถูกต้อง ด้วยพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงปกครองประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1826 (พ.ศ. 2369) นั้น กำลังทรงพระประชวรหนักไม่หวังกันว่าจะทรงพระชนม์ไปได้อีกหลายวัน พระองค์ประสูติในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1788 (พ.ศ. 2331) ดังนั้นจึงมีพระชนม์พรรษาได้ 63 ปี

ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงตระหนักแน่ว่าจะไม่ดำรงพระองค์อยู่นาน ก็ร้อนพระราชหฤทัยอยากจะให้ยกพระราชโอรสพระองค์ 1 ใน 12 พระองค์ ขึ้นเป็นรัชทายาท แต่พวกข้าราชการผู้มีศักดิ์สูงในรัฐบาลไม่เห็นชอบในการเลือกเช่นนั้น

พระเจ้าแผ่นดินมิได้เคยทรงยกย่องพระสนมคนใดในจำนวนมากให้ขึ้นอยู่ในตำแหน่งพระมเหสี พระราชโอรสของพระองค์จึงไม่มียศอันควรแก่ราชบัลลังก์ และนอกจากนั้นยังมีบุคคล 2 ท่าน ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนและพระมเหสี ในเวลานี้มีพระชนม์อยู่ และมีฐานะควรแก่ตำแหน่งด้วย ท่านทั้ง 2 นี้คือ ท.ญ.เจ้าฟ้ามงกุฎ กับทูลกระหม่อมกรมขุนอิศเรศร์ พวกข้าราชการจึงประชุมพร้อมกัน เลือกตั้งเจ้าฟ้าพระองค์ที่กล่าวก่อน ขึ้นเป็นรัชชทายาทสืบจากพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบัน”

ข่าวยังรายงานต่อไปอีกว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงทราบผลการประชุมของขุนนางผู้ใหญ่แล้วว่าจะถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้ามงกุฎ “ก็ทรงอำนวยตามคำปรึกษานั้น เพราะดังนี้จึงไม่เกรงว่าจะเกิดการจลาจลอย่างร้ายแรงขึ้น”

ท้ายข่าวกล่าวถึงนโยบายต่าง ๆ ที่ยังเป็น “ข่าวลือ” ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการหลายอย่าง รวมทั้งนโยบายการต่างประเทศคือ “จะลดภาษีสินค้าบางอย่าง และยอมให้ส่งข้าวออกไปขายต่างประเทศ เมื่อราคาข้าวต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้”

ข่าวนี้ย่อมแสดงให้เห็น “เบาะแส” บางอย่างของนโยบาย “เปิดประเทศ” ก่อนที่เซอร์จอห์น เบาริ่ง จะเข้ามาบีบให้สยามยอมทำสนธิสัญญากับอังกฤษ

ข่าวที่สองไม่ระบุวันที่ตีพิมพ์เช่นเดียวกับข่าวแรก บอกเพียงแต่ว่าเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ (Newspaper Cutting) ข่าวนี้กล่าวถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกัน แต่มีข้อความที่พิเศษกว่าคือ

“ในยุโรปได้ตั้งตาคอยมานานแล้ว อยากให้เจ้าชายทั้ง 2 นี้ขึ้นทรงอำนาจในประเทศไทย เพราะจะเป็นที่ควรหมายได้ว่าบ้านเมืองจะเริ่มเข้าสู่สมัยใหม่อันรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน เจ้าชายทั้ง 2 พระองค์นี้ได้เตรียมพระองค์มานานแล้ว เพื่อให้สมแก่ฐานะสูงที่ทรงรับในเวลานี้ คือทรงศึกษา และทรงติดต่อกับชาวยุโรป…”

ภาพถ่าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประทับนั่ง บน พระราชอาสน์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

นอกจากนี้รายงานข่าวยังได้กล่าวถึงวาระสำคัญ คือการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไว้ว่า

“การบรมราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ได้ทำเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่แล้วมา มีการฉลองอย่างโอฬารึก และได้มีแห่ดังที่เคยมี และพระเจ้าแผ่นดินทรงแจกเงินตราทำด้วยทองคำ และเงิน ซึ่งทำขึ้นสำหรับงาน ชาวยุโรปได้รับเชิญไปงานพิธีนั้น และได้รับความต้อนรับอย่างอ่อนโยน ทั้งได้รับเลี้ยงอาหารเย็นตามแบบยุโรป ภายหลังได้มีของแจกแก่ทุกๆ คนที่รับพระราชทานเลี้ยงนั้น คือดอกไม้ทองและเงิน กับเงินตราทำด้วยทองคำ และเงินในรัชชกาลใหม่”

จากข่าวทั้งสองนี้ทำให้เราเห็นได้ว่าชาวตะวันตกนั้นมีความยินดีต่อการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่ทรงติดต่อกับชาวต่างชาติตลอดเวลาที่ทรงผนวชอยู่นั้น ได้ทรงแสดงความคิดเห็นอันเป็นแนวทางของประเทศอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่รู้กันอย่างไม่เป็นทางการว่า “สยามใหม่” จะต้องเกิดขึ้นแน่ในรัชกาลนี้

และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชเป็น “คิงมงกุฎ” แล้ว “ข่าวลือ” ต่างๆ ที่ฝรั่งรู้มาก่อนหน้านี้แล้วก็เป็นจริงทุกประการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “เมื่อพระจอมเจ้า เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ฝรั่ง” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2560