เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 3 สวรรคต “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ครองราชย์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ถ่ายโดย John Thomson)

เรื่องราวที่กล่าวถึงเหตุการณ์ระหว่างที่เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์ที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นมีด้วยกันหลายเรื่อง แต่ไม่มีเรื่องใดที่มีความสมบูรณ์พร้อมในตัวของมัน ส่วนใหญ่จะมีข้อมูลบางที่ขัดแย้งกันเอง แต่สำหรับเรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องราวที่ถูกต้องตรงความเป็นจริงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

และในส่วนที่เกี่ยวกับชื่อของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเรื่องนี้น่าจะเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีว่า ในสมัยก่อนโน้นประเทศสยาม ยังไม่มีการใช้นามสกุล ข้าราชการจะเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงกันโดยทั่วไปตามชื่อตำแหน่งที่เขาได้รับแต่งตั้ง

หากมีการเปลี่ยนตำแหน่งชื่อที่เรียกขานก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย บุคคลที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตบางคนอาจจะมีชื่อที่แตกต่างกันไป 3-4 ชื่อในช่วงชีวิตของคนผู้นั้น ระบบดังกล่าวอาจจะมีประโยชน์ แต่ค่อนข้างเป็นที่สับสนสำหรับนักประวัติศาสตร์

ในราวต้นปี พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการประชวร ครั้นถึงกลางเดือนมีนาคมพระอาการเริ่มทรุดหนักลงจนมีที่ท่าว่าจะเสด็จสวรรคต ปัญหาเกี่ยวกับผู้สืบทอดราชสมบัติ ได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่กล่าวถึงกันในหมู่เสนาบดี

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ แต่ติดขัดตรงที่ว่ากลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจในราชอาณาจักรขณะนั้นปรารถนาที่จะให้เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นผู้สืบทอดราชสมบัติ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ต่างก็มีความรู้สึกตรงกันว่า เมื่อ 26 ปีก่อนหน้านั้นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ทรงถูกกีดกันออกจากราชบัลลังก์มาแล้วครั้งหนึ่ง และในระหว่างนั้นก็มิได้มีเหตุการรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น นอกเหนือจากนี้ชื่อเสียงของเจ้าฟ้ามงกุฎในฐานะที่ทรงเป็นนักบวชและพระสติปัญญาอันชาญฉลาดของพระองค์ก็มีผลต่อการตัดสินใจของพวกเขาเป็นอย่างมาก ความรู้สึกของประชาชนเองก็อยู่เคียงข้างกับเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทราบในข้อนี้ดี

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์สืบแทน แต่ประชาชนก็เห็นพ้องต้องกันว่า “รัชทายาทจะต้องมาจากการเลือกสรร”

วันที่ 15 มีนาคม ได้จัดให้มีการประชุมในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่เพื่อพิจารณาถึงปัญหาข้อนี้ จนถึงขณะนั้นเป็นที่ปรากฏแน่ชัดแล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงแต่งตั้งผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นเป็นรัชทายาทอย่างเปิดเผย

เจ้ากรมท่า (เจ้าพระยาพระคลัง) บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศขณะนั้นได้รับการถามความเห็น ซึ่งเขาได้ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่เห็นว่าจะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดในราชอาณาจักรที่สมควรจะมีสิทธิในราชบัลลังก์มากเท่ากับเจ้าฟ้ามงกุฎ และยิ่งไปกว่านั้นเขาได้ตัดสินใจที่จะใช้อำนาจทุกวิถีทางในการสนับสนุนการขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้ามงกุฎในครั้งนี้

คำกล่าวยืนยันอย่างชัดแจ้งมีผลโดยตรงต่อที่ประชุม บุคคลอื่นๆ ต่างก็สนับสนุนความคิดเห็นของเขา ส่วนพวกที่มีความเห็นแย้งก็เป็นอันต้องล้มเลิกความคิดไป สถานการณ์อึมครึมทั้งหลายจึงค่อยๆ คลี่คลายลง แต่ถึงอย่างไรก็นับเป็นความคิดอันชาญฉลาดที่จะต้องมีการถวายการอารักขาแด่เจ้าฟ้ามงกุฎ กองทัพได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมหากมีเหตุจำเป็น หลังจากนั้นจึงนำความขึ้นกราบทูลเจ้าฟ้ามงกุฎ

ผลปรากฏว่าพระทรงลังเลพระทัยเนื่องจากทรงห่างเหินจากงานราชการบ้านเมืองมาเป็นเวลานาน พระองค์ทรงเกรงว่าจะไม่สามารถแบกรับพระราชภารกิจอันใหญ่หลวงนี้ได้โดยลำพัง แต่ถ้าหากได้มีการสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองด้วยแล้ว พระองค์ก็จะทรงยอมรับในราชสมบัติ

ที่ประชุมจึงเป็นอันตกลงตามข้อเสนอดังกล่าว เพราะทุกคนต่างก็เห็นพ้องด้วยกับความคิดนี้ เนื่องจากตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองได้ว่างเว้นลง นับตั้งแต่ผู้สืบราชสันตติวงศ์พระองค์ก่อนทิวงคตลงก่อนหน้านั้น 14 ปี และพระบรมเชษฐาธิราชของพระองค์มิได้ทรงแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นรัชทายาท

อย่างไรก็ดีเจ้าฟ้ามงกุฏในฐานะองค์รัชทายาทของราชบัลลังก์ยังคงประทับอยู่ที่วัด โดยมีทหารรักษาพระองค์คอยถวายการอารักขาอยู่โดยรอบ

วันที่ 26 มีนาคม เจ้าฟ้ามงกุฎทรงลาสิกขาออกจากเพศบรรพชิตแต่ยังคงประทับอยู่ที่วัดตามเดิม

เช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นจึงได้จัดให้มีการประชุมเพื่อแต่งตั้งรัชทายาทขึ้นในทันที

เจ้ากรมท่า [ดิศ บุนนาค] และเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ [ทัต บุนนาค] ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งในอันที่จะสถาปนาเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และยิ่งไปกว่านั้นเขาทั้งสอง ยังได้ให้การยืนยันว่าหากมีข้าราชบริพารคนใดขัดขวาง เขาจะใช้กำลังเข้าจัดการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นที่คาดหวังว่าทุกคนคงจะเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ เพราะถ้าหากปล่อยให้ล่าช้าไปก็อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดได้

ในฐานะที่บุคคลทั้งสองเป็นผู้ที่คุมกำลังทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือจะทั้งหมด พวกที่ไม่เห็นด้วยจึงถูกขู่จนต้องยอมจำนนไปในที่สุด

การประชุมได้ยุติลงและในทันทีที่ย่างเข้าสู่วันใหม่ ขบวนการของเจ้ากรมท่าและเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายกได้ออกเดินทางจากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดที่เจ้าฟ้ามงกุฎประทับ เพื่อกราบทูลเชิญพระองค์ขึ้นเสวยราชสมบัติ

ครั้งถึงรุ่งเช้าเจ้าฟ้ามงกุฎในชุดเครื่องทรงจีวรเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคมายังพระบรมมหาราชวัง ขบวนเสด็จในครั้งนั้นประกอบไปด้วยขบวนเรือสวยสดงดงามแล่นต่อกันเป็นแนวยาวภายในเรือพรั่งพร้อมไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ตลอดจนข้าราชบริพาธ เรือพระที่นั่งที่เจ้าฟ้ามงกุฎประทับมีชื่อว่าเรือประจำทวีป ความยาว 74 ศอก (110 ฟุต) ตลอดเส้นทางพระราชดำเนินมีทหารรักษาพระองค์คอยถวายการอารักขาอย่างใกล้ชิด

เมื่อเสด็จฯ มาถึงท่าเทียบเรือ เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังได้มาเฝ้ารอรับเสด็จฯ และอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎประทับบนพระราชยานคานหามเสด็จฯ เข้าไปภายในพระบรมมหาราชวัง ขบวนได้มาหยุดอยู่หน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระราชภารกิจประการแรกที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงกระทำในเวลานั้นก็คือ เสด็จฯ เข้าไปภายในพระราชมณเฑียรเพื่อประกอบพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราชที่เพิ่งจะสวรรคตซึ่งอยู่ในชุดฉลองพระองค์เต็มยศในท่าประทับนั่ง และในฐานะที่ทรงเป็นใหญ่ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหมด การประกอบพระราชพิธีต่างๆ รวมทั้งทอดพระเนตรขั้นตอนการบรรจุพระบรมศพลงในพระโกศและอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนพระแท่น จึงเป็นพระราชภารกิจที่พระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่จะต้องทรงกระทำ หลังจากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้ข้าราชบริพารทุกระดับชั้นที่รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเข้าเฝ้าทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์

…………

ตามปกติพระบรมศพจะถูกจัดให้อยู่ในท่านอน แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าว่า พระบรมศพของพระเชษฐาของพระองค์ทรงอยู่ในท่าประทับนั่ง ข้อมูลดังกล่าวปรากฏอยู่ในเอกสารที่ร่างขึ้น โดยพระบรมราชโองการของพระองค์ส่งถึง ฯพณฯ พันเอกบัตเตอร์เวอร์ธ ซี.บี. ผู้ว่าราชการดินแดนสหพันธรัฐมลายู ซึ่งตีพิมพ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2394

ข้อเขียนทั้งหมดบอกเล่าถึงเหตุการณ์ขณะที่เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จพระราชดำเนินออกจากวัดเข้าไปภายในพระบรมมหาราชวังหลังจากพระเชษฐาของพระองค์เสด็จสวรรคต ความว่า

“เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จพระราชดำเนินเข้ามาถึงภายในพระบรมมหาราชวังเรียบร้อยแล้ว พระองค์ได้มาหยุดประทับอยู่ ณ ด้านข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย (พระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวังซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นที่ประทับว่าราชการกับเหล่าเสนาบดี) โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ทุกลำดับชั้นเฝ้ารอรับเสด็จฯ และติดตามพระเจ้าอยู่หัวเข้าไปยังพระที่นั่งอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพภายในพระราชมณเฑียร พระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนทรงอยู่ในท่าประทับนั่ง ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์เต็มยศ จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงสรงน้ำพระบรมศพตามประเพณี แล้วจึงอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐานในพระโกศทองคำแกะสลักเป็นลายนูนประดับพลอยนพรัตน์ เสร็จแล้วพระบรมวงศานุวงศ์จึงพร้อมกันอัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (พระที่นั่งชั้นในที่มีความงดงามที่สุดองค์หนึ่งภายในพระบรมมหาราชวัง) ตามโบราณราชประเพณี”

จากนั้นจึงอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอัญเชิญ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เสด็จฯ ไปประทับ ณ พลับพลาหน้าคลังแสงสรรพาวุธ ครั้นถึงเวลาย่ำค่ำ พระสงฆ์ย่ำฆ้องกลอง พระยาพิพัฒนโกษาอ่านคำกราบบังคมทูลความว่า “ด้วยพระสติปัญญาอันชาญฉลาดและรอบรู้ในงานราชการตลอดจนแบบแผนราชประเพณี พระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมด้วยพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ขุนนาง ข้าราชการ ทหาร และประชาชน จึงพร้อมใจกันอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐา”

คืนนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎประทับอยู่ภายในพระอุโบสถ จนกระทั่งรุ่งเช้าจึงจัดให้มีพิธีทรงลาสิกขาบท ภายใต้ปะรำซึ่งคลุมด้วยผ้าสีขาว เจ้าฟ้ามงกุฎทรงเปลื้องเครื่องจีวรแล้วทำพิธีสรงน้ำที่ผ่านการปลุกเสกมาแล้ว จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินมาปรากฏพระองค์ต่อหน้าประชาชนในชุดฉลองพระองค์สีขาว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ พระตำหนักที่สร้างขึ้นเป็นการชั่วคราวภายในพระบรมมหาราชวังจนกระทั่งถึงวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมิได้จัดขึ้นในทันที โหรคำนวณวันประกอบพระราชพิธีไว้คือวันที่ 15 พฤษภาคม ในระหว่างนั้นเจ้าฟ้ามงกฎทรงเริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการบริหารราชการบ้านเมือง และทรงริเริ่มงานปฏิรูปการปกครองซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากที่พระเจ้าอยู่หัวองค์เดิมทรงวางไว้ให้เป็นไปตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงปรารถนา

ในพระราชสาสน์ที่ทรงเขียนถึงพันโทบัตเตอร์เวอร์ธ ผู้สำเร็จราชการแห่งเกาะปริ้นซ์ ออฟ เวลส์ (ปัจจุบันคือ เกาะปีนัง) ลงวันที่ 21 เมษายน ทรงลงพระยศในท้ายพระราชสาสน์ว่า newly elected President หรือ Acting King of Siam และในพระราชสาสน์อีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 22 พฤษภาคม ทรงลงพระยศ newly enthroned King of Siam ในท้ายพระราชสาสน์

ชาวยุโรปทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่จะได้รับเชิญให้ไปปรากฏตัวในพระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติที่จัดขึ้นในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน

วันที่ 20 พฤษภาคม จึงได้จัดให้มีพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค ส่วนพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคนั้นจัดให้มีขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม

ในวโรกาสนี้เจ้ากรมท่าและเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยตามลำดับ ในฐานะที่มีส่วนสนับสนุนการขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้ามงกุฏในครั้งนี้

(ซ้าย) สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือ “สมเด็จพระองค์ใหญ่” ขุนนางผู้กุมอำนาจสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 เป็นผู้สนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งเป็นการฝังรากฐานของตระกูลบุนนาคให้มั่นคงต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
(ขวา) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จองค์น้อย” น้องชายร่วมสายเลือดของสมเด็จองค์ใหญ่ ไต่เต้าจากตำแหน่งจมื่นเด็กชาในสมัยรัชกาลที่ 3 จนกระทั่งมีอำนาจทางการเมืองไม่ด้อยกว่าพี่ชาย

เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชสมบัติขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 46 พรรษา หลังจากที่ผ่านการเรียนรู้มาอย่างมากมายตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา การรอคอยมิได้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ พระองค์ทรงใช้เวลาเหล่านั้นศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศที่การศึกษาแทบจะไม่เป็นที่รู้จักของประชาชน ตลอดจนทรงศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการต่างประเทศ และทรงวางนโยบายในการบริหารประเทศเสียใหม่ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศตะวันตก ซึ่งมีการพัฒนาไปในขณะที่ประเทศทางตะวันออกยังคงอยู่กับที่ และทรงตระหนักว่าหากประเทศไม่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวไปข้างหน้าก็คงไม่อาจยืนหยัดอยู่ต่อไปได้

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพระราชดำริของพระองค์ซึ่งนับว่าก้าวไปไกลในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก

แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเปลี่ยนแปลงการตัดสินพระทัยของพระองค์ได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

บทความเรื่องนี้ ตัดทอนแล้วปรับปรุงย่อหน้าใหม่มาจากหนังสือราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ ที่นางสาวศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์ แปลและเรียบเรียงจาก A Physician at the Court of Siam ของ Dr.Malcolm Smith แพทย์ชาวอังกฤษที่ได้รับการชักนำจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ถวายการดูแลพระพลานามัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง พระราชมารดา ณ พระราชวังพญาไท แล้วกรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2565