“กาพย์มหารมเยศ” ตำราเรื่องเพศสมัยถัง จากศิลปะในห้องหอ ถึงการไม่หลั่งกับภรรยาน้อย

ภาพวาด สตรี จีน ใน ราชสำนัก
(ภาพประกอบเนื้อหา) สตรีจีนในราชสำนักของฮ่องเต้ Li Yu (961–75)

“กาพย์มหารมเยศ” หรือ “ต้าเล่อฟู่” เป็นหนังสือเรื่องเพศสมัยราชวงศ์ถังของจีน ค้นพบโดยชาวฝรั่งเศสชื่อ P. Pelloit ต้นฉบับถูกเก็บที่ฝรั่งเศส ต่อมาชาวจีนถ่ายสำเนาเก็บไว้ และหลอเจิ้นอวี้ นักสะสมของโบราณชาวจีนได้นำมาจัดพิมพ์ใหม่ โดยรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ตุนหวงสือซื่ออี๋ซู อย่างไรก็ตาม ต้าเล่อฟู่มีสภาพไม่สมบูรณ์ เนื้อหาเขียนถูก ๆ ผิด ๆ และตกหล่นตลอดทั้งเล่ม

ต่อมา เยเต๋อฮุย นักวิชาการชาวจีนได้แก้ไขส่วนที่ผิดพลาดบกพร่องของต้าเล่อฟู่ไปบางส่วน แล้วจัดพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า ซวงเหมยจิ่งอั้นฉงซู (2457), ยกตัวอย่าง ต้าเล่อฟู บางบท ดังนี้

บทแรกและบทที่สอง กล่าวถึงหลักการผสมผสานระหว่างหยิน-หยาง หรือ ฟ้า-ดิน โดยอธิบายว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงถือเป็นความสุขอย่างมหาศาล ดังที่บันทึกไว้ว่า “(ความรู้สึกทางเพศ) เริ่มมีกันตั้งแต่ในวัยทารก สิ้นสุดเมื่อคนเราจบชีวิตลง แม้จะเป็นเรื่องที่คุยกันแล้วฟังหยาบโลน แต่โดยเหตุผลแล้ว มันหมายถึงการเข้าสู่สภาวะที่แสนงดงาม ยังความสุขให้แก่ทุกคน ไม่มีสิ่งใดสุขได้ยิ่งกว่านี้แล้ว จึงตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า ‘ต้าเล่อฟู’ (หรือกาพย์มหารมเยศ) ส่วนเรื่องถ้อยคำสำนวนตลาดแลสัญลักษณ์ที่นิยมใช้กัน ก็ได้เก็บรวมไว้ไม่ปิดบังแต่อย่างใด เพียงเพื่อให้ (ผู้อ่าน) อ่านแล้วยิ้มหัว”

บทที่สาม กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของชายหญิงตั้งแต่เกิดจนถึงวัยหนุ่มสาวว่า “หนังถอกร่นรั้นพลันหัวโผล่ (หมายเหตุ-ชาย) โนนเนื้อหนั่นนูนเนินหนอกหน่าว (หมายเหตุ-หญิง) กาลเวลาเปลี่ยนผัน… ขนงอกดกเป็นดำปื้น (หมายเหตุ-ชาย) จากวันเป็นเดือน… ธาราสีแดงล้นไหลเอื่อย (หมายเหตุ-หญิง)”

บทที่สี่ กล่าวถึงคืนแรกของการแต่งงานระหว่างชายหญิงว่า “และแล้วก็เป็นคืนของคนหนุ่มสาว ใต้แสงเทียนสีแดง… เมื่อหมู่ดาวจูเชี่ยขึ้นแล้ว รวบกางเกงแดง ยกขานางขึ้น คลึงเคล้าก้นนาง หญิงกุมองคชาตชายไว้ ขณะใจนางเต้น โครมครามชายอมลิ้นหญิงจนเคลิบเคลิ้ม จึงโลมเลียให้ทั่วทั้งตัว จนบังเกิด อารมณ์รักร่วมกัน ช่องแย้มร่องเล็กน้อยโดยไม่รู้ตัว จึงให้ออกแรงรุกดัน องคชาตเข้าโดยพลัน จักเจ็บแปลบดุจมีดแทง เห็นช่องคลอดเปื้อนด้วยอสุจิและเลือดเป็นจุดจุด ใช้ลิ่วไต้เช็ดแล้วเอาเก็บไว้ในตะกร้า นั่นแล จึงเป็นสามีภรรยากัน ด้วยสมคล้อยกับหลักแห่งยินหยาง นับแต่นี้ช่องคลอดหญิงจะไม่ปิดอีกตลอดไป” 

(ภาพประกอบเนื้อหา) งานเลี้ยงในวัง ภาพวาดสันนิษฐานในช่วงยุคห้าราชวงศ์ (907–960) หรือราชวงศ์ซ่งเหนือ (960–1127)

บทที่หก บางส่วนกล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายผู้เป็นสามีกับบรรดาภรรยาน้อยทั้งหลายไว้ว่า “ห้ามหลั่งให้เก็บกักน้ำอสุจิไว้ พร้อมกับสูดลมหายใจเข้าและกลืนน้ำลายด้วย ถือเป็นความสมบูรณ์ในการเรียนรู้เรื่องเต๋า ด้วยจุดประสงค์ให้มีอายุยืนยาว…”

แม้จะกล่าวถึงการไม่หลั่งในขณะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาน้อย แต่กลับไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภรรยาหลวงเลย สะท้อนให้เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาน้อยทั้งหลายนั้น ทำไปเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศให้แก่ผู้ชาย เพื่อว่าเมื่อสามีจะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาหลวงแล้ว จะสามารถทำให้ตั้งครรภ์บุตรที่แข็งแรงได้นั่นเอง

บทที่แปด กล่าวถึงกามารมณ์ของฮ่องเต้โดยเฉพาะ ที่น่าสนใจคือ ธรรมเนียมราชประเพณีในเรื่องถวายตัวต่อฮ่องเต้ โดยกล่าวไว้ว่า “และแล้วก็ถึงเวลาเสพสมยามราตรี มีหญิงเก้านางเข้าเฝ้า แลเมื่อวันเพ็ญเดือนเต็มดวง จะประทับอยู่ที่ตำหนักหลวงและตำหนักหลังสองคืน นี่ถือเป็นธรรมเนียมราชประเพณี ซึ่งเขียนอยู่ในบันทึกสีแดง ‘ถงก่วน’ ของหนี่สื่อ บัดนี้ในตำหนักตะวันตก มีหญิงสาวสามพันคน คัดที่หน้าตาดีส่งมาถวาย พวกแก่งแย่งที่โปรดปรานต่างอิจฉากัน นี่แลคือมอบกายหญิงนับหมื่นให้แก่คนคนเดียว”

บทที่สิบสาม กล่าวถึงการล่วงมีเพศสัมพันธ์ในวัด โดยกล้าวไว้ว่า แม้ปากจะไม่พูด แต่ใจมักยินยอมไปกว่าครึ่ง บ้างเป็นขุนนางที่นิยมในกามคุณ พวกผู้ดีคนมีชื่อเสียง คนเหล่านี้อ้างว่าละทิ้งทางโลกเพื่อหาความสงบทางใจยอมปลงผมโกนหนวดเครา หน้าตาพวกนี้เป็นต่างชาติแต่พูดจีน รูปร่างสูงใหญ่ แต่ใจกลับไม่คิดอ่านศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน มือถือสายลูกประคำ แต่ก็มักลืมสวดมนตร์นับลูกประคำ”

แม้ “กาพย์มหารมเยศ” หรือ “ต้าเล่อฟู่” อาจไม่ใช่ตำราที่สมบูรณ์นัก แต่ก็สะท้อนเรื่องเพศของคนจีนในสมัยราชวงศ์ถังได้ดีทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. (2548). เรื่องเพศในวัฒนธรรมจีน 4,000 ปี. กรุงเทพฯ : ตถาตา พับลิเคชั่น.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2564