ทานาคา : เครื่องประทินผิวชาวลุ่มอิรวดี ที่มาของ “ผิวพม่า”

ผู้หญิง และ เด็ก กำลังทำ ทานาคา ผิวพม่า
(ภาพจาก pixabay.com)

“ทานาคา” : เครื่องประทินผิวชาวลุ่มอิรวดี ที่มาของ “ผิวพม่า”

คงไม่จำเป็นต้องยกสำนวน “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” มาอธิบายซ้ำแล้ว เป็นที่ชัดเจนว่ามนุษย์นิยมตกแต่งร่างกายแต่ไหนแต่ไรมา ทั้งเพื่อหวังให้เทวดาฟ้าแถนพึงพอใจ ปฏิบัติบูชาสูงสุดแด่พระศาสดา หรือให้สะดุดตาเพศตรงข้าม

ทานาคา (Thanaka) คือหนึ่งในตัวช่วยด้านความงามที่สำคัญและแพร่หลายของหญิงชายทุกเพศวัยแห่งลุ่มแม่น้ำอิรวดี การเดินทางผ่านกาลเวลาจากอดีตต่อเนื่องจนปัจจุบันสามารถยืนยันตัวมันเอง โดยไม่ต้องทำวิจัยซ้ำ

แม้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาไม่แน่ชัดว่า มอญ พม่า หรือพยู เป็นผู้ริเริ่มใช้ก่อน แต่จากหลักฐานโบราณวัตถุเท่าที่มีในตอนนี้ ทำให้ผู้เขียนซึ่งเป็นมอญจำต้องอวยไส้แตกว่า มอญคือผู้ใช้ทานาคาก่อนใครในลุ่มน้ำอิรวดี

คนมอญสมัยก่อนเรียกพรรณไม้ที่ใช้ประทินผิวว่า “โกนเทียะแร” จะเป็นไม้ชนิดเดียวกันกับ “ทานาคา” หรือไม่ไม่มีใครยืนยัน แต่คนมอญในรัฐมอญ ประเทศเมียนมาทุกวันนี้บางแห่งเรียกว่า “เกียะแจะ” หรือ “ฮะแจะ” แปลว่า แป้ง ส่วนคนมอญบางแห่งเรียกว่า “จะลอน” ที่แปลว่า ไม้กฤษณา หรือไม้หอม ขณะที่คนพม่าออกเสียงว่า “ตะนะคา” ถอดเสียงเป็นภาษาอังกฤษว่า Thanaka

ผู้คนเกือบทุกกลุ่มชาติพันธุ์และเพศวัยในเมียนมา เช่น มอญ พม่า กะเหรี่ยง ทวาย ไทใหญ่ ว้า ชิน และกะฉิ่น เป็นต้น โดยเฉพาะเด็กๆ และหนุ่มๆ สาวๆ นิยมทาแป้งสีขาวนวลออกเหลืองบนใบหน้า

แต่ก็ไม่ทาเปล่า เพราะมีแฟชั่นการทาเพื่อเพิ่มความสวยงามโดดเด่นให้เจ้าของใบหน้าด้วย มีทั้งการทาเป็นวง เป็นเหลี่ยม เป็นริ้ว หรือทาเป็นปื้น แล้วใช้ก้านไม้เล็กนุ่มจุ่มน้ำขูดขีดให้เกิดลวดลาย เช่น บางคนทำเป็นรูปทรงเรขาคณิต ดอกไม้ ใบไม้ ก้นหอย ผีเสื้อ ดวงอาทิตย์ ดวงดาว เป็นต้น

ทานาคามีวางขายให้เห็นในเมียนมาทั่วทุกย่านร้านตลาด แม้แต่ประเทศไทยวันนี้ก็หาซื้อได้ไม่ยาก โดยเฉพาะแถบที่มีแรงงานย้ายถิ่นชาวพม่าหลากหลายชาติพันธุ์อยู่อาศัย เช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต กรุงเทพฯ เป็นต้น

พื้นที่เหล่านี้มีทานาคาวางขายให้เลือกซื้อหาไม่หวาดไหว ทั้งแบบเป็นแท่งไม้ ที่ต้องซื้อพร้อมแท่นหินสำหรับนำมาฝนด้วยตนเอง และแบบสำเร็จรูป ที่บดละเอียดเป็นผงผสมสมุนไพรอื่นๆ นานาชนิด หรือเจือกลิ่นหอมของพรรณไม้ ผลไม้ เช่น มะนาว จำปา มะลิ กุหลาบ พิกุล สารภี และกลิ่นสปา ที่ดูจะเป็นที่นิยมในบรรดาวัยรุ่นยุคใหม่

รวมทั้งที่มาในรูปแป้งผง ครีม และสบู่ก้อน ทั้งชนิดกระปุกและชนิดหลอด และน้ำหอมใส่ขวดแบบน้ำอบนางลอยของไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ทานาคา : เครื่องประทินผิวชาวลุ่มอิรวดี ที่มาของ ‘ผิวพม่า'” เขียนโดย องค์ บรรจุน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 21 พฤษภาคม 2562