ตำนาน “ทานาคา” แห่งเมียนมา กับหลักฐานโบราณคดี แท่นหินฝนทานาคาอายุร้อยปี

หากกล่าวย้อนถึงประวัติความเป็นมาของทานาคาดังกล่าวนี้ค่อนข้างมีหลายที่มา ผู้เขียนได้รวบรวมมาให้ผู้อ่านได้พิจารณากัน ดังนี้

กระแสแรก ว่ากันว่าชาวพม่ารับอิทธิพลการใช้ทานาคามาจากชาวมอญ ในขณะที่มอญรับอิทธิพลมาจากชาวอินเดียอีกทอดหนึ่งตั้งแต่สมัยโบราณกาล

Advertisement
ต้นทานาคา (ภาพจาก เศกสรรค์ สุมนตรี)

กระแสต่อมา ว่ากันว่าชาวพม่าเริ่มใช้ทานาคามาตั้งแต่ยุคตะกอง เมืองโบราณของพม่า (ล่มสลายไปก่อนการเกิดขึ้นของอาณาจักรพุกาม) ตามตำนานที่ว่า เมื่อสมัยพระเจ้าอลองสิธู (ครองราชย์ พ.ศ. 1655-1710) กษัตริย์แห่งราชวงศ์พุกาม ซึ่งเป็นโอรสในพระเจ้าจันสิตธา (ครองราชย์ พ.ศ. 1627-55) ประสูติแต่พระนางอะแป่รัตนา ซึ่งเป็นมอญเมืองสะเทิม (สุธรรมวดี)

ครั้งหนึ่งพระเจ้าอลองสิธูได้เสด็จไปยังดอยฉิ่งมะต่อง ที่มีต้นทานาคาขึ้นชุกชุม มีเหตุบังเอิญเกิดขึ้น กล่าวคือ พระมเหสีในพระเจ้าอลองสิธูได้ทำผอบเครื่องหอมตก ต้นทานาคาที่เกิดขึ้นยังที่ตรงนั้นในเวลาต่อมามีกลิ่นหอมจรุงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเหตุให้ชาวพม่าพากันนำเอาต้นทานาคาไปฝนใช้เป็นเครื่องประทินผิวนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ลักษณะแท่นหินฝนทานาคาที่ใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบัน (ภาพจาก เศกสรรค์ สุมนตรี)

ดังจะเห็นได้ว่าตำนานดังกล่าวนี้สับสนโดยตัวของมันเอง ขณะที่ข้อมูลทางวิชาการซึ่งเป็นที่เชื่อถือยอมรับโดยทั่วไปนั้น ยึดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบ ตามที่ปรากฏว่าบันทึกอยู่ในเอกสารหลายแห่ง รวมทั้งเอกสารแจกนักท่องเที่ยวตามโรงแรม

นั่นคือ หลักฐานการค้นพบแท่นหินที่ใช้สำหรับฝนทานาคา คนพม่าออกเสียงว่า เจ้าก์เปี่ยง…ในบริเวณพระเจดีย์มุตาว (ชเวมอดอ) เมืองหงสาวดี หรือพะโค เมื่อ พ.ศ. 2473 หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมา ซึ่งแท่นหินนี้มีลักษณะพิเศษและเชื่อกันว่าเป็นแท่นหินฝนทานาคาของพระนางตะละเจ้าท้าว (ครองราชย์ พ.ศ. 1996-2013) หรือมิจาวปุ (เช็งสอบู) อดีตกษัตรีย์มอญ พระราชธิดาในพระเจ้าราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 1927-64) แห่งอาณาจักรหงสาวดี (ปัจจุบันแท่นหินฝนทานาคานี้ได้รับการจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภายในบริเวณพระเจดีย์มุตาว)

แท่นหินฝนทานาคาโบราณที่คาดว่าเป็นของพระนางตะละเจ้าท้าว (เช็งสอบู) กษัตรีย์มอญแห่งอาณาจักรหงสาวดี ปัจจุบันได้รับการจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์พระเจดีย์มุตาว เมืองหงสาวดี

ส่วนหลักฐานทางด้านโบราณคดี ปรากฏร่องรอยไม่ชัดเจนนักว่า ผู้คนบนแผ่นดินเมียนมามีการใช้ทานาคาในการประทินผิวหน้าผิวกายมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรศรีเกษตรของชนชาติพยู (Pyu) ชนชาติโบราณผู้สูญหายไปจากแผ่นดินเมียนมา มาตั้งแต่เมื่อกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าใครหรือชาติใดจะเป็นผู้ริเริ่มใช้ทานาคาก่อนก็เป็นแต่เรื่องเล่าที่อาจจะถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเสริมความเข้มขลัง หรืออ้างอิงความเก่าแก่ของวัฒนธรรมทานาคาที่ตกทอดมายังผู้คนลุ่มน้ำอิรวดีในวันนี้ แต่หลักฐานเชิงประจักษ์นั้นคงจะต้องพิสูจน์กันที่สรรพคุณของมันเอง

ดังจะเห็นว่าไม่เพียงแผ่นดินเมียนมาที่จะสามารถพบเห็นร้านรวงวางทานาคาจำหน่ายไม่ต่างไปจากอาหารหรือยารักษาโรคที่เป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ ก็ในเมื่อเมืองไทยบ้านเราทุกวันนี้ ทานาคาได้ถูกใช้เป็นส่วนผสมของสบู่ แป้งฝุ่น และเครื่องสำอางนานาชนิด ด้วยตัวมันเองสามารถขายความเป็น “ผิวพม่า” ในหมู่คนไทยได้ดี

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2015 แม่ค้าขายเครื่องเทศและไม้ทานาคาในย่างกุ้ง (Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ทานาคา : เครื่องประทินผิวชาวลุ่มอิรวดี ที่มาของ ‘ผิวพม่า'” เขียนโดย องค์ บรรจุน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหามค 2565