ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2563 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร. องค์ บรรจุน |
เผยแพร่ |
ปี 2548 ผู้เขียนเข้าพม่าครั้งแรก เดินทางมากับเพื่อนคนมอญเพียง 2 คน วนเวียนทั่วเขตเมืองมอญเดิม แต่เวลานั้นข้อมูลยังมีจำกัด ได้สนทนากับเจ้าอาวาสวัดเป่อแหละหงี่ม (โบตาทาวน์) เพียงบางประเด็น และได้กราบไหว้ นัตโบโบยี (“เทพทันใจ”) ที่ยังคงอยู่ในศาลาหลังเก่าหลังเล็กด้านหน้าพระเจดีย์ริมถนนในเขตพุทธาวาสของวัด
ส่วนเขตสังฆาวาสนั้นมีอาคารหลักเพียงหลังเดียว พื้นที่โดยรอบรกรุงรังไปด้วยวัชพืช กองสัมภาระ และสิ่งก่อสร้างขนาดเล็กที่ชำรุดทรุดโทรม ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเข้ามามากนัก แม้แต่รูปปั้นนัตโบโบยีก็มีเพียงคนพม่าแวะเวียนกราบไหว้นานๆ ครั้ง
ส่วนการไปเมืองมอญของผู้เขียนอีกหลายครั้งต่อมา ส่วนใหญ่จะมาเป็นกลุ่ม หรือกับผู้สูงอายุที่ไม่ชอบการเดินซอกแซก อย่างมากไหว้นัตโบโบยีด้านหน้า เดินดูสิ่งของมีค่าซึ่งมีผู้คนอุทิศถวายเป็นพุทธบูชาแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภายในองค์พระเจดีย์แล้วก็กลับ
โบโบยี หรือตะจามิน แปลเป็นไทยว่า “พ่อปู” หรือ “พ่อใหญ่” หัวหน้าผีนัตที่คนพม่านิยมนับถือกันมาก พ่อปู่หน้าตายิ้มแย้ม ท่าทางใจดี มือซ้ายถือไม้เท้า ส่วนมือขวาชี้ไปข้างหน้า ความเชื่อที่คนพม่าสร้างใหม่เมื่อไม่นานคือ สถานที่ซึ่งผีนัตชี้นิ้วไปนั้นจะเจริญรุ่งเรือง น่าเชื่อว่าคนไทยคงได้นำเอาประเพณีการสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้ไผ่สานให้สำเร็จภายใน 1 วันของชาวเหนือที่เรียกว่า “พระทันใจ” ตามคติที่ว่าผู้สร้างจะได้อานิสงส์มาก
แล้วไม่ใครก็ใครสักคน คงจะนำเอาความเชื่อใหม่ของพม่ากับความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนานั้นมารวมกัน แล้วสร้างความเชื่อชุดใหม่ครอบทับตำนานเดิมของมอญที่ว่า พระอินทร์แปลงกายลงมาเป็นชายชราชี้สถานที่ประดิษฐานพระธาตุของอดีตพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เพื่อจะได้ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ที่พ่อค้ามอญสองพี่น้องได้มาจากชมพูทวีปไว้ด้วยกัน และตอนนี้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อตำนานสร้างใหม่มากกว่า นั่นคือ ผู้ที่ต้องการพรวิเศษให้ถวายเครื่องบูชา เอาหน้าผากสัมผัสนิ้วชี้ผีนัตแล้วจะได้รับพรนั้นอย่าง “ทันใจ” เป็นเหตุให้คนไทยเรียกนัตโบโบยีตนนี้ว่า “เทพทันใจ”
แท้จริงแล้ว โบโบยี เป็นพระอินทร์ในตำนานพระเจดีย์ชเวดากองของมอญ ก็หลังจากตะเป๊า ตะปอ นำพระเกศาธาตุมาถวายพระเจ้าเอิกกะลาปะแล้ว ระหว่างที่ค้นหาสถานที่เหมาะสมเพื่อสร้างพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่นั้น พระอินทร์ก็ได้เหาะลงมาชี้สถานที่บนเขาสิงฆุตตระ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของอดีตพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ก่อน จึงควรที่จะได้ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธโคดมไว้ในที่เดียวกัน ดังนั้นพระอินทร์ในร่างชายชราที่ยืนชี้นิ้วนั้น เป็นการชี้สถานที่สร้างพระเจดีย์
แต่นักท่องเที่ยวไทยกลับเห็นเป็นนิ้ววิเศษ ใครที่ต้องการขอพรก็จะซื้อเครื่องบูชาที่มีวางขายเป็นชุด ประกอบด้วย กล้วย มะพร้าว หมาก เมี่ยง ดอกไม้ ใบหว้า และฉัตรธงสักการะ จากนั้นนำธนบัตรใส่มือรูปปั้นพระอินทร์นี้ 2 ใบ อธิษฐานแล้วดึงกลับมาเก็บไว้ใบหนึ่ง หยอดลงตู้บริจาคใบหนึ่ง (คล้ายสูตรหลวงพ่อคูณ) เสร็จแล้วก้มให้หน้าผากของตนสัมผัสนิ้วชี้ตาเฒ่านั้น
ต้นปี 2562 ผู้เขียนไปราชการที่พม่าและติดตามคณะฯ ที่ต้องการไปกราบไหว้เทพทันใจ รูปปั้นนัตโบโบยีในศาลาหลังเล็กริมถนนหน้าพระเจดีย์ถูกอัญเชิญเข้าไปอยู่ในศาลาหลังใหม่ใหญ่โตโอ่โถงในเขตสังฆาวาสด้านข้างพระเจดีย์เรียบร้อยแล้ว ทางเข้าสู่ศาลาหลังใหม่เป็นสะพานทอดเหนือสระน้ำมีหลังคาคลุมสวยงาม พื้นที่รายรอบศาลาที่เคยรกรุงรัง อาคารเก่ามอซอหลังเล็กหลังน้อยถูกรื้อลง สร้างเป็นอาคารคอนกรีตประณีตงดงามสูงหลายชั้น พื้นทางเดินลาดปูด้วยกระเบื้องอย่างดี อาณาบริเวณโดยรอบตกแต่งด้วยศิลปวัตถุแบบมอญ-พม่า
ด้านหน้าระหว่างพระเจดีย์กับสะพานทางเข้า เป็นซุ้มขนาดใหญ่จำหน่ายวัตถุมงคลรูปเทพทันใจที่ผลิตจากเมืองไทยหลากรูปแบบ สีสัน ขนาด และราคา ถัดมาเป็นซุ้มจำหน่ายฮะอุ๊บ (โตกมีฝา) บรรจุเครื่องเซ่นครบครัน พร้อมป้ายไวนิลเชื้อเชิญให้ซื้อเครื่องเซ่น ระบุราคาชุดเล็ก กลาง ใหญ่ และคาถาสวดบูชาภาษาพม่าและภาษาไทย ความคึกคักของการซื้อขายเครื่องเซ่นไหว้ที่พบชัดเจนว่าพระอินทร์ของมอญที่ถูกทำให้เป็นนัตพม่า และถูกอุปโลกน์เป็นเทพทันใจโดยคนไทยน่าจะได้รับความนิยมมากกว่าหลักธรรมในพระพุทธองค์
ส่วนที่ตั้งรูปปั้นเทพทันใจที่ผู้เขียนเคยเห็นเมื่อปี 2548 กลายเป็นที่ตั้งของ “เทพกระซิบ” นวัตกรรมใหม่ล่าสุดพร้อมเรื่องเล่าที่สร้างเมื่อไม่นานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย
สงครามความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้บรรจุอยู่ในพงศาวดารและแบบเรียนเล่มไหนๆ ให้คนไทยต้องเกลียดชังพม่าอีกแล้ว เพราะพม่าไม่จำเป็นต้องยกทัพช้างทัพม้าเข้ามาอีก ลำพังส่งแรงงานมาทำงานส่งเงินกลับไปก็น่าจะเพียงพอ ยิ่งมีเทพทันใจชี้นำ กองทัพนักท่องเที่ยวไทยจะข้ามน้ำข้ามทะเลนำเงินบาทไปยัดใส่มือเทพทันใจให้นำไปแปลงเป็นเงินจ๊าดได้เอง
แต่ในความเป็นพ่อค้าย่อมมองเห็นโอกาสเสมอ เมื่อนักธุรกิจไทยเปิดตัวอุตสาหกรรมเทพทันใจส่งออกไปเปิดตลาด นักท่องเที่ยวไทยจำนวนไม่น้อยก็ซื้อหา (เช่า) เทพทันใจเมดอินไทยแลนด์กลับมาเมืองไทย เป็นเหตุให้เราไม่เสียดุลการค้าให้แก่พม่ามากจนเกินไป
อ่านเพิ่มเติม :
- ข้าฯ ถูกอุปโลกน์ให้เป็น “เทพทันใจ”
- สำรวจความเชื่อ “นัต” ระบบผีท้องถิ่นนิยมในเมียนมา ที่พุทธศาสนาเอาชนะไม่ได้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “จากนัตสู่เทพทันใจผู้เปลี่ยนเงินบาทไทยเป็นจ๊าดพม่า” เขียนโดย ดร. องค์ บรรจุน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2563