สำรวจความเชื่อ “นัต” ระบบผีท้องถิ่นนิยมในเมียนมา ที่พุทธศาสนาเอาชนะไม่ได้

ผีนัต นัต พม่า

หากเปรียบร้านน้ำชาและร้านขายหมากพลูกับศาลนัต (Nat) ในเมืองพม่า จะมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ มีให้เห็นได้ทั่วทุกช่วงถนน ตั้งแต่หัวไร่ปลายนาชายป่าริมคลอง ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ไทรหนา ตลาดสด กระทั่งในวัด ทั้งที่ศาลนัตเคยถูกกวาดล้างจัดระเบียบครั้งใหญ่เมื่อสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ แต่ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์ ลี้ลับขมังเวทย์ ยังคงอยู่ในสายเลือดคนพม่า นัต ของพม่าค่อนข้างจะมีสารบบแบบแผนมากกว่าผีไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นผีสามัญชนและมุ่งร้ายมากกว่าดี ขณะที่นัตของพม่าส่วนใหญ่เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน แต่ละตนมีที่มาที่ไปดีเด่น ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง

เป็นที่รู้กันว่า พระเจ้าเมกุฏิ เจ้าเมืองเชียงใหม่พระองค์หนึ่งที่ถูกคุมไปเป็นองค์ประกันและไปเสียชีวิตที่เมืองพม่าก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 37 ตน ของนัตพม่าด้วยเช่นกัน รวมทั้งรูปปั้นนัตโบโบยีที่คนไทยเรียกว่าเทพทันใจ เทพองค์นี้เป็นนัตที่คนพม่าเคารพนับถือกันมาก

นักท่องเที่ยวไทยนับถือแค่ไหนไม่รู้ชัด เห็นแต่ชอบกราบไหว้ขอพรกันเอิกเกริก ในแทบทุกวัดจึงมักจะมีรูปปั้นนัตโบโบยี โดยแต่ละวัดจะมีรูปปั้นนัตไม่เท่ากัน น้อยวัดที่จะมีครบทั้ง 37 ตน ขึ้นอยู่กับความเคารพศรัทธา

เมื่อเพื่อนฝูงรู้ว่าผู้เขียนจะไปเที่ยวพม่า พากันแนะนําให้ไหว้ขอพรเทพทันใจ เทพที่เลื่องชื่อลือชาว่าให้พรรวดเร็วทันใจตามขอ คนพม่าเรียกนัตตนนี้ว่า นัตโบโบยี เท่าที่เห็นจากชุดแต่งกาย จะเป็นกึ่งผีกึ่งเทพ ใบหน้ายิ้มแย้ม ท่าทางใจดี มือซ้ายถือไม้เท้า ส่วนมือขวาชี้ไปข้างหน้า หากใครต้องการขอพร ให้หาเครื่องบูชาที่มีวางขายเป็นชุด ประกอบด้วย กล้วย มะพร้าวอ่อน หมาก เมี่ยง ดอกไม้ ใบหว้า และธงฉัตรกระดาษไปสักการะ

จากนั้นนําธนบัตรใส่มือนัต 2 ใบ ไหว้ขอพรแล้วดึงกลับมาเก็บรักษาไว้ 1 ใบ เสร็จแล้วก้มให้หน้าผากสัมผัสกับนิ้วชี้ของนัต ส่วนธนบัตรอีกใบให้นําไปหยอดลงตู้บริจาค (สูตรเดียวกับหลวงพ่อคูณ) นัตตนนี้หรือเทพองค์นี้ดูท่าจะได้รับความนิยมกว่านัตตนไหน ดูจากดอกไม้ พวงมาลัย และผลหมากรากไม้ล้นเหลือ เห็นทีว่าคงจะมีงานบันดาลพรให้ใครต่อใครตลอดเวลาไม่มีวันหยุด

แม้พม่าจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่พุทธศาสนาฝังรากลึก พุทธศาสนิกชนตั้งมั่นในหลักธรรมคําสั่งสอนของ พระพุทธองค์ไม่เสื่อมคลาย แต่ในขณะเดียวกัน ความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีที่อยู่กับชาวพม่ามาตั้งแต่ก่อนพบพระพุทธศาสนายังฝังแน่นอยู่ในสังคมพม่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ความเชื่อเรื่องผีที่แทบจะตีคู่มากับพระสงฆ์นั่น คือ “นัต” หากเราเข้าไปในบ้านของคนพม่า 9 ใน 10 หลัง ก็จะพบว่ามีทั้งหิ้งพระและทิ้งนัตอยู่ด้วยกันเสมอ บางบ้านถึงกับปลูกศาลนัดไว้หน้าบ้าน ส่วนตามที่สาธารณะ เช่น ลานโล่ง กลางหมู่บ้าน ลานวัด ลานพระเจดีย์ ใต้ร่มไม้ใหญ่ริมทาง มักมีรูปปั้นนัตอยู่เสมอ ชาติภูมิเดิมมีทั้งที่เป็นรูปเทวดา กษัตริย์ นักบวช นักรบ ยักษ์ กระทั่งยาจกเข็ญใจ

ผู้รู้ชาวพม่าเชื่อว่านัต (Nat) มาจากคําว่า นาถ ในภาษาบาลี หมายถึงผู้เป็นที่พึ่ง เป็นต้นว่า พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระพรหม เทวดา พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ สุริยเทพ จันทราเทพ อัคคีเทพ วาโยเทพ ดังนั้น นัตตามนัยของคําว่า นาถ คือเหล่าเทพดาบนสรวงสวรรค์ตลอดจนผู้มีอํานาจอันประเสริฐบนโลกมนุษย์ อันถือเป็นนัตตามความหมายในทางพุทธศาสนา

แต่ความเชื่อในสังคมพม่าทั่วไปหากพูดถึงนัต มักหมายถึงผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ หรือพวกสัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถคุ้มครองมนุษย์ได้ แต่ไม่รวมพระพุทธเจ้าและ พระอรหันต์ ที่สําคัญก็คือ นัตของพม่าจะต้องเป็นวิญญาณที่เกิดจากคนตายโหง กึ่งเทพกึ่งผี อยู่ระหว่างเทพและผี สูงศักดิ์กว่าผีทั่วไปสักหน่อย แต่ไม่เทียบชั้นเท่าเทวดา

ผู้ที่เป็นสาวกของนัตจึงต้องใช้ศัพท์แสงและปฏิบัติตนต่อนัดประดุจกษัตริย์ เทียบได้กับผีเจ้าพ่อเจ้าแม่ของไทย ที่มีฐานันดรสูงส่งกว่าผีธรรมดาสามัญ

ผีนัต นัต ใน มัณฑะเลย์
ผีนัตในเมืองมัณฑะเลย์

สารบบนัตของพม่ามีนัตทั้งสิ้น 37 ตน ใครก็ตามเมื่อตายไปสามารถเป็นนัตได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ ร่ำรวยหรือยากจน กษัตริย์หรือสามัญชน หรือไม่แม้แต่เชื้อสายเผ่าพันธุ์ อะไร ตามประวัติของนัตแต่ละตน ล้วนแล้วแต่ตายโหงด้วยกันทั้งนั้น

บ้างถูกฆ่าตาย บ้างฆ่าตัวตาย งูกัดตาย เสือตะปบตาย พลัดตกจากชิงช้า ตรอมใจตาย เมาเหล้าตาย บ้างตายด้วยพิษไข้ โรคบิด โรคเรื้อน เป็นการตายในลักษณะที่เรียกว่า ตายอย่างน่าเวทนา

แต่ใช่ว่าผีตายโหงทุกรายจะกลายเป็นนัตได้ทั้งหมด นอกจากบุคคลนั้นจะตายด้วยความน่าสมเพช เวทนา หรือสะเทือนขวัญพรั่นพรึง จนเกิดความสะเทือนใจ เป็นที่โจษจันกันไปทั่ว เป็นเรื่องที่เล่าผ่านกาลเวลา จนกลายเป็นตํานานเล่าลือสืบต่อกันมาอย่างกว้างขวาง ในทํานองมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ก็มีความเมตตากรุณาเป็นที่พึ่งพิงของผู้คนได้

เช่นนี้จึงจะครบองค์ประกอบของนัตที่ชาวบ้านรับรู้กันทั่วไป เรียกได้ว่า การมีคุณสมบัติของนัตครบถ้วน ก็ยังไม่สามารถเป็นนัตได้ หากไม่ได้พิสูจน์ฝีมือให้ชาวบ้านได้เห็นเสียก่อน วิญญาณของผู้นั้นจึงจะกลายเป็นนัตอย่างสมบูรณ์ตามความเชื่อ

ธรรมชาติของนัตมีทั้งดีและร้าย สามารถดลบันดาลให้ผู้คนได้ทั้งสุขและทุกข์ ดังนั้น เพื่อความอยู่เย็นเป็น สุขหรือเมื่อต้องการให้พ้นจากเรื่องทุกข์ จึงต้องเซ่นสรวงบัตรพลีทั้งผีดีและผีร้าย โดยทําไปตามอัตภาพของตน ด้วยการถวายข้าวตอกดอกไม้และอาหารนานาชนิด เป็นการแสดงความเคารพและหวังให้นัตคุ้มครองตนเพื่อความแคล้วคลาดปลอดภัยทํามาค้าขึ้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า กล่าวถึงนัตทั้ง 37 ตน ของพม่าซึ่งเรียกว่า แน็ตมิน (นัตมิน) หรือผีหลวง ส่วนตํารามหาคีตะเมคะนี (Maha Gita Megani) ที่ว่าด้วยเรื่องผีซึ่งอยู่ในคัมภีร์โลกาพยุหะ อันเป็นตําราตามขนบจารีตพม่า ซึ่ง เซอร์ยอช สก็อต เป็นผู้เรียบเรียงไว้ในอภิธานเมืองพม่าเหนือ (Upper Burma Gazetteer) มีรายชื่อเมืองและประวัติของผีหลวงทั้ง 37 ตน บอกถึงธรรมเนียมเข้าทรงผี ซึ่งส่วนใหญ่คนทรงจะเป็นผู้หญิง (ต่างจากปัจจุบันที่มักเป็นงานของผู้ชายจิตใจหญิง) และนัตแต่ละตนจะมีการขับร้อง การฟ้อนรํา ที่มีเพลงและเครื่องดนตรีเฉพาะตน

ในวัดเจดีย์ชเวสิโกง เมืองพุกาม มีการสร้างรูปนัตแกะสลักจากไม้ขนาดเท่าหุ่นกระบอกที่มีครบอยู่ 37 ตน เพียงแห่งเดียว ซึ่งแต่ละตนต่างแต่งตัวด้วยอาภรณ์หลากสี ตั้งอยู่บนฐานชุกชีในวิหารยาวประมาณ 4 ห้อง มีนัตเพียงคนเดียวที่มีขนาดเท่าคนจริง สวมเครื่องทรงกษัตริย์ซึ่งคือพระอินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าของนัตทั้งหมด

ส่วนในหนังสือเที่ยวเมืองพม่าของ ไพรัตน์ สูงกิจบูลย์ กล่าวถึงนัตที่มีเพียง 37 ตน โดยในช่วงสมัย อาณาจักรพุกามเหลือนัตอยู่เพียง 22 ตน และได้เพิ่มขึ้นในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่ออีก 15 ตน

เหตุที่ต้องกําหนดให้นัตมี 37 ตน เข้าใจกันว่าเป็นเพราะถือเอาจํานวน 37 เป็นเลขมงคล ตรงกับโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ธรรมที่เกื้อกูลแก่การตรัสรู้ นอกจากนี้เลข 37 ยังตรงกับองค์ความรู้ของพม่าหลายแขนง เช่น ทาส 37 ดุริยางค์ 37 ทํานองเพลง 37 ดาบ 37 ทวน 37 วิธีบังคับม้า 37 และกระบวนพาย 37 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นัตของพม่าแบ่ง ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ นัตพุทธ นัตใน และนัตนอก

“นัตพุทธ” คือนัต 37 ตน ที่ระบุไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาดังกล่าวแล้วข้างต้น

“นัตใน” หมายถึงนัต 37 ตน ที่ถูกพระเจ้าอโนรธามังช่อกําหนดให้อยู่เฉพาะในเขตกําแพงพระเจดีย์ชเวซีโข่ง เมืองพุกาม ตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระเจ้าอโนรธามังช่อทรงอัญเชิญพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากมอญผ่าน ชินอรหันต์เถระ และรับสั่งให้ประชาชนเลิกบูชานัต นัตบางตนมีชื่ออยู่ทั้งในคัมภีร์ศาสนาพุทธและพราหมณ์ ซึ่งมี 15 องค์ เช่น ท้าวจาตุมหาราช (นัตประจําทิศทั้งสี่) และพระอิศวร เป็นต้น

นัตหลายตนถือเป็นนัตท้องถิ่นพม่า มีด้วยกัน 22 ตน เช่น มะจี ปิ่งซ่องนัต (นัตรักษาต้นมะขาม) ชิงผยูชิงนัต (เจ้าช้างเผือก) และมยิงผยูชิงนัต (เจ้าม้าขาว) เป็นต้น นัตใน ส่วนใหญ่จึงเป็นนัตท้องถิ่นรวมกับนัตที่มาจากอินเดีย

เทพทันใจ
สักการะ “เทพทันใจ” (ภาพจาก เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ https://www.youtube.com/watch?v=PPYbHFhSmrI)

“นัตนอก” เป็นนัต 37 ตน ที่อยู่นอกกําแพงพระเจดีย์ชเวซีโข่ง หนังสือส่วนใหญ่ระบุชื่อเป็นภาษาพม่า ทั้งอ่านยากและไม่รู้ความหมาย ในหนังสือหน้าต่างสู่โลกกว้าง มีการแปลชื่อผีนัตที่ได้อรรถรสแบบละคร หรือนิยายดี จึงขอยืมสํานวนแปลมาเพื่อให้ได้บรรยากาศ ดังนี้

ท้าวสักกะ (ตะจามิน) มินมหาคีรี (งะตินเด) เจ้านางหน้าทอง (ชเวเมียตหน่า) นางงามสามเวลา เจ้านางผิวขลุ่ย เจ้าสีน้ำตาลแห่งทิศใต้ เจ้าสีขาวแห่งทิศเหนือ เจ้าฉัตรขาว พระมารดาหลวง (ของเจ้าฉัตรขาว) เจ้าทั้งมวลแห่งปะเยมมา เจ้าเทพทองใหญ่ เจ้าเทพทองน้อย เจ้าปู่แห่งมัณฑะเลย์ นางขาโก่ง ชายชราข้างต้นกล้วยเดี่ยว เจ้าสิทธู เจ้าหนุ่มแห่งชิงช้า เจ้าผู้กล้าหาญแห่งจ่อส่วย กัปตันของกองทัพใหญ่แห่งอังวะ

นักเรียนนายทหารหลวง นางทองคํา (มารดาของนักเรียนนายทหารหลวง) เจ้าแห่งช้างห้าเชือก เจ้าแห่งความยุติธรรม หม่องโปตู ราชินีแห่งวังตะวันตก เจ้าแห่งช้างเผือก นางตัวงอ นอระธาทอง เจ้าอองดินผู้กล้าหาญ เจ้าขาวหนุ่มน้อย เจ้าเณร ตะเบ็งชเวตี้นางแห่งทิศเหนือ เจ้าแห่งมินกาวงแห่งตาวน์งู เลขานุการหลวง และกษัตริย์แห่งเชียงใหม่ (พระเจ้าเมกุฏิ) ปัจจุบัน คนพม่าไม่นิยมเรียก ยวนปะหยิ่นนัต แล้ว แต่เรียกโกชานปีญนัต กลายเป็นผีฉานเก้าหัวเมืองแทน

นัตนอก 37 ตน ถือเป็นนัตท้องถิ่นที่อยู่คู่สังคมพม่ามาช้านาน และมีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตของคนพม่ามากที่สุด เป็นนัตกลุ่มที่ยังคงได้รับการกราบไหว้บูชาเสมอมา และส่วนใหญ่เป็นนัตที่นิยมอัญเชิญลงประทับทรง ยกเว้น ตะจามิง (Thagyamin) หรือพระอินทร์เท่านั้น ที่ไม่มีการประทับทรงและเป็นนัตเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นเทพ

นอกจากนั้นอีก 36 ตน เป็นผีตายโหง หากแยกตามเพศ เป็นชาย 26 หญิง 10 แยกตามฐานันดร เป็นกษัตริย์ 10 ราชบุตรราชธิดา 6 พระมเหสี 6 อํามาตย์และข้าราชบริพาร 8 พ่อค้าและคนยากจนอนาถา 6 แยกตามชนชาติ พม่า 28 มอญ 2 แขก 2 ไทใหญ่ 1 ไทยวน 1 (เข้าใจว่าเป็นพระเจ้าเมกุฏิ เจ้าเมืองเชียงใหม่ สิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิดขณะเป็นองค์ประกันอยู่ในพม่า) และเป็นพราหมณ์ไม่ระบุเชื้อชาติ 2

แยกตามสถานภาพขณะครองสมณเพศ เป็นภิกษุ 1 สามเณร 2 แยกตามลักษณะการตาย ถูกฆ่าตาย ฆ่าตัวตาย สัตว์ร้ายขบกัด และตรอมใจตาย 22 ตายด้วยพิษไข้ 11 ตายเพราะเมาฝืนและเหล้า 2 ตายด้วยโรคเรื้อน 1 แยกตามถิ่นกําเนิด เมืองพุกาม 12 อังวะ 8 ตะกอง มินดง ตองอู เมืองละ 3 เชียงใหม่ สะเทิม ปิงยะ อุกกะลาปะ ปูแต๊ะ กะตู และปิงแล เมืองละ 1 ตน

ปัจจุบัน นัตในคติความเชื่อของพม่าทั้ง 3 กลุ่ม กลุ่มละ 37 ตน รวมแล้ว 111 ตน ส่วนที่เป็นนัตนอก ซึ่ง ผู้คนนิยมบูชาและเชิญประทับทรง ปัจจุบันมีจํานวนเกินกว่าที่ระบุอยู่ในสารบบ 37 ตน ทั้งนี้เพราะในปัจจุบัน คนพม่าส่วนใหญ่นับถือนัตตามความนิยม ออกจะดูเป็นอิสระจากสังคมซึ่งกําหนดให้เชื่อถือตามประเพณี การนับถือนัตจึงเป็นความนิยมส่วนบุคคล เพราะช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะตนและเฉพาะกรณี

อย่างไรก็ตาม นัตที่นับถือและมีการเข้าประทับทรงส่วนใหญ่เป็นนัตนอก และในจํานวนนัตนอกหลายตนที่อยู่นอกสารบบนัตหลวง ที่เพิ่มจํานวนขึ้นตามกระแสสังคม นัตเหล่านี้บางตนได้รับความนิยมกราบไหว้ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่านัตที่อยู่ในสารบบ ซึ่งนัตนอกในสารบบบางตน แทบจะไม่มีผู้รู้จัก อย่างไรก็ตาม นัตซึ่งเป็นที่นิยมกราบไหว้บูชาของคนพม่า ในปัจจุบันจึงเรียกได้ว่า เป็นนัตที่เข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง

นัตนอกที่คนพม่ารู้จักกันเป็นอย่างดี คือ มินมหาคีรี ตลอดจนเครือญาติ ได้แก่ ชเวนะเบ (เมีย) ชเวเมียต หน่า (น้องสาวคนโต) โตงปั่งหละ (น้องสาวคนเล็ก) ลูกชาย 2 ตน และ ชิงแนมิ (หลานสาวซึ่งเป็นลูกน้อง สาวคนเล็ก) รวมกันเป็นนัตตระกูลมินมหาคีรีทั้งหมด 7 ตน ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี มินมหาคีรี เป็นนัตหลวงที่มีตํานานเล่าย้อนไปถึงสมัยพุกาม ยุคแรกก่อนพระเจ้าอโนรธามังช่อเสด็จขึ้นครองราชย์

มินมหาคีรีเกิดที่เมืองตะกอง ทางพม่าตอนเหนือ ชาวพม่าทุกระดับชนชั้นเคารพบูชามินมหาคีรี ที่ถือเป็นนัตหลวง และมีฐานะสูงสุดในบรรดานัตหลวงเดิมทั้ง 36 ตน อย่างสูงสุด

กษัตริย์พม่าทุกพระองค์ที่จะขึ้นครองราชย์จะต้องเดินทางไปเซ่นสรวงบูชา เพื่อขอคําชี้แนะในการปกครองบ้านเมือง รวมทั้งขอให้ช่วยค้ำจุนราชบัลลังก์เสริมบุญญาบารมี กระทั่งมีโคลงกล่าวสดุดีภูเขาโปปาที่ประทับของมินมหาคีรี ชื่อว่า โคลงโปปานัตคีรี (โปปานัตต่องลิงกา)

วัดตุงคาลัท บนยอดเขา โปปา
“วัดตุงคาลัท” (Taung Kalat Temple) บนเขาโปปา (Popa)

ต่อมา ในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ (Anawrahta ครองราชย์ พ.ศ. 1587-1620) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ พระองค์แรกที่สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อาณาจักรพม่า ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พุกาม ทรงได้รับความช่วยเหลือจากชินอรหันต์ พระเถระมอญ ผู้อัญเชิญพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากเมืองสะเทิมของมอญสู่พุกาม เพื่อแทนที่พุทธศาสนานิกายอารี ตลอด จนลัทธิฤาษีชีพราหมณ์ ที่ประพฤตินอกรีต อีกทั้งให้ยกเลิกพิธีบูชานัตที่เขาโปปา (Popa)

โปปา (Popa) มีรากมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ดอกจําปา” คงเนื่องจากในอดีตบริเวณภูเขาลูกนี้มีต้นจําปาขึ้นอยู่เป็นจํานวนมาก จึงได้ชื่อว่า “ภูเขาดอกจําปา” เขาโปปามีความสูง ประมาณ 4,981 ฟุต อยู่ห่างจากเมืองพุกามไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 50 กิโลเมตร ภูเขาแห่งนี้เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ลาวาภูเขาไฟสร้างตัวเองสูงตระหง่านโดดเด่นกว่าพื้นที่โดยรอบ

เขาโปปาได้รับการกล่าวถึงในบันทึก ประวัติศาสตร์พม่าตั้งแต่ในยุคแรกของการเลือกชัยภูมิสร้างเมืองพุกาม คนพม่าเชื่อว่าเขาโปปาแห่งนี้เปรียบเสมือน “เขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาล” รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อกับอีกมิติหนึ่งได้ อันเป็นที่สถิตของเหล่า “นัต” หรือ ที่คนพม่าเรียกว่า “มินนัต”

นอกจากนี้ บนยอดเขาโปปายังเป็นที่ตั้งของ “วัดตุงคาลัท” (Taung Kalat Temple) วัดสําคัญแห่งหนึ่ง ของเมืองพุกาม เป็นวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามากแห่งหนึ่ง บุคคลที่ต้องการขึ้นไปยังวัดจะต้องเดินเท้าขึ้นไปตามทางเดินขึ้นบันไดทั้งสิ้น 777 ขั้น

พระเจ้าอโนรธามังช่อรับสั่งให้รวบรวมนัตทั้งหลายมาไว้ที่พระเจดีย์ชเวซีโข่งให้ทําหน้าที่เฝ้าพระเจดีย์แทน การประทับอยู่ที่เขาโปปา พร้อมกันนั้นยังกําหนดให้ตะจามิง (พระอินทร์) ขึ้นเป็นประมุขของนัตทั้งหลาย ลดฐานะมินมหาคีรีให้เป็นรองตะจามิง เป็นการเปลี่ยนความหมายของนัตในหมู่ชาวบ้าน จากเดิมที่เคยนับถือมินมหาคีรี ซึ่งเป็นนัตท้องถิ่นอย่างสูงสุด ถูกแทนที่ด้วยตะจามิง (พระอินทร์) นัตพราหมณ์ต่างถิ่น

ดังนั้น จากเดิมที่มีนัต 36 ตนจึงกลายเป็น 37 ตน นัตท้องถิ่นที่เคยมีหน้าที่ดูแลสุขทุกข์ของชาวบ้านโดยตรง กลายเป็นผู้ดูแลพระศาสนาแทน นอกจากนี้ พระเจ้าอโนรธามังช่อได้รับสั่งให้ทําลายศาลนัตทั้งหลายตามใต้ต้นไม้และในบริเวณหน้าบ้านชาวบ้านชาวเมืองทั้งหมด จํากัดพื้นที่ให้นัตไปรวมกันไว้ที่เดียว เปลี่ยนความเชื่อชาวบ้านที่เคยพึ่งพานัตมาพึ่งพิงพระพุทธศาสนาแทน

พระเจ้าอโนรธามังช่อทรงพยายามจํากัดความเชื่อเรื่องนัตในหมู่ชาวบ้าน แต่ก็ไม่ประสบความสําเร็จนัก เนื่องจากความเชื่อถือเรื่องนัตหยั่งรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านยังเชื่อว่า นัตสามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตประจําวันของตนได้ดี จึงแอบบูชานัตกันในบ้านเรือน โดยรับเอามินมหาคีรีมาอยู่ที่ในบ้านเรือนของแต่ละคน โดยเชื่อกันว่านัตจะคอยช่วยปกป้องคุ้มครองบ้านเรือนและคนในครอบครัว

มินมหาคีรีจึงเปลี่ยนหน้าที่จากผู้ดูแลบ้านเมืองมาเป็นผู้ดูแลบ้านเรือน นัตจึงไม่ได้สูญสลายไปตามที่พระเจ้าอโนรธามังช่อทรงต้องการ แต่กลับกระจายไปทั่วทุกหนแห่งและอยู่ใกล้ประชาชนมากกว่าเดิม

ความเชื่อเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ของนัตมีอยู่ในผู้นําพม่ามาทุกยุคสมัย เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อทรงนําศาสนา พุทธนิกายเถรวาทจากมอญเข้าสู่พม่า แม้ว่าพระเจ้าอโนรธามังช่อจะทรงสั่งห้ามบูชานัตเด็ดขาด จํากัดนัตให้อยู่ในพื้นที่เฉพาะ เปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของนัตให้อยู่ภายใต้ร่มเงาพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องนัตจึงถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ นัตถูกยกระดับให้เป็นนัตหลวง แต่การสั่งห้ามบูชานัตนั้นไม่ประสบความสําเร็จโดยสิ้นเชิง

หนั่นไกรแหม่ด่อ ผีนัต นัต พม่า
หนั่นไกรแหม่ด่อ (ปะคูแหม่ด่อ) หรือ พะโคแหม่ด่อนัต ที่คนไทยเรียกว่า พระแม่นันไกร-แม-ด่อ นัตในวงศาของพม่าตนหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากตำนานราชวงศ์เมืองหงสาวดี (พะโค) ของมอญ

ดังจะเห็นว่า กษัตริย์พม่าองค์ต่อ ๆ มาก็ยังคงเหลือความเชื่อทํานองนี้ประปรายเรื่อยมา ดังเช่นในสมัยพระเจ้ามินดง เมื่อพระเจ้ามินดงทรงสั่งรื้อศาลนัตที่อาละวาดทําร้ายผู้คนแห่งหนึ่งทิ้งไป ต่อมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อพระองค์ทรงพระประชวรอย่างหนัก หมอหลวงถวายการรักษาอย่างไรก็ไม่หาย

ข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าจึงลงความเห็นว่า คงเป็นด้วยถูกนัตที่พระเจ้ามินดงสั่งให้รื้อศาลมาทําร้าย ด้วยยังไม่ได้ไปเกิดใหม่ดังที่พระเจ้ามินดงทรงยกขึ้นมาอ้างเพื่อหาเหตุให้รื้อศาล เหล่าข้าราชบริพารจึงทําศาลขึ้นอย่างเดิม พระเจ้ามินดงก็ทรงหายพระประชวร เป็นอันว่าพระเจ้ามินดงต้องทรงยอมจํานนแก่นัต เพราะอำนาจความเชื่อที่หยั่งรากลึก

ความเชื่อเหล่านี้ดูเหมือนจะค่อย ๆ ลดลงในราชวงศ์พม่า แต่กลับมาพอกพูนเพิ่มขึ้นในยุครัฐบาลทหารครองเมืองเมื่อไม่นานมานี้ นายพลหม่องเอ นายพลคิ่นยุ้น นายพลโซลวิน กระทั่งนายพลอาวุโสตานฉ่วย ต่างก็เชื่อถือเรื่องทํานองนี้ด้วยกันทั้งนั้น ว่ากันว่าเมื่อหมอดูประจําตัวทํานายทายทักชะตาเมืองว่าจะมีพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก เพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัย ถึงขนาดย้ายเมืองหลวงก็ต้องทํามาแล้ว

คนรู้จักคนหนึ่งที่ผู้เขียนเคารพคุ้นเคย ชื่นชอบทางจับยามสามตา และฤกษ์พานาที ต้องการเดินทางไปประกอบพิธีครอบครูหมอดูยังประเทศพม่า เมื่อรู้ว่าผู้เขียนและคณะจะเดินทางไปพม่าจึงชวนให้รอไปพร้อมกัน แต่พวกเราเห็นควรที่จะรีบเดินทางเสียก่อน หากร่วมเดินทางไปกับเขาด้วยหมายความว่าเราต้องเข้าร่วมพิธีครอบครูพม่า 1 วันเต็ม

แต่ที่รู้สึกหนักใจมากกว่านั้นก็เรื่องฤกษ์ยามที่เคร่งครัด ลําพังผู้เขียนซึ่งออกจะมีบุคลิกค่อนข้างเฉยเมยเรื่องไสยศาสตร์คงไม่ได้รับผลกระทบอะไรนัก แต่สําหรับผู้อ่อนอาวุโสกว่าหรือคุณลุงคุณป้าที่โอนอ่อน ผ่อนตาม มักจะได้รับคําแนะนําให้ทําพิธีก่อนออกจากบ้าน เช่น ก้าวเท้าออกจากบ้านด้วยเท้าข้างไหน กี่โมง กี่นาที หากเป็นการเดินทางครั้งสําคัญ จะต้องจัดอาหารหวานคาว ดอกไม้บูชา ทําบุญตักบาตร จุดธูปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 8 ทิศ ทิศละ 8 ดอก และรอกระทั่งธูปมอด

การบอกกล่าวขอขมา การเคารพนบนอบเจ้าที่เจ้าทาง ให้เกียรติคนที่มาก่อนย่อมเป็นมงคลส่งให้ บุคคลนั้นน่ารักน่าใคร่ มีที่พึ่งทางใจ สมองพลอยสดใส ร่างกายตอบสนอง และเดินทางราบรื่นปลอด โปร่ง หากควันธูปทั้ง 64 ดอก ไม่รมดวงตาพร่ามัวจนเดินไปให้เดินชนสิ่งกีดขวางเสียก่อน จะว่าไปแล้ว การมีสารบบนัตชัดเจนอย่างพม่ายังดีเสียกว่าการนับถือพุทธผสมปนเปไปกับพราหมณ์และผีที่ไร้รูปแบบ มันเป็นความรู้สึกท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากจะบรรยายเสียจริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ ผีนัต ที่พึ่งพิงประจำบ้านพม่า” เขียนโดย องค์ บรรจุน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2562