ความหมายวรรคต่อวรรค คำต่อคำ ชื่อเต็ม “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงของไทย

พระอินทร์ สวรรค์ ดาวดึงส์ ในสมุดภาพไตรภูมิ ชื่อเต็มกรุงเทพฯ ชื่อกรุงเทพมหานคร
พระอินทร์และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในสมุดภาพไตรภูมิ ชื่อเต็มของกรุงเทพฯ เกี่ยวข้องกับพระอินทร์ค่อนข้างมาก (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี)

กรุงเทพมหานคร (Krung Thep Maha Nakhon หรือ Bangkok Metropolitan) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “กรุงเทพฯ” (Bangkok) นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองบางกอกขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่แทนกรุงธนบุรี โดยทรงยกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325

รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามราชธานีที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ ปรากฏในหนังสือ “พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๑” ฉบับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระ นามว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

Advertisement

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้แปลงสร้อยนามท่อน บวรรัตนโกสินทร์” เป็น อมรรัตนโกสินทร์” นอกนั้นคงไว้ตามเดิม และใช้สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน คือ

“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” 

สำหรับคำอ่านหรือการออกเสียง ชื่อเต็มกรุงเทพฯ เว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุไว้ดังนี้

กฺรุง-เทบ-มะ-หา-นะ-คอน อะ-มอน-รัด-ตะ-นะ-โก-สิน มะ-หิน-ทะ-รา-ยุด-ทะ-ยา มะ-หา-ดิ-หฺลก-พบ นบ-พะ-รัด-ราด-ชะ-ทา-นี-บู-รี-รม อุ-ดม-ราด-ชะ-นิ-เวด-มะ-หา-สะ-ถาน อะ-มอน-พิ-มาน-อะ-วะ-ตาน-สะ-ถิด สัก-กะ-ทัด-ติ-ยะ-วิด-สะ-นุ-กำ-ปฺระ-สิด

เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ดังนี้ Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharaayuthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonpiman-Awatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit

กรุงเทพฯ ยังถือครองตำแหน่ง “ชื่อสถานที่” และชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก โดย Guinness World Records หรือ “กินเนสบุ๊ก” ให้รายละเอียดว่า ชื่อเมืองหลวงของไทยมีจำนวนถึง 168 ตัวอักษร

ถอดความหมาย ชื่อเต็มกรุงเทพมหานคร

ใน ชื่อเต็มกรุงเทพฯ คำทุกคำล้วนมีความหมายสะท้อนตัวตนของเมือง แฝงนัยทางการเมืองที่ส่งเสริมอำนาจการปกครองของผู้สถาปนา คือ รัชกาลที่ 1

จากการใช้คำจากภาษาบาลี-สันสกฤต จำนวนมากมา “สมาส-สนธิ” กันจนได้นามยาวเหยียด จึงไม่แปลกที่คนจำนวนไม่น้อยจะจำชื่อเต็มกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะทั้งยาวและฟังไม่รู้ความ (หมาย) คือเป็นศัพท์แสงที่เพ่งดูแล้วใช่จะทราบทันทีว่าความหมายคืออะไร

เพื่อให้รู้จัก “ตัวตน” ของกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น เราถอดความหมายชื่อเต็มเมืองหลวงแบบ วรรคต่อวรรค คำต่อคำ ได้ดังต่อไปนี้

“กรุงเทพมหานคร”  หมายถึง พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร หรือเมืองแห่งเทวดา (City of Angels) อันกว้างไหญ่ไพศาล โดย มหา- แปลว่า ใหญ่, ยิ่งใหญ่ ส่วน นคร แปลว่า เมืองใหญ่

อมรรัตนโกสินทร์” หมายถึง ที่สถิตของ “พระแก้วมรกต” หรือพระมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

โดย อมร- แปลว่า เทวดา, ความยั่งยืน/ไม่เสื่อมสูญ

รัตน- (รัตน์) แปลว่า แก้วอันประเสริฐ หรือสิ่งประเสริฐ และ โกสินทร์ หมายถึง พระอินทร์ (โกสิย + อินทร) และ แก้วอันประเสริฐของพระอินทร์ ก็คือ พระแก้วมรกต นั่นเอง

ทั้งนี้ บวร- ในนามเมืองเก่า แปลว่า ประเสริฐ/ล้ำเลิศ

“มหินทรายุธยา” หมายถึง นครที่ไม่มีใครรบชนะได้

โดย มหินท- หรือมหินท์ แปลว่าพระอินทร์เช่นกัน เมื่อสนธิกับ “อยุธยา” หรือ อยุทธ์ ซึ่งแปลว่า ไม่พ่ายแพ้, ปราบไม่ได้ มีการเปลี่ยนรูปคำเป็น ยุธยา จึงอาจแปลได้ว่า “เมืองพระอินทร์ที่ไม่สามารถเอาชนะได้” 

“มหาดิลกภพ” หมายถึง มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง

โดย ดิลก- แปลว่า เลิศ, ยอด, เฉลิม ภพ แปลว่า โลก, แผ่นดิน ไปจนถึงวัฏสงสาร

“นพรัตนราชธานีบูรีรมย์”  หมายถึง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ และน่ารื่นรมย์ยิ่ง

โดย นพรัตน- (นพรัตน์) มาจาก นพ- แปลว่า 9 กับ รัตน- (แก้วอันประเสริฐ) นั่นคืออัญมณี 9 อย่าง ได้แก่ เพชร, ทับทิม, มรกต, บุษราคัม, โกเมน, นิล, มุกดา, เพทาย และไพฑูรย์

ราชธานี มาจาก ราช- แปลว่า กษัตริย์หรือราชา กับ ธานี แปลว่า เมือง ราชธานีจึงเป็นเมืองของพระมหากษัตริย์ หรือพระเจ้าแผ่นดิน

ส่วน บูรีรมย์ มาจาก บูรี แปลว่า เมือง กับ รมย์ แปลว่า บันเทิง พึงใจ อาจแปลได้ว่า เมืองแห่งความรื่นรมย์

“อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน” หมายถึง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย หรือเป็นเมืองที่มีพระราชวังอันโอ่อ่าหลายแห่ง

โดย อุดม- แปลว่า มากมาย, บริบูรณ์ ราชนิเวศน์ มาจาก ราช- (ราชา) กับ นิเวศน์ แปลว่า ที่อยู่, บ้าน, วัง รวมกันเป็นพระราชวัง หรือที่ประทับของพระมหากษัตริย์

ส่วน มหาสถาน มาจาก มหา- (ใหญ่) กับ สถาน แปลว่า ที่ตั้ง

“อมรพิมานอวตารสถิต” หมายถึง วิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา หรือเป็นดุจวิมานของเทพอวตาร

โดย พิมาน แปลว่า ที่อยู่หรือที่ประทับของเทวดา อวตาร แปลว่า การแบ่งภาคมาเกิดในโลก (คือพระนารายณ์) ส่วน สถิต แปลว่า อยู่ หรือตั้งอยู่

“สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” หมายถึง ที่ซึ่งท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) พระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ หรือพระวิษณุกรรมสร้างขึ้นตามพระบัญชาของพระอินทร์

โดย สักกะ แปลว่า พระอินทร์  ทัตติย- มาจาก ทัต แปลว่า ให้, ให้แล้ว

วิษณุกรรม คือ พระวิศวกรรม หรือพระเวสสุกรรม เป็นเทพแห่งงานช่าง ผู้สร้างเครื่องไม้เครื่องมือ เป็น “นายช่างใหญ่” แห่งสวรรค์ รับใช้ท้าวสักกะ หรือพระอินทร์ ส่วน ประสิทธิ์ แปลว่า ความสำเร็จ

เมื่อรวบรวมความหมายทั้งหมดมาร้อยเรียงกัน ชื่อเต็มกรุงเทพฯ จะมีความหมายว่า

“พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร ที่สถิตพระแก้วมรกต นครที่ไม่มีใครรบชนะได้ งดงามมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมมาเนรมิตไว้”

เมื่อทราบดังนี้ การอ่าน ชื่อเต็มกรุงเทพฯ ด้วยความคิดว่า “ชื่ออะไรกันหนอ ทั้งยาว ทั้งไม่รู้เรื่อง” เห็นจะไม่มีอีกต่อไป…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. ระบบค้นหาคำศัพท์. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567. (ออนไลน์)

สำนักราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพมหานคร. จาก จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ 3 ฉบับที่ 31 ธันวาคม 2536. (ออนไลน์)

สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. 21 เมษายน 2564 ครบรอบ 239 ปี แห่งการสถาปณากรุงรัตนโกสินทร์.  21 เมษายน 2564. (ออนไลน์)

ศูนย์สารสนเทศกรุงเทพมหานคร. คำถามที่พบบ่อย : ที่มาของเครื่องหมายกรุงเทพมหานคร และ สัญลักษณ์พระอินทร์. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567. (ออนไลน์)

ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๑. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศเธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ที่วัดเทพศินินทราวาส. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์.

Guinness World Records. Longest place name. Retrieved June 5, 2024. From https://www.guinnessworldrecords.com/world-records/67273-longest-place-name


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน 2567