“พระแก้วมรกต” กับความนัยจากแนวคิด “จักรพรรดิราช” สมัยรัชกาลที่ 4

พระแก้วมรกต ทรงเครื่องสามฤดู
พระแก้วมรกตทรงเครื่องสามฤดู ภาพวาดบนผืนผ้าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้คณะราชทูตสยามเชิญไปถวายะระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งประเทศฝรั่งเศส (ภาพจากหนังสือพระแก้วมรกต, สำนักพิมพ์มติชน)

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประจำกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นจากหินสีเขียวมรกต ต่างจากพระพุทธรูปทั่วไปซึ่งจะนิยมสร้างจากวัสดุมีค่า เช่น เงิน ทอง สำริด ฯลฯ

จากตำนานพระแก้วมรกต ทำให้ทราบได้ว่าพระแก้วมรกตถูกสร้างขึ้นราว พ.ศ. 500 โดยมีพระนาคเสนะเถระ วัดอโศการาม อินเดีย เป็นผู้สร้าง ตามคติในขณะนั้นเชื่อว่าศาสนาจักรรุ่งเรืองด้วยรูปจำลองของพระพุทธเจ้า

พระรัตนปฏิมาหรือพระแก้วมรกต (ภาพจากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517

หากสร้างพระพุทธปฏิมาด้วยเงิน ทอง ก็เกรงว่าจะหนีไม่พ้นตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ ของมนุษย์ แล้วองค์พระพุทธอาจถูกทำลายหรืออาจสูญหายได้ในภายหลัง จึงเห็นว่าควรสร้างพระพุทธด้วยแก้วลูกประเสริฐ เหล่าคนบาปทั้งหลายจะได้มองไม่เห็นคุณค่าที่อยู่ภายในองค์พระ

หลังจากสร้างเสร็จ ได้มีการบูชาพระแก้วมรกตที่นครปาตลีบุตร กว่า 800 ปี สมัยพระเจ้าสิริธรรมกิตติเป็นสมัยมหากลียุค จึงมีผู้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังดินแดนลังกาทวีป

จากนั้นมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตไปอีกหลายเมือง เช่น กัมพูชา เมืองศรีอยุธยา เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพชร ปลายปี พ.ศ. 1979 สมัยพระมหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา พระแก้วมรกตถูกพบในสถูปเจดีย์ใหญ่เก่าองค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย เมื่อสถูปเจดีย์ต้องอสนีบาตพังลง จึงเห็นเป็นองค์พระพุทธรูปโบกปูนขาวปิดทองคำทึบทั่วทั้งองค์ ต่อมาจึงรู้ว่าภายในองค์พระพุทธรูปโบกปูนขาวปิดทองเป็นพระแก้วมรกต ก่อนอัญเชิญไปนครเวียงจันทน์ในเวลาต่อมา

หลังจากบูชาอยู่เมืองเวียงจันทน์ได้ 215 ปี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกกองทัพขึ้นไปปราบเมืองเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2321 พระแก้วมรกตได้รับการอาราธนาอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จากเมืองเวียงจันทน์มายังพลับพลาที่วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงแสดงสิทธิธรรมของพระองค์ในการครองราชสมบัติ อันมีรากฐานอยู่ที่การสืบสันตติวงศ์จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งในขณะนั้นขุนนางตระกูลบุนนาคมีอำนาจสูงส่ง และเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงในการเลือกผู้ที่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

เพื่อพิสูจน์สถานภาพที่สูงกว่าของพระองค์ในสิทธิธรรมที่มาจากพระชาติวุฒิ และพระบารมีในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำทางปัญญา จึงทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ตำนานพระแก้วมรกต สำหรับอาลักษณ์อ่านในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล เป็นพระราชนิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น

พระราชนิพนธ์เรื่องตำนานพระแก้วมรกตฯ ฉบับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายกำเนิดพระแก้วมรกตว่า ช่างลาวแถบเมืองเชียงแสนเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ มิใช่เทวดาสร้าง ดังนั้นจึงมิได้ทรงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระแก้วอมรกต”[1] ซึ่งหมายความว่าแก้วที่เทวดาสร้าง เป็นแก้วสำหรับอุปโภคของพระบรมจักรพรรดิราช และน่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการเรียก “พระแก้วอมรกต” ว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต”

การจะอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานในราชธานีของตน พระมหากษัตริย์แห่งเมืองนั้นต้องเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เหนือกษัตริย์อื่น ๆ ซึ่งหมายถึงการเป็น พระจักรพรรดิราช ทั้งยังกล่าวว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ มีมเหศรศักดานุภาพเป็นอันมาก

การจะรักษาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ไว้ได้ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องมีบุญญาภินิหารแก่กล้า และจะต้องเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งปวงเท่านั้น เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่และพระเดชพระคุณของราชวงศ์จักรี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า พระแก้วมรกต แสดงให้เห็นถึงการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระหว่างผู้มีอำนาจในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่โบราณ

แม้กรุงศรีอยุธยาจะเป็นมหานครขนาดใหญ่ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองนับพระเจ้าแผ่นดินที่ได้เสวยราชสมบัติถึง 33 พระองค์ ได้ขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เมืองเวียงจันทน์หลายครั้ง ก็หาได้พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ลงมาไว้ในพระนครไม่ จึงมีข้าศึกต่างประเทศมาประชิดถึงชานพระนครหลายครั้ง และมีเหตุต้องเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินต่างพระวงศ์ มีการแย่งชิงราชสมบัติ รบพุ่งกันกลางพระนคร จนถึงศักราช 1129 ปี เสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า

สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มีการอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากเมืองเวียงจันทน์เข้ามาบูชาในพระนคร ก็เกิดเหตุการณ์พระเจ้าแผ่นดินเผอิญบันดาลเสียสติไป ประพฤติวิปริตต่าง ๆ ทำให้สมณพราหมณาจารย์ ขุนนาง ข้าราชการ ราษฎร ได้รับความเดือดร้อนด้วยราชทัณฑ์อันมิควร จนต้องหนีเข้าป่า การที่พระเจ้าแผ่นดินเสียสติอารมณ์ไปนั้น เพราะบารมีพระเจ้าแผ่นดินทรงกำลังสิริของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมิได้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เปรียบเปรยถึงบารมีของพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า แม้พระแก้วมรกตจะถูกอัญเชิญมาในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่การที่ได้พระแก้วมรกตมานั้น ได้มาด้วยบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในสมัยกรุงธนบุรีพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงกำลังสิริของพระแก้วมรกตไม่ได้ แผ่นดินธนบุรีจึงเกิดความเดือดร้อนทั่วทั้งเมือง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงมีพระราชดำริว่า “พระพุทธรัตนปฏิมากรพระองค์นี้เป็นแก้วอย่างดีวิเศษ ไม่สมควรจะประดิษฐานอยู่ที่เมืองธนบุรีซึ่งเป็นเมืองน้อย เพราะเมืองธนบุรีนี้ขึ้นแก่กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยามหานคร…”

ใน พ.ศ. 2324 ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ ณ พระบุษบก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เท่ากับเน้นให้เห็นว่า ราชธานีที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่โดยพระราชวงศ์จักรีเท่านั้นที่คู่ควรกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้

ช่วงต้นรัชกาลที่ 1 ข่าวการผลัดแผ่นใหม่ของกรุงธนบุรีได้แพร่กระจายออกเป็นวงกว้าง ทำให้หลายประเทศเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะทำสงคราม จึงเกณฑ์กองทัพมาหวังจะทำสงครามกับรัชกาลที่ 1 แต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่พระเดชานุภาพฤทธาภินิหาร เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พม่าที่เป็นข้าศึกจับได้และคิดกบฏต่อแผ่นดินก็เผอิญพ่ายแพ้พระบารมีของพระองค์

แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อนุเจ้าเมืองเวียงจันทน์คิดกบฏก็มิอาจต้านทานต่อสู้บุญบารมีได้ก็พ่ายแพ้ถึงแก่พินาศ ซึ่งในแผ่นดินของพระองค์ได้มีการคิดกบฏหลายครั้ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่พระเดชานุภาพ ทำให้ก่อการไม่สำเร็จ และถูกจับกุมตัวได้ก่อนที่จะก่อการใด ๆ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างความเชื่อผ่านพระราชนิพนธ์ของพระองค์ว่า พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปคู่บารมีของพระบรมราชจักรีวงศ์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรงเปลี่ยนสถานที่จัดพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมาเป็นพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ระยะหลัง ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์ของพระแก้วมรกตเข้ากับบุญญาธิการของพระบรมราชวงศ์ได้ปรากฏแก่มหาชนเป็นระยะ ดังจะเห็นได้จากพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงของพระแก้วมรกตที่จัดขึ้นปีละ 3 ครั้งตามฤดูกาล

การเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตทุกครั้ง พระมหากษัตริย์จะทรงประกอบพระราชพิธี และเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตด้วยพระองค์เอง จึงเกิดเป็นภาพลักษณ์ของพระแก้วมรกตว่า เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญคู่บารมีของราชวงศ์จักรี ทั้งยังได้รับการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับชมทุกครั้งที่มีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต

พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงแสดงถึงบุญบารมีของพระบรมราชจักรีวงศ์ ว่า เป็นดั่งบารมีขององค์จักรพรรดิราช จึงสมควรแก่การมีพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปประจำราชวงศ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ใน “หมายรับสั่งสมัยกรุงธนบุรี” และ “จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี” สมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการบันทึกว่า เมื่อครั้งทรงเฉลิมพระนามราชธานี ยังคงความหมายเดิมของพระพุธรูปที่ทำมาจาก “แก้วอมรกต” เอาไว้ในพระนามราชธานีแห่งใหม่คำว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาบรมราชธานี” เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากร

อ้างอิง :

พระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “เส้นทางอัญเชิญพระแก้วมรกต”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 24 ฉบับที่ 1: (พฤศจิกายน 2545)

สายชล สัตยานุรักษ์. “พระแก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้าง ถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25 ฉบับที่ 9:  (กรกฎาคม 2547)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562