ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2545 |
---|---|
ผู้เขียน | พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ |
เผยแพร่ |
ตำนานพระแก้วมรกต แต่งโดยพระพรหมปัญญา เป็นภาษาบาลี มีลักษณะเรื่องเป็นตำนานว่า “พระแก้วมรกต” สร้างขึ้นในอินเดีย และถูกนำไปในที่ต่างๆ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความเห็นว่า ที่เป็นข้อเท็จจริงน่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ พระแก้วมรกต ถูกพบในเจดีย์ที่เมืองเชียงราย สอดคล้องกับรูปแบบทางศิลปกรรมว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในเขตล้านนาแถบนี้
ตำนานพระแก้วมรกต เล่าว่า ได้มีการนำมาไว้ที่เมืองเขลางค์นคร 32 ปี แล้วนำไปไว้ที่เมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช จนตอนปลายราชวงศ์มังราย พระไชยเชษฐาได้เสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่ ไม่นานเมื่อพระเจ้าโพธิสารพระราชบิดาที่เมืองหลวงพระบางสวรรคต พระไชยเชษฐาจึงเสด็จกลับ แล้วนำพระแก้วมรกตและพระพุทธรูปสำคัญอื่นๆ ไปไว้ที่หลวงพระบางด้วย
ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จลงมาครองเมืองเวียงจัน “พระแก้วมรกต” ได้รับการนำมาประดิษฐานที่เมืองเวียงจัน จนกระทั่งได้มีการอัญเชิญกลับมาในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระแก้วมรกต เส้นทางจากเชียงรายมาลำปาง
ตำนานกล่าวว่า ตั้งใจอัญเชิญพระแก้วมรกตไปเชียงใหม่ แต่มาถึงกลางทางที่ เมืองชยสัก ช้างที่ประดิษฐานไม่ยอมไป แต่กลับมาที่ เขลางค์นคร (ลำปาง) เส้นทางที่พระแก้วมรกตเสด็จจากเชียงรายมาลำปางที่ควรพิจารณาคือ หา “เมืองชยสัก” เป็นจุดสำคัญ
โดยชื่อภาษาบาลีว่า ชยสัก น่าจะตรงกับคําพื้นเมืองว่า แช่สัก หรือ แจ้สัก ซึ่งชื่อบ้านนามเมืองขึ้นต้นว่าแจ้หรือแช่นี้ มักจะพบในบริเวณลุ่มแม่น้ำวังเป็นส่วนมาก และเป็นเส้นทางอีกเส้นหนึ่งจากเชียงรายที่มายังลำปางได้
เส้นทางลุ่มแม่น้ำวังปรากฏในตำนานพระแก่นจันทร์ เล่าเรื่องในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ว่า ในสมัยนั้นมีผู้นำ “พระแก่นจันทร์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญเมืองสุวรรณภูมิ ในสมัยที่เมืองสุวรรณภูมิมีศึกได้มีผู้นำมาไว้ที่ เมืองแจ้ตาก ต่อมาที่เมืองแจ้ตากมีภัยพิบัติ พระภิกษุได้อัญเชิญมาไว้ที่ เมืองแจ้ห่ม แห่งแม่น้ำวัง ต่อมามีผู้นำมาไว้ที่สบสอย ต่อมามีผู้นำมาไว้ที่บ้านพลูแขวงเมืองแจ้ตาก ก่อนจะมาอยู่ที่วัดหนองบัวแขวงเมืองพะเยา แล้วพระยุธิษฐิระได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดดอนชัยเมืองพะเยา
ชื่อต่างๆ ที่ปรากฏในตำนานพระแก่นจันทร์นี้ เป็นเส้นทางตั้งแต่เมืองตาก เข้าสู่เส้นทางแม่น้ำวัง ซึ่งผ่านเมืองลำปาง ชื่อ แจ้ตาก ที่อยู่ในตอนท้ายพ้องกันกับชื่อสาขาของแม่น้ำวัง ชื่อแม่ตากอยู่เหนือ เมืองแจ้ห่ม ด้วย ดังนั้นในการพิจารณาตำแหน่ง เมืองแจ้สัก จึงได้ตรวจดูชื่อบ้านเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำวังเป็นสำคัญ
ความจริงชื่อ แจ้สัก ปรากฏเป็นชื่อตำแหน่งขุนนางที่พบอยู่ในเอกสารล้านนา ว่าเป็นตำแหน่ง เจ้าเมืองแจ้สัก แต่ไม่พบว่าอยู่ที่ใด ทั้งในเขตลุ่มแม่น้ำวังและที่อื่นๆ ไม่พบชื่อนี้ในแผนที่ คงมีแต่บ้านป่าสัก แต่ชื่อบ้านป่าสักก็ดูจะเป็นชื่อที่พบได้ทั่วไปในเขตล้านนา มิใช่เฉพาะที่พบที่ลุ่มแม่น้ำวังแห่งเดียว
แต่บ้านป่าสักที่ลุ่มแม่น้ำวัง เมื่อพิจารณาที่ตั้งที่ลงในแผนที่ว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องลงใต้เล็กน้อยกับอำเภอวังเหนือ บ้านป่าสักแห่งนี้ก็ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ควรจะเป็น เมืองแช่สัก หรือ แจ้สัก ได้ดีที่สุด เพราะบริเวณนี้คือที่อำเภอวังเหนือ เมื่อมาจากเชียงรายถึงเมืองพานก็จะเป็นเส้นทางที่ข้ามภูเขาเข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงของเมืองเชียงใหม่ ทางอำเภอดอยสะเก็ด
ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการนำ “พระแก้วมรกต” เดินทางจากเชียงราย ถึงบริเวณเมืองพานที่เป็นอำเภอพานปัจจุบัน เมื่อข้ามช่องเขาก็จะถึงต้นแม่น้ำวัง มาถึง แจ้สัก หรือ แช่สัก ที่ควรตั้งอยู่บริเวณอำเภอวังเหนือ ที่ยังหลงเหลือชื่อบ้านที่ชื่อ บ้านป่าสัก หลังจากนั้นก็เดินตามเส้นทางแม่น้ำวังใต้ถึงเมืองเขลางค์นคร ประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้ที่นั่น
อย่างไรก็ดีเส้นทางพระแก้วมรกตเส้นนี้ หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่าเป็นเส้นทางเล็ก ดังนั้นเส้นทางใหญ่ที่ใช้กันตามปกติจากเชียงรายมาเขลางค์นคร ควรเป็นเส้นทางล่องใต้ผ่านเมืองพาน สู่เมืองพะเยา ผ่านเมืองงาว เข้าลำปาง
จากเขลางค์นคร-เชียงใหม่
เส้นทางที่รู้จักกันทั่วไป เป็นการคิดค้นทางตัดข้ามดอยขุนตาล ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ปรากฏในเรื่องราวตั้งแต่พระยายีบาหนีออกจากเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน มาหาพระยาเบิกผู้น้องที่เขลางค์นครหลังจากเสียเมืองให้แก่พระเจ้ามังราย
หนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงเส้นทางเสด็จรอบเขตแคว้นล้านนาของพระเจ้าเมกุฏิผ่านเมืองต่างๆ ในตอนที่กล่าวถึงเส้นทางจากเขลางค์นครไปยังเมืองลำพูนนั้น ปรากฏชื่อเมืองว่า เวียงตาน ระหว่างทาง จากชื่อเมืองแสดงว่าตั้งอยู่ที่ น้ำแม่ตาล ที่ไหลลงมาจากดอยขุนตาล ประมาณตามเส้นทางรถไฟ ลงน้ำแม่วังใต้เขลางค์นคร
นอกจากนี้ได้พบร่องรอยของเมืองโบราณแห่งหนึ่งในเขตท้องที่อำเภอห้างฉัตร เมืองโบราณแห่งนี้อาจจะเป็น เวียงตาน ในเอกสารล้านนาด้วยก็ได้ คงมีช่องเขาใดช่องหนึ่งแห่งดอยขุนตาลลงน้ำแม่ทาในเขตจังหวัดลำพูน ซึ่งเมื่อผ่านช่องเขาตอนท้ายของดอยแปเมือง ก็จะเข้าเขตที่ราบท้องที่จังหวัดลำพูน เดินทางบนที่ราบโดยสะดวกถึงเมืองเชียงใหม่
จากเชียงใหม่-หลวงพระบาง
เส้นทางจากเชียงใหม่ไปได้หลายเส้นทาง โดยจะเดินทางไปยังเมืองสำคัญที่อยู่ริมแม่น้ำโขงก่อน แล้วจึงใช้เส้นทางที่สะดวกที่สุดตามลำน้ำโขง ล่องไปสู่เมืองหลวงพระบาง
เอกสารล้านนาเรื่องพระไชยเชษฐาเสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่นั้น เล่ารวบรัดว่า พระองค์เสด็จมายังเมืองเชียงแสนก่อน แล้วจึงเดินทางบกไปยังเมืองเชียงใหม่
จากเรื่องราวที่ปรากฏในเอกสาร พระองค์น่าจะเสด็จมาทางน้ำถึงเมืองเชียงแสนแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเดินทางถึงเมืองเชียงรายแล้ว เส้นทางใกล้ที่สุดและน่าจะใช้เป็นประจำคือ เส้นทางผ่าน เมืองพาน สู่ เมืองวัง (วังเหนือ) แล้วตัดข้ามเขาลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงทางดอยสะเก็ด เดินทางบนที่ราบสู่เมืองเชียงใหม่
และในขากลับ นำ “พระแก้วมรกต” ไปด้วย พระองค์ก็น่าจะเดินทางสวนกลับตามเส้นทางเดิม
เส้นทางสู่แม่น้ำโขงไปเมืองหลวงพระบางเส้นทางอื่นที่สำคัญคือที่ ท่านุ่น เหนือเมืองน่านทางห้วยโก๋น ผ่านเมืองหงสาของลาว ในเอกสารตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงว่าครั้งหนึ่ง พระเจ้าติโลกราชจะยกทัพไปตีเมืองหลวงพระบาง ตีได้ เชียงตืน ของน้อย ของหลวง ไปถึง แก่ง ชื่อทั้งหมดไม่ทราบที่ตั้ง แต่เป็นเส้นทางบกตามแม่น้ำโขงแน่นอน (ของน้อย ของหลวง แก่ง) โดยนัดพบกับนายทหารที่ยกไปทางเมืองน่าน ไปพบกันที่ ท่านุ่น แสดงว่าจาก ท่านุ่น ก็น่าจะเดินทางโดยทางน้ำไปยังเมืองหลวงพระบาง
อย่างไรก็ตาม เส้นทางแม่น้ำโขงจากเชียงแสน ตลอดถึงเมืองหลวงพระบาง ตามเส้นทางน้ำที่ใช้กันเป็นสามัญและที่รู้จักทั่วไป ดังปรากฏในตำนานเมืองทรายฟอง (ใต้เวียงจัน) ที่กล่าวถึงเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ในตำนานสุวรรณโคมคำยังกล่าวถึงการเดินทางตามแม่น้ำโขง จากเมืองพระนครหลวงในกัมพูชา ผ่านแก่งหลี่ผี ไปสู่เมืองสุวรรณโคมคำที่อยู่ปากแม่น้ำกก ในเขตท้องที่อำเภอเชียงแสนอีกด้วย
พระแก้วมรกต จากนครเวียงจัน-กรุงธนบุรี
พระแก้วมรกต ได้รับการอาราธนาอีกครั้งหนึ่งในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จากเมืองเวียงจันมายังพลับพลาที่วัดแจ้ง (ภายหลังคือวัดอรุณราชวราราม) โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า ได้อาราธนาจากเมืองเวียงจันข้ามมายังเมืองพานพร้าว ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง เดินทัพมาถึงเมืองสระบุรี
ในหมายรับสั่ง เรื่องโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกต ว่า เป็นขบวนเรือพระราชพิธีไปรอรับพระแก้วมรกตที่ท่าเจ้าสนุก หลังจากที่อัญเชิญมาโดยทางบก จากนั้นมีพิธีสมโภช 3 วัน 3 คืนแล้ว ขบวนเรือได้อัญเชิญเสด็จโดยทางน้ำ ประทับแรมที่ท่าพระราชวังหลวง ต่อมาประทับแรมที่ สามโคก ต่อมาถึง พระตำหนักบางธรณี กลางคืนมีจุดดอกไม้ไฟ
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยเรือพระราชพิธีร่วมกับขบวนเรือของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ที่ล่องมาจากท่าเจ้าสนุก อัญเชิญพระแก้วมรกตถึง กรุงธนบุรี ขึ้นสะพานป้อมต้นโพธิ์ปากคลองนครบาล อัญเชิญขึ้นเสลี่ยง ประกอบด้วยเครื่องสูง มายังโรงพิธี
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทราบเส้นทางชัดเจนว่า ขบวนพระแก้วมรกตได้เดินโดยทางบกมาถึงเมืองสระบุรี จากสระบุรีลงทางน้ำที่ท่าเจ้าสนุก ซึ่งเป็นท่าเรือของแม่น้ำป่าสัก อยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี หลังจากนั้นจึงมาแวะพักแรมที่ท่าแพพระราชวังหลวงพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นจึงมาจะพักแรมที่สามโคก จังหวัดปทุมธานี ต่อจากนั้นจึงถึงพระตำหนักบางธรณี ซึ่งเข้าใจว่าในปัจจุบันอยู่ตรงวัดตำหนักใต้ บางกะสอ สนามบินน้ำจังหวัดนนทบุรี
และที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้อาราธนาข้ามฟากโขงมายัง เมืองพานพร้าว ตรงข้ามเมืองเวียงจันนั้น น่าจะเป็นเมืองโบราณที่ปรากฏร่องรอยในภาพถ่ายทางอากาศ ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่มาก อยู่ตรงข้ามแม่น้ำโขงกับเมืองเวียงจันพอดี
ส่วนเส้นทางบกจากเมืองพานพร้าวมายังเมืองสระบุรี ไม่มีลายลักษณ์อักษรกล่าวชัดเจนว่า เสด็จมาทางใด ในที่นี้จะกล่าวโดยวิเคราะห์จากเอกสารเรื่องอื่นๆ ประกอบสภาพทางภูมิศาสตร์ แบ่งออกเป็นสองระยะคือ ระยะทางจากเมืองพานพร้าวมายังเมืองนครราชสีมาระยะหนึ่ง กับระยะทางจากเมืองนครราชสีมาถึงเมืองสระบุรีอีกระยะหนึ่ง
จากเมืองพานพร้าว-เมืองนครราชสีมา
จากเมืองพานพร้าวตรงข้ามเมืองเวียงจัน มีบ้านเมืองใกล้เคียงที่ปรากฏชื่อในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เรื่องพระวอเป็นอุปราชเมืองเวียงจัน เกิดขัดแย้งกับพระเจ้าล้านช้างพาผู้คนอพยพมาตั้งเมืองหนองบัวลำภู ไม่ยอมขึ้นกับเมืองเวียงจัน
เมืองหนองบัวลำภู เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน เป็นที่ตั้งจังหวัดหนองบัวลำภูที่แยกการปกครองท้องที่ออกไปจากจังหวัดอุดรธานี
หนองบัวลำภูอาจเป็นเมืองเดียวกับที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฯ กล่าวถึง คือ …ตำบลหนองบัวในจังหวัดล้านช้าง… อันเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประชวรไข้ทรพิษ เมื่อคราวร่วมกองทัพไปกับพระเจ้าบุเรงนอง ที่ยกทัพจะไปตีเมืองเวียงจัน
แต่ครั้งนั้นไม่ทราบว่า กองทัพจะผ่านเมืองนครราชสีมาหรือไม่ เพราะในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แมคคาร์ธี (พระวิภาคภูวดล) นายช่างทำแผนที่ เมื่อออกจากเมืองนครราชสีมาจะไปเมืองเวียงจัน ได้ผ่านเมืองนครราชสีมา พิมาย พุทไธสง กุมภวาปี หนองคาย โดยไม่ผ่านเมืองหนองบัวลำภู
เส้นทางของแมคคาร์ธี เมื่อออกจากนครราชสีมาขึ้นเหนือไปเวียงจัน จะสังเกตว่าเป็นเส้นโค้งอ้อมไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่จะมุ่งผ่านที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ ไม่ต้องผ่านพื้นที่สูงที่ค่อนข้างกันดารแห้งแล้ง ตรงกับที่มีกล่าวไว้ในการเดินทางไปเมืองหนองคาย ในเรื่องนิราศหนองคาย ซึ่งเดินทางในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 และแม้ว่าในนิราศหนองคายจะเดินทางพ้นจากเมืองพิมายไปไม่ไกล คือไปถึงเมืองพุทไธสงแล้วกลับก็ตาม
ดังนั้นเส้นทาง “พระแก้วมรกต” เมื่อออกจากเมืองพานพร้าว ก็ควรที่จะมาตามเส้นทางนี้ คือไม่จำเป็นต้องผ่านเมืองหนองบัวลำภู แต่อ้อมไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อยเข้าเมืองกุมภวาปี สวนทางเดินกับแมคคาร์ธี ผ่านเมืองพุทไธสง พิมาน มายังเมืองนครราชสีมา อันเป็นเส้นทางที่อดุมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเดินทางที่เป็นขบวนทัพมีคนเป็นจำนวนมาก
จากเมืองนครราชสีมา-เมืองสระบุรี
เส้นทางนี้เป็นเส้นทางบกที่ทุรกันดารในสมัยโบราณจากหลักฐานเอกสารที่ 2 เส้นทางสำคัญคือ เส้นทางผ่านดงพญาเย็น หรือดงพญาไฟตามที่เรียกในสมัยโบราณ กับเส้นทางผ่านดงพญากลาง
เส้นทางดงพญาเย็น คือเส้นทางที่อาจประมาณตามเส้นทางรถไฟจากสระบุรี ผ่านแก่งคอย มวกเหล็ก จันทึก สีคิ้ว เข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา โดยเมื่อผ่านมวกเหล็กแล้วทางรถไฟจะขนานไปกับลำตะคอง ชื่อสถานที่ตามทางรถไฟ ปรากฏอยู่ในหนังสือนิราศหนองคายด้วย
เส้นทางดงพญาเย็น เป็นเส้นทางลัดตรงที่สุดจากสระบุรีไปยังนครราชสีมา ดังนั้นจึงพบว่า เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหัตถเลขาเล่าว่า เจ้าเมืองนครนายกได้พาไพร่พลหนีศึกพม่าตามเส้นทางนี้ โดยกล่าวว่า …หนีพม่าไปทางเขาพนมยงขึ้นไปเมืองนครราชสีมา ไปตั้งอยู่ ณ ด่านบ้านจันทึก…
สำหรับด่านบ้านจันทึก ในแผนที่ของแมคคาร์ธี ในนิราศหนองคายเรียกว่า นครจันทึก ตำแหน่งที่แท้จริงปัจจุบันอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ตรงกับสถานีรถไฟจันทึกที่เลื่อนขึ้นไปอยู่บนพนักไหล่เขาน้ำในอ่างท่วมไม่ถึง เดิมเคยสำรวจพบโบราณวัตถุทำด้วยหินทราย ศิลปะเขมรหลายชิ้น เดิมคงเป็นเมืองโบราณอยู่ก่อน แต่ในนิราศหนองคายกล่าวว่า เมืองอะไรทำไมถึงไม่มีผู้คนเลย
เส้นทางดงพญากลาง เหนือขึ้นไปจากเส้นทางดงพญาเย็น ตามเส้นทางรถไฟที่แยกจากสายสระบุรี-นครราชสีมาที่ ชุมทางแก่งคอย ขึ้นเหนือขนานกับลำน้ำป่าสักถึงประมาณบ้านลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล เส้นทางจะเบนไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่พื้นที่ราบสูงโคราชในเขตจังหวัดชัยภูมิ
เส้นทางดงพญากลางน่าจะเป็นเส้นทางที่นิยมกันมาแต่โบราณ และไม่ทุรกันดารเท่าเส้นทางดงพญาเย็น ดังกล่าวในนิราศหนองคายว่า ขากลับจากเมืองนครราชสีมาได้ใช้เส้นทางนี้ ด้วยไม่ต้องการให้ไพร่พลต้องลำบากมากเหมือนเที่ยวไป ซึ่งครั้งนั้นทำให้มีไพร่พลเจ็บป่วยตายไปถึงร้อยคนเศษ
ในสมัยรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา ได้กล่าวถึงขบวนส่งเสด็จพระเทพกษัตรี ที่จะไปเป็นพระมเหสีพระไชยเชษฐาแห่งเวียงจัน ได้มุ่งหน้ามาทางนี้ โดยกล่าวว่า ขบวนเสด็จไปโดยทาง สมอสอ แต่ก็ถูกทหารของบุเรงนองดักชิงตัวไปได้ที่ตำบลมะเริง นอกด่านเมืองเพชรบูรณ์ ทั้งชื่อมะเริงและสมอสอ พอทราบได้ว่า อยู่ประมาณบริเวณอำเภอโคกสำโรง ถึงอำเภอโคราช
ด้วยเหตุนี้ จากเมืองนครราชสีมาถึงเมืองสระบุรี ขบวนเสด็จ พระแก้วมรกต จึงควรที่จะผ่านเส้นทางที่สะดวกที่สุด คือเส้นทางผ่านดงพญากลางนี้ และจะถึงท่าเรือของแม่น้ำป่าสักแถบบริเวณอำเภอพระพุทธบาท
อ่านเพิ่มเติม :
- ร่องรอย “กุฎาราม” โลหะปราสาทนครเชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต
- “พระแก้วมรกต” กับความนัยจากแนวคิด “จักรพรรดิราช” สมัยรัชกาลที่ 4
- ผีรักษาพระพุทธรูปไม่ถูกกัน พระพุทธรูปก็ประดิษฐานร่วมกันไม่ได้?!?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กันยายน 2565