แพงกว่าบ้าน!! “ดอกทิวลิป” ที่มาตำนาน “ฟองสบู่แตก” ครั้งแรกของโลก

ทุ่ง ดอกทิวลิป ทหาร
รูปภาพทุ่งดอกทิวลิปในประเทศเนเธอร์แลนด์ในสมัยศตวรรษที่ 17 ผลงานของ Jean-Léon Gérôme จิตรกรชาวฝรั่งเศส สมัยศตวรรษที่ 19 วาดในปี 1882 (เครดิต Wikimedia)

วิกฤตการเงินที่เราพอได้ยินชื่ออยู่บ้าง น่าจะเป็น “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” (The Great Depression) ซึ่งเริ่มที่สหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) และแพร่ขยายไปเกือบทั่วโลก ส่วนในไทยคือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ใน พ.ศ. 2540 ที่สถาบันการเงินหลายแห่งล้มละลาย นักธุรกิจไม่น้อยมีหนี้สินจำนวนมากในพริบตา แต่ถ้าย้อนไปในอดีต วิกฤตการเงินครั้งแรกที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ คือ “วิกฤต ดอกทิวลิป” (Tulip Mania) เกิดที่เนเธอร์แลนด์ในปี 1637

ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ถือเป็นยุครุ่งเรืองทางการค้าของเนเธอร์แลนด์ บริษัท อินเดียตะวันออกของดัตช์ (Dutch East India Company หรือ VOC) ขยายอิทธิพลทางการค้าไปหลายทวีป ทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของโลก

หนึ่งในสินค้าที่มีผู้นำมาเผยแพร่ในเนเธอร์แลนด์คือ ดอกทิวลิป มีต้นกำเนิดจากเปอร์เซีย และออตโตมัน (อิหร่านและตุรกีในปัจจุบัน) มีการนำ ดอกทิวลิป เข้าไปปลูกเมื่อราว ค.ศ. 1593 ความที่ดอกทิวลิปเป็นดอกไม้ชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีในยุโรปมาก่อน ทั้งยังมีสีสันสวยงามหลากสี เช่น แดง เหลือง ม่วง ขาว ทำให้กลายเป็นสินค้าหายากและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนมีไม่พอกับความต้องการของตลาด

เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อค้าดัตช์จำนวนมากที่หวังจะกอบโกยกำไร จึงคิดลูกเล่นในการซื้อขาย เกิดเป็นการทำสัญญาล่วงหน้า

การซื้อขายรูปแบบดังกล่าว คือการที่พ่อค้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับลูกค้า เพื่อจัดหาดอกทิวลิปมาจำหน่าย เนื่องจากดอกทิวลิปมักมีราคาสูงช่วงออกดอก ไม่มีพ่อค้าคนไหนกล้าซื้อขายในช่วงเวลานั้น พวกเขาจึงมักทำสัญญาล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มปลูกดอกไม้ลงกระถาง เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อได้ในราคาต่ำที่สุด ก่อนจะนำมาขาย

การซื้อขายล่วงหน้าเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายปี มีการเก็งกำไรซื้อขายกันเป็นทอด ๆ มาเรื่อย ๆ ทำให้มูลค่าของดอกทิวลิปพุ่งสูงเกินจริงไปมาก บางพันธุ์มีมูลค่าสูงถึง 3,000-4,000 กิลเดอร์ มากกว่าค่าแรงทั้งปีของแรงงานในยุคนั้น บางพันธุ์มีมูลค่าสูงมากถึงขนาดมีการนำที่ดินพร้อมบ้านมาแลกกับดอกทิวลิปหัวเดียว

ค.ศ. 1636 สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลง การเพาะปลูกดอกทิวลิปเริ่มมีปัญหา ราคาของมันจึงลดต่ำอย่างรวดเร็ว พอถึงปี 1637 ก็เกิด “วิกฤตทิวลิป” ฟองสบู่แตก นักลงทุนจำนวนมากหมดเนื้อหมดตัวกันระนาว ทำให้ในที่สุดรัฐบาลสาธารณรัฐดัตช์ ต้องเข้ามาควบคุมการซื้อขายดอกทิวลิป และให้การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากเหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งนี้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 เพียงข้ามคืนราคาดอกทิวลิปก็ลดจาก 3,000 กิลเดอร์ เหลือเพียง 10 กิลเดอร์เท่านั้น

แม้จะเข้าขั้นวิกฤต แต่โชคยังดีที่ผลกระทบยังไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เพราะกลุ่มคนที่มีฐานะพอจะซื้อดอกทิวลิปได้มีเพียงชนชั้นสูงและกลุ่มพ่อค้าที่ร่ำรวยเท่านั้น ประชาชนทั่วไปยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

นับแต่นั้น เหตุการณ์ “วิกฤตทิวลิป” มักถูกยกมาเป็นกรณีศึกษาหลายครั้ง โดยเฉพาะในวงการเศรษฐศาสตร์ และมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤตการเงินต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อสื่อถึงความบ้าคลั่งและการเก็งกำไรอย่างไม่ระวังสภาพจริงของตลาด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กร ธีระชัยสุเวท . (2564). ประวัติศาสตร์เนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ฉบับกระชับ. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์.

Anne Golgar . Tulip mania: the classic story of a Dutch financial bubble is mostly wrong . Access 27 March 2023 from https://theconversation.com/tulip-mania-the-classic-story-of-a-dutch-financial-bubble-is-mostly-wrong-91413

Tulip Mania . Access 27 March 2023 from https://www.britannica.com/event/Tulip-Mania

Dave Roos . The Real Story Behind the 17th-Century ‘Tulip Mania’ Financial Crash. Access 27 March 2023  fromhttps://www.history.com/news/tulip-mania-financial-crash-holland


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2566