เปิดเส้นทาง 30 ล้านปี “กุหลาบ” ดอกไม้แห่งความรัก

ภาพประกอบจาก ห้องสมุดภาพมติชน

กุหลาบ ที่ได้รับการยกให้เป็นดอกไม้แห่งความรัก เป็นพืชเก่าแก่กว่า 30 ล้านปี กำเนิดขึ้นก่อนที่มนุษย์จะเกิดขึ้น มีฟอสซิลกุหลาบจากหลายแห่งเป็นหลักฐานยืนยัน สำหรับกุหลาบในยุคนี้ที่ยังพบเห็นกันถึงปัจจุบันเป็นกุหลาบป่าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในแถบนิวเม็กซิโก อเมริกาเหนือ แอฟริกา แถบเทือกเขาหิมาลัย ไปจนถึงจีนและญี่ปุ่น และน่าสนใจว่า กุหลาบที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติดังกล่าวจะมีเฉพาะในซีกโลกเหนือเท่านั้น

แต่มนุษย์เราเพิ่งรู้จักกุหลาบเมื่อไม่กี่พันปีมานี้เอง เมื่อประมาณ 1,300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่มีการสร้างสุสานฟาโรห์ตุตันคามุนแห่งอียิปต์ พบช่อดอกกุหลาบแห้งอยู่ภายในสุสาน หรือในประเทศจีนเมื่อประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่มีบันทึกว่า มีการปลูกกุหลาบป่าในพระราชวัง ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ฮั่น ขณะที่เอกสารโบราณก็กล่าวถึงกุหลาบไว้ด้วย

กุหลาบในต่างแดน

บันทึกเก่าแก่ที่สุด เมื่อ 2,768-2,485 ปีก่อนคริสต์ศักราช กล่าวถึง “ดอกกุหลาบ” ว่า ครั้งที่กษัตริย์ซูเมอร์ (สุเมเรียน) และอัคคาด ยกทัพเข้ามาในเอเชียไมเนอร์ ได้นำพืช 3 ชนิด คือ องุ่น, มะเดื่อ และกุหลาบ เข้ามาปลูกที่ปากแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส

ขณะที่อีกบันทึกประวัติศาสตร์หนึ่ง เฮโรโดตัส (484-425 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก กล่าวถึงกุหลาบในสวนของ (กษัตริย์) ไมดาส แห่งแคว้นฟรีเจียในเอเชียไมเนอร์ ว่า เมื่อไมดาสถูกขับและเนรเทศไปอยู่มาเซเนีย (ทางเหนือของกรีซ) เขาได้นำกุหลาบของแคว้นมาปลูกที่สวนแห่งไมดาส ที่คาดว่าเป็นพันธุ์ Rosa Gallica L.

หนังสือ Enquiry to Pants VI, 6.3  และ De Rerum Rasticarum ของ ธีโอฟรัสตัส (372-287 ปีก่อนคริสต์ศักราช) บิดาแห่งพฤกษศาสตร์ ชาวกรีก บันทึกเรื่องราวต่างๆ ของกุหลาบว่า กุหลาบส่วนใหญ่มี 5 กลีบ บางชนิดก็มี 20 กลีบ และสูงสุดมีถึง 100 กลีบ รวมทั้งระบุถึงเทคนิคการเพาะชำกิ่งกุหลาบ ฯลฯ

กวีโฮราซ (65-8 ปีก่อนคริส์ตศักราช) แห่งจักรวรรดิโรมัน กล่าวถึงยุคหนึ่งที่ “กุหลาบ” เป็นที่นิยมสูงสุดและใช้สักการะเทพวีนัส (มารดาของคิวปิด) ของโรมัน และเป็นที่นิยมสูงสุด ไว้ในบทกวีของเขาว่า เมื่อคนหันมาปลูกกุหลาบอย่างคลั่งไคล้ เปลี่ยนแปลงสวนผลไม้เป็นแปลงดอกไม้ เปลี่ยนไร่ข้าวโพดเพื่อไปปลูกดอกกุหลาบ เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะแหล่งอาหารต้องลดลง อันเป็นสัญญาณของความอดอยาก

ต้นคริสตศตวรรษ ความยิ่งใหญ่ของกุหลายก็จบลง เมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์ด้วยน้ำมือของพวกโรมัน คริสเตียนยุคแรกถือพวกโรมันเป็นศัตรู ทั้งพลอยรังเกียจดอกกุหลาบว่าเป็นสัญลักษณ์ของพวกนอกศาสนา กุหลาบกลายเป็นของใต้ดินที่ต้องแอบๆ ปลูก

ค.ศ. 550 ปรากฏสวนกุหลาบในกรุงปารีส ฝรั่งเศส กุหลาบดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่ชาวโรมันนำเข้ามา ต่อมาทางการก็มีคำสั่งให้ปลูกกุหลาบเพื่อประโยชน์ใช้เป็นยา เนื่องจากมียาหลายตำรับที่ต้องใช้กุหลาบเป็นส่วนประกอบ

ศตวรรษที่ 19 พระนางโยเซฟินแห่งฝรั่งเศส ต้องการให้ปลูกกุหลาบในพระราชวัง จึงมีการรวบรวมพันธุ์กุหลาบกว่า 250 ชนิด ทำให้เกิดผู้สนใจออกสำรวจพันธุ์อย่างกว้างขวางในอังกฤษ, ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ ออกไปสำรวจกุหลาบพันธุ์ใหม่ในโลกตะวันออกอย่าง อินเดีย และจีน

กุหลาบในไทย

ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเริ่มมีการปลูกกุหลาบตั้งแต่เมื่อใด หากพบว่า มีการปลูกกุหลาบในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา จากบันทึกของ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่า ได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กล่าวถึงกุหลาบไว้ว่า

กุหลาบกลิ่นเฟื่องฟุ้ง   เนืองนอง

นึกกะทงใส่พานทอง   ก่ำก้าว

หอมรื่นชื่นชมสอง   สังวาส

หยิบรอจมูกเจ้า   บ่ายหน้าเบือนเสีย

ส่วนการปลูกกุหลาบอย่างแพร่หลาย คาดว่าเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบันกุหลาบเป็นดอกไม้เศรษฐกิจที่ปลูกทั้งเพื่อจำหน่ายและส่งออก ตัวเลขเมื่อปี 2563 มีพื้นที่ปลูกกุหลาบประมาณ 5,000 ไร่ ในจังหวัดตาก, เชียงใหม่, เชียงราย, นครปฐม, ราชบุรี, กาญจนบุรี และนครราชสีมา

ปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกุหลาบของไทย ถ้าถามคนในวงการกุหลาบว่า “นึกถึงใครเมื่อพูดถึงกุหลาบ” คำตอบที่ได้ต้องเป็นอาจารย์จีระ ดวงพัตรา ผู้บุกเบิกกุหลาบ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ยุคก่อน “จีระโรส” รู้จักกันทั่วประเทศจากภาคตะวันออก อาจารย์จีระมุ่งสู่เชียงใหม่ ร่วมพัฒนาวงการกุหลาบจนเจริญก้าวหน้า

เหมือนกับผู้เชี่ยวชาญในวงการเกษตรไทย ที่มีผู้เชี่ยวชาญศึกษาด้านนั้นอย่างถ่องแท้ เช่น กล้วยไม้-ศาสตราจารย์ ดร. ระพี สาคริก, กระบือหรือควาย-ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา, กล้วย-ศาสตราจารย์ ดร. เบญจมาศ ศิลาย้อย เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พจนา นาควัชระ. กุหลาบ ROSES, สำนักพิมพ์บ้านและสวน พ.ศ. 2564.

ทิพวัน บุญวีระ. “กุหลาบ: ดอกไม้แห่งความรัก” ใน, วิทยุสราญรมย์ ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม 2547.

คณาพร สัมฤทธิ์ล้วน-เรียบเรียง , ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์ และจิรวรรณ รจนพรทิพย์-ข้อมูล. กุหลาบ ชุด เกษตรกรรมลองทำดู, สำนักพิมพ์นานมี.

พานิชย์ ยศปัญญา. “กุหลาบ สัญลักษณ์แห่งความรัก โรแมนติค และความดีงาม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566