ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
Game of Thrones ซีรีส์ชื่อดังแห่งยุค กับต้นเค้าที่มาจากเรื่องจริง “สงครามดอกกุหลาบ” ในศตวรรษที่ 15 ที่มีทั้งการแย่งชิงอำนาจ ทรยศ แปรพักตร์!
สงครามดอกกุหลาบ (War of The Roses) เป็นสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์ของอังกฤษ ระหว่างราชวงศ์แลงคาสเตอร์ (House of Lancaster) กับราชวงศ์ยอร์ก (House of York) ระหว่าง ค.ศ. 1455-1485 เหตุที่เรียก สงครามดอกกุหลาบ เนื่องจากราชวงศ์แลงคาสเตอร์ใช้ดอกกุหลาบสีแดงเป็นสัญลักษณ์ ส่วนราชวงศ์ยอร์กใช้ดอกกุหลาบสีขาว
สงครามดอกกุหลาบ กับสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์
พระเจ้าเฮนรีที่ 6 (Henry VI) จากราชวงศ์แลงคาสเตอร์ เป็นกษัตริย์ผู้ครองบัลลังก์อังกฤษช่วงสงครามปะทุ พระองค์เป็นคนหัวอ่อนและถูกครอบงำโดยข้าราชบริพารและขุนนางบางกลุ่มที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้พวกตน รัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงท้ายของ “สงครามร้อยปี” ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ซึ่งอังกฤษสูญเสียผลประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะดินแดนบนแผ่นดินใหญ่ในทวีปยุโรป ขุนนางฝ่ายหนึ่งโจมตีเรื่องนี้ว่า เป็นเหตุมาจากนโยบายที่ผิดพลาดของกษัตริย์และขุนนางฝ่ายตรงข้ามพวกตน ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้าง
ขุนนางเริ่มแก่งแย่งอำนาจกัน ในขณะที่พระเจ้าเฮนรีที่ 6 เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ ไร้ประโยชน์ และมีปัญหาทางด้านสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ ทำให้ราชวงศ์ขาดความมั่นคงและควบคุมการบริหารประเทศได้ยากลำบาก อีกทั้ง พระราชินีมาร์กาเร็ต (Margaret of Anjou) ก็ยังไม่มีพระโอรสเพื่อสืบราชบัลลังก์ จึงเกิดความวิตกกังวลในเรื่องผู้สืบราชบัลลังก์ และมีผู้อ้างสิทธิ์หากพระเจ้าเฮนรีที่ 6 สวรรคต ได้แก่ เอ็ดมุนด์แห่งตระกูลโบฟอร์ต (Edmund Beaufort) และ ริชาร์ดแห่งยอร์ก (Richard of York)
เมื่อถึง ค.ศ. 1453 ริชาร์ดแห่งยอร์ก อ้างสิทธิ์เป็นผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์และผู้สำเร็จราชการ เขาได้รับการสนับสนุนและได้รับความนิยมจากประชาชน แต่ไม่นานพระราชินีมาร์กาเร็ตก็มีประสูติการพระโอรสนามว่า เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งเวสมินส์เตอร์ (Edward of Westminster)
จากนั้น พระเจ้าเฮนรีที่ 6 โดยการช่วยเหลืออย่างแข็งขันของพระราชินีมาร์กาเร็ต ผู้นำของฝ่ายแลงคาสเตอร์ทางพฤตินัย พยายามสร้างพันธมิตรและเรียกคืนพระราชอำนาจ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะริชาร์ดแห่งยอร์กกุมอำนาจไว้ได้เหนือกว่า พระราชินีมาร์กาเร็ตจึงปลุกเร้าให้ผู้สนับสนุนราชวงศ์แลงคาสเตอร์ขึ้นมาต่อต้านริชาร์ดแห่งยอร์ก
การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างดุเดือด ต่างสะสมกำลังกันทั่วประเทศ ฝ่ายแลงคาสเตอร์มีที่มั่นทางตอนเหนือของอังกฤษ และผลัดกันแพ้ชนะเสมอ ฝ่ายแลงคาสเตอร์พยายามบุกยึดกรุงลอนดอน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และต้องถอนกำลังกลับสู่ที่ตั้งมั่นทางตอนเหนือของอังกฤษ ค.ศ. 1460
กระทั่งรัฐสภาได้พิจารณาเรื่องสืบราชบัลลังก์ โดยยอมรับการอ้างสิทธิ์ของราชวงศ์ยอร์ก แต่จากเสียงส่วนใหญ่เห็นสมควรว่า พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ควรดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป
ทั้งได้ออกพระราชบัญญัติแอคคอร์ด (Act of Accord) ซึ่งยอมรับว่า ริชาร์ดแห่งยอร์กเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 โดยตัดสิทธิ์ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระโอรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ออกจากราชบัลลังก์ ริชาร์ดแห่งยอร์กยอมรับข้อตกลงนี้ เพราะเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด เขาเป็นผู้พิทักษ์อาณาจักรและราชบัลลังก์ แต่ก็ยังมีอำนาจ สามารถปกครองประเทศในนามของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ได้ต่อไป
พระราชินีมาร์กาเร็ตและพระโอรสหนีไปเวลส์ และขอความช่วยเหลือจากพวกสก็อต โดยแลกผลประโยชน์เป็นเมืองบางแห่งทางตอนเหนือของอังกฤษคืนให้กับสก็อตแลนด์ ฝ่ายแลงคาสเตอร์จึงได้ยึดที่มั่นทางตอนเหนือของอังกฤษไว้ สำหรับต่อต้านและเรียกคืนราชบัลลังก์ กองทัพฝ่ายยอร์กยกทัพบุกโจมตีใน “สมรภูมิเวคฟีลด์” (Battle of Wakefield) แต่นั่นทำให้ริชาร์ดแห่งยอร์กเสียชีวิตในสนามรบ ราว ค.ศ. 1461
เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ช จากราชวงศ์ยอร์ก (Edward, Earl of March) ได้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษ เนื่องจากเป็นบุตรชายคนโตของริชาร์ดแห่งยอร์ก ฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่นำโดยพระราชินีมาร์กาเร็ตก็ยกทัพจากเหนือมุ่งสู่ลอนดอน ระหว่างทางก็บุกปล้นสะดมจนสร้างความหวั่นเกรงให้กับชาวใต้อย่างมาก ทำให้ เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ช เป็นเหมือนผู้นำในยามวิกฤต และได้รับการยอมรับจากขุนนางและประชาชนในกรุงลอนดอนมากยิ่งขึ้น
เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ช มีชัยชนะใน “สมรภูมิทาวทัน” (Battle of Towton) มีทหารรวมกันราว 40,000–80,000 คน โดยมีผู้ชายมากกว่า 20,000 คนถูกฆ่าตายระหว่างการสู้รบ ผู้นำฝ่ายแลงคาสเตอร์เสียชีวิตไปเกือบทั้งหมด และมีบางส่วนหันไปสวามิภักดิ์กษัตริย์องค์ใหม่ คือ เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ช ที่ปราบดาภิเษกเป็น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 (Edward IV) ส่วนพระเจ้าเฮนรีที่ 6 และพระราชินีมาร์กาเร็ตก็หนีขึ้นไปทางเหนืออีกครั้ง
ยามกุหลาบหลอมรวม
พระเจ้าเฮนรีที่ 6 สูญเสียพระราชอำนาจอย่างสิ้นเชิง พระองค์พร้อมพระราชินีมาร์กาเร็ตหนีไปราชสำนักสก็อตแลนด์ และยังคงยึดมั่นอยู่ทางเหนือของอังกฤษ แต่เมื่อขุนนางฝ่ายแลงคาสเตอร์ก่อกบฏขึ้นหลายครั้ง พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ถูกจับกุมตัวใน ค.ศ. 1464 และถูกนำตัวไปขัง ณ หอคอยแห่งลอนดอน แต่ได้รับการปฏิบัติอย่างดีพอสมควร แม้จะมีความพยายามของฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่นำโดยพระราชินีมาร์กาเร็ตในการฟื้นฟูราชบัลลังก์ให้พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 สามารถเจรจากับฝ่ายสก็อตแลนด์ได้ จนฝ่ายสก็อตแลนด์บังคับให้พระราชินีมาร์กาเร็ตและพระโอรสลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส
ขณะที่ที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายแลงคาสเตอร์อยู่ที่ปราสาทฮาร์เลช (Harlech) ในเวลส์ และได้ยอมจำนนในปี ค.ศ. 1468 หลังจากการปิดล้อมนานกว่าเจ็ดปี อย่างไรก็ตาม อังกฤษภายใต้กษัตริย์พระองค์ใหม่ก็ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองสงบสุขอยู่ดีกินดีแตกต่างจากเดิมเท่าใดนัก ความนิยมทั่วไปของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เริ่มลดน้อยลง เนื่องจากมีการเก็บภาษีที่สูงขึ้น การหยุดชะงักของการออกกฎหมาย และความสงบที่ยังไม่เรียบร้อยดีนัก
ริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลแห่งวอร์วิค (Richard Neville, Earl of Warwick) ขุนนางผู้ทรงอำนาจ และเป็นเสมือนผู้ช่วยคนสำคัญ ที่ทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ได้ขึ้นครองราชย์ เขาทรยศกษัตริย์ของตนเองเนื่องจากเกิดความหมางใจหลายประการที่พระราชินีเอลิซาเบธในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ใช้อำนาจสนับสนุนคนของตระกูลพระนางให้มีอำนาจมาก จนทำให้ตระกูลของริชาร์ด เนวิลล์ ค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลง
ริชาร์ด เนวิลล์ และกองกำลังฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่บางส่วน (ที่เคยหันไปสวามิภักดิ์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4) กลับมาร่วมมือกัน เพื่อล้มราชบัลลังก์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และยังได้ร่วมมือกับพระราชินีมาร์กาเร็ต ที่อาศัยการช่วยเหลือจากฝรั่งเศสอีกแรงด้วย แม้จะขับไล่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ออกไปได้ จนพระองค์ต้องลี้ภัยไปที่เบอร์กันดีทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1470 แต่จากนั้นไม่นาน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ก็กลับสู่อังกฤษ ใน “สมรภูมิแห่งบาร์เน็ต” (Battle of Barnet) เมื่อ ค.ศ. 1471
ฝ่ายยอร์ก นำโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จ และสามารถสังหารริชาร์ด เนวิลล์ ได้ และก่อนหน้าสมรภูมินี้จะเกิดขึ้นไม่กี่วัน พระราชินีมาร์กาเร็ตและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด รัชทายาทของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็เดินทางเข้ามายังเกาะอังกฤษ เพื่อช่วยฝ่ายแลงคาสเตอร์สู้รบ
ทว่าใน “สมรภูมิทูกส์เบอรี” (Battle of Tewkesbury) ฝ่ายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 มีชัยชนะ และสามารถสังหารเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ส่วนพระราชินีมาร์กาเร็ตถูกจับไปคุมขังที่หอคอยแห่งลอนดอน และไม่นานจากนั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ถูกประหาร ทำให้ราชวงศ์แลงคาสเตอร์สายตรงเป็นอันสิ้นสุดลง
กระทั่ง ค.ศ. 1483 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 สวรรคตอย่างกะทันหัน พระโอรสได้ขึ้นปกครองต่อนามว่า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 แต่ ริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ (Richard, Duke of Gloucester) น้องชายของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ได้เข้ามาอ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์ โดยกล่าวหาว่า การเสกสมรสระหว่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และพระราชินีเอลิซาเบธเป็นการเสกสมรสที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ฉะนั้นโอรสทั้งสองพระองค์จึงเป็นลูกนอกสมรสและไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์
จากนั้นริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ จึงกำจัดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ที่ยังทรงพระเยาว์ออกไป โดยเป็นปริศนาถึงทุกวันนี้ว่าไม่ทราบชะตากรรมคือ “หายไปอย่างไร้ร่องรอย” และขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็น พระเจ้าริชาร์ดที่ 3
เฮนรีแห่งทิวเดอร์ (Henry Tudor) อ้างสิทธิ์ในฐานะผู้สืบสิทธิ์ทางราชวงศ์แลงคาสเตอร์ ได้นำกองทัพบดขยี้ฝ่ายยอร์กของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ณ “สมรภูมิบอสเวิร์ท” (Battle of Bosworth) ใน ค.ศ. 1485 และพระเจ้าริชาร์ดก็สวรรคตในการรบครั้งนั้น
เฮนรีแห่งทิวเดอร์ จึงปราบดาภิเษกเป็น พระเจ้าเฮนรีที่ 7 (Henry VII) แห่งราชวงศ์ทิวเดอร์ โดยสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งยอร์ก (Elizabeth of York) พระธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เพื่อเป็นการปรองดองระหว่างสองราชวงศ์ อย่างไรก็ตาม พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ยังคงต้องปราบกบฏผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ต่อไปอีกสิบปี จนสามารถคุมอำนาจได้ไว้ทั้งหมด และผู้ที่พยายามอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ก็หมดอำนาจจะต่อกรต่อราชวงศ์ใหม่ได้อีกต่อไป
พระเจ้าเฮนรีที่ 7 รวมสัญลักษณ์ของสองราชวงศ์คือกุหลาบแดงแห่งราชวงศ์แลงคาสเตอร์ และกุหลาบขาวแห่งราชวงศ์ยอร์ก เป็นสัญลักษณ์ใหม่คือ “กุหลาบทิวเดอร์” ที่มีทั้งสีแดงและขาวในดอกเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ยอร์กใช้สัญลักษณ์ดอกกุหลาบขาวก่อนสงครามจะเกิด ทว่าราชวงศ์แลงคาสเตอร์เพิ่งจะนำดอกกุหลาบสีแดงมาใช้ ภายหลังจากพระเจ้าเฮนรีที่ 7 มีชัยในสมรภูมิบอสเวิร์ท
อ่านเพิ่มเติม :
- ผ่าปมสังหารล้างตระกูลแม็กโดนัลด์แห่งสกอต ต้นตอมาสู่ซีน วิวาห์เลือด ใน Game of Thrones
- การค้นพบโครงกระดูกพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ใต้ลานจอดรถเมืองเลสเตอร์ หลังสาบสูญกว่า 500 ปี
- ไทม์ไลน์ 16 ปี สงครามรักหลังราชบัลลังก์อังกฤษ รักหลายเส้าของ “ชาร์ลส์-ไดอาน่า”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2562