ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) พระอัฐิสัณฐานของ กษัตริย์อังกฤษ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ซึ่งสูญหายไปกว่า 500 ปี กระทั่งถูกขุดพบใต้ลานจอดรถเทศบาล เมืองเลสเตอร์ ได้รับการบรรจุในที่เก็บพระศพ มหาวิหารเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 (Richard III) คือ กษัตริย์อังกฤษ ผู้ครองราชย์ช่วงสั้นๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นห้วงเวลาแห่ง “สงครามดอกกุหลาบ” หรือสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์ยอร์กฝ่ายกุหลาบขาว กับราชวงศ์แลงคัสเตอร์ฝ่ายกุหลาบแดง ซึ่งรบพุ่งทำสงครามกัน 17 ครั้ง ในห้วงเวลา 32 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1455-1487
กษัตริย์ทรราช จริงหรือ?
พระองค์ทรงได้รับฉายาว่า “กษัตริย์ทรราช” จากข่าวลือที่ว่าพระองค์ทรงทรยศความไว้วางพระราชหฤทัยของกษัตริย์องค์ก่อนหน้าผู้เป็นพระเชษฐา ซึ่งสวรรคตพร้อมคำสั่งเสียให้พระองค์ช่วยดูแลพระนัดดาสองพี่น้องซึ่งเป็นยุวกษัตริย์และพระอุปราช แต่พระองค์กลับปลงพระชนม์พระนัดดาให้เป็นผีเฝ้าหอคอยแห่งลอนดอน แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์เสียเอง
เมื่อ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 สวรรคตอย่างอนาถในสนามรบทุ่งบอสเวิร์ธ จึงไม่มีใครเหลียวแลพระศพซึ่งถูกถอดเกราะและเสื้อผ้าจนเปลือยเปล่า ลากประจานไปทั่วเมือง ยากจะหาหลักฐานว่าถูกฝังหรือถูกโยนทิ้งลงแม่น้ำ
มีบางคนไม่เชื่อข่าวลือนี้ และว่าเมื่อประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ พระองค์ซึ่งถูกสังหารในสนามรบทุ่งบอสเวิร์ธโดยขุนนางเฮนรี่ ทิวดอร์ ผู้ต่อมาจะเป็นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ อาจถูกใส่ร้ายป้ายสีก็เป็นได้
ใน ค.ศ. 1924 สมาคมริชาร์ดที่ 3 ได้ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ โดยกลุ่มบุคคลที่มีคำถามกับเรื่องราวของ “กษัตริย์ราชวงศ์ยอร์กองค์สุดท้าย” ในประวัติศาสตร์ฉบับพื้นฐานและบทละครเชกสเปียร์
พวกเขาซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ริคาร์เดี้ยน” และปัจจุบันมีสมาชิกทั่วโลกกว่า 3,000 คน ต้องการตรวจสอบหลักฐานใหม่…
จุดเริ่มต้นที่เร้าใจของการสืบค้นโครงกระดูกพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ซึ่งหายสาบสูญไปกว่า 500 ปี มาจาก ฟิลลิปปา แลงก์ลีย์ คุณแม่ลูกสองวัย 50 ปี (ในขณะนั้น) นักเขียนบทภาพยนตร์ชาวเอดินบะระ
แรงบันดาลใจของเธอซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งใน “ริคาร์เดี้ยน” เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ขณะเธอตั้งใจจะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับกษัตริย์ผู้มีชื่อเสียงเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ หากยิ่งค้นคว้าข้อมูลกลับยิ่งเห็นว่า ริชาร์ดไม่ใช่กษัตริย์ทรราช
สำหรับเธอ เรื่องราวของริชาร์ดคือปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า “ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ”
การสืบค้นข้อมูลของแลงก์ลีย์พาเธอไปถึง เมืองเลสเตอร์ ซึ่งใน ค.ศ. 1968 เดวิด บัลด์วิน อาจารย์มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ได้เสนองานของเขาต่อสมาคมประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองเลสเตอร์ว่า พระศพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 น่าจะยังคงฝังอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นโบสถ์เกรย์ไฟรอาร์ส และน่าจะยังไม่ถูกทำลายในช่วงการก่อสร้างครั้งใหญ่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19-20
บัลด์วิน ค้นพบบันทึกเกี่ยวกับตำแหน่งฝังพระศพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 หลังรัชสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ว่า บริเวณสวนของบ้านนายกเทศมนตรีเมืองเลสเตอร์ขณะนั้น มีเสาหินบอกตำแหน่งฝังพระศพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3
หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ดินถูกเปลี่ยนมืออีกหลายทอด จนตกมาเป็นของสภาเทศบาลเมืองเลสเตอร์ใน ค.ศ. 1920 และไม่มีบันทึกเรื่องหลุมพระศพนี้อีกเลย
แลงก์ลีย์มาถึงเมืองเลสเตอร์ใน ค.ศ. 2004 เธอเล่าว่าเมื่อเดินเข้าไปในลานจอดรถของสภาเทศบาลเมืองเลสเตอร์ เธอ “รู้สึกอย่างอธิบายไม่ได้” ว่ากำลังเดินอยู่บนหลุมฝังศพ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และเมื่อเธอกลับไปอีกครั้งใน ค.ศ. 2005 มีใครบางคนเขียนตัวอักษร R ไว้บนลานจอดรถ ซึ่งมีความหมายว่า “สำรอง” แต่สำหรับเธอ นี่คือสัญญาณว่าเธอต้องค้นหาสิ่งที่เธอต้องพบที่นี่ เพราะอักษร R ไม่เพียงเป็นตัวย่อของริชาร์ด แต่ยังเป็นตัวย่อของคำว่า Rex ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า “กษัตริย์”
เดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 แลงก์ลีย์ติดต่อขอความร่วมมือจากเทศบาลเมืองเลสเตอร์และหน่วยบริการโบราณคดี มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ให้ช่วยขุดหาหลุมพระศพพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 โดยใช้เงินทุนที่มีสมาคมริชาร์ดที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนหลัก
เอกสารโบราณเกี่ยวกับที่ตั้งของโบสถ์เกรย์ไฟรอาร์ส และแผนที่โบราณจากสมัยต่างๆ ถูกนำมาศึกษาอย่างละเอียดเทียบเคียงกับผังเมืองเลสเตอร์ในปัจจุบัน
จากนั้น คณะสำรวจโครงการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเกรย์ไฟรอาร์ส มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ซึ่งนำโดย ริชาร์ด บัคลีย์ ก็ใช้เทคโนโลยี GPR (Ground-penetrating Radar) วิเคราะห์ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ใต้ดิน แล้วกำหนดบริเวณหลุมขุดค้น 3 หลุม โดยเริ่มขุดเจาะในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012
พวกเขาค้นพบซากส่วนต่างๆ ของโบสถ์ รวมถึงโครงกระดูกมนุษย์ ในบริเวณโบสถ์ซึ่งใช้เป็นพื้นที่สำหรับคณะนักร้องประสานเสียง
โครงกระดูกที่พบนี้ไม่อยู่ในโลงศพ แต่ครบสมบูรณ์เกือบทั้งร่าง แม้แต่ฟันก็มีครบทุกซี่ ที่หายไปมีเพียงกระดูกเท้า ซึ่งคณะสำรวจเชื่อว่าน่าจะถูกทำลายจากการก่อสร้างเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา
คณะสำรวจใช้เวลาเกือบ 3 สัปดาห์ ขุดค้นอย่างละเอียด ก่อนจะแถลงการค้นพบโครงกระดูกซึ่งยังต้องพิสูจน์อัตลักษณ์ในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2012 แล้วเคลื่อนย้ายโครงกระดูกที่เรียกกันว่า “โครงกระดูกเกรย์ไฟรอาร์ส” ไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยเลสเตอร์
คำให้การของโครงกระดูก พระเจ้าริชาร์ดที่ 3
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 มหาวิทยาลัยเลสเตอร์แถลงว่า โครงกระดูกดังกล่าวเป็นพระอัฐิสัณฐานของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 กษัตริย์อังกฤษ จริง
เหตุผลสนับสนุนมีหลายประการ อาทิ โครงกระดูกนี้ขุดพบในบริเวณที่ จอห์น เร้าส นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 บันทึกไว้ว่าพระศพของพระองค์ “ถูกฝังในบริเวณโบสถ์ซึ่งเป็นพื้นที่ของนักร้องประสานเสียงคณะภราดาน้อย (ฟรันซิสกัน)”
นอกจากนั้น ยังเป็นโครงกระดูกเพศชายอายุระหว่างปลาย 20 ถึง 30 ต้น และมีภาวะกระดูกสันหลังคด สอดคล้องกับบันทึกประวัติศาสตร์ที่ว่าพระองค์สวรรคตในวัย 33 และ “หลังค่อม”
เป็นโครงกระดูกและกะโหลกศีรษะที่ได้รับบาดแผลจากการสู้รบ สอดคล้องกับบันทึกประวัติศาสตร์ว่าพระองค์สวรรคตในสนามรบ
เป็นโครงกระดูกและกะโหลกศีรษะที่ตรวจสอบอายุด้วยกระบวนการเรดิโอคาร์บอนแล้ว ย้อนกลับไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 สอดคล้องกับเวลาสวรรคตของพระองค์
เป็นโครงกระดูกที่ผ่านการวิเคราะห์ไอโซโทปแล้วพบว่า เจ้าของโครงกระดูกมีภาวะโภชนาการดีมาก บริโภคปลาและนกเป็นหลัก โดยเฉพาะนกหายาก เช่น หงส์ นกกระเรียน นกกระสา และดื่มไวน์อย่างน้อยวันละขวด เช่นเดียวกับบรรดาชนชั้นสูงของอังกฤษในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 15
ที่สำคัญ นี่เป็นโครงกระดูกที่ตรวจสอบไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ กับ ไมเคิล อิบเซน ช่างไม้ชาวแคนาดาวัย 57 ปี และผู้ไม่ประสงค์ออกนามอีก 1 คน ซึ่งล้วนเป็นทายาทรุ่นที่ 17 ของ แอนน์ ออฟ ยอร์ก ดัชเชสแห่งเอ็กซีเตอร์ พระเชษฐภคินีของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แล้ว “ตรงกัน”
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2014 “แลนเซต” นิตยสารการแพทย์ของอังกฤษ และเป็นนิตยสารเก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่งของโลก เปิดเผยรายละเอียดการตรวจสอบโครงกระดูกเพิ่มเติมว่า พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 มิได้ทรง “หลังค่อม” อย่างที่เชกสเปียร์บรรยายไว้ หากมีพระอังสาสองข้างไม่เสมอกันจากภาวะ “กระดูกสันหลังคดในวัยรุ่น” มิได้เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งสามารถใช้เสื้อผ้าอำพรางได้ และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ รวมถึงการต่อสู้บนหลังม้า
ส่วนบาดแผล 11 แห่งที่พบบนโครงกระดูก “แลนเซต” บรรยายว่าเป็นบาดแผลที่บริเวณหัวกะโหลก 9 แผล ในจำนวนนี้ 2 แผล ซึ่งรวมถึงแผลบริเวณกะโหลกด้านหลัง เป็นแผลฉกรรจ์จากอาวุธมีคมแทงทะลุถึงสมอง
ศาสตราจารย์ซาราห์ เฮนสเวิร์ท หนึ่งในคณะทำงานของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ สันนิษฐานว่าด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ซึ่งมิใช่ขณะกำลังสู้รบ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 น่าจะลงจากหลังม้าพร้อมชุดเกราะ แต่มิได้สวมหมวกเหล็ก แล้วทันทีทันใดก็ถูกนักรบฝ่ายทิวดอร์จู่โจมจากทุกทิศทางด้วยอาวุธต่างๆ กัน ตั้งแต่หอก ทวน จนถึงขวาน ค้อน ดาบยาว และดาบสั้น
โพลิดอเร แวรจิล นักประวัติศาสตร์ชาวอิตาลี ผู้รับใช้ราชสำนักทิวดอร์ บันทึกวาระสุดท้ายของพระองค์ไว้ว่า “ทรงสู้ตามลำพังอย่างสมศักดิ์ศรีท่ามกลางศัตรูจำนวนมากที่ห้อมล้อม”
ในหนังสือประวัติศาสตร์อังกฤษ “อิสตอเรีย เรกุม อังกลิอาย” (Historia regum angliae) ซึ่งเขียนเป็นภาษาละตินโดย จอห์น เร้าส ระบุว่า “พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ทรงเป็นนักรบที่มีเกียรติ แม้พระองค์จะมีพระวรกายเล็กบางและพละกำลังไม่มากนัก แต่ในห้วงสุดท้ายของพระอัสสาสะ ก็ทรงหยัดพระองค์ขึ้นสู้ แล้วเปล่งพระสุรเสียงว่า ทรยศ สามครั้ง”
ที่ว่าพระวรกายเล็กบางนี้ ตรงกับคำบรรยายของนักเขียนร่วมสมัยหลายคน รวมถึง นิโคลัส ฟอน ป๊อปเปลอ ขุนนางชาวไซลีเซีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และประเทศเยอรมนี) ที่เคยเข้าเฝ้าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แล้วเขียนบันทึกว่าพระองค์สูงกว่าเขาประมาณ 3 นิ้ว แต่ผอมกว่าและมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่
ฌอง โมลิเนต์ กวี/นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เขียนบันทึกหลังจากการสวรรคตของพระองค์ผ่านไปแล้ว 5 ปี ว่า “กษัตริย์ (ริชาร์ด) ทรงมีความห้าวหาญ พระองค์ทรงมงกุฎบนพระเศียร ม้าของพระองค์ตกลงไปในหล่มและขยับไม่ได้ ทันใดนั้น ชาวเวลส์คนหนึ่งได้เข้ามาจากข้างหลัง ใช้ง้าวฟันพระเศียรของพระองค์จนสวรรคต แล้วทหารอีกคนหนึ่งก็ได้นำร่างของพระองค์ที่มีพระเศียรตกห้อยขึ้นบรรทุกหลังม้าเหมือนบรรทุกแกะ”
ส่วนกวีชาวเวลส์ชื่อ กูโต้เกล็น หรือกริฟฟิธแห่งเกล็น บันทึกว่าพระองค์ถูกง้าวฟันโดยทหารชาวเวลส์ชื่อ เซอร์รีส อัฟ โทมัส …
ภายหลังการตรวจสอบแล้ว ได้มีพิธีเคลื่อนย้ายพระอัฐิสัณฐานของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ไปยังมหาวิหารเลสเตอร์ ในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2015
กำหนดการครั้งนั้น ขบวนรถเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ไปยังจุดสังหารสมรภูมิบอสเวิร์ธ ซึ่งเวลานั้นเป็นไร่ของชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง จากนั้นจะตรงไปยังโบสถ์เซ็นต์เจมส์ประจำเขตแพริชแดดลิงตั้น และชัตตัน เชนีย์ ซึ่งเชื่อกันว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ทรงสวดสรรเสริญพระเจ้าครั้งสุดท้ายที่นี่ในคืนก่อนหน้าสวรรคต แล้วขบวนจะเคลื่อนผ่านสะพานโบว์ผ่านตลาดบอสเวิร์ธไปยัง มหาวิหารเลสเตอร์ โดยมีพิธีบรรจุพระอัฐิสัณฐานในหลุมฝังพระศพอย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม นำพิธีโดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี
เรื่องราวการค้นพบพระอัฐิสัณฐานของ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ยังถูกนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์ ชื่อ “The Lost King” กษัตริย์ที่สาบสูญ ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ ฟิลลิปปา แลงก์ลีย์ ผู้ค้นพบหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ถูกเมินเฉยมานานหลายศตวรรษนี้ โดยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อปี 2022 และสามารถรับชมได้แล้วใน Netflix
อ่านเพิ่มเติม :
- พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ สั่งกำจัดพระนัดดาวัยเด็กที่ถูกขังจริงหรือ?
- พบกระดูก “ยักษ์” อายุ 5 พันปี ในชานตง
- พบโครงกระดูกเก่าแก่จำนวนมาก คาดเป็นของสมุนเผด็จการผู้วางแผน “รัฐประหาร” เอเธนส์
- ไขปมโครงกระดูกทหารโรมันชั้นสูง ถูกส่งไปกู้ภัยแถบปอมเปอี ช่วงภูเขาไฟระเบิด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “ริชาร์ดที่ 3 แห่งยอร์ก กุหลาบขาวเปื้อนเลือดหรือถูกป้ายสีเลือด? ข้อกังขาในประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ” เขียนโดย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2563