
เผยแพร่ |
---|
ภาพจำของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 (Richard III) ในหมู่ชาวอังกฤษรุ่นหลัง ส่วนใหญ่จดจำกษัตริย์อังกฤษพระองค์นี้ในสถานะ “วายร้าย” สืบเนื่องมาจากข้อมูลในบันทึกเก่าแก่ไปจนถึงผลงานของวิลเลียม เช็กสเปียร์ นักเขียนชื่อก้องโลก ภาพจำที่ฝังแน่นในหมู่คนรุ่นหลังมากที่สุดคือ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 อยู่เบื้องหลังการสังหารพระนัดดาวัยเยาว์ 2 พระองค์ที่ถูกขังบนหอคอย หรือที่เรียกกันว่า “สองเจ้าชายบนหอคอย”
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เป็นอีกหนึ่งกษัตริย์ที่นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันเกี่ยวกับข้อมูลมากที่สุดอีกพระองค์หนึ่ง นับตั้งแต่การก่อตัวของราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor) ข้อมูลซึ่งบอกเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ล้วนออกมาในเชิงว่า พระองค์สามารถกระทำการใดๆ ก็ตามเพื่อรักษาพระราชบัลลังก์เอาไว้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นลักษณะนิสัยที่แตกต่างจากภาพลักษณ์ภายนอกหากเทียบกับภาพวาดเสมือนของพระองค์ที่ดูแล้วมีรูปโฉมงดงาม
ข้อมูลที่ย้อนแย้งอีกประการเกี่ยวกับพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 มาจากเนื้อหาในงานประพันธ์ “พระเจ้าริชาร์ดที่ 3” ของวิลเลียม เช็กสเปียร์ (William Shakespeare) ซึ่งฉายภาพว่า พระวรกายของพระองค์ผิดรูปทรง (นักแปลบางท่านตีความว่า “หลังค่อม” แต่หลักฐานจากการตรวจสอบโครงกระดูกที่เชื่อว่าเป็นร่างของพระองค์ในภายหลังชี้ว่า เป็นสภาวะพระอังสาสองข้างไม่เสมอกันจากภาวะ “กระดูกสันหลังคดช่วงวัยรุ่น”)
จากข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์รวบรวมไว้ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ครองราชย์สั้นๆ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อังกฤษในช่วงเวลานั้นเป็นที่จดจำจากยุคการแย่งชิงอำนาจอย่างดุเดือดระหว่างราชวงศ์ยอร์ก กับราชวงศ์แลงแคสเตอร์ หรือที่เรียกว่า “สงครามดอกกุหลาบ” นักประวัติศาสตร์บางรายรวบรวมข้อมูลได้ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายทำสงครามรบพุ่งกัน 17 ครั้งภายในห้วงเวลา 32 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1455-87 ท้ายที่สุดเป็นฝั่งแลงแคสเตอร์ เป็นผู้ได้ชัยชนะ นำมาสู่ราชวงศ์ทิวดอร์ในเวลาต่อมา
ส่วนพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 กษัตริย์อังกฤษองค์สุดท้ายของราชวงศ์ยอร์ก สวรรคตในสนามรบ
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นักเขียนและผู้เขียนบทความ “ริชาร์ดที่ 3 แห่งยอร์ก กุหลาบขาวเปื้อนเลือดหรือถูกป้ายสีเลือด? ข้อกังขาในประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2558 บรรยายภาพจำของพระองค์ในแง่การเมืองการปกครองอีกว่า
“พระองค์ทรงได้รับฉายาว่า ‘กษัตริย์ทรราช’ จากข่าวลือที่ว่าพระองค์ทรงทรยศความไว้วางพระราชหฤทัยของกษัตริย์องค์ก่อนหน้า (พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 – กองบก.ออนไลน์) ผู้เป็นพระเชษฐา ซึ่งสวรรคตพร้อมคำสั่งเสียให้พระองค์ช่วยดูแลพระนัดดาสองพี่น้องซึ่งเป็นยุวกษัตริย์และพระอุปราช แต่พระองค์กลับปลงพระชนม์พระนัดดาให้เป็นผีเฝ้าหอคอยแห่งลอนดอน แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์เสียเอง
เมื่อพระองค์สวรรคตอย่างอนาถในสนามรบทุ่งบอสเวิร์ธ จึงไม่มีใครเหลียวแลพระศพซึ่งถูกถอดเกราะและเสื้อผ้าจนเปลือยเปล่า ลากประจานไปทั่วเมือง ยากจะหาหลักฐานว่าถูกฝังหรือถูกโยนทิ้งลงแม่น้ำ
มีบางคนไม่เชื่อข่าวลือนี้ และว่า เมื่อประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ พระองค์ซึ่งถูกสังหารในสนามรบทุ่งบอสเวิร์ธโดยขุนนางเฮนรี่ ทิวดอร์ ผู้ต่อมาจะเป็นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ อาจถูกใส่ร้ายป้ายสีก็เป็นได้”
คำเล่าลือเรื่องพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 อยู่เบื้องหลังการสังหารพระนัดดาสองพี่น้องซึ่งเป็นยุวกษัตริย์และพระอุปราช (พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 วัย 12 ปี และริชาร์ด ดยุคแห่งยอร์ค พระอนุชาวัย 9 ปี) ขณะถูกคุมขังในหอคอยแห่งลอนดอน ส่วนหนึ่งมาจากเนื้อหาในงานเขียนประวัติของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ชื่อ “ประวัติของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3” (The History of King Richard III) โดย เซอร์โธมัส มอร์ (Sir Thomas More)
ช่วงที่งานเขียนของเซอร์โธมัส มอร์ นักการเมืองและนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงได้รับความสนใจคือราว 1513 ข้อกล่าวหาต่อพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 กรณีการปลงพระชนม์พระนัดดาทั้งสองถูกนักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสงสัยเช่นเดียวกับข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับพระองค์
อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางรายในยุคปัจจุบันที่ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมแบบเจาะจงเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องสังหาร “เจ้าชายบนหอคอย” พบว่า ข้อกล่าวหานี้มีแนวโน้มเป็นความจริง
งานศึกษาของทิม ธอร์นตัน (Tim Thornton) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮัดเดอร์สฟิลด์ (University of Huddersfield) ตีพิมพ์ในวารสาร “ประวัติศาสตร์” (History) โดยสมาคมประวัติศาสตร์ และบ. จอห์น ไวลีย์ และบุตร จำกัด (The Historical Association and John Wiley & Sons Ltd) ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2020
ในขณะที่เหล่าผู้ปกป้องพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อกล่าวหาเรื่องนี้ขาดหลักฐานที่มีน้ำหนัก แต่งานศึกษาของธอร์นตัน อธิบายว่า เขาพบสิ่งบ่งชี้ที่ทำให้เชื่อว่า เซอร์โธมัส มอร์ (เจ้าของงานเขียนที่ระบุชื่อผู้เกี่ยวข้องกับการสังหาร) มีคนรู้จักเป็นลูกชายของหนึ่งในนักฆ่าที่ได้รับว่าจ้างให้ลงมือสังหาร พร้อมสรุปว่า มอร์ ค้นพบเบื้องหลังการสังหารจากบุคคลที่รู้จักเหล่านี้
ในงานเขียนของเซอร์โธมัส มอร์ เขาระบุว่า ผู้ลงมือ 2 ราย คือ ไมล์ส ฟอเรสต์ (Miles Forest) และ จอห์น ไดจ์หตัน (John Dighton) มอร์ กล่าวอ้างว่า ทั้งคู่ถูกว่าจ้างโดยเซอร์ เจมส์ ไทเรลล์ (Sir James Tyrell) คนรับใช้ที่รับคำสั่งจากพระเจ้าริชาร์ดที่ 3
ศาสตราจารย์ทิม ธอร์นตัน อธิบายใน แถลงการณ์ จากมหาวิทยาลัยฮัดเดอร์สฟิลด์ (University of Huddersfield) สถาบันต้นสังกัดว่า “ข้าพเจ้าพบว่า ลูกชายของผู้อยู่เบื้องหลังของฆาตกรมีชื่ออยู่ในแวดวงราชการในราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ พวกเขามีชีวิตและทำงานไปพร้อมกับเซอร์โธมัส มอร์
เซอร์โธมัส ไม่ได้เขียนชื่อบุคคลขึ้นมาจากจินตนาการ เรามีข้อมูลที่พอจะเป็นรากฐานอันทำให้เชื่อได้ว่ารายละเอียดในงานเขียนของเซอร์โธมัส เป็นเรื่องเชื่อถือได้”
เซอร์โธมัส มอร์ ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เป็นเสนาบดีในปี 1529 แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นที่ไว้วางใจของราชวงศ์ทิวดอร์ (ในช่วงหนึ่งเท่านั้น) ที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์บางส่วนวิจารณ์งานเขียนของเซอร์โธมัส มอร์ ว่า เขาให้ร้ายพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ตามคำสั่งของราชวงศ์ทิวดอร์ (พระเจ้าเฮนรีที่ 7 และพระเจ้าเฮนรีที่ 8) ซึ่งอาจต้องการสร้างภาพของราชวงศ์ก่อนหน้าให้เป็นเชิงลบ
ชะตากรรมของยุวกษัตริย์ในหอคอยแห่งลอนดอนเป็นหัวข้อที่นักประวัติศาสตร์ให้ความสนใจมาหลายทศวรรษ เมื่อปี 1670 หัวข้อนี้เป็นที่ฮือฮาจากเหตุการณ์พบโครงกระดูกเด็กชาย 2 คนในหอคอยแห่งลอนดอน และในทศวรรษ 1930 ก็เพิ่งนำสิ่งที่พบกลับมาชันสูตรตามหลักวิทยาศาสตร์อีกครั้ง
จากงานศึกษาของทิม ธอร์นตัน ที่เขาพยายามยกว่าเซอร์โธมัส มอร์ มีแหล่งข่าววงในที่มีตัวตนจริง กรณีนี้เป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าที่บ่งชี้น้ำหนักฝั่งความเชื่อว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 อยู่เบื้องหลังมากกว่า แน่นอนว่า ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้เป็นข้อเสนอที่จะปิดฉากการศึกษาจนสามารถสรุปเหตุการณ์ได้อย่างแน่ชัด ในทางการศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว กรณีนี้จะยังเป็นอีกหนึ่งปริศนาอันดำมืดไปจนกว่าจะปรากฏหลักฐานเพิ่มเติมที่พอจะประกอบกันแล้วมีน้ำหนักเพียงพอให้ฟันธงข้อสรุปได้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2564