วันอาสาฬหบูชา “วันพระรัตนตรัย” ครบองค์สามบริบูรณ์

จิตรกรรม ฝาผนัง เวียนเทียน วันอาสาฬหบูชา
"เวียนเทียนรอบอุโบสถ" จิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎกวัดบวรนิเวศวิหาร

วันอาสาฬหบูชา “วันพระรัตนตรัย” ครบองค์สามบริบูรณ์

อาสาฬหบูชา มีคำย่อมาจากคำว่า “อาสาฬหปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ” อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย

วันนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรกแก่ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คนได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ

Advertisement

การแสดงธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ เกิดขึ้น ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย

พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกนี้มีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” มีความหมายว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร

กล่าวโดยสรุปคือ ส่วนที่สุดสองอย่างที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธ อันได้แก่ “กามสุขัลลิกานุโยค” คือการหมกมุ่นอยู่ในกามสุข และ “อัตตกิลมถานุโยค” คือการทรมานตนให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ : มัชฌิมาปฏิปทา คือปฏิปทาทางสายกลางที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ได้แก่ มรรคมีองค์แปด : อริยสัจสี่ คือธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการ

พระอัญญาโกณฑัญญะ ขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา จึงกลายเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลกด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

อีกหนึ่งความสำคัญคือ เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้ในวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ และจัดว่าเป็น “วันพระรัตนตรัย” อีกด้วย

ในประเทศไทย วันอาสาฬหบูชาถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 2501 พร้อมทั้งยังกำหนดพิธีขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยพิธีปฏิบัติที่ว่านี้จะมีลักษณะเดียวกับวันวิสาขบูชา

อาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายมักจะไปทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ อาทิ ไปวัด สมาทานศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ฟังพระธรรมเทศนา ถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวาย เทียนพรรษา และไปเวียนเทียนรอบอุโบสถในเวลาเย็น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2561