พุทธศาสนา “ลังกาวงศ์” เข้ามาเมื่อไร? ทางไหน?

แผนที่ เส้นทาง เผยแพร่ พุทธศาสนา ลังกาวงศ์ เข้าสู่ สยาม
สันนิษฐานการเข้ามาของลังกาวงศ์ :- 1. เส้นทางเดินถึงนครฯ​ และนครธม, พุทธศตวรรษที่ 18, 2. เส้นทางเดินถึงรามัญ, สุโขทัย และล้านนา, พุทธศตวรรษที่ 20

พุทธศาสนา “ลังกาวงศ์” เข้ามาเมื่อไร? ทางไหน?

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (นครศรีธรรมราช) ร่วมกับเทศบาลนครฯ, สยามมอเตอร์, สถานทูตศรีลังกา และนสพ.มติชน จัดสัมมนาเรื่อง “ไทย-ลังกา, ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์” (ที่กรุงเทพฯ วันที่ 19-19 และที่นครฯ 21 ตุลาคม 2544)

Advertisement

ผมได้รับมอบหมายให้รวบรวมนิทรรศการภาพเนื่องในงานนี้ ซึ่งสร้างโอกาสให้ทบทวนหลักฐานที่มีอยู่อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ตาสว่างขึ้นเล็กน้อย

ใครๆ เชื่อว่า ลังกาวงศ์เข้ามาในสยามครั้งแรกในรัชกาลพญาลิไท (พุทธศตวรรษที่ 20) ตามศิลาจารึกหลักที่ 3-4-5-6 โดยผ่านรามัญประเทศ (ผมขอข้ามจารึกหลักที่ 1 เพราะไม่เชื่อในเหตุผลที่ปรากฏในที่อื่น) ลังกาวงศ์น่าจะเข้ามาครั้งหนึ่งในรัชกาลพญาลิไทผ่านเมืองมอญจริง แต่ถ้าจริงก็สร้างปัญหาให้เราอย่างน้อยสองประการ คือ

1. หากลังกาวงศ์ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในอุษาคเนย์อยู่แล้ว ทำไมท่านถึงนิยมและอยากได้มา?

2. ทำไมจารึกสุโขทัย (ตามมาด้วยชาวภาคกลางและภาคใต้ทั้งหมด) ใช้อักษรขอม (เขมร) เขียนพระบาลี? ทำไมไม่ใช้อักษรสิงหลหรืออักษรมอญ?

จะเป็นไปได้ไหมว่า ก่อนรัชกาลพญาลิไท ลังกาวงศ์เคยแอบเข้ามาฝังตัวในนครธม (ผ่านนครศรีธรรมราช?) แล้วค่อยแผ่ขึ้นไปถึงสุโขทัยจนเป็นที่รู้จักดี? ต่อมาพญาลิไท (จารึกหลักที่ 3-4-5-6) และหลวงพ่อศรีศรัทธา (หลักที่ 2, 11 และตำนานพระปฐม-พระประโทน) ได้ติดต่อลังกาโดยตรงผ่านเมืองท่าในพม่าตอนใต้ จึงได้รับลังกาวงศ์เป็นแบบแผนพระศาสนาที่สมบูรณ์?

ในการทบทวนหลักฐานครั้งใหม่นี้ ผมยังอาศัยลายลักษณ์อักษร (จารึกและตำนาน) บ้าง แต่ด้วยเหตุว่าเป็นการรวบรวมภาพสิ่งของเพื่อประกอบนิทรรศการ ผมจึงได้โอกาสพิจารณาสิ่งของเหล่านี้ด้วยสายตาใหม่ ไม่ว่าสิ่งของเหล่านั้นจะมีเอกสารรับรองหรือไม่

จากการศึกษาภาพสิ่งของโดยเทียบกับเอกสารเท่าที่มีอยู่ ผมเข้าใจว่า พุทธศาสนาจากลังกาเข้ามาในสยามอย่างน้อยสามครั้งใหญ่ๆ เพื่อไม่ให้ปะปนกันผมขอแยกเป็นสามบทดังนี้

บทที่ 1 สมัยทวารวดี (ราวๆ พุทธศตวรรษที่ 10-15)

ภาพชุดที่ 1 ที่เจดีย์ “คลังกลาง” มีรูปแคระแบกที่คล้ายกับแคระแบกที่กรุงอนุราธปุระ (ต่างกับแคระแบกในอินเดีย)

ภาพชุดที่ 2 ที่เมืองศรีมโหสถ ปราจีนบุรี มีอัฒจันทร์ตีนบันไดที่มีทั่วไปในลังกาแต่หายากมากในอินเดีย

ภาพชุดที่ 3 ที่วัดสระมรกต มีพระพุทธบาทคู่คล้ายที่นิยมในลังกา ถูกฝังใต้อาคารคล้ายพระเจดีย์อภัยคีรี กรุงอนุราธปุระ ที่ตำนานว่าสร้างทับพระพุทธบาทคู่

เอกสารกำกับ

จารึกเนินบัว (วัดสระมรกต) ภาษาบาลี ระบุปี ม.ศ. 683 (พ.ศ. 1304) ประกอบด้วยบทที่ 2-3-4 ของพระคัมภีร์ “เตลกฐาหะคาถา” (คาถากระทะน้ำมัน) บทที่ 2-3-4 ที่ปรากฏในจารึกเนินสระบัว ประกอบด้วยการนมัสการพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามลำดับ แต่พระคาถาบทที่ 1 (ที่ไม่ปรากฏในจารึก) ขึ้นต้นว่า

“ลํกิสฺสโร…” คือ “พระเจ้ากรุงลังกาผู้ทรงพระคุณจงสดับพระคาถานมัสการพระรัตนตรัย ดังนี้…”

ผมจึงเชื่อว่า สยามรู้จักพุทธศาสนาจากลังกาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยทวารวดี อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจจะติดตามวิวัฒนาการเรื่องนี้ได้เพราะหลักฐาน (ทั้งภาพและเอกสาร) ขาดหายไป

บทที่ 2 สมัย “ขอม” (ราวพุทธศตวรรษที่ 15-20)

ใครๆ ก็รู้ว่าเมืองขอม/เขมรนับถือพราหมณ์และพุทธศาสนาแบบมหายาน/วชิรยาน อย่างไรก็ตามหากใช้สายตาจะเห็นว่าพระพุทธรูปเขมรโบราณส่วนใหญ่จะเป็นพระนั่งสมาธิราบแบบที่นิยมในลังกา ผิดกับพระมารวิชัยนั่งสมาธิเพชรแบบอินเดียเหนือที่ชาวมหายาน/วัชรยานนิยม

ทำไม? ผมไม่รู้

ภาพชุดที่ 1 พระประธานในปรางค์ประธานปราสาทพระขรรค์ของชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1753) ไม่ใช่พระพุทธรูปแต่เป็นพระสถูปทรงลังกาแบบรุ่นเก่าๆ (องค์ระฆังป้อมๆ มากกว่ากลม) คล้ายพระสถูปลังกาสมัยโปโลนนารุวะ ที่พอเทียบได้กับพระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 1719 ตามตำนานพระธาตุฯ) และพระเจดีย์น้อยในนิสสังกะลัดดามณฑป (พ.ศ. 1730-1739) ที่กรุงโปโลนนารุวะ

จารึกพระขรรค์ของชัยวรมันที่ 7 ว่านี่คือวัดเฉลิมพระเกียรติพระบิดา และน่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิแล้วทำไมจึงประดิษฐานพระอัฐิในสถูปทรงลังกา? ฝรั่งเศสแก้ว่าสถูปองค์นี้คงจะเป็นของคนไทยทำขึ้นมาใหม่หลังปราบปรามเมืองเขมรแล้ว (คือราวพุทธศตวรรษที่ 21-22)

ผมขอโต้แย้งว่า

ก. คนไทยเคยรื้อพระพุทธรูปประธานแล้วสร้างพระสถูปแทนเมื่อไร?

ข. พระสถูปเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุของใครที่นครธมในพุทธศตวรรษที่ 21-22?

ค. ถึงพุทธศตวรรษที่ 21-22 ทั้งไทยและเขมรนิยมสร้างเจดีย์สูงชะลูด ใครที่ไหนจะมาสร้างเจดีย์มีองค์ระฆังป้อมๆ ?

ผมจึงสรุปว่า พระสถูปหินทรงลังกาที่เป็นองค์ประธานในปราสาทพระขรรค์ น่าจะเป็นของเดิมที่ชัยวรมันที่ 7 สร้างถวายพระบิดาในพุทธศตวรรษที่ 18

ภาพชุดที่ 2 การลืมตาเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตและความรับรู้ เทวรูปและพระพุทธรูปล้วนลืมตาเพราะเป็น “ผู้ตื่น” และ “ผู้รู้” พระมหากษัตริย์ยิ่งแล้วใหญ่ หลับตาไม่ได้ แล้วพระมหากษัตริย์ที่ไหนเคยอนุญาตให้ช่างสร้างรูปเหมือนหลับตา? ผมทบทวนศิลปะเอเชียและศิลปะโลกแล้วเห็นมีเพียงองค์เดียว คือชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1753)

ผมเข้าใจจากภาพเหล่านี้ว่า ชัยวรมันที่ 7 น่าจะเป็นคนจิตใจสูงที่เข้าถึงแก่นธรรม (ที่ฝรั่งเรียกว่า Mystic) ท่านจึงกล้าให้ช่างสลักรูปท่านหลับตา แสดงถึงวิมุตติสุข หรือการเข้าสมาธิ มีปีติและความสงบ

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นคนล่ำสันไหล่กว้าง มีท่าทีจะลงพุงเล็กน้อยตั้งแต่ยังหนุ่ม มีปากหนา จมูกไม่โด่ง กระดูกกะโหลกหน้าผากเป็นสันใต้คิ้ว และหลับตา เราจะหารูปทำนองนี้ได้ที่ไหนอีกเล่า?

ภาพชุดที่ 3 ใกล้กรุงโปโลนนารุวะในเกาะลังกา มีหน้าผาสลักเป็นรูปราชบุรุษมีอายุ สง่างาม

บุรุษคนนี้รูปหล่อแม้จะอายุมาก ลงพุงเล็กน้อย ปากหนา จมูกไม่โด่ง กะโหลกหน้าผากเป็นสันใต้คิ้ว และหลับตา

ท่านเป็นใคร?

ไม่มีใครรู้เพราะไม่มีจารึกกำกับ นักปราชญ์ชาวลังกามักเหมาว่า นี่คือพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 (“พระร่วง” ของลังกา) แต่ผมเทียบภาพที่ 14-15 กับภาพที่ 10-11 แล้วอยากเสนอว่านี่น่าจะเป็นคนเดียวกัน เป็นไปได้ไหมว่า ภาพที่ 10-11 (จากนครธม) คือชัยวรมันที่ 7 ตอนหนุ่ม และภาพที่ 14-15 (จากโปโลนนารุวะ) คือชัยวรมันที่ 7 ตอนปลายชีวิต?

๑. ผังวัดในลังกา ๒. ผังวัดโปตคุลวิหาร, โปโลนนารุวะ ๓. ผังแม่บุญตะวันออก, นครธม

ภาพชุดที่ 4 รูปราชบุรุษที่ว่านี้หันหน้าไปที่วัดร้างแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “โปตคุลวิหาร” (วัดบรรณาลัย) ท่านผู้อ่านควรทราบว่าสถาปนิกลังกามักสร้างวัดตามแต่ภูมิประเทศจะอำนวยโดยไม่สนใจการเข้าระเบียบขนานซ้าย-ขวา (Symmetry) ผิดกับสถาปนิกเขมรที่ถือ Symmetry เป็นที่หนึ่ง วัดโบราณของลังกาทุกแห่งมีแผนผังแบบ “กระจาย” ตามแต่สะดวกจะสร้าง มีแต่วัดโปตคุลวิหารเท่านั้นที่มีแผนผัง Symmetrical

ตั้งแต่ ค.ศ. 1906 อธิบดีกรมโบราณคดีลังกาชื่อ H.C.P. Bell เคยสังเกตว่าวัดโปตคุลวิหารนี้ผิดหลักสถาปัตยกรรมลังกาทั้งหมด แต่เข้าระเบียบสถาปัตยกรรมเขมรได้สะดวก (ดู Epigraphia Zeilanica vol. 2)

เอกสารกำกับ

ตำนานจุลวงศ์ (บทที่ 76) ระบุว่า พระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 (พ.ศ. 1686-1729) เคยส่งพระธิดาไปยังกัมโพชเทศซึ่งน่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ทำให้ทั้งสองราชวงศ์เป็นพระญาติ ในปี 1708 เกิดความขัดแย้งทางการค้ากับรามัญเทศท่านจึงส่งทัพเรือไปย่ำยีเมืองมอญ ซึ่งเป็นไปไม่ได้หากท่านไม่มีสัมพันธมิตรในอุษาคเนย์มาสมทบ ในปีเดียวกันท่านยังปฏิรูปพระศาสนา (นิกายสามัคคี รวมสามนิกายให้เป็นหนึ่งใต้อำนาจพระมหาเถรองค์เดียวซึ่งต่อมากลายเป็นสถาบันสังฆราช)

จารึกพระเจ้านิสสังกะมัลละ (พ.ศ. 1730-1739) ระบุว่าสร้างพระราชไมตรีกับรามัญและกัมโพช

จารึกกัลยาณีสีมา (เมืองสะเทิม) ระบุว่า ท่านจปฎะ (ชาวมอญ) ออกไปบวชใหม่ในลังกาทวีประหว่าง 1723 ถึง 1733 ได้คบหาและกลับมาพร้อมกับพระสหายชื่อพระตามลินทะ ซึ่งเป็นกัมโพชราชบุตร

ตำนานพระแก้วมรกต (รัตนพิมพ์วงศ์) ว่า พระแก้วมรกตเสด็จจากลังกาเข้าเมืองนครธมก่อน จึงค่อยเสด็จมาอโยชฌปุระ แล้วขึ้นไปเมืองเหนือ

พระราชพงศาวดารลาว มีความว่า เจ้าฟ้างุ้มนำพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาประดิษฐานในเมืองล้านช้าง จากเมืองเขมรในพุทธศตวรรษที่ 19-20

จดหมายเหตุราชทูตลังกา พ.ศ. 2296 มีความว่า “เมืองนครฯ นี้เป็นเมืองใหญ่ชื่อปาฏลีบุตร มีกำแพงล้อมรอบ กลางเมืองมีเจดีย์ใหญ่เท่ารุวันแวลิเจดีย์ในเมืองโปโลนนารุวะ พระเจ้าศรีธรรมาโศก สร้างเพื่อบรรจุพระธาตุพระพุทธเจ้า จากยอดลงมาถึงมาลัยเถาปิดทองล้วนไม่มีตำหนิ รอบพระเจดีย์มีพระพุทธรูป 300 องค์ ทั้งยืน นั่ง และนอน มีเจดีย์น้อย สูง 9 ศอกบ้าง 11 ศอกบ้าง และยังมีต้นโพธิ์ที่อัญเชิญมาจากอนุราธปุระ โดยพระเจ้าศรีธรรมาโศกผู้น้องที่ครองราชย์ที่นี่ต่อมา”

สรุปเบื้องต้น

เราไม่มีเอกสารโบราณระบุว่าพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาถึงเขมรในพุทธศตวรรษที่ 18 ผ่านนครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตาม ผมขอเสนอจากหลักฐานวัตถุสิ่งของที่เหลือให้เห็นด้วยตา (ที่มีเอกสารรองรับบ้าง แม้ไม่เป็นหลักฐานผูกมัด) ว่าดังนี้

ก. ในพุทธศตวรรษที่ 18 มีการไปมาหาสู่กันระหว่างนครธมกรุงกัมพูชากับนครโปโลนนารุวะกรุงลังกา และน่าจะไปมาหาสู่กันผ่านนครศรีธรรมราช

ข. ราชวงศ์พระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 กับราชวงศ์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 น่าจะเป็นพระญาติกัน และอาจจะเป็นมาตั้งแต่ก่อนรัชกาลของท่านทั้งสอง

ค. พุทธศาสนา ลังกาวงศ์ ระลอกแรก (หลังการปฏิรูปศาสนาของพระเจ้าปรากรมพาหุ) น่าจะเป็นที่รู้จักกันนครธมในพุทธศตวรรษที่ 18 พร้อมๆ กับที่ท่านจปฏะนำพระศาสนาไปประดิษฐานในเมืองรามัญ

ฆ. ต่อมาพระศาสนาคงจะแผ่จากนครธมไปทางเหนือ (ลาว) และตะวันตก (สยาม) แล้ว “ชน” กับ ลังกาวงศ์ อีกระลอกหนึ่งที่เข้ามาทางรามัญเทศที่สุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ 19-20

บทที่ 3 สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19 ขึ้นมา)

ประวัติศาสตร์ท่อนนี้ค่อนข้างมีเอกสารสนับสนุนมากพอสมควร ผมจึงไม่จำเป็นต้องรายงานรายละเอียดมากนักหนา อย่างไรก็ตามกระแสประวัติศาสตร์ “รักชาติ” ทำให้สายตาสั้นไป (สุโขทัยโดดเด่น ไม่มีสัมพันธ์กับโลกลาว-เขมร-มอญ-พม่า) หรือสายตายาวไป (สุโขทัยมีอำนาจปกครองตั้งแต่สิบสองพันนาถึงเกาะสิงคโปร์) และชวนให้คนมองข้ามหลักฐานสิ่งของที่เห็นด้วยตา

ภาพชุดที่ 1 ที่สุโขทัยและเมืองบริวาร (ซึ่งอยู่ในวงแคบไม่กี่ร้อยกิโลเมตร) มีพระเจดีย์สองชนิดที่มีรูปร่างเข้ากันไม่ได้ คือพระเจดีย์ยอดทรงข้าวบิณฑ์ และพระเจดีย์ทรงลังกา

จนทุกวันนี้ไมมีใครอธิบายได้ว่า เจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์คืออะไร มาจากไหน? อย่างมากท่านว่า เจดีย์แบบนี้คงเกิดโดยโอปปาติกะจาก “จิตวิญญาณ” และ “ค่านิยม” ของคนไทย

อีหลีบ่?

หลักฐานอยู่ที่ไหน? ทำไมเจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์จึงขี้เหร่จนคนรุ่นหลังไม่เอาเยี่ยงอย่าง?

เป็นไปได้ไหมว่าพระเจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์เกิดได้เฉพาะจากเงื่อนไขที่นั่น (สุโขทัย) เมื่อนั้น (พุทธศตวรรษที่ 19-20) ?

ผมอยากอธิบายว่า พระเจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์น่าจะเกิดจากปรางค์เขมรที่อยากดิ้นเป็นพระสถูปแบบลังกา แต่ดิ้นไม่หลุดจากแบบเดิม เจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ของนิกายลังกาวงศ์เก่าที่รับเข้ามาผ่านนครธม

ส่วนพระเจดีย์ทรงลังกาที่สุโขทัยน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ของนิกายลังกาวงศ์ใหม่ที่พญาลิไทนำเข้ามาจากรามัญเทศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2562