ปัญหาการไม่สามารถบวชภิกษุณีได้ในไทย แต่เหตุใดจึงบวชได้ในศรีลังกา?

พิธีอุปสมบทภิกษุณี ณ ประเทศศรีลังกา 3 รูป เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ภาพโดย “ทิพยสถานธรรม” จากเว็บบอร์ด พลังจิต PALUNGJIT.ORG / https://palungjit.org)

ประเด็นในการบวชภิกษุณีในไทยมีอยู่ 2 เรื่อง คือ ประวัติศาสตร์ (หรือประวัติภิกษุณีวงศ์) และปัญหาทางพระวินัย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการบวชภิกษุณีอ้างด้วยข้ออ้างว่า อุปัชฌาย์ภิกษุณีของฝ่ายเถรวาท หรือที่เรียกว่า ปวัตตินี ได้สูญไปนานแล้ว ไม่สามารถจะรื้อฟื้นมาใหม่ได้ และหากใช้ภิกษุณีจากฝ่ายมหายานมาเป็นปวัตตินี ซึ่งเป็นนักบวชต่างนิกาย เป็นสิ่งที่เถรวาทแบบไทยไม่สามารถรับได้

แม้การบวชภิกษุณีจะเป็นพุทธานุญาต แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าการจะทำให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีภิกษุณีสงฆ์ของฝ่ายเถรวาทเหลืออยู่ในปัจจุบัน การรักษากฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอาศัยเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า หากแต่อาศัยเจตนารมณ์ของพระเถระในการสังคายนาครั้งที่ 1 เท่านั้น ทั้งเป็นเจตนารมณ์ที่เถรวาทบัญญัติขึ้นเอง หากพิจารณาโดยยึดแนวพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าโดยพิจารณาเรื่องการบวชเป็นประเด็นสำคัญ เราจะพบว่าพระพุทธเจ้าทรงคำนึงถึงสถานการณ์ข้อเท็จจริงทางสังคมตลอดเวลา แม้วินาทีสุดท้ายก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

หากพูดในเรื่องปัญหาในการบวชภิกษุณีในสังคมไทย คงหนีไม่พ้นการบัญญัติครุธรรม 8 ประการ ที่พุทธศาสนาให้ข้อกล่าวอ้างว่ามิได้มีอคติทางเพศ แต่เนื่องจาก “สังคมพุทธอยู่ท่ามกลางสังคมพราหมณ์ในสมัยพุทธกาลที่สถานภาพของสตรีมีฐานะทางสังคมต่ำกว่าบุรุษ” ในการบัญญัติครุธรรม 8 จึงต้องบัญญัติให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมของคนอินเดียในสมัยนั้น

ในการตีความว่าครุธรรม 8 เป็นปัญหาพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน จึงต้องนำเอาบริบททางสังคมที่สังคมพุทธตกอยู่ท่ามกลางแวดล้อมของสังคมพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่มาช่วยตีความด้วย ตามที่มีนักวิชาการเห็นว่า บริบททางสังคมนี้มีผลอย่างมากต่อการที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติอะไร หรือไม่บัญญัติอะไร เพราะถ้าทรงบัญญัติในเรื่องที่ขัดแย้งกับสังคมอย่างมากก็จะทำให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนได้ และจะส่งผลให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงต้องบัญญัติเพื่อความสอดคล้องกับวัฒนธรรมและประเพณีของคนอินเดียในสมัยนั้น จึงมิใช่การมีอคติทางเพศแต่อย่างใด สามารถเข้าใจได้ว่า ครุธรรม 8 เป็นข้อปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุณีเอง การบัญญัติในเรื่องที่ขัดแย้งกับสังคมอย่างมาก ย่อมทำให้เกิดการต่อต้านและมีผลกระทบต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้

ปัจจุบัน การแสวงหาการยอมรับจากสถาบันสงฆ์หรือพุทธศาสนาเถรวาท มีนัยยะสำคัญต่อการดำรงอยู่และความมั่นคงของภิกษุณีไม่น้อย เพราะพระพุทธศาสนาเถรวาทในไทยมีอิทธิพลต่อรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม ความมั่นคงของพระพุทธศาสนามักหมายถึงความมั่นคงของรัฐด้วย มีข้ออ้างเกิดขึ้นอยู่เสมอว่ากลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลนั้นๆ มีลักษณะความเชื่อที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐเพราะมีรูปแบบความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างจากคณะสงฆ์เถรวาทในสังคมไทย หรือไม่ยอมรับอำนาจของคณะสงฆ์ไทย

กระนั้นแล้ว ถ้าหากคณะสงฆ์ไทยยอมรับเรื่องการบวชภิกษุณีอย่างเป็นทางการก็หมายความว่าพื้นที่ทางสังคมไทยได้เปิดกว้างขึ้นอย่างเป็นถาวรสำหรับภิกษุณี แต่ท่าทีของคณะสงฆ์เถรวาทในไทยนั้นยังไร้ประโยชน์และยังไม่เห็นหนทางที่จะเป็นไปได้ (เพราะภาวะไร้เมตตาธรรมที่มาพร้อมกับการยึดถือหลักพระวินัยและพระไตรปิฎกภาษาบาลี) แต่แม้ไม่ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการ ทางภิกษุณีเองก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ เพราะปัจจุบันการยึดพื้นที่ในสังคมของไทยเป็นพุทธศาสนาเถรวาทดูจะเป็นเพียงพฤตินัย ขณะที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องทางให้มีความหลากหลายทางศาสนามากขึ้น

ช่องทางนี้ดูจะเอื้อต่อการดำรงอยู่ของภิกษุณีอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญเป็นหลักประกันที่สำคัญสำหรับการแสวงหาพุทธธรรมและความเชื่อ รูปแบบพิธีกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ละเมิดต่อต่อสิทธิของพลเมือง สิ่งที่ภิกษุณีควรทำคือการแทรกเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวพุทธที่ไม่ได้เคร่งครัดกับแนวทางของเถรวาท ซึ่งจากที่เห็นนับวันก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในสังคมไทย แม้พระพุทธศาสนาเถรวาทจะผูกขาดประเทศไทยในทางพฤตินัยและพยายามที่จะทำให้มีผลในทางกฎหมาย แต่ก็พึงเข้าใจว่า “พุทธธรรม” ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถผูกขาดได้ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทยพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบันก็ยังมีที่ว่างพอสำหรับผู้ที่มุ่งแสวงหาพุทธธรรม

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในการแสดงออกของมหาเถรสมาคมในด้านสิทธิต่างๆ แม้ภิกษุณีเหล่านี้จะยังดำรงอยู่ได้ในสังคมไทย แต่ก็มิได้รับสิทธิเฉกเช่นแบบที่พระสงฆ์ชายได้รับ เช่น มีสิทธิถือ “ใบสุทธิ” การใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ ฟรี เป็นต้น

ทำไมคนไทยจึงไปบวชภิกษุณีที่ศรีลังกา ?

ภิกษุณีธัมมนันทากล่าวว่า การบวชที่ศรีลังกา เพราะคณะสงฆ์ไทยเป็นลังกาวงศ์ คือมีความสัมพันธ์กันมาแต่เดิมในสมัยสุโขทัย เมื่อพระสงฆ์ในศรีลังกาหมดสายลง ก็มาสืบไปจากไทยอีกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายอยุธยาจึงเกิดสยามวงศ์ขึ้นที่นั่น ภิกษุณีสงฆ์จากอินเดียเข้าสู่ศรีลังกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 แต่มาหมดไปใน พ.ศ. 1560 โดยการรุกรานของกษัตริย์ฮินดู ต่อมามีการเริ่มต้นสายภิกษุณีอีกครั้งในปี พ.ศ. 2541 เป็นการบวชที่ถูกต้องโดยสงฆ์สองฝ่าย และเพื่อให้เกิดความมั่นคงในศรีลังกา ได้มีการบวชซ้ำเฉพาะพระเถระฝ่ายเถรวาท นับเป็นการสืบสายเถรวาทอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ภิกษุณีธัมมนันนทา (ภาพจาก Thai Bhikkhunis / https://www.thaibhikkhunis.com)

กรณีภิกษุณีในศรีลังกา แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในตัวบริบท รูปแบบ วัฒนธรรมของภิกษุณีสงฆ์ในท้องที่ที่แตกต่างกันว่ามีพัฒนาที่ต่างจากประเทศไทยอย่างไรบ้าง อย่างประเทศศรีลังกา เป็นประเทศเถรวาทที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ไม่มีการปกครองที่รวมศูนย์แบบมหาเถรสมาคมของไทย พระสงฆ์ศรีลังกาแบ่งการปกครองออกเป็น 3 นิกายคือ อมรปุระ (Amarapura) รามัญญะ (Ramanna) และ สยามวังสะ (Siyam Vamsa) สองนิกายแรกสืบทอดจากพม่า ขณะที่นิกายหลังได้รับจากประเทศไทยในสมัยอยุธยา แต่ละนิกายมีพระสังฆราชหรือ สังฆนายก (Sangha Nayaka) เป็นของตนเอง ซึ่งมิได้ถูกแต่งตั้งจากรัฐ อีกทั้งในประเทศศรีลังกายังมีการอุปสมบทให้กับสามเณรีที่มาจากต่างประเทศอีกด้วย

เห็นได้ว่า ความคลุมเครือและการไม่ยอมรับสตรีในฐานะภิกษุณีสงฆ์ด้วยข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ของไทยหรืออย่างไรก็ตาม และการอุปสมบทภิกษุณีศรีลังกาที่ดูจะมีข้อกังขาน้อยกว่า ทั้งยังเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์และถูกยอมรับจากองค์กรของศาสนาภายในรัฐเอง ทั้งสาเหตุสำคัญอีกข้อหนึ่งคือที่ศรีลังกานั้นไม่บังคับว่าจะต้องเป็นสิกขมานามาก่อน จึงมีการอุปสมบทภิกษุณีที่มาจากสามเณรีด้วย (แต่ก็ให้เกียรติสิกขมานา โดยจะจัดการอุปสมบทให้กับสิกขมานาก่อนสามเณรี) ทำให้ผู้หญิงไทยที่ศรัทธาและต้องการอุปสมบทต้องไปทำพิธีในประเทศศรีลังกาเพื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

สุดท้ายแล้ว ดังคำกล่าวของ ภิกษุณีธรรมนันทา ที่กล่าวไว้ว่า “อุปสรรคหรือข้อขัดข้องทั้งหลายที่เผชิญอยู่ พระอุปัชฌาย์ที่ศรีลังกาท่านบอกว่าแล้วมันก็จะเปลี่ยนไป ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ถ้าเรายึดมั่นกับธรรมวินัย ตรงนี้จะตอบโจทย์สำคัญที่สุด”

ผู้คนจำนวนมาก ก็ยังคงหวังให้สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติของประเทศไทยยอมรับและให้สิทธิต่างๆ แก่สตรีในฐานะภิกษุณีสงฆ์เฉกเช่นเดียวกันกับพระภิกษุ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชาญณรงค์ บุญหนุน. (2547). การบวชภิกษุณีในสังคมไทย: ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ 11(2), 95.

พระสุภาพร เตชธโร และ อนันต์ รัศมี.  (2563).  ข้อถกเถียงว่าด้วยสิทธิการอุปสมบทภิกษุณีในสังคมไทย.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ,ประเทศไทย

เจษฎา บัวบาล. (2560).  ภิกษุณีไทย: สตรีนิยม-เสรีนิยม บนย่างก้าวอนุรักษ์นิยม.  สืบค้น 9 มกราคม 2566. จาก https://www.tcijthai.com/news/2017/04/scoop/7217


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2566