พระอรหันต์ไม่ได้มีแต่ชาย เพราะยังมี “พระอรหันต์หญิง” 10 รูป ในพุทธศาสนา

พระอภัยมาตา ภิกษุณี พระอรหันต์หญิง พระอรหันต์
พระอภัยมาตา ภิกษุณี ในจินตนาการของจิตรกร - เอ็ม วรพินิต

เมื่อกล่าว/นึกถึง “พระอรหันต์” ในพุทธศาสนา คำตอบมักเป็นผู้ชาย หรือพระสงฆ์ แต่มีภิกษุณี และ “พระอรหันต์หญิง” ถึง 10 รูป

พระอรหันต์หญิง ทั้ง 10 รูป ได้แก่ 1. พระมหาชาบดีโคตมี 2. พระเขมาเถรี 3. พระอุบลวรรณาเถรี 4. พระปฏาจาราเถรี 5. พระกีสาโคตมีเถรี 6. พระภัททากัจจาเถรี 7. พระกุณฑลเกสีเถรี 8. พระรูปนันเถรี 9. พระสังฆมิตตาเถรี 10. พระอัมพปาลีเถรี

Advertisement

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงประวัติย่อของ พระอรหันต์หญิง บางรูป

พระมหาชาบดีโคตมี ผู้เป็น “น้า” ที่เลี้ยงดูพระพุทธเจ้าตั้งแต่เด็ก พระนางมหาชาบดีโคตมี ขอออกบวชหลายครั้ง แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ

จนครั้งหนึ่งพระอานนท์กราบทูลถามว่า ชายหญิงมีความสามารถไม่ทัดเทียมกันใช่หรือไม่ ผู้หญิงไม่สามารถบรรลุมรรคผลชั้นสูงเช่นชายหรือไม่ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เรื่องนี้ไม่มีข้อแตกต่าง หญิงมีศักยภาพทัดเทียมชาย

พระอานนท์ก็ทูลขอว่า เช่นนั้นทำไมมิทรงอนุญาตให้พระนางมหาชาบดีโคตมีบวช พระพุทธเจ้าจึงทรงยินยอมตามที่พระอานนท์ทูลขอ

พระเขมาเถรี มเหสีคนโปรดของพระเจ้าพิมพิสาร พระนางเป็นผู้ที่ภาคภูมิในความงามของตน และปฏิเสธการฟังธรรมของพระพุทธเจ้ามาโดยตลอด แต่เมื่อได้ฟังครั้งหนึ่ง ก็เข้าใจถึง “สรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน” จากนั้นก็บวชเป็นภิกษุณี ที่ได้รับการยกย่องในความเป็นเลิศในทางผู้มีปัญญามาก

พระกีสาโคตมีเถรี ผู้ประสบความผันผวนของชีวิตสูญเสียลูกอันเป็นที่รัก นางกีสาโคตมีอุ้มลูกที่ตายแล้วเดินไปทั่ว เที่ยวขอยาที่ช่วยให้ลูกฟื้นจากคนที่พบเจอ จนไปพบพระพุทธเจ้า พระองค์รับสั่งให้ไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านที่ไม่มีใครตายมาทำตัวยา หาเท่าไรก็หาไม่ได้ กระทั่งนางคิดได้ว่า “ความตายเป็นสัจจะแห่งชีวิต” จึงคลายจากความโศกแล้วออกบวช

พระอรหันต์หญิง ส่วนใหญ่ เป็น “ลูกสาว” ในราชวงศ์ หรือบ้านคหบดี มีเพียง “พระอัมพปาลีเถรี” ที่เป็นอดีตนางคณิกา

พระอัมพปาลีเถรี เป็นนางคณิการูปงามที่เลื่องชื่อในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ว่ากันว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นแขกพิเศษของนางอัมพปาลี จนมีบุตรชายด้วยกันชื่อ “วิมล” ภายหลังเป็นพระวิมลเถระที่แสดงธรรมเทศนาให้นางซาบซึ้งในรสพระธรรม จนออกบวชเป็นภิกษุณี

หลังบรรลุธรรม พระอัมพปาลีได้กล่าวคาถาแสดงสัจจะแห่งชีวิต พรรณนาความงามตั้งแต่ศีรษะจดเท้าอันเป็นที่ปรารถนาชื่นชมของชายทั่วไป แต่วันหนึ่งก็ทรุดโทรม เพราะชรา ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำ คล้ายปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอ เพราะชรา

เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอมดุจอบด้วยดอกมะลิ เป็นต้น เดี๋ยวนี้กลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา

เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันนายช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้เหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา

เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณี รุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ ถูกชราขจัดแล้วไม่งามเลย เวลารุ่นสาวจมูกของเรางดงามเหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเหี่ยวเหมือนจมหายเข้าไปในศีรษะ เพราะชรา 

เมื่อก่อนฟันของเราขาวงามเหมือนดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้กลายเป็นฟันหัก มีสีเหลืองปนแดง เพราะชรา 

เมื่อก่อนเสียงของเราไพเราะเหมือนเสียงนกร้องอยู่ในไพรสณฑ์ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรก็ไม่ชัด เพราะชรา” 

เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นอนิจจัง ยืนยันพระราชดำรัสของสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสสอนถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสรรพสิ่ง!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก เสฐียรพงษ์  วรรณปก. 40 พระอรหันต์ บรรลุธรรมพุทธสมัย, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2566