พระพุทธเจ้า กับการเสด็จป่ามะม่วงของ “อัมพปาลี” นางนครโสเภณี ก่อนวาระสุดท้าย

พระพุทธเจ้า ประทับสีหไสยา เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

เหตุการณ์ในช่วงสุดท้ายของ พระพุทธเจ้า ก่อนที่จะมีปัจฉิมโอวาทกันเป็นประโยคที่คนทั่วโลกจดจำกันได้ดี เหตุการณ์ก่อนหน้า “วาระสุดท้าย” ของพระพุทธเจ้ายังมีบันทึกไว้อีกหลายเหตุการณ์ ในบันทึกยังเอ่ยถึงการเสด็จป่ามะม่วงของนาง อัมพปาลี นางนครโสเภณีซึ่งนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์รับรู้กันว่าเป็นโสเภณี “ชั้นสูง” ที่ได้รับความเคารพตามแบบของอินเดีย

บันทึกเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายของพระพุทธเจ้าถูกบันทึกใน “มหาปรินิพพานสูตร” ในพระสูตรสุตตันตปิฎกเล่มที่ 10 ข้อที่ 67-162 นักวิชาการด้านพุทธศาสนาอย่างเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต สรุปเนื้อหาของมหาปรินิพพานสูตรไว้ในหนังสือ “วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์” เนื้อหาเริ่มต้นจากช่วงที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ จากนั้นได้เสด็จสวนมะม่วงหนุ่ม ไปถึงเมืองนาฬันทา, ปาฏลิคาม ข้ามแม่น้ำคงคาแล้วไปในแคว้นวัชชี สู่โกฏิคามและนาทิกคาม หลังจากนาทิกคาม พระพุทธองค์เสด็จไปพัก ณ ป่ามะม่วงของนางอัมพปาลี

Advertisement

นางอัมพปาลี ที่ว่านี้คือ “หญิงนครโสเภณี” ซึ่ง เอ.แอล. บาชาม (A.L. Basham) ศาสตราจารย์ด้านอารยธรรมเอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย อธิบายว่า นางอัมพปาลี คือหญิงงามเมืองไพศาลี ปรากฏในตำนานทางพุทธศาสนา ซึ่งนักวิชาการด้านอารยธรรมเอเชียเชื่อว่า เรื่องของนางน่าจะเป็นเพียงการเล่าลือ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่บรรยายถึงนางยังสามารถสะท้อนสถานภาพของโสเภณีอินเดียยุคโบราณได้

อินเดียโบราณเป็นอีกช่วงหนึ่งที่บรรยายถึงผู้หญิงในวรรณะสูงกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ยอมอยู่ในกรอบประเพณีอันจำกัดเสรีภาพการเป็นภรรยาของพวกเธอ ในวรรณกรรมอินเดียมักบรรยายโสเภณีเป็นหญิงงามที่มั่งคั่ง มีชื่อเสียงและเกียรติยศ นางอัมพปาลี เองก็เป็นหญิงงามที่ถูกบรรยายว่ามีสมบัติมหาศาล เฉลียวฉลาด สามารถสนทนากับเจ้าชายได้แบบไม่เป็นรอง เรียกได้ว่าเธอเป็นสมบัติล้ำค่าของเมือง

ระหว่างการเสด็จจาริกเป็นครั้งสุดท้าย บาชาม บรรยายว่า พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี และรับปากจะฉันอาหารกับนางอัมพปาลี เมื่อนางอัมพปาลี ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับ ณ ป่ามะม่วงของตนเอง ก็สั่งเตรียมพาหนะอย่างดีเดินทางไปเฝ้าและนิมนต์พระผู้มีพระภาคไปฉันที่บ้านของตนเอง พร้อมกับภิกษุสงฆ์ในวันต่อมา

รายละเอียดในพระสูตรบรรยายว่า เมื่อนางอัมพปาลี เดินทางสวนกับกษัตริย์ลิจฉวี กษัตริย์ขอร้องให้มอบให้ตนเป็นผู้ถวายอาหารแทน แลกกับเงินแสนกหาปณะ แต่นางอัมพปาลี ตอบว่า แม้จะให้เมืองไพศาลีรวมถึงชนบท ก็ไม่ยอมสละสิทธิ์ให้ถวายอาหารแทน เสฐียรพงศ์ ราชบัณฑิตบรรยายว่า เมื่อไปฉันที่บ้านนางอัมพปาลี นางอัมพปาลีก็ถวายป่ามะม่วงแก่พระภิกษุสงฆ์ ขณะที่บาชาม อธิบายว่า ครั้งนั้นกล่าวกันว่านางอัมพปาลีก็บวชเป็นชีในคราวนั้น พุทธคัมภีร์ในภาษาบาลียังแต่งกลอนที่งดงามเพื่อสดุดีนางอัมพปาลีด้วย

เรื่องราวของนางอัมพปาลีคณิกา ถูกเสฐียรพงษ์ บรรยายว่า กล่าวกันว่านางอัมพปาลีเป็นลูกเลี้ยงของคนเฝ้าสวนหลวง มีรูปโฉมงดงามอย่างมาก เป็นที่ต้องตาและหมายปองของเจ้าชายลิจฉวี และต่างแย่งชิงกันเพื่อครอบครองนาง สุดท้ายตกลงกันว่าจะแต่งตั้งนางในเป็น “นครโสเภณี” เพื่อเป็น “สมบัติกลาง” ที่ใครก็สามารถเชยชมได้

“นครโสเภณี” เป็นตำแหน่งมีเกียรติที่ได้รับแต่งตั้งจากเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองเมืองไพศาลี เสฐียรพงษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีเงินเดือน ตำแหน่งนี้มีส่วนดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างเมืองมาเยี่ยมชม ดึงดูดรายได้เข้าประเทศ ราชบัณฑิตยังบรรยายว่า “ขาประจำ” ของนางรวมถึงพระเจ้าพิมพิสารมหาราชแห่งมคธรัฐ หลังจากนั้น นางอัมพปาลี คลอดบุตรนามว่า “วิลมลโกณทัญญะ” ซึ่งว่ากันว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ให้กำเนิดกุมารน้อย ข้อนี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่มักทำให้คนมีภาพจำพระเจ้าพิมพิสารเมื่อครั้งวัยหนุ่มทรงเป็นกษัตริย์เจ้าสำราญ

สำหรับนางอัมพปาลี เรื่องราวของนางมีเล่าต่อมาว่า นางอัมพปาลีถวายสวนมะม่วงของตนเองให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวันระยะหนึ่ง แล้วจึงเสด็จไปยังเวฬุวคาม ทรงเข้าจำพรรษาสุดท้าย ณ เวฬุวคาม

 


อ้างอิง:

เสฐียรพงษ์ วรรณปก. วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2541

Basham, A.L.. อินเดียมหัศจรรย์. สมุทรปราการ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2562