“กรมดำรง” ไขปริศนา รัชกาลที่ 1 ทดลองนั่ง “พระโกศ” ขณะทรงมีพระชนมชีพ จริงหรือไม่?

รัชกาลที่ 1
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระโกศทองใหญ่ เป็นพระโกศที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสร้าง ซึ่งในยุคต่อ ๆ มา มีผู้เล่าว่าเมื่อทรงสร้างเสร็จแล้ว รัชกาลที่ 1 เสด็จประทับพระลอง (ปัจจุบันเรียกพระลองกับพระโกศรวมกันว่า พระโกศ) ผู้พบเห็นเหตุการณ์ตกใจถึงขั้นร้องไห้ เพราะความเชื่อในสังคมไทยถือเป็นลางไม่ดี กรมดำรง หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงสังเกต ตั้งคำถาม และหาคำตอบเพื่อให้ได้ความกระจ่างอยู่เสมอ จึงทรงหาหลักฐานต่าง ๆ มาประกอบเพื่ออธิบายว่าจริงหรือไม่?

เรื่องมีอยู่ว่า หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ลงบทความ “ผู้รู้ย่อมรู้ความตาย” ตอนหนึ่งระบุว่า

“…เมื่อ ๑๓๐ ปีเศษมานี้ ในกรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างพระบรมโกศทองคำด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และสำหรับใส่พระองค์เองเมื่อสวรรคตแล้ว พระบรมโกศใบนี้คือที่เรียกกันว่าพระโกศ ‘ทองใหญ่’ และทางราชการได้ใช้สำหรับประกอบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราสืบจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มาทั้ง ๕ รัชกาล รวมทั้งสมเด็จพระบรมราชินีด้วย

เมื่อรัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างพระบรมโกศนี้เสร็จแล้วรวมทั้งพระลองเงินปิดทองด้วย ก็ทรงทดลอง คือลงไปประทับในพระลองเพื่อทอดพระเนตรว่า จะเหมาะหรือยัง พอดีเจ้าจอมผู้หนึ่งมาเห็นเข้าก็ร้องไห้ และกราบบังคมทูลขอมิให้ทรงกระทำเช่นนั้นด้วยเป็นลางนัก กล่าวตามจดหมายเหตุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงพระสรวล”

ผู้เขียนบทความดังกล่าวบอกต่อไปว่า พระโกศทองใหญ่ คงได้ใช้ประกอบถวายแด่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อมา กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าพระโกศทองใหญ่ “มีรูปบุราณไป” ไม่ทรงโปรด จึงโปรดฯ ให้กรมหมื่นณรงค์เรืองเดช เจ้านายผู้ทรงชำนาญในการช่างหล่อทรงแก้ไขเสียใหม่

เมื่อกรมดำรงทรงอ่านบทความนี้แล้ว ก็ทรงมีลายพระหัตถ์ถึง กรมนริศ หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทรงมีลายพระหัตถ์โต้ตอบกันเป็นนิตย์ (ภายหลังรวมเล่มเป็น “สาส์นสมเด็จ”) ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ความว่า

“หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม มีหนังสือพิมพ์ตัดแต่ตอนวินิจฉัยของผู้ใดผู้หนึ่ง ว่าด้วยตำนานพระโกศทองใหญ่ประทานมาให้ดู วินิจฉัยนั้นขบขันอยู่ ด้วยน่าเอ็นดูอยู่บ้างที่เห็นได้ว่าผู้แต่งเป็นคนเอาใจใส่โบราณคดี ได้สนใจดูหนังสือเก่าจึงเห็นเรื่องสร้างพระโกศทองใหญ่ และรู้พระนามกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์อันนับว่ามืดมากอยู่แล้ว แต่น่าเกลียดที่มักง่ายไม่รู้จักวิจารณ์เสียเลยทีเดียว

ข้อที่อ้างว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกลงประทับทดลองใน ‘พระลองเงิน’ ดูโง่เสียยิ่งกว่านาย ก.ศ.ร. กุหลาบ เห็นจะเอาคำที่มักพูดกันว่า ‘พระรามเข้าโกศ’ หรือรูปภาพที่เขียนพระระเบียงวัดพระแก้วมาสำคัญ ว่าพระรามลงไปซ่อนตัวอยู่ในโกศ เพราะไม่ได้อ่านเรื่องรามเกียรติ์ตรงนั้น ไม่รู้ว่าที่จริงเอาโกศเปล่าตั้ง ส่วนพระรามแอบอยู่ในม่าน ก็เลยเห็นว่าทำเหมือนอย่างพระราม

แต่ข้อที่อ้างถึงว่าทูลกระหม่อมโปรดฯ ให้กรมหมื่นณรงค์ฯ แก้รูปพระโกศทองใหญ่ (คือสร้างพระโกศทองน้อย) นั้นพิศวง เป็นต้นที่เอาพระนามกรมหมื่นณรงค์ฯ ซึ่งสิ้นพระชนม์เสียแต่ในรัชกาลที่ ๓ มาอ้าง ส่วนกรมพระเทเวศรฯ ผู้ทำพระโกศทองน้อย เสด็จอยู่มาจนรัชกาลที่ ๕ ไฉนผู้แต่งจึงไม่รู้ ดูประหลาดอยู่”

หากพิจารณาหลักฐานและบริบทต่าง ๆ ตามที่กรมดำรงทรงยกมานั้น เรื่องที่รัชกาลที่ 1 เสด็จประทับในพระลอง กรมดำรงก็ทรงถือเป็น “ข่าวปลอม” นั่นเอง

หมายเหตุ : ในเครื่องหมายคำพูดมีการจัดย่อหน้าใหม่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่ม 2. นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2563. (ฉบับรวมพิมพ์จากหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ (10 เล่มชุด)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566