ตำนานพระโกศทองใหญ่ ๓ รัชกาล

 

(๑) พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ กล่าวว่าใช้ทองคำที่เคยหุ้มพระโกศกุดั่นใหญ่และพระโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้ง ๒ พระองค์ รวมกับทองคำที่ใช้หุ้มพระโกศไม้สิบสองทรงพระบรมศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ผสมกับทองคำใหม่ สร้างเป็นพระโกศแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎ ประดับพลอย

ตำนานกล่าวว่าเมื่อสร้างเสร็จได้ตั้งถวายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้ทอดพระเนตรอยู่หลายวัน เมื่อสวรรคตก็ใช้ทรงพระบรมศพของพระองค์เองเป็นครั้งแรก ต่างจากข้อมูล ที่รับทราบกันทั่วไปว่าใช้ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก เเละได้ใช้ทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมศพหรือพระศพเจ้านายในพระบรมราชวงศ์สืบต่อมาทุกรัชกาล ครั้งล่าสุดใช้ในการ ออกพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑

(๒) พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงสร้างถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นพระโกศแปดเหลี่ยมยอด ทรงมงกุฎ ทำจากไม้หุ้มทองคำประดับพลอยขาว โดยทั่วไปเชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระลอง เป็นการชั่วคราว แทนพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๑ ซึ่งต้องเชิญออกไปขัดแต่งก่อนออกพระเมรุ ทำให้เรียกกันว่าพระโกศทองรองทรง

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระวิจารณ์ว่าควรเรียกพระโกศทองใหญ่ เพราะมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างเพื่อใช้ทรงพระบรมศพหรือพระศพเจ้านายที่มีศักดิ์สูงพร้อมกัน จึงมีศักดิ์เสมอด้วยพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๑ เช่นกัน

ใช้ทรงพระบรมศพหรือพระศพเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ สืบมา เช่น พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ พระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ ใช้ในการพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

(๓) พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๙

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๔๓ นับเป็นพระโกศทองใหญ่องค์ที่ ๓ ของกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องด้วยพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๕ ค่อนข้างชำรุดเพราะผ่านการใช้งานมาหลายคราว

เป็นพระโกศแปดเหลี่ยม ยอดทรงมงกุฎ ทำจากไม้หุ้มทองคำ ประดับพลอยขาวทรวดทรงและลวดลายผสมผสานกันระหว่างพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๕ ใช้ในการพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นครั้งแรก

(ข้อมูลจาก เพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts)