การถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิง “เผาจริง” และ “เผาหลอก” เริ่มเมื่อไร?

ขณะถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ภาพจาก “จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” กรมศิลปากร, ๒๕๔๑)

ช่วงเวลาที่พระราชทานเพลิงของทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 5 จะถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิงเสร็จภายในครั้งเดียว โดยมากจะเริ่มหลังบ่ายโมงจนถึงราวบ่าย 4 โมง ไม่ได้มีพิธีเผาศพ 2 ครั้งอย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “เผาจริง” และ “เผาหลอก” วิธีการเช่นนี้เริ่มราวปลายรัชกาลที่ 5 เรียกขณะนั้นว่า “เปิดเพลิง” ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกเกี่ยวกับที่มาและความแพร่หลายของพิธีนี้ว่า

“แท้จริงเปนความคิดของพวกเจ้าพนักงานเผาศพหลวงในตอนปลายๆ รัชกาลที่ 5 เพื่อมิให้ผู้ที่ไปช่วยงานเผาศพเดือดร้อนรำคาญเพราะกลิ่นแห่งการเผาศพ ในเวลาที่ทำพิธีพระราชทานเพลิงจึ่งปิดก้นโกษฐ์หรือหีบไว้เสีย และคอยระวังถอนธูปเทียนออกเสียจากภายใต้เพื่อมิให้ไฟไหม้ขึ้นไปถึง ต่อตอนดึกเมื่อผู้คนที่ไปช่วยงานกลับกันหมดแล้วจึ่งเปิดไฟและทำการเผาศพจริงๆ ในเวลาที่เผาจริงๆ เช่นว่านี้ มักมีพวกเจ้าภาพอยู่ที่เมรุบ้าง จึ่งเกิดนึกเอาผ้าทอดให้พระสดัปกรณบ้างตามศรัทธา ดังนี้จึ่งเกิดเปนธรรมเนียมขึ้นว่า ผู้ที่มิใช่ญาติสนิธให้เผาในเวลาพระราชทานเพลิง ญาติสนิธเผาอีกครั้ง 1 เมื่อเปิดเพลิง กรมนเรศร์ [1] เปนผู้ที่ทำให้ธรรมเนียมนี้เฟื่องฟูขึ้น และเปนผู้ตั้งศัพท์ ‘เผาพิธี’ และ ‘เผาจริง’ ขึ้น เลยเกิดถือกันว่าผู้ที่เปนญาติและมิตร์จริงของผู้ตายถ้าไม่ได้เผาจริงเปนการเสียไป และการเผาศพจึ่งกลายเปนเผา 2 ครั้ง” [2]

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2453 เป็นงานระดับพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้รับการถวายพระเพลิงตามธรรมเนียมนี้ เริ่มจากการอัญเชิญพระบรมศพจากที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวังออกมาถวายพระเพลิงยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง กระทำภายในวันเดียว ส่วนการเปิดเพลิงนั้นจะกระทำตอนกลางคืน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมในบางประการเพิ่มเติมอย่างการงดใช้หยวก มะละกอ และฟักทองแกะสลักประดับแท่นจิตกาธาน โดยใช้ดอกไม้สดแทน และระหว่างการถวายพระเพลิงเหล่าทหารได้บรรเลงแตรวง พร้อมกับยิงปืนใหญ่ ปืนเล็ก เสียงกึกก้อง เป็นการถวายพระเกียรติยศ [3] การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้เป็นแบบแผนต่อการจัดงานพระบรมศพและพระศพต่อเนื่องกันมา

สำหรับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ยังคงธรรมเนียมเช่นเดียวกับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นได้จากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเริ่มในตอนเย็นของวันที่ 10 มีนาคม 2539 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงประกอบพิธีทางฝ่ายสงฆ์ในพระที่นั่งทรงธรรมแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระเมรุมาศ เจ้าพนักงานถวายกระทงข้าวตอกดอกไม้เครื่องราชสักการะ ทั้ง 2 พระองค์ทรงวางกระทงที่ข้างพระจิตกาธาน ขณะนั้นแตรเดี่ยวทหารกองเกียรติยศสำหรับพระบรมศพเป่าแตรนอน

เวลา 17 นาฬิกา 25 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงรับธูปเทียนดอกไม้จันทน์จากเจ้าพนักงาน ทรงจุดไฟเทียนชนวน แล้วทรงวางไว้ใต้ท่อนไม้จันทน์บนพระจิตกาธานที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุกพระชานุหน้าพระโกศพระบรมศพ ทรงกราบถวายบังคมพระบรมศพแล้วประทับคุกพระชานุอยู่ ณ ที่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงกราบราบและประทับ ณ ที่นั้น ขณะนั้นชาวพนักงานประโคมปี่พาทย์เครื่องใหญ่และวงบัวลอยขึ้นพร้อมกัน กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบรมศพถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้บังคับกองทหารเกียรติยศสั่งแถวเตรียมปืนเล็กยาวยิงถวายพระเกียรติ 9 ชุด พร้อมกับทหารปืนใหญ่กองเกียรติยศยิงถวายพระเกียรติ 21 นัด วงดุริยางค์ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพบรรเลงเพลงพญาโศก จากนั้นจึงเป็นพระบรมวงศ์ชั้นสูง ตามมาด้วยข้าราชการกับแขกผู้มีเกียรติขึ้นถวายพระเพลิงโดยลำดับ

ส่วนการถวายพระเพลิงจริงเริ่มเวลา 22 นาฬิกา 43 นาที หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมายังพระเมรุมาศ และเสร็จสิ้นพิธีการทางศาสนาในพระที่นั่งทรงธรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ มายังพระเมรุมาศ ขึ้นม้าเทียบพระจิตกาธานหลังพระจิตกาธาน ทรงรับมะพร้าวแก้วที่เจ้าพนักงานทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงเทน้ำมะพร้าวแก้วนั้นลงบนฐานพระโกศพระบรมศพทรงคม ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ปี่ กลองชนะ และปี่พาทย์เครื่องใหญ่ขึ้นพร้อมกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงรับธูปเทียน ดอกไม้จันทน์ ที่เจ้าพนักงานพระราชพิธีทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงจุดไฟจากชนวนซึ่งตำรวจวังชูถวาย แล้วถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยทรงวางลงในช่องท่อนไม้จันทน์ที่พระจิตกาธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกราบถวายบังคม แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงกราบราบพร้อมกัน แล้วทรงถอยออกมาประทับยืน ณ ที่นั้น ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ปี่ กลองชนะ ขึ้นพร้อมกันเป็นสัญญาณให้ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ จากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นถวายพระเพลิง [4]

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 (ภาพถ่ายโดย Thip Siri)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] กรมนเรศร์ หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าชายกฤดาภินิหาร พระราชโอรสองค์ที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดากลิ่น ประสูติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2398 ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2418 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ จนถึง พ.ศ. 2442 จึงได้รับการเลื่อนเป็นกรมหลวงฯ โดยทรงดำรงตำแหน่งทางราชการคือ ราชทูตประจำ ณ กรุงลอนดอนและอเมริกา เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลและกระทรวงโยธาธิการ ต่อมาในรัชกาลที่ 6 เลื่อนเป็นกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2454 ทรงดำรงตำแหน่งสมุหมนตรี เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2468 พระชันษา 71 ปี เป็นต้นสกุลกฤดากร ที่มา : กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536), น. 40-41.

[2] ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 272-273.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 271.

[4] กรมศิลปากร. จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี. น. 665-673.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ธรรมเนียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” เขียนโดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2560