ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ข้อสันนิษฐานสุดสะพรึง ตำนาน “โกศพระเจ้าตาก” ที่ต่อมานำมาบรรจุศพ เจ้าพระยานคร (น้อย) มีอาถรรพ์จริงหรือ?
โกศ หมายถึงสิ่งที่ทำขึ้นสำหรับประกอบนอกพระลองหรือลองที่ใส่พระบรมศพ พระศพ หรือศพ รูปทรงกระบอก ก้นสอบ ปากผาย มีฐาน และมีฝาครอบเป็นเครื่องยอด ลักษณะต่างกันไปตามอิสริยยศ โกศมักถูกโยงกับเรื่องลี้ลับ เช่น โกศบรรจุศพ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ที่ไปทับภูษามาลาเสียชีวิตที่เมืองนครฯ มีข้อสันนิษฐานว่าโกศใบนี้เคยใช้บรรจุพระบรมศพ “พระเจ้าตาก” มาก่อน จึงร่ำลือว่า โกศของพระเจ้าตาก ดังกล่าวเป็นโกศอาถรรพ์ ตามที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนเล่าถึงความคิดของผู้ที่ได้ยินเรื่องนี้ว่า “มาซ้ำทับภูษามาลาตายก็เลยถือกันว่าเป็นโกศผีสิง”
ใน “สาส์นสมเด็จ” ซึ่งรวบรวมจดหมายของ “กรมดำรง” และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ “กรมนริศ” ที่ส่งถึงกัน มีหลายฉบับที่ทั้งสองพระองค์ทรงแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็นเรื่องโกศ เช่น จดหมายที่กรมดำรงทรงมีลายพระหัตถ์ถึงกรมนริศ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ตอนหนึ่งระบุว่า
โกศต่างกันเป็น 3 ชั้น คือ โกศสำหรับทรงพระบรมศพทำฝาเป็นทรงมงกุฎ โกศสำหรับทรงพระศพเจ้านายทำฝาเป็นทรงยอดปราสาท และโกศสำหรับศพขุนนางทำฝาเป็นทรงปริก เป็นแบบมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
กรมดำรงทรงเล่าต่อไปว่า ข้อนี้รู้ได้ด้วยมี “โกศ” สร้างสมัยกรุงธนบุรีอยู่ 2 ใบ ใบหนึ่งเป็นโกศทรงกลมฝาทรงมงกุฎ อีกใบหนึ่งเป็นโกศแปดเหลี่ยม ฝาเป็นทรงยอดปราสาท มีเรื่องในพงศาวดารส่อให้เห็นว่าโกศฝาทรงมงกุฎ พระเจ้ากรุงธนบุรีคงโปรดให้สร้างสำหรับทรงพระศพพระราชชนนีของพระองค์ ส่วนโกศใบที่ยอดเป็นทรงยอดปราสาทก็คงให้สร้างสำหรับทรงพระศพเจ้านายครั้งกรุงธนบุรี ตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา
พระองค์ทรงมีลายพระหัตถ์อีกว่า ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดฯ ให้สร้างโกศตามแบบเดียวกันสืบมา เป็นแต่แก้พระโกศทองใหญ่เป็นแปดเหลี่ยม และแก้แบบโกศแปดเหลี่ยมฝาทรงยอดปราสาท สำหรับทรงพระศพเจ้านาย ซึ่งของเดิมตัวโกศเป็นแต่จำหลักปิดทอง ให้ประดับกระจกเพิ่มขึ้น จึงเรียกว่า “โกศกุดั่น”
เมื่อมีพระโกศกุดั่นขึ้นแล้ว โกศแปดเหลี่ยมฝาทรงยอดปราสาทของเดิมก็ลดศักดิ์ลงมาสำหรับเจ้านายสามัญ และที่สุดเอาไปใช้ใส่ศพเจ้าพระยาและสตรีมีบรรดาศักดิ์สูง คงเริ่มด้วยพระราชทานเฉพาะแต่ศพที่เป็นพระญาติ แล้วจึงเลยกลายเป็นไปตามยศ
ส่วนเรื่อง “โกศพระเจ้าตาก” (?) ปรากฏอยู่ในจดหมายที่กรมดำรงทรงมีถึงกรมนริศ ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ระบุว่า
เมื่อราชบัณฑิตยสภาจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ได้ขอโกศโถใบหนึ่ง กับหีบศพจำหลักลายมังกรใบหนึ่งมาจากกระทรวงวัง เอามาตั้งในพิพิธภัณฑสถาน และได้ขอหีบศพประดับกระจกเป็นลายยามาจากวัดบวรนิเวศฯ อีกใบหนึ่ง เอามาตั้งไว้ด้วยกัน ด้วยเห็นว่าเป็นของอย่างวิสามัญและมีเรื่องเนื่องกับพงศาวดาร สมควรจะรักษาไว้มิให้สูญเสีย แต่เรื่องประวัติของ 3 สิ่งนั้นไม่มีในจดหมายเหตุเก่า หากรู้ได้ด้วยพิจารณาหาหลักฐานในที่ต่าง ๆ มาประกอบกัน จึงเขียนวินิจฉัยไว้ให้ปรากฏ
กรมดำรงทรงเขียนว่า โกศโถเอาไว้สำหรับใส่ศพขุนนาง มีอยู่ในคลังโกศหลายใบ แต่ใบที่เอามาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแปลกไปจากโกศโถใบอื่น ๆ เพราะเป็นของเก่ากว่าและรูปทรงงามกว่าเพื่อน มีฝาเป็นทรงมงกุฎ แต่โกศโถใบอื่นฝาเป็นทรงปริกทั้งนั้น และคนเฝ้าคลังโกศกลัวโกศโถใบนี้ ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์
ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากพนักงานรักษาบอกว่าโกศใบดังกล่าวเคยเอาออกไปใส่ศพ เจ้าพระยานคร (น้อย) ที่เมืองนครศรีธรรมราช ไปตกจากเกรินทับภูษามาลาตาย ตัวโกศแตกร้าวเป็นหลายซีก เมื่อตรวจดูข้างในโกศเห็นรอยแตกร้าว มีเหล็กปริงยึดไว้หลายแห่งจริง และข้อที่ว่าโกศตกทับภูษามาลาตายที่เมืองนครฯ ก็มีเรื่องปรากฏจริง
เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าโกศโถใบนี้เป็นของสร้างเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ที่ทำฝาเป็นทรงมงกุฎส่อว่าเดิมสร้างสำหรับพระศพเจ้านายที่ทรงศักดิ์ชั้นสูงสุด เทียบกับเรื่องพงศาวดาร เห็นว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีคงโปรดให้สร้างสำหรับพระศพพระราชชนนี
“สันนิษฐานต่อมาว่าเมื่องานพระศพพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็คงใช้พระโกศใบนี้เองทรงพระศพเมื่อตั้งในพระเมรุ เพราะเป็นโกศชั้นสูงของพระเจ้ากรุงธนบุรีมีอยู่แล้วในเวลานั้น เห็นจะไม่สร้างพระโกศขึ้นใหม่ และอาจเป็นด้วยเหตุนั้นเมื่องานศพเจ้าพระยานคร (น้อย) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้เอาโกศใบนี้ไปใส่ศพ ด้วยทรงยกย่องว่าเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี
ที่คนกลัวกัน ก็อาจจะกลัวมาแต่แรกทรงพระศพพระเจ้ากรุงธนบุรี เหมือนเช่นกลัวพระแท่นและอะไรอื่น ๆ ของพระเจ้ากรุงธนบุรี มาซ้ำทับภูษามาลาตายก็เลยถือกันว่าเป็นโกศผีสิง เรื่องตำนานน่าจะมีดังกล่าวนี้ แต่เดิมเห็นจะไม่ใช้พร่ำเพรื่อ ต่อเมื่อผู้รู้เรื่องเดิมของโกศหมดตัวไป ยังรู้กันแต่ว่าเคยใส่ศพเจ้าพระยานครฯ…”
หมายเหตุ : ในเครื่องหมายคำพูดมีการจัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดยผู้เขียนบทความ
อ่านเพิ่มเติม :
- พระนามทางการของ “พระเจ้าตากสินมหาราช” ที่เลือนหายจากความทรงจำคนไทย
- เปิดหลักฐานฮอลันดา บันทึกว่า พระเจ้าตาก “หนี” ไปเมืองจันท์เพราะคำสั่งราชสำนัก
- ที่มาของเรื่องเล่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ” ตัวจริง หนีไปนครศรีธรรมราช
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่ม 2. นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2563. (ฉบับรวมพิมพ์จากหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ (10 เล่มชุด)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566