เปิดหลักฐานฮอลันดา บันทึกว่า พระเจ้าตาก “หนี” ไปเมืองจันท์เพราะคำสั่งราชสำนัก

พระยาตาก พระเจ้าตาก พระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าตากสิน จันทบุรี
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ จ.จันทบุรี

เปิดหลักฐานฮอลันดา พระเจ้าตากสิน “หนี” ไป เมืองจันท์ เพราะคำสั่งราชสำนัก

“จดหมายออกพระพิพัทธโกษาถึงบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ค.ศ. 1769” เป็นจดหมายที่ ออกพระพิพัทธโกษา หรือ “Pipat Cosa” เขียนถึงข้าหลวงใหญ่และคณะที่ปรึกษา บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (Verenigde Oost-Indische Compagnie หรือที่เรียกย่อว่า VOC) ออกพระพิพัทธโกษาเขียนจดหมายฉบับนี้ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งปลัดของเสนาบดีพระคลัง ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป จัดเป็นคนสำคัญในรัฐบาลธนบุรีขณะเมื่อแรกเริ่ม หลังการก่อตั้งมาเพียง 2 ปีเท่านั้น ส่วนข้าหลวงใหญ่ของบริษัทวีโอซี ผู้รับจดหมายฉบับนี้ ในขณะนั้น คือ นายเปตรุส อัลแบร์ตุส ฟาน เดอร์ พาร์รา (Petrus Albertus van der Parra)

จดหมายฉบับนี้ เป็นเอกสารหนึ่งใน “จดหมายเหตุของวีโอซี” เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ลงวันที่ท้ายจดหมายว่า วันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1769/พ.ศ. 2312 ต้นฉบับภาษาไทยของจดหมายฉบับนี้ได้สูญหายไปแล้ว ยังเหลือแต่ฉบับแปลภาษาดัตช์ และแปลกลับมาสู่ภาษาไทยโดย รศ. ดร. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดัตช์ในประเทศไทย นำเสนอครั้งแรกในวารสาร “รวมบทความประวัติศาสตร์” ของสมาคมประวัติศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 และปรับปรุงมานำเสนออีกครั้งภายใต้โครงการวิจัย “100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย” ในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553

ดังนั้น เอกสารนี้แม้ว่าจะเป็นเอกสารที่อยู่ในความดูแลรักษาของทางการเนเธอร์แลนด์ แต่ว่าเดิมนั้นก็เป็นเอกสารที่มีที่มาจากบุคคลสำคัญใกล้ชิดในรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เอกสารนี้ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือพูดถึงกันเท่าไรนัก แม้แต่ในวงวิชาการที่เกี่ยวข้อง แต่ก็เพื่อจะชี้ชวนให้เห็นความสำคัญของเอกสารหลักฐานชิ้นนี้ ที่มีต่อความรับรู้และเข้าใจต่อเหตุการณ์เรื่องราวเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา และสถาปนากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2310 เหตุการณ์ซึ่งคนไทยปัจจุบันมีภาพความทรงจำรับรู้ต่างๆ นานา เนื่องจากแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยมักจะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ อ้างอิงเพื่อประโยชน์ในการสร้างความรักความสามัคคีของชนในชาติ อันส่งผลให้เกิดการบิดเบือนเนื้อหาประวัติศาสตร์ไปจากหลักฐานชั้นต้นอยู่เสมอ

พระเจ้าตากสินมหาราชตีค่ายโพธิ์สามต้น ภาพจิตรกรรมในพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน (ภาพจาก “จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก, สำนักพระราชวัง)

จดหมายออกพระพิพัทธโกษา ถึงบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ค.ศ. 1769 ที่มีเนื้อความเกี่ยวข้องกับ พระเจ้าตากสิน

ตามสำนวนแปลของ รศ. ดร. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร มีเนื้อความทั้งหมดดังต่อไปนี้

“ด้วยตั้งแต่อดีตกาลจนถึงทุกวันนี้ ได้มีมิตรภาพอันใกล้ชิดสนิทสนมและจริงใจระหว่างราชอาณาจักรสยามกับบริษัทอันทรงเกียรติ ที่แล้วมา ฯพณฯ (ข้าหลวงใหญ่และคณะที่ปรึกษา ณ กรุงปัตตาเวีย) เคยส่งหัวหน้าสถานีการค้ามา ณ ที่นี้ พร้อมลูกจ้างคนอื่นๆ (ของบริษัท) เพื่อมาพำนักอยู่ที่นี่และสร้างสถานีการค้า  เพื่อเก็บรักษาสินค้าทุกๆ รายการ ทั้งสินค้าที่เรือของบริษัทนำเข้ามาและ (สินค้า) ที่ซื้อจากชาวพื้นเมือง  บรรดา (เสนาบดี) พระคลังในอดีตมิได้เคยละเลยที่จะจัดส่งสินค้าเหล่านั้นให้หัวหน้าสถานีการค้า ตามคำขอของบริษัท   

ต่อมา (พิพัทธโกษา) แจ้งว่า เมื่อศัตรูพม่า เข้ามาทำสงครามกับสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม [หมายถึงพระเจ้าเอกทัศน์ – ผู้อ้าง] ทรงส่งขุนนางผู้หนึ่ง นามว่า ‘พญาตาก’ ไปยังเมืองจันทบูร เพื่อไปรวบรวมกำลังพล และนำคนเหล่านี้มาช่วยกรุงสยาม แต่ยังมิทันดำเนินการไปเท่าไร อาณาจักรสยามก็ปราชัยต่อศัตรูดังกล่าวเสีย

พระเจ้าแผ่นดินกับพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งบรรดาขุนนางทั้งหมด พร้อมข้าราชบริพารทั้งปวงถูกฆ่าตายหรือต้องหลบหนีไป ทำให้แผ่นดินนี้พินาศไปทันที ถึงขั้นที่ไม่สามารถหาผู้ใดที่มีสิทธิมาปกครองได้นอกเหนือจากพญาตากที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ (พญาตาก) ได้นำผู้ติดตามจำนวนหนึ่งเข้ามาในพระนคร (ซึ่งถูกศัตรูเผาและปล้น) ผู้คนต่างๆ ที่หนีเข้าป่าไปก็เข้ามาเป็นพรรคพวก (ของพญาตาก) แล้วได้เลือกและยอมรับท่านเป็นเจ้านายและผู้นำ แผ่นดินนี้จึงกลับมาเจริญรุ่งเรืองเหมือนเดิม หรือเจริญขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ โดยมีเรือสำเภาและพาณิชย์นาวีอื่นๆ แล่นเข้ามาติดต่อค้าขายมากกว่าเมื่อก่อน

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้า (พิพัทธโกษา) จึงขอร้องให้ ฯพณฯ จงกรุณาแต่งเรือมา เหมือนที่เคยกระทำในอดีต พร้อมทั้งสร้างสถานีการค้าที่นี่และให้มีหัวหน้าสถานีการค้ากับลูกจ้างอื่นๆ มาอยู่ประจำ  เพื่อที่จะค้าขายกันแบบที่เคยกระทำกันมาโดยตลอด และสัญญาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่บริษัทเรียกร้องหรือขอนั้น ข้าพเจ้าจะไม่ละเลยที่จะ (สั่ง) ให้ผู้คนต่างๆ ค้นหาและนำมา (ส่งให้บริษัท)

เนื่องจากศัตรูเอากระสุนและดินปืนไปทั้งหมดแล้ว ข้าพเจ้าและบรรดาขุนนางทั้งปวง จึ่งใคร่ขอ (ซื้อ) ปืนคาบศิลา คุณภาพดี จำนวน 1,000 กระบอก (หากเป็นไปได้) (และ) ขอให้ ฯพณฯ จงกรุณาส่ง (ปืนเหล่านี้) มาให้ในเรือที่บรรทุกสินค้ามาที่นี่ โดยหวังพึ่งมิตรภาพที่มีต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต แล้วจะจ่ายในราคาที่เคยจ่ายบริษัท 

นอกจากนั้นแล้ว ในเมื่อราชอาณาจักรสยามกับประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นมิตรกันมาแต่ยาวนาน จึงขอร้องด้วยว่า ขอให้ ฯพณฯ ท่านจงได้ส่งสำเนาจดหมายฉบับนี้ไปยังท่านเจ้าชายแห่งออเรนจ์-นัสเซา (Orenje-Nassau) และขอให้พระองค์ทรงส่งหัวหน้าสถานีการค้ามาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้ทำการค้าเหมือนเมื่อก่อน ในเมื่อมิตรภาพนี้ (ระหว่างสยามกับฮอลันดา) ยังคงดำรงอยู่เหมือนในอดีต และหวังว่าจะเป็นไปเหมือนเดิมต่อไปเรื่อยๆ และขออวยพรให้พระองค์ทรงมีอายุยืนนานเทอญ

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าได้รวบรวมงาช้างคุณภาพดีสุดจำนวน 4 ชิ้น หนัก 2 หาบ และอีก 4 ชิ้น หนัก 1 หาบ แล้วส่งมากับกัปตันชาวจีน Tjien Heeng (จีนเฮ็ง?) เพื่อเป็นของขวัญแด่ ฯพณฯ แล้วขอให้ (ท่าน) จงรับสิ่งเหล่านี้ไว้ โดยไม่รังเกียจ ว่าเป็นเพียงของที่น้อยนิดเท่านั้น และขอให้โปรดทำตามที่ข้าพเจ้าขอร้องในเรื่องสำเนา (จดหมาย) นี้

ในระหว่างนี้ (หาก ฯพณฯ) ประสงค์ที่จะส่งเรือกำปั่นหรือเรือลำเล็กมาที่นี่พร้อมสินค้า (ข้าพเจ้า) ก็สัญญาว่า เช่นในอดีต ไม่ว่า ฯพณฯ จะต้องการอะไรก็จะไม่ขาดสิ่งนั้น” (ลงวันที่ว่า วันศุกร์ที่ 13 เดือนสาม จุลศักราช 1130 ปีชวด)    

อ่านเสร็จแล้วคิดกันยังไงบ้างครับ?

พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทุ่งนาเชย จังหวัดจันทบุรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระยาตากสินจากหลักฐานฮอลันดา (ไปจันทบุรีตามคำสั่งของราชสำนักอยุธยา?)” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2562