ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“ทุบหม้อข้าว” ก่อนเข้าตีเมือง ยุทธการที่พระเจ้าตากและนักรบจีนใช้และได้ผล
พ.ศ. 2310 หลังกรุงศรีอยุธยาแตก “พระเจ้าตาก” ทรงเดินทางไปรวบรวมไพร่พลและเสบียงยังเมืองต่างๆ เพื่อกู้บ้านเมือง ซึ่งเมืองจันทบูรเป็นหนึ่งเป้าหมายของพระองค์ และการตีเมืองจันทบูรครั้งนั้น เป็นวีรกรรมที่เลื่องลือมาจนถึงปัจจุบัน เพราะยุทธวิธีที่ใช้เรียกความฮึกเหิมกับไพร่พลคือการทุบหม้อข้าวก่อนเข้าตีเมือง
พระเจ้าตากสั่งให้ทหารกินข้าวปลา แล้วทรงรับสั่งว่า “ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ ไปหาข้าวกินเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด”
ส่วนผลของการศึกในครั้งนั้น เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระเจ้าตากได้รับชัยชนะ
ก่อนหน้าประมาณ 1,970 กว่าปี ปลายราชวงศ์ฉิน ประเทศจีน เกิดกบฏชาวนาขึ้น แม้ภายหลังผู้นำกบฏจะถูกสังหาร แต่ก็จุดประกายไฟกบฏขึ้นสำเร็จ เกิดเป็นก๊กต่างๆ บรรยากาศการเมืองเวลานั้นคล้ายๆ กับหลังเสียกรุงศรีอยุธยา
หนึ่งในบรรดากกบฏกลุ่มต่างๆ มี กลุ่มของ เซี่ยงหยี่ (บ้างเรียกเซี่ยงอวี่) หรือ ฌ้อปาอ๋อง
ครั้งนั้นกบฏก๊กรัฐหานถูกกองทัพหลวงล้อมไว้ที่จู่ลู่ (ปัจจุบันคือเมืองผิงเซี่ยง มณฑลเหอเป่ย) กองทัพหลวงมีกำลังเรือนแสน ซ่งอี้ที่เป็นแม่ทัพจึงไม่ยอมไปช่วยรัฐหาน สุดท้ายถูกเซี่ยงหยี่สังหารแล้วขึ้นเป็นแม่ทัพแทน จากนั้นเซี่ยงหยี่ก็จัดทัพสั่งทหารไปโจมตีทัพหลวง
การศึกครั้งนั้น กองทัพเซี่ยงหยี่มีเสบียงติดตัวไปจํากัดเพียง 3 วัน เมื่อยกทัพข้ามแม่น้ำจางเหอแล้ว เซี่ยงหยี่ก็สั่งให้ “จมเรือและทุบหม้อข้าวหมด” นั่นหมายความว่า ไปแล้วต้องรบให้ชนะ จะถอยกลับไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าไม่ชนะก็ต้องตาย
ผลก็คือทัพของเซี่ยงหยี่เป็นฝ่าย “ชนะ” เช่นเดียวกับพระเจ้าตาก
กำลังทหารของเซียงหยี่น้อยกว่าทหารหลวงถึง 1 ต่อ 10 เซี่ยงหยี่นําทหารของตนเข้ารุกรบทหารหลวง อย่างกล้าหาญ การสู้รบดําเนินไปอย่างดุเดือดถึง 9 ครั้ง ในที่สุดทหารหลวงก็แตกพ่าย จางหันแม่ทัพราชวงศ์ฉิน และทหารหลวงทั้งสิ้นถึง 200,000 คน ยอมอ่อนน้อมต่อเซี่ยงหยี่ ชัยชนะของเซียงหยี่ครั้งนี้เป็นชัยชนะต่อราชวงศ์ฉินขั้นเด็ดขาด ยังผลให้ราชวงศ์ฉินหมดสิ้น
ยุทธการที่พระเจ้าตากและเซี่ยงหยี่เลือกใช้ คงช่วยยืนยันคำพูดของนโปเลียน โบนาปาร์ต ที่ว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง” ได้เป็นอย่างดี
อ่านเพิ่มเติม :
- “เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?
- นโยบายแก้ปัญหาปากท้องสมัยกรุงธนบุรี “พระเจ้าตาก” ทรงต้องบริจาคทรัพย์?
- ข้อสันนิษฐานเส้นทางมุ่งจันทบุรี “นอก” พงศาวดาร ของพระเจ้าตาก เลาะป่าดีกว่าเลาะทะเล?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ปรามินทร์ เครือทอง. พระเจ้าตากเบื้องต้น, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2557
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ. 2538
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2563