ผู้เขียน | กันตพงศ์ ก้อนนาค |
---|---|
เผยแพร่ |
นโยบายแก้ปัญหาปากท้องสมัยกรุงธนบุรี “พระเจ้าตาก” ทรงต้องบริจาคทรัพย์?
เมื่อ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ปัญหาประการหนึ่งที่ราชธานีใหม่พบคือเรื่อง “ปัญหาปากท้อง” ของราษฎร พระเจ้าตากฯ มีนโยบายแก้ปัญหาหลายประการ
บันทึกจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ที่ทรงบันทึกเล่าเรื่องราวความทุกข์ยากปัญหาของราษฎรปลายกรุงธนบุรี เขียนไว้ว่า
“กรุงธนบุรีเกิดโกลี พันศรีพันลายื่นฟ้องว่าขุนนางแลราษฎรขายข้าวเกลือลงสำเภา โยธาบดีผู้รับฟ้องกราบทูล รับสั่งให้เร่งเงินที่ขุนนางราษฎรขายข้าวเกลือ ให้เฆี่ยนเร่งเงินเข้าท้องพระคลัง ร้อนทุกข์เส้นหญ้า สมณาประชาราษฎร์ไม่มีสุขขุคเข็ญเป็นที่สุดในปลายแผ่นดิน”
รัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นที่สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพียง 15 ปีเท่านั้น แต่ถือว่าสำคัญเพราะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างกรุงศรีอยุธยาที่ยิ่งใหญ่กว่า 417 ปี ก่อนจะล่มสลายยากแก่การกู้คืนกลับให้เป็นดังเดิมได้ สมเด็จพระเจ้าตากทรงต้องย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี
ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของราชธานีใหม่นี้ เรื่องหนึ่งคือ “ปัญหาปากท้อง” ของราษฎร
“ได้ปืนใหญ่พม่าเอาไปไม่ได้ค้างอยู่ ให้ระเบิดเอาทองลงสำเภา ซื้อข้าวถังละ 6 บาทเลี้ยงคนโซไว้ได้กว่าพัน” เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งของพระเจ้าตากตอนบุกตีค่ายโพธิ์สามต้น มาต้นกรุงธนบุรีนอกจากขวัญกำลังใจแล้วปากท้องก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
เห็นได้จากการแก้ไขเรื่องข้าว ที่อาณาประชาราษฎร์จำนวนมากตกทุกข์ได้ยากจากการเสียกรุงศรีฯ ทอดพระเนตรความทุกข์ยากของราษฎรอดอยาก มีรูปร่างดุจหนึ่งหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด และทรงเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติถึงขนาดจะเสด็จไปประทับเมืองจันทบูร
แต่ด้วยความทุกข์ยากที่กรุงธนบุรีเผชิญอยู่ และข้าราชการขุนนางทูลวิงวอนให้ทรงประทับยังกรุงธนบุรีเพื่อแก้ปัญหาความอดยากที่เกิดขึ้น ตรงกับจดหมายมองซิเออร์คอร์ ถึงคณะผู้อำนวยการคณะต่างประเทศกล่าวถึงสถานการณ์ความอดอยากช่วง พ.ศ. 2313 ไว้ว่า
“ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวดูในพระราชธานี ได้พบจำนวนเด็กเปนอันมากซึ่งอดอยากอย่างที่สุดในระหว่างที่เข้ายากหมากแพงนั้น”
เรียกได้ว่ายุคต้นกรุงธนบุรีเข้าขั้นทุพภิกขภัยก็ว่าได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงแก้ปัญหาด้วยการบริจาคทรัพย์แก่ราษฎรที่มารับพระราชทานมากกว่า 10,000 คน ฝ่ายข้าราชการทหารพลเรือนไทยจีนนั้น รับพระราชทานข้าวสารเสมอคนละถังกินคนละ 20 วัน
ช่วงเวลาดังกล่าวแม้ว่ามีข้าวสารจากสำเภามาขาย แต่ราคายังคงสูงอยู่มาก พระเจ้าตากทรงซื้อข้าวสารช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ และทรงพระกรุณาให้ข้าราชการทั้งชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยร่วมกันทำนาปรังเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนข้าวในการบริโภคได้อีกทางหนึ่ง เปรียบกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันการซื้อข้าวสารจากสำเภาเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น แต่การปลูกข้าวนาปรังโดยให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
บางครั้งการแก้ปัญหาก็มีปัญหาแทรกซ้อนตามมาเช่น ครั้นเดือน 5 หนูคะนองกินข้าวในยุ้งฉางและกัดทรัพย์สิ่งของทั้งปวงเสีย จึงมีรับสั่งให้ข้าทูลละอองฯ และราษฎรดักหนูมาส่งแก่กรมพระนครบาล เป็นต้น
แม้ว่าช่วงปลายกรุงธนบุรีจะเริ่มบริบูรณ์ดีขึ้นแล้ว มิวายมีปัญหาเรื่องราวปากท้องของราษฎรมาเกี่ยวข้องอีก ดังข้อความข้างต้นที่ผู้เขียนนำมาลงไว้ จนปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก ประชาราษฎร์ไม่มีสุขยุคเข็ญเป็นที่สุด มีการรีดเอาเงินจากชาวบ้านด้วยวิธีการเฆี่ยนจนได้เงินตามต้องการเดือดร้อนกันไปทั่วเมือง เช่นกรณีของหลวงประชาชีพที่มีโจทก์ฟ้องเรื่องขายข้าว จนต้องรับโทษถูกประหารชีวิต
อ่านเพิ่มเติม :
- “เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากเมืองจีน จริงหรือไม่?
อ้างอิง :
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จดหมายเหตุรายวัน อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่น. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา. พิมพ์ครั้งที่ 1. (2551).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2560