“เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?

ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560)

พระเจ้าตาก พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ระหว่างปลายปี พ.ศ. 2310 ถึงต้นปี พ.ศ. 2325 รวม 14 ปีกว่านั้น เป็นยุคสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจทางประวัติศาสตร์ พระองค์เป็นผู้นำทางการเมืองของอดีตที่ชวนให้คนจำนวนมากเข้ามาร่วมสร้างความรู้และความเชื่อทางประวัติศาสตร์และเรื่องบอกเล่าได้อย่างมีสีสันมากที่สุด แม้อดีตของยุคสมัยพระองค์ได้ผ่านมาแล้ว 2 ศตวรรษครึ่ง แต่ก็เป็นอดีตที่มีภาพเลือนราง ขาดวิ่น เมื่อเทียบกับยุคสมัยเดียวกันกับ ยอร์ช วอชิงตัน ในสมัยปฏิวัติอเมริกาต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษ และสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเป็นประเทศแรกของโลก

คำถามสำคัญของบทความนี้คือ เมืองตากของพระเจ้าตาก ก่อนที่จะสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีนั้น คือเมืองใดกันแน่

คำถามนี้เกิดขึ้น เพราะเมื่อเราเข้าไปศึกษาประวัติของเมืองตากซึ่งมีศูนย์กลางการบริหารของจังหวัดที่เทศบาลเมืองตากในปัจจุบันนั้น ประวัติเดิมของพื้นที่ตรงนี้คือ “บ้านระแหง” และยังคงชื่อนี้อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน (บทความนี้เผยแพร่เมื่อพ.ศ. 2561 – กองบรรณาธิการ) ดังนั้นเมืองตากของพระยาตากสินคือเมืองใดกันแน่

กรมพระยาดำรงฯ กับเมืองตากของพระเจ้าตากอยู่ที่บ้านระแหง

ประวัติเมืองตากฉบับราชการมหาดไทย เป็นประวัติที่มีเค้าโครงและการกำหนดเนื้อหามาจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีมหาดไทยอันยาวนาน (พ.ศ. 2435-58) ใน
ยุคแรกของการจัดระบบการปกครองเมืองทั่วประเทศในสมัยครึ่งหลังรัชกาลที่ 5 ถึงช่วงแรกสมัยรัชกาล
ที่ 6 กรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2464 อันเป็นปีแรกของการเปิดใช้ทางรถไฟจากกรุงเทพฯ จนถึงสถานีเชียงใหม่ ขากลับจากเชียงใหม่ เสด็จโดยเรือล่องตามแม่น้ำปิง เริ่มออกจากเชียงใหม่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ มาถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม รวมใช้เวลาราว 25 วัน

วันถัดมาเสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ (ใช้เวลาเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทั้งสิ้น 45 วัน) ดูเหมือนการเดินทางล่องตามแม่น้ำปิงครั้งนี้ กรมพระยาดำรงฯ ทรงตระหนักดีว่าทางรถไฟที่เปิดใช้ถึงเชียงใหม่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าเส้นทางการเดินทางของยุคสมัยเก่า ทั้งทางบกและทางน้ำ

ดังนั้นการเตรียมการมาล่องแม่น้ำปิงก็เพื่อที่จะได้รู้เห็นบนเส้นทางที่กำลังจะเป็นอดีตนั้น บันทึกการเดินทางทางแม่น้ำปิง หรือ “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” ของพระองค์ จึงกลายเป็นเสมือนคู่มือของเจ้าเมืองนายอำเภอตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำปิงที่จะใช้อ้างอิงเกี่ยวกับประวัติจังหวัดและโบราณสถานที่ได้ถูกกล่าวถึง กรมพระยาดำรงฯ เสด็จด้วยเรือใหญ่ของเจ้าเมืองเชียงใหม่มาถึง “ท่าพระธาตุเกาะตะเภา” ที่บ้านตาก จังหวัดตาก ในยามค่ำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เช้าวันต่อมา[1] ทรงใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง “เดินขึ้นไปดูเมืองตากเก่า” อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ห่างฝั่ง 10 เส้น อยู่บนดอยเล็กลูกหนึ่ง

บนดอย “มีวัดและพระเจดีย์องค์หนึ่งเรียกว่าพระมหาธาตุเมืองตาก แต่ของเดิมจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ ด้วยซ่อมแปลงรูปเสียแล้ว” ทรงกำหนดภูมิหลังของเมืองตากไว้ว่า “เมืองตากเก่านี้พวกมอญเข้ามาตั้งเป็นแน่ไม่มีที่สงสัยเพราะอยู่ฝั่งตะวันตก และอยู่ตรงปากวังทางไปเมืองนครลำปางออกลำน้ำพิง” 

ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของตัวอำเภอบ้านตากหรือเมืองตากนี้ คือการคุมเส้นทางน้ำ 2 สายในการเดิน
ทางไปยังรัฐล้านนา ด้วยเหนือตัวเมืองบ้านตากไม่กี่กิโลเมตรคือจุดบรรจบแม่น้ำวังที่มาจากลำปางและ
เมืองเถิน บรรจบกับแม่น้ำปิงที่มาจากเชียงใหม่ ทำให้บ้านตากหรือเมืองตากคือเมืองหน้าด่านของอยุธยา
ต่อกับแดนรัฐล้านนา-ลำปาง เชียงใหม่

จากพระมหาธาตุเมืองตาก กรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปชมเจดีย์อีกที่หนึ่งที่มีรูปแบบพระปรางค์ ซึ่งระบุว่าเป็นเจดีย์แบบสุโขทัยเหมือนที่เจดีย์วัด เจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย และเหมือนที่เจดีย์ใหญ่วัดตระพังเงินในเมืองสุโขทัย ในบันทึกนี้ได้เล่าจารึกพ่อขุนรามคำแหง ตอนพ่อขุนรามคำแหงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด

แล้วทรงสรุปสันนิษฐานว่า เจดีย์องค์นี้ที่เมืองตาก จะสร้างเป็นของเฉลิมพระเกียรติเรื่องชนช้างคราวนั้น แต่พระเจ้ารามคำแหงจะสร้างเองหรือจะสร้างในรัชกาลหลังไม่มีเค้าเงื่อนที่จะรู้ได้แน่” อย่างไรก็ตาม ต่อมาเจดีย์องค์นี้ก็ได้รับการบันทึกไว้ในแบบต่างๆ ตามข้อสรุปของกรมพระยาดรงฯ ว่าคือเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด

กรมพระยาดำรงฯ เสด็จออกเดินทางจากเมืองตากเก่านี้ในเวลา 09.30 น. หลังจากที่ได้บันทึกสรุปสิ่งสำคัญไว้ 2 ประเด็น คือ เมืองตากเก่าและเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง ล่องเรือตามแม่น้ำ
ปิงมาถึง “เมืองตากใหม่” หรือที่ตั้งเทศบาลเมืองตากในเวลาค่ำ ระยะทางโดยถนนจากเมืองตากเก่าหรือ
บ้านตากมาเมืองตากใหม่ราว 30 กิโลเมตร

ที่ตั้งปากวัง และเมืองตาก/บ้านตาก ห่างกันราว 2 กิโลเมตร ดังนั้นเมืองตากคือเมืองหน้าด่านเหนือสุดของอาณาจักรอยุธยา
และธนบุรี เป็นเมืองยุทธศาสตร์คุมแม่น้ำปิงและวัง (ภาพจาก Google Map)

เช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ กรมพระยาดำรงฯ ทรงใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงครึ่งในการเที่ยวชมเมือง[2] เริ่มต้นด้วยการเดินชมเมืองตามถนนริมแม่น้ำ ดูตลาด ดูวัด ใน 3 บรรทัดแรก ทรงสรุปว่า “เมืองตากใหม่นี้ตั้งที่บ้านระแหงทางฝั่งตะวันออก จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่าเมืองระแหง”

และจากการไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ก็ทรงสรุปสันนิษฐานไว้ในตอนท้ายก่อนเดินทางออกจากบ้านระแหงเมืองตากใหม่ว่า เมืองตากเก่าย้ายลงมาตั้งที่บ้านระแหง “ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อเป็นประเทศราชขึ้นพระเจ้าหงสาวดีเพราะเหตุที่ทางคมนาคมกับเมืองมอญมาลงตรงท่าบ้านระแหงนี้เป็นใกล้กว่าที่อื่น จนทุกวันนี้พวกคนค้าขายไปมากับเมืองมอญขึ้นลงที่ท่าระแหง เมืองตากเก่าตั้งเหนือขึ้นไปไม่เหมาะแก่การคมนาคมกับเมืองมอญจึงย้ายลงมา”

ทั้งยังระบุไว้อีกด้วยว่า เมืองตากใหม่นี้ “แต่เดิมมาตั้งทางฝั่งตะวันตก เห็นจะย้ายมาฝั่งตะวันออกเมื่อรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์”

แต่ในย่อหน้าเดียวกันนี้ กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงบันทึกที่โน้มน้าวให้เชื่อว่า เมืองตากของพระยาตากคือบ้านระแหง ด้วยประโยคว่า “ด้วยปรากฏว่าจวนของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งยังเป็นพระยาตากอยู่ที่บ้านระแหง”

แม้ว่าในการเที่ยวชมเมืองของกรมพระยาดำรงฯ นั้นไม่มี “จวน” ของพระเจ้าตากอยู่เลยก็ตามเมื่อเที่ยวชมเมืองตากใหม่ที่บ้านระแหงแล้ว กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงข้ามฝั่งแม่น้ำปิงไปฟากตะวันตกยังบ้านป่ามะม่วง ได้ขึ้นไปชมวัดเก่าบนเขาที่ชื่อว่าวัดเขาแก้ว ที่มีเรื่องในหนังสือพระราชพงศาวดารสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ทรงเสี่ยงทาย

ทรงสรุปว่าอาคารสิ่งก่อสร้าง “เป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย… แต่สิ่งซึ่งปรากฏอยู่เป็นของพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างเมื่อเสวยราชย์แล้วเป็นแน่” ถัดจากวัดเขาแก้วไปยังวัดโบราณอีกหลายวัด ได้ชี้เจดีย์หนึ่งและสรุปว่า สร้างโดยสมเด็จพระไชยราชาธิราช “ครั้งได้เมืองเชียงใหม่” มีวัดร้างที่ชี้ว่าเป็นวัดหลวงสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ “คราวเสด็จไปตีได้เมืองเชียงใหม่” มีเจดีย์คู่ที่ชี้ว่าสร้างไว้เมื่อสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ “เมื่อได้เมืองเชียงใหม่” สรุปจากการเที่ยวชมวัดเก่าเจดีย์ร้างเหล่านี้ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเห็นว่าวัดเจดีย์ “มีครบทุกรัชกาลที่ได้เมืองเชียงใหม่กลับมาเป็นของไทย” กลายเป็นจุดเริ่มประวัติการผนวกรวมรัฐล้านนา-เชียงใหม่ให้เป็นของกรุงเทพฯ

แผนที่เส้นทางเดินทัพกลับในคราวไป “ปราบเชียงใหม่” ปี 2317 ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ขายกทัพไป เนื้อความขาดไป แต่ตอนยกทัพกลับ ได้ระบุเส้นทางเดินทัพ และชื่อบ้านเมืองที่พักค้างแรม และในเอกสารฉบับนี้เองที่เรียกบ้านตากว่า “เมืองตาก” (แผนที่นี้ใช้ Google Map ค้นหาพบว่าชื่อบ้านเมืองยังคงมีร่องรอยที่ตั้งในปัจจุบัน)

โดยสรุป ประวัติเมืองตากของกรมพระยาดำรงฯ ในงาน “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” คือการที่ทรงสรุปว่า เมืองตากเก่าอยู่ที่พระบรมธาตุบ้านตาก เป็นถิ่นฐานเดิมของมอญ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือราชวงศ์ใหม่หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าหงสาวดีสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ได้ย้ายเมืองลงมาอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง หรือบริเวณบ้านป่ามะม่วงก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงย้ายมาตั้งเมืองที่บ้านระแหงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง หรือที่เป็นตัวเทศบาลอำเภอเมืองตากในทุกวันนี้

ประวัติเมืองตากของกรมพระยาดำรงฯ นี้เป็นฐานให้การตั้งศูนย์กลางการบริหารในชื่อจังหวัดตากในพื้นที่บ้านระแหงตั้งแต่ปี 2435 หรือยุคสร้างจังหวัดสร้างมณฑลเทศาภิบาลมีความสมเหตุสมผล เมืองตากถูกรวมอยู่ในมณฑลนครสวรรค์เมื่อปี 2438 ทั้งนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อและสถานภาพจาก “เมืองตาก” เป็น “จังหวัดตาก” ในพ.ศ. 2459[3]

บ้านตาก หรือแม่ตาก คือ เมืองตากของพระเจ้าตาก

สืบเนื่องจากชุดอธิบายของกรมพระยาดำรงฯ ว่าบ้านระแหงคือเมืองตากของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ได้เป็นโครงสร้างและเนื้อหาประวัติเมืองตากฉบับราชการมหาดไทยเป็นระยะเวลานานหลายทศวรรษแล้วนั้น ทำให้เราไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยต่อประเด็นว่าทำไมบ้านระแหงจึงคือเมืองตาก ดังนั้นเมื่อเราไปอ่านเอกสารใดๆ เราจึงไม่มองหาเมืองตาก หรือมองข้ามข้อมูลที่จ่ออยู่ตรงหน้าของเราเอง

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทมาศ (เจิม) ซึ่งได้รับการประเมินหลักฐานว่าเป็นงานนิพนธ์ในยุคสมัยพระเจ้าตากเอง โดยได้รับการชำระจากรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. 2338 หรือปีที่ 14 ของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ดังนั้นหลักฐานนี้จึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานในยุคสมัยที่สำคัญมากชิ้นหนึ่ง

การยกทัพเพื่อจัดการบ้านเมืองในรัฐล้านนาทั้งเมืองเถิน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แพร่ ครั้งสำคัญที่ทำให้พระเจ้าตากมีพระราชบารมีและอำนาจเหนือหัวเมืองเหล่านี้อย่างมาก เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2317 โดยทัพหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกทัพ “ขึ้นไปปราบเมืองเชียงใหม่” ในเดือน 12 แรม 11 ค่ำ (เอกสาร
สำเนาท้องตราปีมะเมียในท้ายพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ฉบับที่ 2)

พระราชพงศาวดารฉบับนี้ขาดเนื้อความตอนยกทัพขึ้นไปจากกรุงธนบุรีปรากฏรายละเอียดเนื้อเรื่องด้วยเริ่มเดือนยี่ ขึ้น 12 ค่ำ พระองค์ “เสด็จฯ อยู่ ณ พระตำหนักค่ายเมืองลำพูน” ซึ่งหมายความว่า พระเจ้าตากทรงใช้เวลาถึง 47 วัน เพื่อค่อยๆ เคลื่อนพล “ปราบ” เมืองเชียงใหม่ในการปกครองของเจ้าเมืองจากพม่าอังวะ

วันเสาร์ต่อมา ทัพหลวงของพระเจ้าตากเคลื่อนจากเมืองลำพูน มาถึงค่ำ เสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมน้ำเมืองเชียงใหม่ ในค่ำคืนนั้น ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงใหม่โปสุพลา มะยุง่วน พาครอบครัวหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ทางประตูช้างเผือก มีฝูงชนหนีกันอย่างอลหม่าน “ด้วยความกลัวย่ำเยียบออกไปตาย ณ
ประตูนั้นประมาณ 200 เศษ”

วันอาทิตย์ พระเจ้าตากทรงช้างเสด็จเลียบเมืองเชียงใหม่โดยไปตามค่ายต่างๆ ของฝ่ายกรุงธนบุรีที่ตั้งโอบล้อมเมืองไว้ทั้ง 3 ด้าน อีก 4 วันต่อมาเป็นการบริหารจัดการทั้งต่อฝ่ายกองทัพของพระองค์และต่อเมืองเชียงใหม่ เมื่อบริหารจัดการเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าตากทรงให้เจ้าพระยาจักรีอยู่ดูแลจัดการเมืองเชียงใหม่และเมืองต่างๆ ในรัฐล้านนาต่อไปส่วนพระองค์จะนำทัพหลวงกลับคืนกรุงธนบุรี และให้ทัพต่างๆ ที่ระดมมาได้แยกย้ายกลับไปเมืองของตนเอง

ลำดับการเดินทางของพระเจ้าตากจากเชียงใหม่มายังกรุงธนบุรี ได้เผยข้อเท็จจริงให้ทราบว่า บ้านตาก คือเมืองตากในยุคสมัยกรุงธนบุรีและรวมทั้งสมัยอยุธยาด้วย ดังนี้

– วันศุกร์ เดือนยี่ แรม 4 ค่ำเดินทางกลับคืนพระนคร จากเชียงใหม่ ประทับพระตำหนักค่ายเมืองหริภุญชัย ไปนมัสการพระบรมธาตุเมืองหริภุญชัย

– แรม 5 ค่ำประทับแรมแม่ทา

– แรม 6 ค่ำ ประทับแรมแม่สัน

– แรม 7 ค่ำ ประทับแรมห้างฉัตร

– แรม 8 ค่ำ ประทับแรมลำปาง ทรงนมัสการพระบรมธาตุ (ที่นี้ 2 คืน)

– แรม 10 ค่ำ ประทับแรมห้วยน้ำต่ำ

– แรม 11 ค่ำ ประทับแรมนายาง

– แรม 12 ค่ำ ประทับแรมท่าเรือเมืองเถิน (ที่นี้ 3 คืน)

– แรม 15 ค่ำ เช้า เสด็จออกเดินทางจากเมืองเถิน ทางเรือ 2 วัน

– พฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ “ถึงพระตำหนักเมืองตาก” ต่อมา “เพลาย่ำฆ้องค่ำ เสด็จฯ มาประทับอยู่ ณ หาดทรายบ้านตาก” จนถึงเวลา 2 ยาม ทรง “ลงเรือหมื่นจง กรมวัง ล่องลงมา หลวงรักษ์โกษาลงท้ายที่นั่งมาด้วย” ระหว่างทางล่องลงมาบ้านระแหง “เรือพระที่นั่งกระทบตอไม้ล่มลง” เสด็จขึ้นไปหาดทราย ถัดนั้น “เสด็จฯ มาโดยทางสถลมารค” หรือทรงพระดำเนินมาจนถึง “พระตำหนักสวนมะม่วงบ้านระแหง” เช้าวันศุกร์ เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ

ที่พระตำหนักสวนมะม่วง ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ตรงข้ามบ้านระแหง พระเจ้าตากประทับที่นี้ 6 คืน

– พฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 9 ค่ำ เช้า เสด็จออกเดินทางจากบ้านระแหงโดยทางเรือ

– อังคาร เดือน 3 ขึ้น 14 ค่ำ ถึงกรุงธนบุรีเพลาเช้า รวมเดินทางจากระแหง 5 วัน

การยกทัพของพระเจ้าตากไปปราบเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ทรงใช้ระยะเวลารวม 2 เดือนครึ่ง จากลำดับวันและเส้นทางการเดินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ เมืองตากของพระเจ้าตากนั้น ชัดเจนว่าคือบ้านตาก ไม่ใช่บ้านระแหง ซึ่งคืออีกเมืองหนึ่งที่อยู่ใต้บ้านตากหรือเมืองตาก ราว 30 กิโลเมตร

ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา[4] ซึ่งนิพนธ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เส้นทางการเดินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ของพระเจ้าตากยังคงเป็นเส้นเดียวกันกับฉบับพันจันทนุมาศ แต่รายละเอียดวันและสถานที่ในการตั้งค่ายพักที่บ้านและเมืองต่างๆ ตามเส้นทางนั้นถูกข้ามไป เหลือเพียงชื่อเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง รวมทั้งข้ามรายละเอียดพระราชกรณียกิจของพระเจ้าตากในเมืองต่างๆ

โดยเมื่อกล่าวถึงพระเจ้าตากทรงนมัสการพระมหาธาตุเมืองลำปางแล้ว ถัดมาระบุว่า “จึงเสด็จดำเนินทัพหลวงรีบลงมาถึงเมืองตาก วันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3” และเมื่อทรงทราบข่าวว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาทางด่านแม่ละเมา จึงมีดำรัสสั่งราชการจากเมืองตากให้ข้าราชการคนหนึ่ง “ลงเรือรีบลงไปบอกพระยาคำแหงวิชิต ซึ่งตั้งทัพ ณ บ้านระแหง ใต้เมืองตากนั้น” และให้เหตุที่พระเจ้าตากต้องทรงลงเรือล่องจากเมืองตากมาบ้านระแหงที่ในระหว่างทางเรือกระทบตอล่มลงนั้น เพราะ “ในขณะนั้นเรือพระที่นั่งยังจอดอยู่ ณ ท่าสวนมะม่วง บ้านระแหง หาทันขึ้นไปรับเสด็จถึงเมืองตากไม่”

วิธีการบอกเล่าระบุให้ชัดเจนในเชิงที่ตั้งและทิศทางขึ้นลงตามแม่น้ำปิง สะท้อนให้เห็นว่าผู้นิพนธ์พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้พยายามที่จะช่วยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของพื้นที่ระหว่าง 3 พื้นที่ ได้แก่ เมืองตาก บ้านระแหง และป่ามะม่วง หรือสวนมะม่วง ที่อยู่ฝั่งตะวันตกตรงข้ามบ้านระแหง

ในเอกสารของพม่าเรื่องมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวถึงการยกทัพของฝ่ายพม่าลงมาจาก
เมืองเชียงใหม่ เมืองลำปางเพื่อเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา บรรจบกับกองทัพพม่าที่ยกทัพมาจากด้านใต้ โดยเริ่มเคลื่อนทัพเมื่อเดือน 10 ขึ้น 8 ค่ำ พ.ศ. 2308 หรือ 1 ปีครึ่งก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก ในเอกสารนี้ได้กล่าวถึงเมืองต่างๆ รายทางที่ฝ่ายพม่าได้เมือง เมืองแรกที่เป็นเมืองหน้าด่านของอยุธยาเมื่อเดินทางลงมาจากเมืองลำปางและเมืองเถิน คือ “เมืองบ้านตาก” ดังนี้ (ชื่อแม่ทัพฝ่ายเหนือ สีหะปะเต๊ะ ในเอกสารนี้ มีชื่อในพงศาวดารไทยว่าเนเมียว)

“ฝ่ายผู้รักษาเมืองบ้านตากเห็นว่าสีหะปะเต๊ะ ยกทัพมา ช้างม้ารี้พลมาก ก็ไม่อาจออกจากเมืองไปต่อสู้รบ เปนแต่รักษาเมืองตั้งมั่นอยู่ ฝ่ายสีหะปะเต๊ะแม่ทัพเห็นว่า ผู้รักษาเมืองบ้านตากรักษาเมืองตั้งมั่นอยู่ดังนั้น ก็ขับให้พลทหารเข้าตีเมืองบ้านตาก พวกพลทหารทั้งหลายก็มิได้ย่อท้อกลัวเกรงสาสตราอาวุธ ต่างคนต่างจะเอาความชอบ บ้างขุดกำแพง บ้างเอาบรรไดพาดปีนกำแพง ตั้งใจพร้อมกันทำสักครู่หนึ่งก็เข้าเมืองได้ เมื่อเข้าเมืองได้ พวกพลทหารก็เก็บริบเอาเงินทองและจับผู้รักษาเมืองพลทหารพลเมืองราษฎรชายหญิงแลเก็บเอาสาสตราอาวุธทั้งปวง แต่เครื่องสาสตราอาวุธทั้งปวงนั้นส่งไปให้กับสีหะปะเต๊ะแม่ทัพที่ค่าย สีหะปะเต๊ะแม่ทัพก็จัดตั้งหัวหน้าที่ยอมอ่อนน้อมไม่กระด้างกระเดื่องนั้น ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และให้รักษาเมืองบ้านตากต่อไป

ครั้นยกจากเมืองบ้านตาก ก็พักแรมตามรายทางมาตามระยะ ก็ถึงเมืองระแหง ผู้รักษาเมืองระแหงเห็นว่าเมืองบ้านตากก็ไม่อาจจะต่อสู้รบ หัวหน้าจึงพาผู้รักษาเมืองระแหงออกมายอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์กับสีหะปะเต๊ะๆ ก็ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แล้วตั้งให้ผู้รักษาเมืองกับหัวหน้านั้นรักษาเมืองระแหงต่อไปแล้วสีหะปะเต๊ะก็ยกจากเมืองระแหงพักแรมตามระยะทาง ครั้นใกล้จะถึงเมืองกำแพงเพ็ชร์ ผู้รักษาเมืองกำแพงเพ็ชร์และหัวหน้าเห็นว่าผู้รักษาเมืองระแหงยอมเข้าสวามิภักดิ์ ก็ไม่อาจจะสู้รบ จึงจัดเครื่องราชบรรณาการออกจากเมืองไปยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์กับสีหะปะเต๊ะแม่ทัพที่กลางทาง…”[5]

เอกสารมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ได้เล่าที่ให้พื้นที่และรายละเอียดกับการโจมตีเมืองแรกในเขตแดนอยุธยาคือ เมืองบ้านตาก ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเมืองนี้เท่านั้น แต่มีนัยแห่งความสำคัญและขนาดด้วยเช่นกัน ที่การแพ้ถูกบุกยึดเมืองบ้านตากได้ทำให้ผู้นำเมืองระแหง ซึ่งเป็นเมืองอยู่ใต้เมืองบ้านตากลงมาถึงกับยอมจำนนสวามิภักดิ์ต่อกองทัพฝ่ายพม่าแต่โดยดี เมืองบ้านตากในที่นี้มีกำแพงเมือง (ไม่ได้ระบุว่าเป็นกำแพงไม้รั้วเสา หรือกำแพงอิฐ หรือกำแพงดิน) และน่าจะเป็นเมืองที่ตั้งติดริมแม่น้ำปิง ไม่ต่างไปจากบ้านระแหง เพราะน้ำเป็นยุทธศาสตร์การเดินทางและการค้าของโลกอยุธยา

คำถามที่สำคัญมากคือ การต่อต้านกองทัพพม่าของเมืองบ้านตาก กระทั่งพ่ายแพ้ถูกยึดเมืองในครั้งนี้ ทำให้เมืองบ้านตากที่อาจมีขนาดใหญ่ได้ถูกลดทอนทำลายลงไปทั้งด้านกายภาพของเมืองและด้านกำลังคน ซึ่งอาจถูกจับไปเป็นเชลยใช้แรงงานในการสงครามของฝ่ายพม่าจำนวนมาก เหลือทิ้งไว้ให้ผู้นำ
ชุมชนเมืองบ้านตากคนใหม่ไม่มากนัก หรือกล่าวให้ชัด เมืองบ้านตากนับแต่นี้มาแทบไม่อาจฟื้นเป็นเมือง
ที่มีขนาดและความสำคัญเท่าเดิมได้อีกเลย

ขณะที่เมืองบ้านระแหงและเมืองกำแพงเพชรผู้รักษาเมืองต่างรักษาสถานภาพและผลประโยชน์ทั้งของตนเอง ครอบครัว และเมืองไว้ได้ โดยยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ต่อผู้นำใหม่คือกองทัพพม่าแม้เมืองทั้งสองต้องถูกเกณฑ์กำลังพลเข้าร่วมในสงครามโจมตีกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน ในฐานะกำลังทัพจากเมืองๆ หนึ่ง แต่ทั้งบ้านเมืองและผู้คนไม่ได้ถูกทำลายหรือถูกทำให้อยู่ในสถานภาพแบบแพ้สงคราม เช่นเดียวกับเมืองบ้านตาก

ดังนั้น ทั้งจากเอกสารในยุคสมัยพระเจ้าตาก พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ได้พบหลักฐานชัดเจนแน่นอนแล้วว่า บ้านตาก คือเมืองตากของพระยาตากตั้งแต่สมัยอยุธยามา

สถานภาพบ้านตาก-เมืองตากจากสมัยอยุธยาถึงสมัยพระจอมเกล้าฯ

บ้านตากหรือเมืองตาก ปรากฏชื่อในหนังสือราชอาณาจักรสยาม ของ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสที่เดินทางมายังราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ อยุธยา เมื่อปี 2230 หรือก่อนอยุธยาล่ม 80 ปี ได้กล่าวถึงเมืองที่ตั้งอยู่ตาม “แม่น้ำ” หรือแม่น้ำปิง จากเหนือสุดของอยุธยาลงมา เมืองแรกคือ แม่ตาก (Me-Tac)

ถัดมาคือเมืองเทียนทอง (Tien-Tong หรือเชียงทอง) ถัดลงมาเป็นกำแพงเพชรและนครสวรรค์ และเมืองที่ตั้งอยู่อีก “แม่น้ำ” หรือแม่น้ำน่าน เมืองเหนือสุดของอยุธยาบนสายน้ำนี้คือ เมืองฝาง ลงมาเป็น เมืองพิชัย เมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตร แล้วมาพบกับแม่น้ำทางตะวันตกที่นครสวรรค์ เมืองต่างๆ ที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ปรากฏอยู่ในแผนที่อยุธยาที่ประกอบอยู่ในหนังสือด้วย และได้อธิบายถึงเมืองแม่ตากและเมืองที่อยู่ต่อเนื่อง ดังนี้

“เมือง แม่ตาก นั้นกล่าวกันว่า เป็นเมืองที่มีเจ้าสืบวงศ์ครอบครอง ขึ้นต่อพระเจ้ากรุงสยาม เรียกชื่อเจ้าผู้ครองว่า พญาตาก อันหมายความว่าเจ้าแห่ง(เมือง) ตาก. เมือง เทียนทอง นั้นร้างไปแล้วคงจะเนื่องจากสงครามเก่าแก่กับพะโค. เมือง กำแพง นั้นเป็นที่รู้กันว่ามีเหมืองเหล็กกล้าอันเป็นเหล็กเนื้อดีวิเศษ…
เมืองพิษณุโลก…เมื่อก่อนนี้ก็มีเจ้าผู้ครองสืบวงศ์เหมือนกัน เช่นเดียวกับเมืองแม่ตาก…”[6]

ข้อมูลที่ลาลูแบร์ได้ย่อมมาจากการบอกเล่าของชนชั้นนำในอยุธยา ดังนั้นในความรับรู้เกี่ยวกับเมืองในอาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นเห็นได้ว่า เมืองแม่ตาก มีความสำคัญมากพอที่อยู่ในความคิดความจำ ทั้งในด้านภูมิหลังประวัติที่เคยมี “เจ้า” ปกครอง ที่เทียบเคียงได้กับสถานะของเมืองพิษณุโลก และในด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นเมืองปลายเขตแดนเหนือสุดของอยุธยาต่อกับแดนของเชียงใหม่ ซึ่งในสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นจริง บ้านตาก-เมืองตาก หรือแม่ตากนั้นคือที่ราบริมแม่น้ำปิง

ถัดจากนี้ขึ้นไปจะมีขุนเขาสูงใหญ่เป็นปราการกั้นเขตแดนกับลำปางและเชียงใหม่ และเหนือบ้านตาก-เมืองตากไม่ไกลนัก เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำวังกับแม่น้ำปิง (บ้านปากวัง อำเภอบ้านตาก)

ส่วนเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งที่อยู่ถัดจากบ้านตาก-เมืองตาก หรือแม่ตากลงมา คือเมืองเทียนทอง/เชียงทอง ที่ “ร้างไปแล้ว คงจะเนื่องจากสงครามเก่าแก่กับพะโค” ซึ่งก่อนหน้าสมัยสมเด็จพระนารายณ์สงครามครั้งสำคัญคือสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก พ.ศ. 2112 ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ถึง 1 ศตวรรษ และเมืองนี้ยังไม่ฟื้นคืนมา เมืองเทียนทองถูกระบุจุดที่ตั้งในแผนที่ของลาลูแบร์ ว่าตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง จากเมืองนี้มีสายน้ำที่เชื่อมไปยังแม่น้ำน่านใต้เมืองพิษณุโลก มีเมืองใหญ่ระหว่างทางคือเมืองสวรรคโลก

โดยสรุปจากข้อมูลในหนังสือของลาลูแบร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมืองที่อยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรตามแม่น้ำปิงขึ้นไป มีเมืองใหญ่เมืองเดียว คือ เมืองแม่ตาก หรือต่อมาคือ บ้านตาก-เมืองตาก ที่เหลืออาจเป็นชุมชนบ้านเล็กบ้านน้อยตามรายทาง

แต่เมื่อถึงสมัยปลายอยุธยา ตามเอกสารมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า เมื่อกองทัพพม่ายกทัพลงมาจากลำปางใน พ.ศ. 2308 เมืองที่สำคัญบนแม่นำปิงเหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นมามี 2 เมือง ได้แก่ เมืองบ้านตาก-เมืองตาก หรือแม่ตาก และเมืองบ้านระแหง ดังนั้นน่าจะกล่าวอย่างกว้างๆ ได้ว่า หลังสมัย
สมเด็จพระนารายณ์มา หรือในช่วง 8 ทศวรรษก่อนสิ้นอยุธยา พ.ศ. 2310 นั้น เมืองบ้านระแหงซึ่งตั้ง
อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ใต้เมืองตากลงมา 30 กิโลเมตร ได้เกิดและเติบโตจนเป็นเมืองสำคัญขึ้นมา
ที่ตั้งนั้นเป็นยุทธศาสตร์เมืองหน้าด่านในการติดต่อกับพื้นที่พม่าด้านตะวันตกทางด่านแม่ละเมา

เมืองตาก-บ้านตาก ในสมัยกรุงธนบุรี ยังคงเป็นเมืองปลายแดนกรุงธนบุรีต่อกับแดนลำปาง-เชียงใหม่ ทว่าเมื่อพิจารณาข้อมูลหลักฐานแล้วเมืองบ้านระแหงดูจะมีความสำคัญและมีขนาดที่ใหญ่กว่าเมืองตาก-บ้านตาก

ในสมัยกรุงธนบุรีนี้ เมืองขึ้นต่อเมืองกำแพงเพชรที่อยู่เหนือขึ้นมาตามแม่น้ำปิง มีเมือง 3 เมือง จากเหนือลงใต้ได้แก่ เมืองตาก-บ้านตาก เมืองบ้านระแหงและเมืองเชียงทอง แต่เมืองบ้านระแหงมีความสำคัญ
ที่สุด ดังในสำเนาท้องตราเรียกระดมทัพจากเมืองต่างๆ ปี พ.ศ. 2317 เพื่อไปปราบเมืองเชียงใหม่นั้น
ได้ระบุว่า ให้กองทัพเมืองต่างๆ ที่ถูกเรียกระดมมานั้น “ไปเข้ากองทัพรับเสด็จฯ ณ เมืองตากบ้านระแหง
เป็นการเร็ว” หรือ “ให้พร้อมกัน ณ บ้านระแหงเมืองตาก” การระบุที่ชุมนุมเตรียมทัพว่า “เมืองตากบ้าน
ระแหง” หรือ “บ้านระแหงเมืองตาก”[7] คือยกสถานะชื่อเมืองตากซึ่งเป็นเมืองที่พระเจ้าตากทรงเคยเป็นเจ้าเมือง ให้ดูมีสถานภาพที่สูงขึ้น แต่ความสำคัญที่แท้จริงอยู่ที่บ้านระแหง

ในสำเนาบัญชีช้างหลวงของกรุงธนบุรี ปี พ.ศ. 2319 และ 2320 นั้น[8] ระบุกลุ่มเมือง 3 เมืองที่อยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นมา ว่าคือ “เมืองระแหง” โดยมีเจ้าเมือง 3 เมือง ได้แก่ พระยาเชียงทอง พระยา
ตาก และพระยาสุทัศ ซึ่งชื่อพระยาเจ้าเมืองเชียงทองและตากนั้น ทราบแน่ชัดว่าคือเมืองเชียงทองอยู่ใต้บ้านระแหง และเมืองตากที่อยู่เหนือบ้านระแหงดังนั้นตำแหน่งเจ้าเมืองบ้านระแหงคือพระยาสุทัศ

และเมื่อพิจารณาการเดินทัพกลับจากเชียงใหม่ของพระเจ้าตาก เมื่อ พ.ศ. 2317 พระเจ้าตากประทับที่เมืองตากไม่ทันข้ามคืน ก็เสด็จมายังบ้านระแหง และประทับที่พระตำหนักสวนมะม่วงบ้านระแหงถึง 6 คืนด้วยกัน ทั้งใน 6 วันคืนนี้ก็มีพระราชกรณียกิจในการบริหารบ้านเมืองด้านต่างๆ ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของเมืองบ้านระแหงในยุคกรุงธนบุรีว่ามีมากกว่าเมืองตาก-บ้านตาก

หนังสือราชอาณาจักรและราษฎรสยาม ของเซอร์จอห์น เบาว์ริง เจ้าเมืองฮ่องกง ที่ได้เป็นทูตอังกฤษเดินทางมาทำสนธิสัญญากับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2398 เมื่อกลับไปแล้วได้เขียนหนังสือและพิมพ์เล่มนี้ที่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2400 ในบทที่ 1 ภูมิศาสตร์ ระบุว่าราชอาณาจักรสยามมีหัวเมืองต่างๆ 41 เมือง โดยภาคเหนือมี 5 เมือง ได้แก่ สังคโลกหรือสวรรคโลก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิชัย และระแหง[9] 

ทั้งนี้ในแผนที่สยามท้ายหนังสือนี้ได้ระบุไว้ว่า บ้านตาก (B. Tak) นั้นเป็นเมืองขนาดเล็ก หรือหมู่บ้าน ส่วนระแหง (Rahang) นั้นเป็นเมืองสำคัญหรือเมืองศูนย์กลางของจังหวัด

ในเอกสารพงศาวดารที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มักเรียกรวมๆ ว่า “บ้านระแหงแขวงเมืองตาก” ซึ่งก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าเมืองตากมียศถาบรรดาศักดิ์ว่า “พระยาวิชิตชลธีศรีสุรสงครามรามราชราไชย อภัยภักดีพิรียพาหะ” รัชกาลที่ 4 ทรงแปลงนามให้เป็น “พระยาวิชิตชลธีศรีสุรสงครามรามราชราไชย อภัยพิรียพาหะ” โดยตัดคำว่าภักดีออกไป (รัชกาลที่ 4 ทรงแปลงนามของเจ้าเมืองกรมการเมืองในหลายเมือง รวมทั้งนามของขุนนางส่วนกลางอีกจำนวนมากด้วย)

กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการจัดระเบียบกลุ่มเมืองตากบ้านระแหงใหม่ จากเดิมมี 3 พระยาเป็นเจ้าเมืองตาก ระแหง และเชียงทอง ได้ถูกรวบมาเหลือเจ้าเมืองเพียงคนเดียวคือเจ้าเมืองตาก ที่ไม่มีชื่อพระยาตากเป็นเจ้าเมืองอีกต่อไป เป็นการสิ้นสุดตำแหน่งพระยาตากผู้เป็นเจ้าเมืองแม่ตาก-บ้านตาก-เมืองตาก

ส่วนเมืองตากในยุครัตนโกสินทร์นี้มีเจ้าเมืองชื่อพระยาวิชิตชลธีฯ มีปลัดเมือง 2 คน ได้แก่ “พระศักดาเรืองฤทธิปลัดไทย” และ “พระวิชิตรักษาปลัดลาว” มียกกระบัตรนาม “พระทิพรักษายกกระบัตร”[10]

สรุป

แม่ตาก-บ้านตาก-เมืองตาก เป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นเมืองหน้าด่านเหนือสุดบนสายแม่น้ำปิงของอยุธยาที่ต่อแดนกับรัฐล้านนา ลำปาง-เชียงใหม่ เมืองตากถูกยกให้เป็นชื่อเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เพื่อรำลึกถึงการเป็นเมืองที่พระเจ้าตากทรงเคยมาเป็นเจ้าเมืองก่อนที่จะได้เป็นกษัตริย์ แต่ความสำคัญของกลุ่มเมืองตรงนี้อยู่ที่เมืองบ้านระแหงมากกว่า ดังนั้นจึงมีการใช้ชื่อเมือง 2
เมืองเข้าด้วยกันว่า บ้านระแหงเมืองตาก เมืองตากบ้านระแหง หรือบ้านระแหงแขวงเมืองตาก ต่อมา
เมื่อมีการจัดการปกครองแบบเทศาภิบาลในกลางสมัยรัชกาลที่ 5 อาณาบริเวณตรงนี้ก็ถูกเรียกว่าเมือง
ตาก ที่มีศูนย์บริหารของผู้ว่าเมืองตั้งอยู่ที่บ้านระแหงกระทั่งได้ยกฐานะเป็นจังหวัดตากที่มีศูนย์กลางการ
บริหารในเขตเทศบาลเมืองตากมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนบ้านตากที่เป็นเมืองตากของพระเจ้าตากก็ถูกลืมเลือนไปด้วยความรับรู้ต่อ “ข้อมูลชุดใหม่” ที่มาจากประวัติเมืองตากฉบับราชการมหาดไทยที่มีฐานโครงสร้างและเนื้อเรื่องมาจากบันทึกการเดินทางล่องแม่น้ำปิงของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. 2464 นั่นเอง

หมายเหตุ: ขอบคุณ ศิริวุฒิ บุญชื่น ที่ช่วยสืบค้นเอกสารจากหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ในการลงภาคสนาม “ตามรอยพระเจ้าตากสินมหาราชกับล้านนา” ระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2560 จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มีวิทยากรสำคัญ ได้แก่ ศ. (พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์เพ็ญสุภา สุขคตะ และนักวิชาการอีกหลายท่าน ทำให้ได้เห็นพื้นที่จริงของบ้านตาก-เมืองตาก บ้านระแหง และบ้านป่ามะม่วง ตลอดจนแม่นำวังและแม่นำปิงที่บ้านปากวัง เมืองเถิน เมืองลำปาง ทางตัดเขาขุนตาน เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ เมืองฝาง ทั้งได้รับมุมมองข้อมูลที่หลากด้าน จึงขอขอบคุณทุกท่าน รวมทั้งที่ไม่ได้เอ่ยนาม ณ ที่นี้ด้วย

 


เชิงอรรถ

[1] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง,” ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายปานจิตต์ อเนกวณิช ป.ช., ป.ม., ท.จ., ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2515. (พระนคร : กรมศิลปากร, 2515), น. 340-341.

[2] เพิ่งอ้าง, น. 341-343.

[3] เอนก นาวิกมูล และ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ บรรณาธิการ. สมุดภาพเมืองตาก. (นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2560), น.10.

[4] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535), น.190-192.

[5] สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 230-231.

[6] มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. (กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2548), น. 28, 30.

[7] ประชุมพงศาวดาร เล่ม 40 ภาค 65-66 เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2528), น. 91-94. สำเนาท้องตราปี พ.ศ. 2317 รวม 4 ฉบับ ฉบับที่ 7-8-9-10

[8] เพิ่งอ้าง, น. 94-98. ทำให้เราทราบชื่อเจ้าเมืองอื่นๆ ด้วย โดยตั้งชื่อตามชื่อเมือง เช่น เจ้าพระยาสวรรคโลก พระอุทัยธานี พระยาสรรคบุรี พระปราจีน พระยาสุพรรณบุรี พระชัยบูร เจ้าพระยานครราชสีมา พระยานครชัยสิน (เมืองนครชัยศรี?) พระพิชัยสงคราม เมืองพิชัย พระสระบุรี พระ
ท่าโรง สำหรับเจ้าเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าตากทรงตั้งให้พระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

[9] เซอร์จอห์น เบาว์ริง. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ กัณฐิกา ศรีอุดม บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550), เล่ม 1 น. 42, เล่ม 2 แผนที่สยามท้ายเล่ม

[10] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2521), น. 423-424.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ.2562