ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | ส.สีมา |
เผยแพร่ |
อัมพปาลี อภัยมาตา วิมลา และ อัฑฒกาสี อดีตโสเภณี ผู้บวชเป็น “ภิกษุณี” ใต้ร่มพระศาสนา
อาจารย์พระมหาสังเวย ธมมเนตติโก และ อาจารย์ ดร. บรรจบ บรรณรุจิ ได้เขียนถึง “ภิกษุณี” สมัยพุทธกาลผู้สำเร็จอรหัตตผลไว้อย่างน่าสนใจ ท่านแรกนำเสนอในรูปของงานวิจัยชื่อ ภิกษุณีกับการบรรลุอรหัตตผล ส่วนท่านหลังเขียนเป็นหนังสือชื่อ ภิกษุณี : พุทธสาวิกาครั้งพุทธกาล ซึ่งมีทั้งหมด 73 รูป จากจำนวนภิกษุณีทั้งหมดนับจำนวนหมื่น บางรูปบรรลุอรหัตตผลโดยรวดเร็วและยังไม่ทันได้บวชด้วยซ้ำ แต่บางรูปกว่าจะบรรลุอรหัตตผลต้องใช้ความเพียรอย่างยิ่ง และใช้เวลานานจนเกือบตลอดชีวิต
ภิกษุณีผู้บรรลุอรหัตตผลนั้น ส่วนใหญ่มีภูมิหลังมาจากวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ มีไม่มากนักที่มาจากวรรณะแพศย์ มีเพียง 1 รูปเท่านั้นที่มาจากวรรณะศูทร คือชั้นผู้ใช้แรงงาน
เป็นที่น่าสนใจมากที่มีภิกษุณี 4 รูป เคยมีอาชีพเป็นโสเภณีมาก่อน ท่านเหล่านี้ไม่มีวรรณะ อาจเป็นวรรณะที่เรียกว่าโอปปาติกะก็ได้ คือไม่มีพ่อแม่ คล้ายๆ กับว่าครั้งเมื่อเป็นทารกถูกนำไปทิ้ง แต่มีผู้ใจดีเก็บมาเลี้ยงไว้ เมื่อโตขึ้นเป็นคนสวย จึงได้ประกอบอาชีพโสเภณี ก่อนจะอุทิศตนบวชเป็นภิกษุณี คือ อัมพปาลี อภัยมาตาวิมลา และ อัฑฒกาสี
มีข้อสังเกตเกี่ยวกับอาชีพโสเภณีดังกล่าว ซึ่งน่าจะมีความแตกต่างจากอาชีพนางคณิกาอยู่บ้าง และคล้ายๆ อย่างหลังมีฐานะสูงกว่า คือ มีความหมายตามตัวอักษรว่า เป็นนางของหมู่คณะ และเฉพาะบางหมู่คณะเท่านั้น แต่มิใช่นางของสาธารณะ เช่น อัมพปาลี เป็นคนงาม ฐานะทางสังคมสูงมาก เพราะได้รับการแต่งตั้งจากสภาแคว้นวัชชี หมู่คณะที่เกี่ยวข้องกับเธอล้วนแต่อยู่ในแวดวงของพระราชา ราชบุตร กับพระสหายสนิทเท่านั้น ทั้งมีค่าตัวแพงลิบลิ่ว
นางคณิกาได้รับการยกย่องสูงส่งเช่น ในนวนิยายกามนิต–วาสิฏฐี นางคณิกาของเมืองอุชเชนี เป็นที่ชื่นชมมากตั้งแต่พระราชาลงมาถึงสามัญชน พวกเธอเหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็น “มงกุฎดอกไม้หลายสี สถิตอยู่เหนือฐานศิลา” (The many coloured floral crown of the rock – entroned Ujjeni) คำว่านางคณิกา ภาษาอังกฤษใช้คำว่า courtesans ส่วนโสเภณีมีสถานะต่ำกว่า มีฐานะเป็นสาธารณะ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า prostitute ส่วนที่ต่ำกว่าคือนางเทพทาสี (bajadere)
เคยเขียนถึงนางอัมพปาลีมาครั้งหนึ่ง โดยโยงมาถึงยายแฟง ผู้มีใจกุศลสร้างวัดใหม่ขึ้นวัดหนึ่ง ด้วยใจอันมุ่งมั่นเรียกว่าวัดคณิกาผลอยู่จนวันนี้
หากจะเทียบฐานะทางสังคมและความมั่งคั่งของนางอัมพปาลีแล้วเหนือกว่ายายแฟงมาก ด้วยฝ่ายแรกถวายสวนมะม่วงขนัดใหญ่ สวยงามและร่มรื่นแด่พระพุทธองค์ เพื่อปรับแต่งเป็นพระอาราม ไม่แต่เท่านั้นเมื่อเธอกำหนดวันทำบุญถวายอาหารและสวนมะม่วงแก่พระศาสนา พระราชาแห่งเมืองมาขอให้เธอเลื่อนวันทำบุญออกไปอีกวันหนึ่ง ด้วยพระองค์มีพระประสงค์ต้องการวันที่เธอกำหนดไว้ เธอยังไม่อาจเลื่อนออกไปตามพระประสงค์ แม้จะทรงชดเชยเงินให้เป็นแสน ก็ยังไม่ยอมอยู่ดี ซ้ำยังท้าทายด้วยว่า แม้จะทรงยกเมืองสาวัตถีที่ทรงครองอยู่ให้ เธอก็ยังไม่ยอม อัมพปาลีมีอำนาจมากจริงๆ
อัมพปาลี มีภูมิหลังอย่างไร เกิดวรรณะไหน ไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าเธอสวยมากและเฉลียวฉลาด เมื่อได้รับแต่งตั้งโดยสภาแคว้นวัชชี เป็นนางคณิกาของเมืองเวสาลี เธอยื่นเงื่อนไขขอความสะดวกสบาย ความเป็นอิสระ และความเป็นส่วนตัวไว้ค่อนข้างมาก คือ ต้องมีบ้าน มีทรัพย์ มีสวนส่วนตัว รวมทั้งข้าทาสบริวารและรถเทียมม้า
ไม่มีพระราชาหรือราชวงศ์องค์ใดใช้บริการนางคณิกาของเธอได้เกินกฎที่กำหนด คือ ครั้งหนึ่งก็คืนหนึ่งเท่านั้น และแน่นอนด้วยราคาแพงลิบลิ่ว คืนละ 50 กหาปนะ (เท่ากับเงินหนัก 200 บาท)
พระเจ้าพิมพิสารเท่านั้นที่ได้สิทธิพิเศษ ใช้บริการนานถึง 1 สัปดาห์ ด้วยเป็นพระราชารูปหล่อ นางพึงพอใจ และนางได้ให้พระโอรสแก่พระเจ้าพิมพิสารองค์หนึ่ง นามพระโอรสว่า วิมลโกณฑัญญะ ซึ่งต่อมาได้ออกบวชและบรรลุอรหัตตผล จากนั้นจึงไปแสดงธรรมโปรดมารดาผู้มีศรัทธา สละชีวิตฆราวาส ออกบวชจนบรรลุอรหัตตผลในที่สุด
พระเจ้าพิมพิสารมีพระชนมายุน้อยกว่าพระพุทธองค์ 5 พรรษา ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าชายรูปงาม ผิวดังทองคำ อัมพปาลีหลงใหลถึงกับให้ช่างเขียนรูปประดับห้องนอนไว้เป็นที่ระลึกเลยทีเดียว พระเจ้าพิมพิสารเองก็เคยตั้งนางสาลวดีขึ้นเป็นคณิกาแห่งราชคฤห์ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม
สำหรับ อภัยมาตา หรือพระอภัยมาตานั้น เกิดในวรรณะใดไม่ปรากฏ ท่านมีนามเดิมว่าปทุมวดี (เพราะมีผิวผ่องงามดุจดอกบัว) เป็นชาวอุชเชนี แคว้นอวันตี และโดยวิถีแห่งความเป็นคณิกาของเมือง เธอเป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องใจพระเจ้าพิมพิสารพระองค์นั้นอย่างมาก จนได้พระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าชายอภัย และเธอก็ได้ชื่อว่าอภัยมาตา แปลว่า มารดาของเจ้าชายอภัย ส่วนความหมายของพระนามอภัยก็คือ ไม่มีภัย
พระอภัยมาตาได้เลี้ยงดูบุตรอย่างดียิ่ง ครั้นอายุครบ 7 ขวบ เธอก็ส่งให้ไปกราบพระบิดา โดยมีพระธำมรงค์องค์หนึ่งถือไปเป็นสักขีพยาน พระธำมรงค์องค์นี้พระเจ้าพิมพิสารได้มอบให้เธอไว้ก่อนจากไปในครั้งกระโน้น
เจ้าชายอภัยได้เข้าเฝ้าพระบิดาด้วยลีลาอันกล้าหาญ ปราศจากความตื่นกลัว พระองค์จึงโปรดประทานนามให้ว่า เจ้าชายอภัย แปลอีกความหมายหนึ่งว่า “ผู้ไม่มีความกลัว” ทรงเลี้ยงดูดีเสมอด้วยเจ้าชายอชาตศัตรูพระโอรสองค์ใหญ่
ต่อมาเจ้าชายอชาตศัตรูชิงราชสมบัติ จับพระบิดาทรมานจนสวรรคต เจ้าชายอภัยทรงสลดใจมาก จึงเสด็จออกบวช และได้อรหัตตผลในไม่ช้า จากนั้นจึงเดินทางไปอุชเชนี เพื่อเทศน์โปรดพระมารดา ซึ่งพระอภัยมาตาได้เลิกชีวิตคณิกา ออกบวช และบรรลุอรหัตตผลเช่นกัน
สำหรับพระภิกษุณีอีก 2 รูปคือ วิมลา หรือท่านวิมลาเถรี และ อัฑฒกาสี หรือท่านอัฑฒกาสีเถรี ทั้ง 2 ท่านมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมาก ท่านแรกเป็นโสเภณีมาแต่กำเนิด คือ มีมารดาเป็นโสเภณีมาก่อน ตนเองก็จำเป็นต้องเป็นโสเภณีโดยการสืบต่อ ส่วนท่านหลังเคยเป็นโสเภณีมาตั้งแต่ชาติปางก่อ เมื่อกลับมาเกิดอีกชาติหนึ่งก็ยังเป็นโสเภณีอยู่ เนื่องจากเป็นคนสวยมาก มีค่าตัวแพง จำเป็นต้องลดค่าตัวลงมาครึ่งหนึ่ง จึงได้ชื่อว่า อัฑฒกาสี คือ มีราคาเป็นครึ่งหนึ่งของราคาจริง ตามกำหนดของแคว้นกาสี
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “นางอัปสร” ถูกเปรียบว่าเป็น “โสเภณีแห่งสรวงสวรรค์” ?
- ครั้งหนึ่งอาชีพ “โสเภณี” เป็นสิ่งจำเป็น-ไม่ต้องเก็บเป็นความลับ
- ซ่องโสเภณี สมัยกรุงศรีอยุธยา มีแต่ลูกสาวขุนนาง!?
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ภิกษุณีกับชีวิตโสเภณี” เขียนโดย ส.สีมา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2561