ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2536 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
ลา ลูแบร อัครราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในแผ่นดิน “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ได้บันทึกถึงสภาพสังคม ประชากร รวมถึง ซ่องโสเภณี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างน่าสนใจ
ประชากรในกรุงศรีอยุธยามีเท่าไหร่?
ตอบว่าไม่มีหลักฐานเลย และยังไม่มีเครื่องมือใด ๆ คำนวณได้ แต่เท่าที่รู้จากจดหมายเหตุของ มร.เดอะ ลา ลูแบร อัครราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ (ราชอาณาจักรสยาม โดย ลา ลูแบร – แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร. สำนักพิมพ์ก้าวหน้า ๒๕๑๐) ว่า ในพระราชอาณาจักรสยามมีประชากรประมาณ 1,900,000 คน ซึ่งลา ลูแบร บอกไว้ด้วยว่า มากไป ๆ ตัวเลขนี้จะให้เชื่อแน่นอนยังไม่ได้
ลา ลูแบร ยังบันทึกเรื่องราวลึกลับไว้อีกว่ามีโสเภณี 600 คน อยู่ในซ่องของ “ออกญามีน” ถ้าจำนวนไม่ “เว่อร์” เกินไปก็แสดงว่าทั้งกรุงศรีอยุธยาต้องมีโสเภณีนับเป็นพัน ๆ เพราะเพียงซ่องเดียวก็ปาเข้าไป 600 แล้ว
“ออกญามีน” เป็นใคร?
ลา ลูแบรบันทึกว่า “บรรดาผู้ที่มีบันดาศักดิ์สูงนั้น หาใช่เจ้านายใหญ่โตเสมอไปไม่ เช่นเจ้ามนุษย์อัปรีย์ที่ซื้อผู้หญิงและเด็กสาวให้มาฝึกเป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้นก็ได้รับบันดาศักดิ์เป็นออกญา เรียกกันว่าออกญามีน (Oc-ya-Meen) เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกหนุ่มลามกเท่านั้นที่ไปติดต่อด้วย” ซ่องของออกญามีนไม่ใช่ซ่องเถื่อน แต่เป็นซ่องที่ตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพราะมีการส่งส่วย “เสียเงินภาษีถวายพระมหากษัตริย์” ด้วย
โสเภณีเหล่านี้เป็นใคร? มาจากไหน?
ลา ลูแบร บันทึกว่าบรรดาโสเภณี 600 คน “ล้วนแต่เป็นบุตรีขุนนางที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งนั้น” นอกจากนี้หัวหน้าซ่อง “ยังรับซื้อภรรยาที่สามีขายส่งลงเป็นทาสีด้วยโทษคบชู้สู่ชาย” มารับแขกเป็นโสเภณีด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะ “สามีเป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในครอบครัว ถึงขนาดอาจขายบุตรและภรรยาทั้งหลายเสียได้ ยกเว้นภรรยาหลวงแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เขาจะทำได้เพียงขับไล่ไปเสียให้พ้นเท่านั้น” การลงโทษเมียและลูกสาวที่ “ขุนนาง” ไม่พอใจคือ ขายเข้าซ่อง
ทำไมต้องเป็นเมียและลูกสาวขุนนาง?
เรื่องนี้ ลา ลูแบร บอกร่องรอยไว้ว่า ภรรยาพวกขุนนางผู้ใหญ่ไม่ค่อยได้พบปะใคร และไม่ค่อยได้ออกจากบ้านไปไหนมาไหน นอกเสียจากไปเยี่ยมญาติและไปทำบุญที่วัดเป็นบางครั้งบางคราว ซึ่งก็มักอยู่ข้าง ๆ บ้านนั่นเอง เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความเป็น “ผู้ดี” หรือความเป็น “เบญจกัลยาณี” ที่จะต้องยึดถือคติ “อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน” อย่างเข้มงวด ซึ่งลา ลูแบร บันทึกว่า “แทนที่นางจะรู้สึกว่าตนดำเนินชีวิตอยู่ในที่กวดขัน กลับรู้สึกเป็นเกียรติแก่ตัวเสียซ้ำ และเห็นว่าการไปไหนมาไหนได้โดยเสรีนั้น กลับเป็นสิ่งที่น่าอัปยศไปเสียอีก กลับจะเห็นว่าสามีไม่ยกย่องและดูหมิ่นนางไปเสียด้วยซ้ำ ถ้าเขาปล่อยปละละเลยให้นางไปไหนมาไหนได้ตามชอบใจ”
พฤติกรรมกวดขันดังกล่าวจะยิ่งเข้มงวดมากขึ้น ถ้าขุนนางผู้นั้นมีศักดิ์และอำนาจสูงขึ้น ทำให้เกิดประเพณีไม่อนุญาตให้หญิงสาวสนทนาพาทีกับชายหนุ่่ม ซึ่งเท่ากับสร้างความกดดันทางเพศอย่างยิ่ง ฉะนั้นหญิงสาวจะมักลักลอบพบชายหนุ่มในที่ลับ ๆ ได้เสมอ ๆ แม้ในหมู่นารีราชบาทบริจาริกาของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ผู้ตกอยู่ในที่แวดล้อมกวดขันมั่นคงก็หลบลี้หนีไปหาชายชู้จนได้ ถ้าถูกจับได้ก็ตาย ถึงไม่ตายก็ถูกขายเข้า “ซ่องโสเภณี” เพราะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีและหน้าตาของผู้มีอำนาจที่ถูกทำให้เสียศักดิ์ศรีและเสียหน้า
เมียและลูกของพวกไพร่ล่ะมีชีวิตเป็นยังไง? ถูกขายเข้าซ่องบ้างไหม?
ตรงกันข้ามกับเจ้าขุนมูลนายทุกประการ เพราะบรรดาเมียและลูกของพวกไพร่ต้องทำมาหากินและทำมาค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ “มีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้เต็มที่” จึงไม่มีความเก็บกดทางเพศ และไม่ต้องถูกขายเข้าซ่อง ถ้าจะเก็บกดก็คงเรื่องไม่มีจะกิน
แต่พวกไพร่อาจถูกขายเป็นทาสี เพราะผู้ชายเสียการพนันแล้วขายลูกเมียใช้หนี้ ซึ่งมีโอกาสเข้าไปอยู่ใน ซ่องโสเภณี ได้เหมือนกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ซ่องโสเภณี” ไต้หวันยุค 80 กับสถานะทางกฎหมายที่เปลี่ยนกลับไปกลับมา
- ส่องซ่องโสเภณีถูกกฎหมายในปอมเปอี หลักฐานสถานบริการยุคโรมันสะท้อนวิถีโบราณ
- เรื่องเพศสมัยกรุงเก่า “รับจ้างทําชําเราแก่บุรุษ” มีเจ้าของ “ซ่อง” เป็นถึง “ออกญา”
- คำว่า ชำเรา ที่พบตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ฤาจะไม่ใช่ภาษาไทย แต่ไปขอจากเขมร?
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ“ซ่องโสเภณี สมัยกรุงศรีอยุธยา มีแต่ลูกสาวขุนนาง” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2536
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2562