ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | ศานติ ภักดีคำ |
เผยแพร่ |
พาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ปัจจุบันมักหนีไม่พ้นข่าวเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ คำๆ หนึ่งที่ปัจจุบันกลายเป็นภาษากฎหมาย คือ ชำเรา และ “กระทำชำเรา” แต่โดยมากเมื่อได้ยินคำๆ นี้เราก็มักคิดในทางไม่ดี และถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศที่ร้ายแรง
หากย้อนกลับไปดูที่มาของคำนี้ เราจะพบว่ามีการใช้คำว่า “ชำเรา” ในภาษาไทยมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย เนื่องจากเราพบข้อความที่กล่าวถึง “ชำเรา” ในพระไอยการลักษณะผัวเมีย ในกฎหมายตราสามดวง มีความตอนหนึ่งว่า
“…ชายใดข่มขื่นหญิงม่ายถึงชำเรา ให้เอาเบี้ยในประถมผิดเมียทำ 5 ส่วน ยกเสียส่วน 1 เอา 4 ส่วน ตั้งไหมเปนสีนไหมกึ่งพิไนกึ่ง ถ้าข่มขืนมิถึงชำเราให้ไหมกึ่งถึงชำเรา…” (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2 คุรุสภา, หน้า 244)
หรือ “…มาตราหนึ่ง ชายใดมีเมียแล้วข่มขืนลูกสาวหลานสาวท่านถึงชำเรา ให้ไหมชายนั้นกึ่งประถมผิดเมีย ถ้าข่มขืนมิถึงชำเราให้ไหมกึ่งถึงชำเรา…” (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2 คุรุสภา, หน้า 252)
จะเห็นได้ว่าในกฎหมายตราสามดวงใช้คำว่า “ถึงชำเรา” เมื่ออ่านแล้วหลายท่านคงสงสัยว่า “ชำเรา” หมายถึงอะไร มีความหมายตามศัพท์ว่าอย่างไร
“ชำเรา” คำเขมรในภาษาไทย
คำว่า “ชำเรา” เป็นคำที่มีที่มาจากภาษาเขมร เป็นคำที่แผลงด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลาง “ม” เข้าไปในคำว่า “เชฺรา” กลายเป็น “ชมฺเรา”
คำว่า “เชฺรา” มีมาตั้งแต่ภาษาเขมรโบราณ เขียนว่า “jrau” หรือ “jrov” แปลว่า “ลึก, ลึกซึ้ง, ความคิดอย่างลึกซึ้ง” (Saveros POU, หน้า ๑๙๕) เช่น ข้อความในจารึก K.56 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ลฺวห ตฺรวาง เชฺรา” แปลว่า “ลุ (ถึง) ตระพัง (บ่อหรือสระที่คนขุดขึ้น) ลึก”
ส่วนคำว่า “ชํเรา” ก็ปรากฏในภาษาเขมรโบราณด้วย พจนานุกรมภาษาเขมรโบราณของเสาวรส เพา ให้ความหมายไว้ว่า “อะไรที่ลึก, ความคิดลึกซึ้ง, สิ่งที่ลึก” (Saveros POU, หน้า 181)
อย่างไรก็ตามคำว่า “เชฺรา” และ “ชํเรา” ได้สืบทอดมาถึงภาษาเขมรสมัยปัจจุบันด้วย ดังความหมายในพจนานุกรมเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ (แปลได้ความ) ว่า
“…ชมฺเรา (ชํ-เรา) น. ที่ซึ่งลึก, สภาพที่ลึก คุณ. ที่ชมฺเรา แปลว่าทวารมรรคสตรี (อวัยวะเพศหญิง) เช่น ได้ประพฤติถึงที่ชำเรา…” (วจนานุกรมเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์, 2511, หน้า 250)
“ชำเรา” ในเอกสารไทย
คำว่า “เชฺรา” ปรากฏในวรรณคดีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แสดงถึงความสืบทอดภาษาเขมรโบราณมายังภาษาไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังเช่นในวรรณคดีเรื่อง “อนิรุทธ์คำฉันท์” ปรากฏคำว่า “เชราชระ”
นอกจากนี้ไทยยังนำคำว่า “เชฺรา” มาใช้โดยเปลี่ยนรูปเป็น “เทรา” เช่น ในคำว่า “ฉะเชิงเทรา” ซึ่งเดิมน่าจะมาจากคำว่า “สฺทึงเชฺรา” หมายถึงแม่น้ำลึก เป็นต้น รวมทั้งนำมาใช้ในภาษากฎหมาย เช่น กฎหมายตราสามดวง ดังได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น
เมื่อคำว่า “เชฺรา” มีความหมายว่า “ลึก”
คำว่า “ชำเรา” ก็คงไม่ต้องแปลให้ฟังกันแล้วกระมัง!
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2560