ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ขอม เป็นคำภาษาไทย กลายจากภาษาเขมร ใช้เรียกกลุ่มคนพวกที่อยู่ตอนล่าง (ในไทย) บริเวณเป็นรัฐละโว้ (ลพบุรี) เมื่อเรือน พ.ศ. 1800 โดยไม่ระบุจำเพาะเผ่าพันธุ์ใด หลังจากนั้นอีกนานขอมจึงเลื่อนไปหมายถึงชาว เขมร (ในกัมพูชา)
ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ดังนั้นไม่เป็นชื่อชนชาติหรือเชื้อชาติ จึงไม่มีชนชาติขอม หรือเชื้อชาติขอม ฉะนั้นใคร ๆ ก็เป็นขอมได้ เมื่อยอมรับนับถือวัฒนธรรมขอม…ช่วงแรก ขอมเป็นชื่อที่คนอื่นเรียก (ในที่นี้คือพวกไต-ไท) ไม่ใช่เรียกตัวเอง
หมายถึง คนในวัฒนธรรมขอม ที่อยู่รัฐละโว้ (ลพบุรี) บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยไม่ระบุชาติพันธุ์ จะเป็นใครก็ได้ถ้าอยู่สังกัดรัฐละโว้ในวัฒนธรรมขอม ถือเป็นขอมทั้งนั้น หลังจากเมื่อมีรัฐอยุธยา คนพวกนี้กลายตัวเองเป็นคนไทย
ช่วงหลัง ขอม หมายถึง ชาวเขมรในกัมพูชาเท่านั้น แม้เปลี่ยนนับถือศาสนาพุทธเถรวาทก็ถูกคนอื่น (คือไทย) เรียกเป็นขอม แต่ชาวเขมรไม่เรียกตัวเองว่าขอม เพราะไม่เคยรู้จักขอม และภาษาเขมรไม่มีคำว่าขอม…”
ข้างต้นคือข้อสรุปบางส่วนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (มติชนประชาชื่น : สุวรรณภูมิในอาเซียน ขอมละโว้ เก่าสุดอยู่ไทย โอนขอมไปเขมร, มติชน 17 สิงหาคม 2560) เกี่ยวกับคำว่าขอม
แล้วคำว่าขอมมีที่มาจากไหน? ในหนังสือ แลหลังคำเขมร-ไทย (สำนักพิมพ์มติชน, 2562) เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ได้ศึกษาประเด็นดังกล่าวจากจารึกและภาษาเขมร ซึ่งสรุปพัฒนาการของคำว่า ขอม ฉายให้เห็นว่า เขมรไม่เรียกตัวเองว่าขอม มีแต่คนไต-ไท ที่ใช้คำนี้เรียกชนกลุ่มหนึ่งว่าขอม สรุปได้ดังนี้
จารึกเขมรโบราณทั้งในสมัยก่อนเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 11-14) และสมัยเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 15-19) ไม่พบคำว่าขอม ในจารึกเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม มีคำหนึ่งซึ่งมีความใกล้เคียงกับคำนี้ และอาจเป็นที่มาของคำว่าขอม คือคำว่า กโรม (karom) ภาษาเขมรปัจจุบันใช้ว่า โกฺรม (kraom)
คำว่า กโรม ในภาษาเขมรโบราณมี 2 ความหมายคือ หนึ่ง แปลว่า “ลงไปต่ำ, ใต้, ภายใต้, ต่ำกว่า, ลง, ผู้ต่ำกว่า และสอง แปลว่า “ประเทศ, ดินแดน, เขต, ดิน, แผ่นดิน”
ทั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชาวกัมพูชาเรียกตนเองว่า กโรม หรือ ขอม (ในความหมายว่า ชาวเขมร หรือ ชาวกัมพูชา) แต่พวกเขาเรียกตนเองอย่างชัดเจนว่า เขมร มาตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนคร
หลักฐานที่เรียกชาวกัมพูชาว่า เขมร เก่าที่สุด คือ ศิลาจารึก Ka. 64 ซึ่งเป็นศิลาจารึกสมัยก่อนเมืองพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวถึงทาสชาวเขมรโบราณไว้ว่า “(๑๓) กฺญุม เกฺมร โฆ โต ๒๐. ๒๐. ๗ เทร สิ ๒”
คำว่า กฺญุม ในภาษาเขมรโบราณสมัยก่อนพระนครหมายถึง ข้ารับใช้ ส่วนคำว่า เกฺมร (kmer) เมื่อรวมความหมายของคำว่า “กฺญุม เกฺมร” แล้ว จึงน่าจะแปลว่า “ข้ารับใช้ (ที่เป็น) ชาวเขมร” แสดงว่าชาวกัมพูชาเรียกตัวเองว่า เกฺมร (kmer) มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นคำว่า เขฺมร (khmer) ในช่วงเขมรสมัยเมืองพระนคร และกลายเป็น แขฺมร ออกเสียงว่า แคฺมร์ (khmaer) ดังที่ปรากฏในภาษาเขมรปัจจุบัน
ความเป็นไปได้ของการเรียกชาวกัมพูชาว่าขอม น่าจะมาจากกลุ่มชนที่พูดภาษาไต-ไท
คนกลุ่มดังกล่าวอาจนำคำภาษาเขมรโบราณว่า กโรม นี้ไปใช้โดยหมายเรียก “ผู้ที่อยู่ทางทิศใต้, ผู้ที่อยู่ทางใต้” หากแต่ด้วยลักษณะเฉพาะที่แตกต่างทางภาษา จึงไม่สามารถออกเสียงเหมือนคำดั้งเดิม ทั้งแต่ละสำเนียงก็มีเสียงวรรณยุกต์ที่ผิดต่างกันไป เมื่อมีการนำคำว่า กโรม ไปใช้ในความหมายดังกล่าว จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเสียง และทำให้คำว่า กโรม อาจกลายเสียงไปต่าง ๆ เช่น กรอม กล๋อม กะหล๋อม
ต่อมา เสียง “ร” และ “ล” ในภาษาไต-ไทบางกลุ่มได้กลายเสียงเป็นเสียง “ห” หรือ “เสียงพ่นลม” เมื่อหน่วยเสียงนี้รวมเข้ากับหน่วยเสียง “ก” จึงทำให้หน่วยเสียง “ก” กลายเป็นหน่วยเสียง “ข” ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าคำว่า กรอม กล๋อม กะหล๋อม ในภาษาไต-ไทบางกลุ่มจึงพัฒนาจนกลายเป็นคำว่า ขอม ในที่สุด
หลักฐานคำว่า ขอม เก่าที่สุดพบในจารึกหลักที่ 2 หรือศิลาจารึกวัดศรีชุม สมัยสุโขทัย คำว่า ขอม ในศิลาจารึกนี้มีใช้ในบริบทที่ต่างกัน คำหนึ่งจะใช้ประกอบกับตำแหน่งขุนนางเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร กล่าวถึง “ขอมสบาดโขลญลําพง” ซึ่งเป็นผู้ยึดครองเมืองสุโขทัยในเวลาที่พ่อขุนศรีนาวนำถุมสวรรคต
ส่วนคำว่า ขอม อีกคำหนึ่งจะกล่าวหมายถึงชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ขอม เนื้อความกล่าวถึงพระมหาเถรศรีศรัทธาจุฬามุนีพยายามบูรณะพระธาตุหลวง (พระปฐมเจดีย์) ดังความว่า “พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้า พยายามให้ (แล้วเมื่อ) แล้วจึงก่ออิฐขึ้น เจ็ดวาสทายปูนแล้วบริบวรณ พระธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้สองวา ขอมเรียกพระธมนั้นแล”
ดังนั้น คำว่า ขอม ในศิลาจารึกวัดศรีชุม ใช้เรียกกลุ่มชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกที่ “อยู่ทางใต้” ของสุโขทัย คือกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และอาจเป็นกลุ่มชนที่รับวัฒนธรรมแบบเขมร
อย่างไรก็ตาม หลักฐานในสมัยอยุธยากลับใช้คำว่าขอม ในความหมายที่แตกต่างไปจากสมัยสุโขทัย
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก ๑๐๔ ต้นฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่าต้นฉบับเดิมน่าจะเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “อยู่มาเจ้าอยาด บุตรพระรามเจ้า อันผู้เป็นเจ้าให้ไปอยู่จัตุรมุขนั้น ก็ชวนเขมร (ต้นฉบับเขียน เขม่น) ทั้งหลายแข็งแก่พระราชบุตรท่าน” และ “เจ้าอยาดได้แต่งเขมร (ต้นฉบับเขียน เขมน) ชอง พรรณ ออกสกัด”
ทำให้เห็นว่าคนสมัยอยุธยาเรียกชาวกัมพูชาว่า เขมร ไปแล้ว ขณะที่ กำสรวลสมุทร วรรณคดีอยุธยาตอนต้น (อาจเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3) กล่าวถึงคำว่าขอม ไว้ในโคลง 2 บท ซึ่งผู้แต่งหมายความถึง ชาวเขมร ดังนั้น สมัยอยุธยาเรียกขอม และเขมร หมายรวมถึง “ชาวกัมพูชา” ทั้งสิ้น
ดังนั้น ความหมายของคำว่าขอม ในความรู้สึกนึกคิดของคนในสมัยสุโขทัยและอยุธยามีความแตกต่างกัน คำว่าขอม ในความหมายของสุโขทัยนั้นหมายถึง คนทางใต้ หรือคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนในความหมายของอยุธยาที่เป็นคนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากลับใช้คำว่าขอม หมายถึง ชาวเขมร หรือชาวกัมพูชา
สรุปแล้ว คนไต-ไท (ตอนบน) เรียกกลุ่มชนที่อยู่ทางใต้ของตน (อาจหมายรวมถึงกลุ่มชนในรัฐละโว้) ว่า ขอม โดยไม่เกี่ยวกับชาวเขมร หรือชาวกัมพูชา ต่อมา ภายหลังมีคนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา คนกลุ่มนี้จึงโอนคำว่าขอม ให้ชาวเขมรในกัมพูชา นับแต่นั้นก็เรียก เขมร ว่าขอม
ส่วนในกัมพูชาไม่มีชื่อขอม ชาวเขมรยุคนั้นไม่รู้จักขอม และไม่เรียกตัวเองว่าขอม
อ่านเพิ่มเติม :
- การเสื่อมสลายของปราสาทขอมในดินแดนไทย มาจากสาเหตุและปัจจัยใดบ้าง
- ถกหลักฐาน “เลขไทย” ได้แบบจากเลขเขมร หรือว่ามีต้นเค้าจาก “เลขอินเดียใต้”?
- “สิงห์คู่” ที่ “วัดพระแก้ว” ไทยเอามาจากเขมร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ในบันทึก
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2564